Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพชายในชุดนักพรตชาวคริสต์ ถือป้ายรณรงค์การสมรสของเพศเดียวกันในวันแรกของการอนุญาตให้มีกฎหมายนี้ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดย Alex Handy ปี 2008
เกริ่นนำ
เพศวิถี (Sexuality) นิยามสั้นๆ คือ ความคิดเกี่ยวกับคู่รักและกามกิจ [1] ซึ่งน่าสงสัยว่า เป็นชนกลุ่มน้อยหรือไม่ในประเทศไทย (sexual minorities) แน่นอน จากการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์แบบไม่เคร่งครัดต่อระเบียบวิจัยทางสถิติ ทุกคนคงสังเกตได้ว่า “เพศที่สาม” มีแนวโน้มปรากฏตัวให้เราเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านสื่อประเภทต่างๆ ในสิบปีที่ผ่านมานี้ และเป็นพิเศษในปี 2013 เพราะมีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสสำหรับเพศที่สามขึ้น นั่นจึงเป็นปรากฏการณ์แบบเสรีนิยม (Liberalism) ในสังคมที่น่าสนใจ แต่ปัญหาคงอยู่ที่ “ความเป็นประเทศไทย” ซึ่งกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางเสรีภาพเชิงมโนทัศน์ เนื่องจาก ในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีภาพในฐานะมนุษย์เป็นปัจเจกบุคคลเอง ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองและมีความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศนี้ด้วยซ้ำ ประสาอะไรกับเพศที่สามซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย (minorities) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงกระบวนทัศน์แบบผู้ชายเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมไทยและอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทไทย ที่ยังเสนอว่า “เพศที่สาม” เป็นผลมาจากกรรมตามการตีความของนักบวชและนักวิชาการศาสนาบางคน ซึ่งปัญหาที่ใกล้เคียงกัน แต่ในระดับความเข้มข้นที่น้อยกว่า คือ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ของไทย นั่นเอง


เนื้อหา
เรื่องทางนิติศาสตร์ว่าด้วยเพศที่สามยังคงเป็นที่น่ากังขาถึงความสำเร็จเชิงสังคม นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ที่คู่สมรสภายใต้การรับรองการกฎหมายนี้จะได้รับเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพราะประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายนั้นอาจส่งผลให้เป็นการรับรองความชอบธรรมบางอย่าง นอกเหนือไปจากการคืนความชอบธรรมทางเสรีภาพแต่เพียงอย่างเดียว และบางทีปัญหานี้อาจเรียกร้องให้ทุกคนฝึกฝนที่จะมองโลกอย่างทรงกลม (Sphere) มากกว่ามองโลกแบบแบนๆ (Flat) อย่างที่เคยเป็นมา เพราะความซับซ้อน (Complex) ของเพศวิถี เป็นต้น อารมณ์และปัจจัยทางจิตวิทยา อาจเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งปัญหาเชิงซ้อนก็เป็นได้ เช่น ปัญหาเมียหลวงเมียน้อยแบบเพศสภาพที่กลายเป็นปัญหาของเพศวิถีด้วย
 
อย่างไรก็ตาม การได้รับการรับรองทางกฎหมาย ก็ไม่ได้แปลว่า ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการเรียกร้องเสรีภาพในระดับหนึ่ง เพียงแต่จะได้รับประโยชน์เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่มีกฎหมายมาผูกพันอย่างเท่าเทียมเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติฐานะ “คู่สมรสเพศที่สาม” ก็ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับสังคมไทย เนื่องจากวิถีในการดำเนินชีวิตเช่นนี้ สั่นคลอนจนถึงรากต่อกระบวนทัศน์แบบโบราณที่ถือเพศชายเป็นใหญ่ ทั้งนี้ การปลดปล่อยเกี่ยวกับเพศที่สามในสังคมไทย ยังทำให้เกิดคำถามเชิงปรัชญา และ จริยศาสตร์ขึ้นมาอีกหลายประเด็น  เป็นต้น อิสระในการร่วมเพศ (Free sex) ? สิทธิในการบวช? ความเท่าเทียมกันทางศาสนาที่ต้องได้รับการรับรองจากผู้นำทางศาสนา? การทบทวน-ถอดรื้อ-รื้อสร้าง วรรณกรรมและตัวแบบทางวัฒนธรรมไทยที่ต่อต้านหรือประณามเพศวิถี? ซึ่งจะซับซ้อน (Complex) ขึ้นไปอีก เพราะ ในระบบการศึกษาที่กำลังล่มสลายในประเทศไทย เพศวิถีย่อมมีปัญหา เกี่ยวกับสถานะผู้ปกครองของบุตรหลาน เช่น ในกิจกรรมทางสังคมที่จำเป็นต้องร่วมมือกับโรงเรียน เป็นต้น วันแม่ หรือ วันพ่อ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบทางจิตวิทยาที่บุตรหลานจะได้รับจากช่วงการปะทะกันของแนวคิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถูกยั่วล้อจากเพื่อน หรือ ครูหัวโบราณ
 
