‘นักวิชาการจอมปลอม’ ในโลกที่กำลัง ‘พังทลาย’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากกรณีที่ ‘ข่าวสดออน์ไลน์’ ได้นำเสนอเรื่อง "กานดา นาคน้อย" นักวิชาการ ม.คอนเน็คทิคัต วิพากษ์แนวคิด "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" นักกฎหมายฮาร์วาร์ด ซึ่ง อ. กานดา ได้ใช้ข้อความที่สื่อให้มีผู้เข้าใจผิดในทางที่เสียหายต่อผู้เขียนนั้น

ผู้เขียนขอย้ำให้เข้าใจว่า เรื่องทั้งหมด เริ่มต้นมาจากการที่ อ. กานดาใช้พื้นที่ ‘เฟซบุ๊ก’ สาธารณะ กล่าวหาผู้เขียนอย่างรุนแรงและเลื่อนลอย ผู้เขียนจึงโต้แย้งกลับในพื้นที่ ‘เฟซบุ๊ก’ แต่ขอย้ำว่า ผู้เขียนไม่เคยติดต่อให้สื่อมวลชนรายงานเรื่องนี้ ส่วนการที่สื่อนำไปรายงานนั้น ถือเป็นดุลพินิจที่ผู้เขียนไม่ก้าวล่วง

ต่อมา อ. กานดา เป็นฝ่ายติดต่อสื่อให้มีการนำเสนอความเห็นตอบโต้ของ อ. กานดา เพิ่มเติม และเมื่อ อ. กานดาเป็นฝ่ายที่ต้องการยกเรื่องนี้ให้เป็นข่าวต่อเนื่อง ประกอบกับเรื่องนี้มีการเพิ่มเติม ‘ประเด็นใหม่’ ที่ควรค่าแก่การวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ผู้เขียนก็จำต้องชี้แจงเพื่อ ‘เตือนสติ’ อ. กานดา รวมถึงผู้ที่อาจหลงผิดตาม อ. กานดา ดังนี้

1. อ. กานดา พร้อมแสดงความรับผิดชอบ บ้างหรือไม่ ?

หากสังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดความรับผิดชอบ ก็ขอให้พิจารณาจากเรื่องนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ อ. กานดา เป็นฝ่ายกล่าวหาผู้เขียนต่อสาธารณะอย่างเลื่อนลอยว่า ‘โกหก-ปั้นน้ำเป็นตัว’ ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรง ผู้เขียนได้ชี้แจงและยกหลักฐานมาโต้แย้งให้ชัดเจน และเรียกร้องให้ อ. กานดา รับผิดชอบโดยถอนคำพูดและขอโทษ พร้อมทั้งย้อนถามให้ อ. กานดา อธิบายคำพูดของตน เช่น ที่กล่าวทำนองว่าผู้ที่เรียนหนังสือระดับปริญญาโทย่อมต้องรู้น้อยกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี มาถึงปัจจุบัน อ. กานดา ก็ไม่มีทีท่าจะทบทวนตนเอง และไม่ตอบคำถามใดๆ แต่กลับยกเรื่องอื่นมากลบเกลื่อนและบิดเบือนประเด็น

ประเด็นที่ อ. กานดา กล่าวหาว่าผู้เขียนโกหก เป็นผลจากการอ่านหนังสือที่ไม่ละเอียดอย่างมีอคติ โดย อ. กานดา ก็ได้ยกข้อความ ‘หนึ่งย่อหน้า’ จากบทสัมภาษณ์ทั้งฉบับ มาสรุปเองทำนองว่า ผู้เขียนอ้างนักวิชาการต่างประเทศเพื่อบอกว่า  [นักวิชาการไม่ควรทำวิจัย แต่ควรเขียนบทความสั้นๆอย่างเดียว]

แต่หาก อ. กานดา อ่านบทสัมภาษณ์ครบทั้งฉบับ ก็จะพบว่า ผู้เขียนแสดงความเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า นักวิชาการต่างประเทศ ‘นิยม’ เขียนบทความสั้นๆ ตามความสนใจตนเอง มากกว่าการทำวิจัยยาวๆ ที่มีคนตั้งโจทย์ให้ ผู้เขียนจึงเสนอว่า [นักวิชาการไม่ควรมุ่งทำแต่ทำวิจัยที่มีคนขอให้ทำ แต่น่าจะหันมาเขียนบทความสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย และทันสมัย เพื่อขับเคลื่อนสังคมด้วย] (ดูหลักฐานได้ที่ http://bit.ly/RebutKanda)

