Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำถามคือ จะมีว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนไหนมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเข้าใจและนำเสนแนวทางการบรรเทาปัญหานี้อย่างเป็นระบบ

ในปี 2555 ที่ผ่านมา จากการทำงานในพื้นที่เขตพระนครโดยเจาะลึกเฉพาะเจาะจงในพื้นที่สนามหลวง คลองหลอด พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(คนข้างถนน) เสียชีวิตสะสมตลอดทั้งปี 49 คน โดยที่มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่สามารถแจ้งตายในฐานะพลเมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์

ผ่านปี 2556 มาเพียง 34 วัน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ (คนข้างถนน) ที่อยู่ในบริเวณ สนามหลวงและคลองหลอด เสียชีวิตแล้ว 6 คน โดยที่ทั้งหมดเสียงชีวิตในสภาพที่อยู่ข้างถนน ภาพที่เกิดขึ้นจนไม่อยากจะเรียกว่า "ชิน" คือ เมื่อใดก็ตามที่ เขตพระนคร เปลี่ยนผู้อำนวยการเขตคนใหม่ มักจะแสดงแสนยานุภาพด้วยการไล่รื้อคนที่ไร้ที่ไปในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ของเขตพระนคร โดยใช้ข้ออ้างเดิม ๆ ได้แก่ เพื่อความสวยงาม การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งแอบอ้างเบื้องสูงว่า เป็นเขตพระราชฐาน ทั้งที่ ข้ออ้างต่าง ๆ ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครมีไม่เกิน 3,000 คน แต่หากรวมกลุ่มที่เป็นขอทานทั้งขอทานไทยและขอทานต่างด้าวเข้าไปด้วยแล้วคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน คนเหล่านี้ ต้องได้รับการดูแลในกรณีที่เป็นคนไทยที่ขาดรายได้และไร้ที่พึ่ง ในกรณีที่เป็นคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประสานงานช่วยเหลือหรือส่งกลับอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบมนุษยธรรม และภายใต้เงื่อนไขของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 

คำถามคือ จะมีว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนไหนมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเข้าใจและนำเสนแนวทางการบรรเทาปัญหานี้อย่างเป็นระบบ แม้ว่า เขาเหล่านี้ เกือบทั้งหมดไม่ใช่ผู้ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ แต่เขาก็ถือได้ว่า เป็นพลเมืองของประเทศไทยที่ต้องได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างเสมอภาคไม่แตกต่างจากพลเมืองคนอื่น ๆ หรือแม้ว่าเขาจะไม่ใช่พลเมืองชาวไทย แต่เขาก็คือ พลเมืออาเซียน ที่ประชาคมอาเซียนต้องดูแลเช่นกัน

ข้อเสนอรูปแบบการทำงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ปลายปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน ที่อิสรชน เริ่มขยับเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมตัวทำงานในพื้นที่ สนามหลวง และเริ่มลงทำงานอย่างจริงจังในปลายปี 2547 พบว่า การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ สนามหลวง คลองหลอด และปริมณฑล คำตอบไม่ใช่ การหาที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าคำตอบมีมากกว่านั้นมากมาย แต่กว่าจะได้มาซึ่งคำตอบนั้นจำเป็นต้องมีวิธีการทำงานเพื่อค้นหาคำตอบจากผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างเข้มข้นและลงลึก

โดยการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา อิสรชน ได้ทดลองและริเริ่มรูปแบบกิจกรรมเพื่อค้นหารากเหง้าของปัญหาร่วมกับคนสนามหลวงอย่างหลากหลายวิธี ที่พอจะสรุปได้ ได้แก่

การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล
การสร้างความคุ้นเคยเบื้องต้น
การคุยกลุ่มย่อยในพื้นที่
การคุยกลุ่มย่อยนอกพื้นที่
การทำประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็นในพื้นที่
การให้บริการพื้นฐานเฉพาะหน้า
การออกหน่วยให้คำปรึกษาแบบเคลื่อนที่เร็ว
การตั้งหน่วยบริการให้คำปรึกษาแบบประจำจุด

การลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง พบว่า ปัญหาพื้นที่ ที่คนสนามหลวงต้องการเป็นการเร่งด่วน คือ การยืนยันสถานภาพบุคคลทางทะเบียนราษฎร เพื่อยืนยันความเป็นพลเมืองไทย และ นำไปสู่การได้รับสิทธิอื่น ๆ ที่พลเมืองไทยพึงได้จากรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจในการหางานทำเพื่อพัฒนาตนเองในโอกาสต่อไป