ที่สำคัญ ในยุคที่เทคโนโลยีมีแนวโน้มเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เยาวชนระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษาย่อมเข้าถึงการเคลื่อนไหวเชิงเสรีนิยมแบบนี้ไม่มากก็น้อย แต่ทว่า ความคิดเห็นอันเสรีของเยาวชนเหล่านั้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการปะทะกันของแนวคิดในครอบครัวได้ เพราะมโนทัศน์ของแต่ละครอบครัว อันเป็นผลมาจากกระบวนทัศน์แบบโบราณที่ยังทรงอิทธิพลอยู่มากในสังคมไทย ย่อมส่งผลกระทบทางจิตวิทยาระดับมหภาคเช่นเดียวกัน ความจริง เป็นเรื่องของผู้ใหญ่บางคนที่ไม่อาจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ เมื่ออำนาจจะถูกกระจายออกไปอยู่ในมือของผู้อื่น ฉะนั้น ปัญหานี้เรียกร้องให้ทุกคนฝึกฝนที่จะมองโลกอย่างทรงกลม (Sphere) มากกว่ามองโลกแบบแบนๆ (Flat) แต่ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ ความรุนแรง (Violence) เพื่อกลบเกลื่อนความกลัวเรื่องการสูญเสียอำนาจก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้น ถ้าจะให้การปะทะกันของแนวคิดในครอบครัวดังกล่าวลดความรุนแรงลง ผู้เคลื่อนไหวควรนำเสนอตัวแบบ (Model) ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นจากครอบครัวที่ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปแล้วด้วย (Paradigm Shift)
 
สิ่งที่จะช่วยให้การเคลื่อนไหวลักษณะนี้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในประเทศที่เสรีภาพยังเป็นที่น่ากังขา? คือ การเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทางเสรีภาพ เพราะ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาแนวร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนอย่างรอบด้าน เป็นต้น ปัญหาเชิงวิธีวิทยาในการดำเนินการ และ ปัญหาทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังทางความคิดในประเทศนี้ อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเสรีภาพในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งจริงๆ กลุ่มต่างๆ ที่มีแนวคิดเสรีนิยม ก็น่าจะได้รับผลจากการปลดปล่อยเสรีภาพในระดับนั้นได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย ซึ่งประเด็นนี้ ต้องระวังความต้องการส่วนตัวที่จะให้ได้มาซึ่งเสรีภาพเพราะอาจถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการชักจูงให้กลายเป็นสัญลักษณ์จอมปลอมของเสรีภาพ ในประเทศที่ไม่ได้มีเสรีภาพเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองอย่างแท้จริง
 
ฉะนั้น เกี่ยวกับร่างกฎหมายที่สร้างพื้นที่ในสังคมให้กับเพศวิถี จึงยังเป็นสิ่งที่ซับซ้อน (Complex) และควรทำการบ้านเพิ่มเติมอีกมากในหลายประเด็น เพราะการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง นอกจากเป็นสิทธิที่รับมาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมแล้ว ก็ยังหมายถึง รับเอาปัญหาที่ส่งผลมาจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแบบเดียวกันและอาจซับซ้อนกว่าด้วย ฉะนั้น เพื่อให้ครอบคลุมที่สุด (Generalize) การทบทวน-ถอดรื้อ-รื้อสร้าง ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยกรรมสิทธิ์ที่คู่สมรสชาย-หญิง น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่น่าจะออกแรงทุ่มเทศึกษาควบคู่กัน เพราะความเท่าเทียมทางกฎหมาย ไม่ได้แปลว่า ต้องร้องขอเพื่อให้ได้รับพื้นที่ครอบคลุมทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึง การตกลงกันเสนอให้ลดทอนบางอย่างเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมก็ได้ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ เป็นแนวคิดที่เน้นการตั้งคำถามกับเรื่องเล่ากระแสหลัก แล้วพยายามถอดรื้อดูในทุกความเป็นไปได้ (Possibility) เช่น การลดทอนอำนาจในมือของชนชั้นปกครองบางอย่างแล้วคืนกระจายอำนาจในประชาชน เป็นต้น

 
สรุป
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์แบบเสรีนิยมลักษณะนี้ ก็ยังน่าสนใจและน่าให้กำลังใจ แน่นอนที่สุด กลุ่มผู้เคลื่อนไหวย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรคืออุปสรรคและการปะทะกันของกระบวนทัศน์ กระนั้น ก็ดี คงจะปลอดภัยกว่าถ้าจะหาเพื่อนร่วมทางแห่งเสรีภาพ และทำการบ้านให้มากที่สุด เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะตามมาอีกมากมายในอนาคต เพราะมโนทัศน์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ง่ายแน่ๆ ในประเทศไทย แต่เขาจะแสร้งยอมรับกันแบบใดนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง




อ้างอิง
[1] http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVII/Download/2011-Article-03.pdf
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net