นอกจากนี้ งานเขียนที่ผ่านมาของผู้เขียนเอง ก็ได้มีการอ้างงานวิจัย หนังสือ บทความตีพิมพ์ของนักวิชาการเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระที่จะมาจุดประเด็นว่าผู้เขียนไม่เห็นคุณค่าของงานวิชาการเชิงแบบแผน

ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ว่า การแสดง ‘ความเห็น’ ของผู้เขียนดังกล่าว ไม่ว่า อ. กานดา จะเห็นด้วยหรือไม่ และไม่ว่าผู้เขียนจะประเมินไม่ตรงกับ อ. กานดา อย่างไร ก็ไม่อาจนำไปกล่าวหาต่อสาธารณะว่าเป็น ‘การโกหก’ ซึ่งจุดนี้ เป็นจุดที่ อ. กานดา ยังคงแยกแยะไม่ออก และไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

การกล่าวหาเลื่อนลอยอย่างไม่รับผิดชอบดังกล่าว ส่งผลอย่างกว้างขวาง มีการนำไปทำเป็นรูปในเพจ ‘วิวาทะ’ และทำให้คนจำนวนมากหลงเข้าใจผิดว่า ผู้เขียนไม่ให้ความสำคัญกับงานวิจัย หรือเสนอให้เขียนบทความสั้นๆโดยไม่ต้องทำการศึกษาอะไรมาก่อน ซึ่งผู้เขียนไม่ได้พูด แต่ผู้คนจำนวนมากเข้าใจผิด เพราะ อ. กานดา เลือกนำเสนอข้อความไม่ครบถ้วน และสรุปบิดเบือนคำพูดของผู้เขียน และก็ยิ่งน่าเศร้าใจ เมื่อนักวิชาการอาวุโส อย่าง อ. เกษียร เตชะพีระ ก็นำรูปดังกล่าวไปอ้างต่อในทางที่เข้าใจผิดเช่นกัน

คนเราทุกคนโดยเฉพาะ ‘นักวิชาการ’ ที่อาศัยสถานะและความน่าเชื่อถือของตนเองไปกล่าวหาผู้อื่นให้เกิดความเข้าใจผิด ก็ควรต้องรับผิดชอบ โดยการขอโทษและแก้ไข แต่ อ. กานดา พร้อมรับผิดชอบบ้างหรือไม่ ?

2. อ. กานดา พยายามเปลี่ยนประเด็น เพื่อกลบเกลื่อนความรับผิดชอบหรือไม่ ?

คำพูดล่าสุด ของ อ. กานดา เป็นการยกเรื่องอื่นมากลบเกลื่อนและบิดเบือนประเด็น โดย อ. กานดา พยายามทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นการวิจารณ์คำว่า ‘นักวิชาการอิสระ’ ซึ่ง อ. กานดา จะวิจารณ์อย่างมีเหตุผลเพียงใด ก็ไม่ได้เกี่ยวกับผู้เขียน เพราะผู้เขียนไม่ได้ขอหรืออ้างให้ใครเรียกตนว่า ‘นักวิชาการอิสระ’ แต่ อ.กานดา เสียเอง กลับพยายามทำผู้อ่านเข้าใจว่าผู้เขียนอ้าง ‘ความเป็นนักวิชาการ’ ซึ่งผู้เขียนไม่เคยอ้าง แต่ อ. กานดา อ้าง เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบในการกล่าวหาผู้เขียนว่าโกหกอย่างเลื่อนลอย

ตรงกันข้าม แม้ผู้เขียนจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาควิชาการ เช่น รับเชิญไปบรรยายหรือเป็นวิทยากร แต่ผู้เขียนได้ขอต่อสื่อมวลชนมาตลอด ว่าไม่ต้องเรียกผู้เขียนว่า ‘อาจารย์’ หรือ ‘นักวิชาการอิสระ’ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีคำเรียก ก็เรียกว่า ‘นักกฎหมายอิสระ’ ซึ่งก็คือนักกฎหมายคนหนึ่ง ซึ่งแสดงความเห็นต่อสาธารณะ โดยอิสระและปราศจากสังกัด และพร้อมได้รับการตรวจสอบโต้แย้งที่เนื้อหาสาระตามปกติ

 

3.  อ. กานดา มีอคติที่ ‘คับแคบ’ เกี่ยวกับสถานะตัวบุคคลหรือไม่ ?