รูปแบบการให้บริการเชิงรับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
จากการทำงานประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ภาครัฐเรียกว่า คนไร้ที่พึ่ง พบว่า สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ ที่รัฐมีอยู่ ยังไม่สามารถรองรับสภาพปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ ของรัฐที่มีอยู่ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถให้บริการ ครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านได้ โดยฌฉพาะการแยกการให้การดูแลครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะออกจากกัน แม้จะมีในบางกรณีที่สามารถให้แม่เด็กและเด็กอยู่ด้วยกันได้ แต่ก็แยกผู้เป็นสามีออกจากครอบครัว จากการทำงานพบว่า เกือบจะ 100% ของครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ได้รับการเชิญตัวเข้ารับการสงเคราะห์ในรูปแบบเดิม จากรัฐ จะกลายเป็นครอบครัวแตกในที่สุด เพราะเมื่อสามีหัวหน้าครอบครัว สามารถหาทางออกจากสถานแรกรับ หรือสถานสงเคราะห์มาได้ก่อน ภรรยามักจะมีครอบครัวใหม่ และเมื่อภรรยาเก่าออกมาพบ ก็เกิดการทะเลาะวิวาทกันในพื้นที่อยู่เป็นประจำ ยังไม่รวมการที่เด็กเมื่อได้รับการแยกให้การสงเคราะห์ออกไปมักจะได้รับการทอดทิ้งจากครอบครัว เป็นภาระของรัฐที่ต้องดูแลเด็กในฐานะเด็กถูกทอดทิ้ง

อิสรชน มีแผนการดำเนินการเปิดสถานพัฒนาคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(บ้านปั้นปูน) เพื่อเป็นทางเลือกในการให้บริการด้านการสงเคราะห์เบื้องต้น แก่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยเปิดโอกาสให้สามารถอยู่ได้ในรูปแบบของครอบครัว โดยจะมีนักสังคมสงเคราะห์ ,นักพัฒนาคุณภาพชีวิต ประจำอยู่ในบ้านดังกล่าว เพื่อคอยให้คำแนะนำและประสานงานหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ หรือ ภูมิลำเนาของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กรณีมีความต้องการจะกลับภูมิลำเนา และ จัดให้มีการฝึกอาชีพเบื้องต้นในรูปแบบของการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อเสริมศักยภาพของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก่อนจะดำเนินการส่งต่อ หรือ ส่งกลับภูมิลำเนา โดยพยายามบริหารกรอบเวลาให้สามารถทำงานได้อย่างครอบคลุมปัญหาให้มากที่สุด

การระดมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหา
การแก้ไข หรือบรรเทาปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อนไร้บ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมไปถึงภาคองค์กรธุรกิจด้วย เพื่อขยายพื้นที่การดูแลพลเมืองในสังคมอย่างทั่วถึงและสร้างทางเลือกให้ได้มากที่สุด

ในส่วนของภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ที่แสดงความจำนงจะเข้ามาช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหานี้ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนากลไกเดิมที่มีอยู่ในสอดรับสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่องค์กรภาคธุรกิจให้ออกมาร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้เข้าทำงาน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อันจะนำไปสู่การยุติการใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างถาวรในอนาคต

ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ
การตั้งหน่วยคัดกรอง (Drop In) ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวแก่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทุกกลุ่ม โดยปราศจากเงื่อนไข ข้อจำกัด เพื่อให้เขารู้สึกถึงความปลอดภัยในการเข้ารับบริการ โดยรูปแบบเป็นการทำงานผสมผสานกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน  โดยภายในหน่วยคัดกรอง จะมีบริการพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการ พูดคุยกับ ผู้รับบริการ

การมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามนอกเวลาราชการ เพื่อเป็นหน่วยเดินเท้าลงไปสร้างความคุ้นเคยชักชวนให้ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเต็มใจเข้ารับบริการในหน่วยคัดกรอง เพื่อประสานงานส่งต่อในการรับสวัสดิการด้านอื่น ๆ ต่อไป

จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ ในการส่งต่อไปยังหน่วยงานบริการด้านสวัสดิการอื่น ๆ ของรัฐ รวมถึงการส่งกลับครอบครัว

จัดให้มีการประชุมสรุปบทเรียน ระหว่างการดำเนินการ หน่วยคัดกรองดังกล่าว ควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการให้บริการ ด้วยการกำหนดเวลา หรือวันในการให้บริการของแต่ละหน่วยบริการ ตลอดจนจัดให้มีการประชุมสรุปบทเรียนเป็นระยะ ๆ เพื่อค้นหารูปแบบการทำงานที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net