‘นักวิชาการ’ ที่ดีควรพร้อมจะเปิดกว้างรับฟัง และไม่ยกตนดูถูกผู้อื่น แต่หลักฐานชิ้นใหม่ ปรากฏชัดว่า อ. กานดา มีความเห็นที่คับแคบ และต้องการ ‘หวงกัน’ ให้พื้นที่การแสดงความเห็นสำคัญต่อนโยบายหรือประเด็นสาธารณะ กลายเป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ ของ ‘นักวิชาการในระบบ’ เท่านั้น เห็นได้จากคำพูดของ อ.กานดา ที่ว่า

“ที่สำคัญที่สุดคือวิธีที่นำเสนอความเป็นนักวิชาการ ทำให้เกิดข้อกังขาว่าควรได้รับความไว้วางใจถึงขั้นเป็นมันสมองในการเจรจาร่าง พรบ.นิรโทษกรรม หรือไม่? มีคุณสมบัติเพียงพอที่สังคมควรไว้วางใจให้ “ขับเคลื่อนประเทศ” หรือไม่ ?”

ต่อมา อ. กานดา ได้อธิบายเพิ่มเติม ใน ‘เฟซบุ๊ก’ ว่า

“ถ้าคุณเอาสถานะ "นักวิชาการ" เข้าไปเป็นที่ปรึกษานโยบาย คุณต้องเป็นคนในระบบ ส่วนประชาชนทั่วไปก็มีส่วนร่วมได้โดยการเข้ากลุ่มทางสังคมต่างๆ ไปเลือกตั้ง เขียนจดหมายและโทรศัพท์ร้องเรียนไปที่สส. วุฒิสมาชิก ฯลฯ” (http://bit.ly/kandacom1)

ผู้เขียนขอเตือนสติ อ. กานดา ให้ทบทวนคำพูดอันคับแคบของตนเอง ดังนี้

(1) ผู้เขียนไม่เคยขอให้ใครเรียกตนเป็น ‘นักวิชาการ’ แต่ผู้เขียนก็เป็น ‘นักกฎหมาย’ ที่มี ‘มันสมอง’ เพียงพอที่จะได้รับเชิญจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ไปร่วมให้คำปรึกษา และผู้เขียนก็มิได้ตอบรับทันที แต่ได้แจ้งให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบแต่แรกว่า ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในขั้นสูงกว่าผู้เขียนอีกมาก แต่เมื่อรองประธานสภาผู้แทนราษฎรยืนยันที่จะรับฟัง และผู้เขียนเองมีเจตนาช่วยทำงานให้ส่วนรวม ผู้เขียนก็ตอบรับให้คำปรึกษา โดยไม่มีค่าตอบแทน อ. กานดา ช่วยตอบด้วยว่า ผู้เขียนทำผิดอย่างไร ? และ อ. กานดา คิดว่า รองประธานสภาผู้แทนราษฎร มีผู้เขียนคอยให้คำปรึกษาคนเดียวเท่านั้นหรือ ? การถามเชิงดูถูกว่าคนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการในระบบ  มี ‘มันสมอง’ หรือไม่ มันถูกต้องแล้วหรือ ?

(2) อ. กานดา นำอะไรมาตัดสินว่า “นักวิชาการ" ที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษานโยบาย คุณต้องเป็นคน “ในระบบ” ? คำกล่าวเช่นนี้ แสดงถึงอคติหรือไม่ว่า อ. กานดา ซึ่งมองว่าตนซึ่งอยู่ในระบบ จะต้องมีคุณภาพดีเลิศกว่าผู้อื่น เสมอไป ? หาก อ. กานดา พูดเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า ที่ปรึกษาของผู้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ (ซึ่งก็ย่อมต้องมีความเห็นเชิงหลักการตามที่ทำงานหรือเรียนมาบ้างไม่มากก็น้อย เช่น เกษตรกรรม กฎหมาย วิทยาศาสตร์) ต้องเป็น ‘นักวิชาการในระบบ’ เท่านั้น ?

(3) อ. กานดา นำอะไรมาตัดสินว่า  ประชาชนคนธรรมดาทำได้แต่เพียง “เขียนจดหมายและโทรศัพท์ร้องเรียนไปที่ สส. วุฒิสมาชิก ฯลฯ” ? การกล่าวเช่นนี้ เป็นการยกตนมาดูถูกประชาชน และคนอื่นๆที่ไม่ได้เป็น ‘นักวิชาการในระบบ’ เหมือน อ. กานดา หรือไม่ ?

ผู้เขียนขอย้ำว่า ผู้เขียนเป็น นักกฎหมาย ซึ่งก็คือประชาชนคนหนึ่ง มิได้สนใจอ้างว่าตนเป็นนักวิชาการ และก็ไม่เคยอ้างว่าตนกำลังนำเสนอผลการศึกษาวิจัย สิ่งที่ผู้เขียนทำ คือการแสดงความเห็น ในฐานะนักกฎหมายที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ผู้เขียนจะรู้สึกสะอิดสะเอียนใจ หากคนที่เรียกตนว่า ‘นักวิชาการ’ คนใด จะมาดูถูกประชาชนว่าทำได้เพียงเขียนจดหมาย และมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในทำนองที่ อ. กานดา กล่าวมานี้

4.  อ. กานดา พร้อมจะรับผิดชอบโดยการ ‘ลาออก’ หรือไม่ ?

อ. กานดายังกล่าวต่อว่า การควบคุมคุณภาพงานวิชาการในสถาบันการศึกษามีหลายขั้นตอนและอาศัยการตรวจสอบข้ามสถาบันและข้ามประเทศ มีการตอบคำถามที่งานสัมมนา สัมมนาเสร็จก็ต้องมาแก้และเขียนใหม่ แล้วส่งไปขอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ถ้าสอบสวนพบว่าผิดโดยเจตนาเช่น สร้างข้อมูลเท็จ เจ้าของบทความต้องลาออก มีการลงโทษกันจริงๆ  และไม่มีใครควรเป็นอิสระจากการตรวจสอบ

ผู้เขียนขอย้อนถามเพื่อเตือนสติ อ. กานดา ดังนี้

(1) การเรียกตนว่า ‘อิสระ’ จำเป็นต้องแปลว่า ‘อิสระจากการตรวจสอบ’ จริงหรือ ? 

ในยุคสมัยปัจจุบัน การตรวจสอบเกิดขึ้นตลอดเวลา หากผู้เขียนไปร่วมรายการโทรทัศน์กับนักวิชาการหรือนักการเมือง หรือใคร ทุกคำพูดของผู้เขียนย่อมถูกตรวจสอบทันทีโดยผู้ร่วมรายการ ตลอดจนผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือไม่ บทสัมภาษณ์หรือบทความในหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน

แต่ อ. กานดา พยายามจะหวงกันให้การตรวจสอบที่ดีต้องเป็นในทางวิชาการดั้งเดิมเท่านั้น เช่น การไปสัมมนา เขียนบทความตีพิมพ์ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้แย้งว่าไม่สำคัญ แต่จะเตือนสติ อ. กานดาว่า วิธีการตรวจสอบดังกล่าว ไม่ได้เป็นการตรวจสอบวิธีเดียว และก็ไม่ได้ประกันคุณภาพที่ดีเสมอไป และหากประชาชนหรือนักกฎหมายอิสระเช่นผู้เขียนจะแสดงความเห็นในที่สาธารณะ โลกปัจจุบันก็มีกลไกการตรวจสอบมากมายที่บางครั้งอาจจะมีการตรวจสอบที่กว้างขวางกว่าการไปสัมมนาหรือตีพิมพ์บทความที่รับรู้เพียงในวงไม่กี่คนเท่านั้น

(2) สิ่งที่ อ. กานดา ทำอยู่ ก็คือพยายามตรวจสอบผู้เขียน ใช่หรือไม่ ?

หาก อ. กานดา กล่าวหาว่า ผู้เขียน ‘โกหก’ ผ่านบทสัมภาษณ์ ก็ขอถามว่า อ. กานดา ได้ยกข้อความมาอธิบายข้อกล่าวหาครบถ้วนดีแล้วหรือไม่ ? ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมจากบันทึกเสียงของนักข่าวที่สัมภาษณ์ผู้เขียนหรือไม่ ? หรือ อ. กานดา เขียนขึ้นเร็วๆ และกล่าวหาแรงๆ ด้วยอารมณ์ใน ‘เฟซบุ๊ก’ ? บัดนี้ เมื่อหลักฐานปรากฏชัดว่าผู้เขียนไม่ได้โกหกตามข้อกล่าวหา เช่นนี้ ถามว่า ในฐานะที่อ้างตนเป็น ‘นักวิชาการ’ อ. กานดา พร้อมจะแสดงความรับผิดชอบโดยการ ‘ลาออก’ ตามมาตรฐานที่ตนอ้างหรือไม่ ?
 

5. อ. กานดา วิจารณ์ ‘สาระ’ ของผู้เขียน โดยมีอคติต่อตัวบุคคล หรือไม่ ?

เรื่องที่กล่าวมา 4 ประเด็นข้างต้น เป็นเรื่องที่ อ. กานดา มุ่งในทางส่วนตัว โดยยึดติดกับตำแหน่ง สถานะ ของตัวบุคคลทั้งสิ้น แต่มีประเด็นหนึ่ง ที่ อ.กานดา ทำประหนึ่งวิจารณ์ ‘สาระ’ ข้อเสนอของผู้เขียนเรื่อง ‘บรรเทาความขัดแย้ง’ แต่เมื่ออ่านคำวิจารณ์ของ อ. กานดา แล้ว จะพบอคติที่ยึดติดกับตัวบุคคลเช่นเดิม โดยผู้เขียนจะชี้ให้เห็นให้ชัดเจน ทีละข้อความ ดังนี้

(1) อ. กานดา กล่าวว่า “ข้อเสนอทางวิชาการที่ดีต้องมีบรรทัดฐานหรือตัววัดผลที่ประเมินได้ แต่ข้อเสนอของเขา [หมายถึงผู้เขียน] เลื่อนลอยและไม่เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และไม่มีกลไกอันนำไปสู่เป้าหมาย ประเมินไม่ได้ว่าอย่างไรเรียกว่าบรรลุเป้าหมาย สาระมีแค่ว่าชวนไปตั้งคณะกรรมการคุยกันก่อนแล้วค่อยว่ากันใหม่” และกล่าวอีกว่า “ดิฉันถามเขา [หมายถึงผู้เขียน] สั้นๆ ว่าข้อเสนอของเขาทั้งหมดจะทำให้นักโทษการเมืองออกจากคุกได้กี่คน? เขาตอบมายาวแต่สรุปสาระได้ว่าต้องไปตั้งคณะกรรมการคุยกันก่อน”

ผู้เขียนขอตอบว่า  ข้อเสนอของผู้เขียนไม่ใช่ข้อเสนอที่สิ้นสุดในทางวิชาการ แต่เป็น ‘แนวคิด’ ที่เกิดขึ้นหลังจากประชุมเจรจาในสถานการณ์ที่มีความเห็นขัดแย้งกัน จึงจำเป็นต้องเป็นหลักการที่กว้างพอสำหรับการเจรจา และไม่อาจถูกมองว่าเลื่อนลอย หาก อ. กานดา แยกแยะตรงนี้ไม่ได้ ก็ควรเลิกเป็นนักวิชาการ และลองมาเป็นนักเจรจาบ้าง อาจจะเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น

อ.กานดา ลองไปศึกษาบทบาทของนักคิด นักวิชาการ นักสารพัดนัก ที่เข้าไปในสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆทั่วโลก แล้วพิจารณาว่า การเสนอ ‘แนวทางพูดคุยกัน’ เป็นหลักการที่ปกติมาก มิเช่นนั้น ก็ไม่ต้องมีสหประชาชาติ ไม่ต้องมีการทูต ไม่ต้องมีการเจรจาต่อรองอะไรทั้งสิ้น เพราะโลกนี้ จะถูกปกครองโดย   ‘นักวิชาการในระบบ’ อย่าง อ. กานดา ที่มาพร้อมข้อเสนอที่ยุติชัดเจนและแก้ปัญหาได้ทุกกรณี

ความที่ อ. กานดา เป็นนักเศรษฐศาสตร์ จึงอาจคุ้นชินกับตัวเลขและการประเมินที่วัดได้เป็นหลัก และอาจลืมไปว่านักกฎหมาย หรือนักอื่นๆ เขาไม่ได้หาทางออกด้วยจำนวนตัวเลขทุกครั้ง นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ หรือนักปรัชญาอีกหลายแขนง ก็ไม่อาจเสนอความเห็นที่วัดประเมินได้เสมอไป

นอกจากนี้ ขอย้อนถาม อ. กานดาว่า ข้อเสนอของ ‘กลุ่ม 29 มกราฯ’ ที่ทำตามแนวทาง ‘นิติราษฎร์’ ที่เสนอให้มี ‘คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง’ มาพิจารณามูลเหตุจูงใจทางการเมืองก่อนการนิรโทษกรรมนั้น เหตุใด อ. กานดา ไม่ไปถาม กลุ่ม 29 มกราฯ หรือนิติราษฎร์ ให้มาแสดงตัวเลขนักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัว ? คำพูดของ อ. กานดาส่วนนี้ จึงแสดงถึงอคติ ที่เอนเอียงในตัวบุคคล ใช่หรือไม่ ?

(2)  อ. กานดา กล่าวว่า “พรบ.ฉบับแรกที่เสนอมาไม่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของกลุ่ม 29 มกราฯ ฉบับที่สองก็กำกวม ไม่รู้ว่าจะครอบคลุมคดีอะไรบ้าง ไม่มีหลักประกันว่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายเดียวกับกลุ่ม 29 มกราฯ”

ผู้เขียนขอตอบสั้นๆว่า  คำพูดนี้เป็นหลักฐานชัดเจนว่า อ.กานดา มีอคติ ยึดข้อเสนอของ กลุ่ม 29 มกราฯ เป็นที่ตั้ง หากใครเสนอไม่ตรงกับกลุ่ม 29 มกราฯ ก็เท่ากับผิดหลักการ คำพูดของ อ. กานดา ส่วนนี้ จึงแสดงถึงอคติ ที่เอนเอียงในตัวบุคคล ใช่หรือไม่ ?

(3) อ. กานดา กล่าวว่าข้อเสนอ “ทำให้กระบวนการนิรโทษกรรมล่าช้า โดยดึงให้ตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่อำนาจการออกพรบ.อยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เขาเสนอตัวเป็นคนกลาง ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ไม่มีเขากระบวนการนิรโทษกรรมก็ดำเนินต่อไปได้ ทำให้กระบวนการล่าช้าก็ยิ่งเพิ่มทุกข์ให้นักโทษการเมือง ไม่ช่วยบรรเทาทุกข์”

ผู้เขียนขอตอบว่า  ข้อเสนอของกลุ่ม 29 มกราฯ หรือนิติราษฎร์ เอง ก็เสนอให้มีตุลาการหรืออดีตตุลาการมาเกี่ยวข้องในคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง และที่ผู้เขียนเสนอ ก็เป็นเพียง ‘แนวคิด’ มิได้บังคับว่าต้องมีตุลาการ แต่เสนอว่าควรหาคนที่สังคมให้การยอมรับ และมีความเชี่ยวชาญในการรับฟังข้อเท็จจริง ซึ่งตุลาการก็อาจร่วมมีบทบาทส่วนนี้ได้ แต่เหตุใด อ.กานดา ไม่ไปถาม กลุ่ม 29 มกราฯ ในประเด็นเดียวกัน คำพูดของ อ. กานดาส่วนนี้ จึงแสดงถึงอคติ ที่เอนเอียงในตัวบุคคล ใช่หรือไม่ ?

นอกจากนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้เขียนไม่เคย “เสนอตัว” ไปช่วย แต่ถูกขอให้เข้าไปช่วย และก็ยินดีช่วย แม้ผู้เขียนจะทราบดีว่าต้องมาพบเจอคนแบบ อ. กานดา ที่ไม่เข้าใจ และมีอคติก็ตาม

(4)  อ. กานดา กล่าวว่า “คนได้ประโยชน์จากข้อเสนอเขาที่สุดคือตัวเขาเอง ถ้าผลักดันสำเร็จก็จะได้แสดงบทบาทผู้นำการผลักดันนิรโทษกรรมแทนกลุ่ม 29 มกรา ทั้งๆที่กลุ่ม 29 มกราทำงานด้านนี้มานานกว่าเขามาก กลุ่ม 29 มกรามีความจริงใจให้นักโทษการเมืองและไว้ใจได้มากกว่า”

ผู้เขียนขอตอบว่า  นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ของความมีอคติ โดย อ. กานดา จินตนาการไปถึงว่าจะมีการ ‘แย่งหน้า’ ของกลุ่ม 29 มกราฯ ทั้งที่ทุกคนในสังคมควรช่วยกันหาทางออก  คำพูดของ อ. กานดา แปลว่า หากมีการนำข้อเสนอ นปช. ไปตรา พรก. ก็เท่ากับ นปช. แย่งผลงานกลุ่ม 29 มกราฯ หรือหากประชาธิปัตย์ เสนอร่าง พรบ. ที่แก้ปัญหาได้ ก็เท่ากับ แย่งหน้า ของกลุ่ม 29 มกราฯ หลักฐานคำพูดนี้ ประกอบกับข้ออื่นๆ ล้วนชี้ชัดถึงอารมณ์ของ อ. กานดา ที่หมั่นไส้ริษยา และอคติต่อตัวบุคคลอย่างชัดเจนที่สุด

(5) อ. กานดา กล่าวว่า  “ถ้าเขาอยากเสนอข้อเสนอที่มีหลักการจริงๆ เสนอเสร็จก็จบ ไม่ควรเขียนทำนองว่าใครไม่เห็นด้วยกับผมเป็นคนเลวและริษยาผม คนรับฟังข้อเสนอมีสิทธิ์ตั้งคำถามและสงสัย คนมีคำถามไม่ใช่คนใจแคบ คนไม่เห็นด้วยไม่ใช่คนใจแคบ”

ผู้เขียนขอตอบว่า  ผู้เขียนไม่เคยต่อว่าผู้อื่นเพียงเพราะมีเหตุผลต่างกัน แต่กรณีคำพูดต่างๆ ของ อ. กานดา ที่ยกมาเป็นหลักฐาน ล้วนเป็นหลักฐานที่มัด อ. กานดา ว่ามีใจที่คับแคบ มีอคติ และหมั่นไส้ริษยา (ถึงขั้นจุดประเด็นการ ‘แย่งหน้า’) อย่างไร หาก อ. กานดา พยายามดิ้น หลักฐานก็ยิ่งมัดแน่น ลองสงบสติ และพิจารณาคำพูดตัวเอง จะไม่ดีกว่าหรือ ?

สรุป: โลกของ อ. กานดา กำลังพังทลาย

จากหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่า อ. กานดา นาคน้อย เป็นผู้ที่มองคำว่า ‘วิชาการ’ ด้วยใจที่คับแคบ โดยมองว่าการแสดงความเห็นเรื่องสำคัญต้องเป็นเรื่องของคนที่ทำงานในระบบแบบแผน มีการวิจัย มีการสัมมนา อีกทั้งมองโดยมีอคติที่ยึดติดกับกลุ่มบุคคล มองไปถึงขั้นกลัวจะมีการ ‘แย่งหน้า’

แต่สำหรับผู้เขียน ‘วิชาการ’ คือ การใช้ความรู้ ความคิด มาแสดงออกตามเหตุผลและความเป็นจริง โดยมีอคติให้น้อยที่สุด ส่วนจะเกิดประโยชน์มากหรือน้อย จะสมบูรณ์หรือไม่ ก็ถกเถียงกันได้

ยกตัวอย่าง เกษตรกรที่ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต อาจมีความเป็น ‘วิชาการ’ มากกว่า ‘นักวิชาการเกษตร’ ก็เป็นได้ แต่สำหรับ อ. กานดา แล้ว เกษตรกรที่ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต จงอย่าหวังจะได้มีโอกาสให้คำปรึกษาสำคัญใดๆ แก่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร เพราะพื้นที่นั้น อ. กานดา ได้จับจองไว้ให้พวกพ้องตนเองที่ถูกเหมารวมเป็นชนชั้น ‘นักวิชาการในระบบ’ ไปเสียแล้ว และอาจต้องเป็นกลุ่มพวกที่ถูกใจ อ. กานดา ด้วยเท่านั้น ส่วนเกษตรกร หากมีความเห็นอะไร อ. กานดา บอกว่า ให้ไปส่งจดหมายให้นักการเมือง แต่จงอย่าทำตัวเด่นไป เพราะจะไป ‘แย่งหน้า’ กลุ่มอื่นที่ อ. กานดา อาจถูกใจเป็นพิเศษ

อ. กานดา โปรดตั้งสติแล้วมองรอบตัวว่า โลกยุคใหม่ ที่เชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึง ได้เปิดพื้นที่และโอกาสให้คนธรรมดาหน้าใหม่ๆ สามารถมีบทบาทร่วมเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องยึดแบบแผนเดิมๆ  โลกใบใหม่ใบนี้ กำลังสั่นสะเทือนไปยังสถาบันทางวิชาการหรือสถาบันทางการเมืองแบบโบราณที่คุ้นเคยกับการกดขี่ทางชนชั้นและไม่พร้อมจะปรับตัว

ผู้เขียนคุ้นชินกับการยกคำพูดสวยหรูอย่างเสแสร้งทำนองว่า คนในวงวิชาการและวงการสาธารณะ ความไม่รู้ ไม่เป็นบาป แต่ความฉาบฉวย เป็นบาปหนักอย่างหนึ่ง งานวิชาการที่มีคุณภาพ ต้องใช้เวลาให้ตกผลึก การขับเคลื่อนสังคม ต้องใช้เวลา ไม่ใช่การตีฆ้องร้องป่าวข้ามคืนเพื่อชื่อเสียง...

คนเหล่านี้ ไม่เปิดใจว่า คนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ก็มีส่วนที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ในทางของแต่ละคน และไม่มีเหตุใด ที่จะต้องเหมารวมให้ นักคิด นักพัฒนา นักเคลื่อนสังคม อยู่ในแบบแผนเฉพาะอย่างของตน การแสดงออกทางความคิดอย่างทันท่วงที สำหรับคนหนึ่งอาจมองว่าเป็นการฉาบฉวยตีฆ้องร้องป่าวตามกระแส แต่สำหรับอีกคน อาจเป็นการกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องตามจังหวะและโอกาสโดยไม่ได้กลัวความหมั่นไส้

ยกตัวอย่าง นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ชายหนุ่มผู้ร่วมริเริ่มคิดค้น ‘เฟซบุ๊ก’ ก็เป็นผู้หนึ่งที่แหกคอก เขาไม่ต้องจบปริญญาเอก เขาไม่ต้องไปไต่ตำแหน่งในบริษัทเทคโนโลยีหรือสถาบันวิจัย เขาไม่ต้องอ้างว่าตนเป็นอะไรเสียด้วยซ้ำ ผลงานชิ้นแรกของเขาไม่สำเร็จ แต่เขาอาศัย ‘ความคิด’ ที่เป็นอิสระ ใช้ความมุ่งมั่นของเขาในการทำงานในแบบของเขา ทดลองและเชื่อมโยงกับคนธรรมดาทั่วไป ตามจังหวะและโอกาส มาเปลี่ยนแปลงโลกของเราทุกคนได้

ผู้เขียนไม่ได้คิดว่า ‘นักกฎหมายอิสระ’ อย่างตนจะต้องเปลี่ยนโลกได้เหมือนนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และเชื่อว่า นายมาร์ก ก็คงมีครูดีๆหลายคน แต่ผู้เขียนจะไม่ยอมให้คนอย่าง อ. กานดา นาคน้อย มาข่มขู่กดขี่ใครที่มีความฝันจะเปลี่ยนโลกแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งก็ตาม

ใครที่กำลังมองผู้เขียนในเหตุการณ์นี้ โปรดอย่า ‘สงสาร’ หรือ ‘หวาดกลัว’ แต่โปรดมาร่วมกันเรียกพื้นที่ทางความคิดคืนจากบรรดานักเลงใจแคบผู้ทรงปัญญาจอมปลอมทั้งหลาย นักเลงเหล่านี้ ยังมีกองเชียร์อยู่มาก บางคนก็ร่วมขบวนการโดยไม่รู้ตัว แต่อย่าไปกลัว โลกปลอมๆ ของเขา กำลังพังทลายลง

วันนี้ ‘แนวคิดบรรเทาความขัดแย้ง’ ที่ผู้เขียนร่วมเสนอในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง ได้รับการตอบรับเบื้องต้นจากพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน เสื้อเหลือง เสื้อแดง ว่าจะนำไปเจรจาร่วมกันเร็วๆนี้ ซึ่งถือเป็นการร่วมคุยกันครั้งแรกๆ ในบรรยากาศความขัดแย้งรุนแรงที่ผ่านมา

แต่ อ. กานดา นาคน้อย กำลังทำอะไร ? มีอะไรที่มากไปกว่าการยกตนเป็น ‘นักวิชาการ’ เพื่อดูถูกกดขี่ผู้อื่น ถมอคติเอนเอียงเฉพาะกลุ่ม แถมบิดเบือนคำพูดมากล่าวหาผู้อื่นโดยไม่รับผิดชอบ ? หาก ‘กานดา นาคน้อย’ ยังพอมีความเป็น ‘นักวิชาการ’ ที่แท้จริงหลงเหลืออยู่บ้าง ก็โปรดเห็นแก่ประชาชนและวงวิชาการ โดยการ ‘ลาออก’ ไปเสียเถิด.

 

บทสนทนาที่เกี่ยวข้อง รวมไว้ที่ : http://bit.ly/VP20Feb

 

 

หมายเหตุประชาไท: กองบรรณาธิการได้รับการร้องเรียนจากวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ว่าบทสัมภาษณ์ กานดา นาคน้อย จากข่าวสดที่ได้เผยแพร่ซ้ำในประชาไทได้วิจารณ์ไปที่ตัวของวีรพัฒน์โดยตรง ผู้ถูกพาดพิงจึงขอให้เผยแพร่ข้อเขียนของตนเพื่อโต้แย้งในบางประเด็น ประชาไทจึงได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ตามข้อร้องเรียน ขอผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท