Skip to main content
sharethis

 

 
“เราอยู่ เพื่ออยู่รอดเท่านั้นเอง” คำบอกเล่าที่ถ่ายทอดความรู้สึกของคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ของ ชัยยา โชเฟอร์แท็กซี่ ผู้เปิดตัวผ่านสื่อในหนังสารคดี ‘รับนะ 24 ชั่วโมง’ ทางรายการ ‘ก(ล)างเมือง’
 
จากศุกร์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดเวทีให้ ‘คนในหนัง’ และ ‘คนทำหนัง’ ได้มาถ่ายทอดความคิดเบื้องหลังการทำงานร่วมกับ ภายในงานเทศกาลหนังก(ล)างเมือง ครั้งที่ 1 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
ถือเป็นโอกาสอันดีที่ ‘คนในหนัง’ ได้ลุกขึ้นพูดถึงเรื่องราวของพวกเขา ซึ่งมากไปกว่าที่หนังเชิงสารคดีสะท้อนวิถีชีวิตได้นำเสนอ ขณะที่ ‘คนทำหนัง’ ได้มาบอกเล่าถึงคำถามเบื้องต้นของพวกเขาต่อผู้คนในสังคมเมือง
 
พร้อมกิจกรรมฉายหนังสารคดี 6 เรื่อง สะท้อน 2 ประเด็นใหญ่ ‘ใครอยู่ในเมือง?’ และ ‘นโยบายสาธารณะของเมือง’ซึ่งเกี่ยวพันกับชีวิตที่หลากหลายในกรุงเทพฯ แบ่งฉายสัปดาห์ละ 3 เรื่อง โดยอีก 3 เรื่องจะฉายในวันศุกร์ที่ 22 ก.พ.นี้
 

‘รับนะ 24 ชั่วโมง’ มากกว่าการบริการ คือชีวิตคนทำงาน

http://www.youtube.com/watch?v=yq1k7_xksBA
 
ชัยยา ขึ้นเวทีร่วมพูดคุยถึงหนังสารคดี ‘รับนะ 24 ชั่วโมง’ ว่าเป็นสารคดีที่สื่อสารไปถึงผู้ใช้บริการที่ยังไม่เข้าใจแท็กซี่อย่างพวกเขา ซึ่งเป็นคนส่วนหนึ่งที่อยู่ในสังคมเมืองอันหลากหลาย ถือเป็นเรื่องราวในเชิงบวก เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน
 
อย่างไรก็ตาม ชีวิตแท็กซี่ก็ต้องเผชิญกับความเอารัดเอาเปรียบด้วยเช่นกัน ทั้งจากผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมัชชาแท็กซี่เพื่อเป็นที่พึ่งของคนทำงานบริการ
 
“เราพยายามทำหน้าที่นี้ให้ดีในสังคม” โชเฟอร์แท็กซี่กล่าว
 
จากการบทสนทนาในหนังสารคดี อาทิ “ทำไมจึงมาขับแท็กซี่?” “มองอนาคตของตัวเองอย่างไร” “คิดอย่างไรกับการที่แท็กซี่จึงปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร?” ฯลฯ
 
ภาณุ แสง-ชูโต บัณฑิตด้านภาพยนตร์ นักสร้างสรรค์สารคดีมือรางวัล ผู้กำกับหนังสารคดี ‘รับนะ 24 ชั่วโมง’ กล่าวว่า เขาต้องการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทัศนคติที่หลากหลาย จึงให้วิธีคัดเลือกแบบสุ่มในการถ่ายทำ โดยเลือกพื้นที่แล้วโบกแท็กซี่ที่ผ่านมาในเส้นทาง กระโดดขึ้นรถแล้วบันทึกภาพกันแบบสดๆ เพื่อให้ได้ภาพชีวิตจริงๆ และความจริงที่พวกเขาต้องการระบาย  
 
ภาณุ บอกเล่าแนวความคิดของเขาว่า คนขับแท็กซี่คือคนแปลกหน้าที่ร่วมเดินทางไปกับเราในเมืองใหญ่ แม้บางครั้งผู้โดยสารอาจรู้สึกหวาดกลัว แต่คนในทุกอาชีพล้วนมีเบื้องหลัง เขาจึงต้องการสื่อสารมันออกมา
 
นอกเหนือไปจากคำตอบที่ได้รับจากหนังสารคดีเรื่องนี้ ในช่วงเวลาแห่งการรับฟังความเห็นจากด้านล่างเวที โชเฟอร์แท็กซี่หลายคนได้สลับกันลุกขึ้นมาบอกเล่าถึงความอึดอัดใจของพวกเขา ทั้งความรู้สึกที่ว่าโดนกดขี่จากทั้งกฎหมายและผู้โดยสาร การถูกละเลยจากหน่วยงานรัฐทั้งที่พวกเขาคือส่วนหนึ่งในโครงข่ายการคมนาคมในเมืองหลวงแห่งนี้ ฯลฯ
 
ในกรณีแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ผู้โดยสารมีช่องทางในการร้องเรียนแท็กซี่ผ่านทางกรมการขนส่งทางบก แต่หากผู้โดยสารไม่จ่ายเงิน แท็กซี่จะไปเรียกร้องเอาได้จากใคร นี่ยังไม่นับกรณีถูกทำร้ายจนบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต
 
ส่วนเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากโชเฟอร์แท็กซี่ เมื่อรวมกันแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่พวกเขาไม่เคยรู้ และได้แต่ตั้งคำถามว่าเงินตรงนี้จะนำไปตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือแท็กซี่บ้างได้หรือไม่
 
“คนในสังคมที่คุณตั้งว่าลืมคิดถึง คนที่หายไป คนคนนั้นคือพวกผมเอง” โชเฟอร์แท็กซี่รายหนึ่งกล่าว
 
นอกจากนั้นยังมีกรณีที่แท็กซี่รวมตัวกันยื่นเรื่องขอขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากต้นทุนและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น แต่คนในรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน กลับบอกให้วิ่งสู้ฟัดกันไปก่อน ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาต้องวิ่งกันไปถึงไหน เมื่อไหร่ และอย่างไรดี
 
 

‘บ้านไม่มีเลขที่’ ในวันที่ไม่มีบ้านหลังนั้นอีกต่อไป


http://www.youtube.com/watch?v=fOLnurHzTnE
 
อภิชน รัตนาภายน ช่างภาพ นักถ่ายทอดสารคดีเจ้าของผลงาน ‘บ้านไม่มีเลขที่’ บอกเล่าถึงการทำงานของหนังสารคดีเรื่องนี้ว่า เริ่มต้นจากการไปนั่งสำรวจชีวิตของกลุ่มคนทำดำรงชีวิตอยู่ใต้เชิงสะพานปิ่นเกล้า ด้วยคำถามตั้งต้นคือ “ทำไมพวกเขาจึงไปอยู่ตรงนั้น?” ก่อนแบกกล้องลงไปถ่ายทำจริง
 
อภิชน กล่าวว่า เขาไปด้วยความว่างเปล่า เข้าไปพูดคุย รับฟังเรื่องราวเสมือนเป็นเพื่อนปรับทุก และสิ่งที่เขาได้สัมผัสคือการดำรงอยู่ของคนกลุ่มหนึ่งในเมืองใหญ่ ในลักษณะคล้ายกับสังคมชนบทย่อส่วนที่มีการดูแลจัดการ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พ่อแม่คนให้ออกไปทำงานก็สามารถฝากลูกให้คนที่อาศัยอยู่บนสื่อผืนข้างๆ ช่วยกันดูแลได้
 
ขณะที่ศรียุทธ หนึ่งในคนใน ‘บ้านไม่มีเลขที่’ ซึ่งพาครอบครัวมาร่วมงาน กล่าวถึงสถานการณ์หลังจากหนังสารคดีได้แพร่ภาพว่า ในด้านดีก็คือมีหน่วยงานและองกรเอกชนต่างๆ เข้ามายื่นมือให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนใต้สะพาน นอกเหนือจากที่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิอิสระชนอยู่เดิม  
 
ส่วนสิ่งที่แย่ คือขณะนี้ไม่มี ‘บ้านไม่มีเลขที่’ อีกต่อไปแล้ว
 
ศรียุทธ เล่าว่า เมื่อผู้อำนายการเขตพระนครคนใหม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ ได้เริ่มต้นไล่รื้อชุมชน โดยให้เทศกิจเข้ามาล้างทำความสะอาดพื้นที่ใต้สะพาน ซึ่งคนในชุมชนก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีการทำความสะอาด แต่ต่อมาก็มีการนำรั้วมากันเพื่อไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ในการอยู่อาศัย จากนั้นก็มีการเอาแผงเหล็กมาเชื่อมปิดกันไม่ให้เข้าพื้นที่ได้  
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนในชุมชนต้องกระจายตัวไปหาที่อยู่ใหม่ บ้างก็ไปอยู่บ้านมิตรไมตรี บ้านอุ่นใจ (บ้านพักคนไร้บ้าน ของสำนักพัฒนาสังคม) บ้างก็เดินทางกลับบ้าน บ้างก็ต้องรอนแรมไปหาที่พักพิงแห่งใหม่
 
ส่วนครองครัวของศรียุทธต้องไปหาห้องเช่าในบริเวณที่ใกล้โรงเรียนของลูกๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยไปอยู่ที่บ้านพักคนไร้บ้านแล้ว แต่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปทำงานและส่งลูกๆ ไปโรงเรียน
 
“คนเรามันก็ต้องยอมรับความจริงกันให้ได้” ศรียุทธกล่าว
 
การพูดคุยในงานเทศกาลหนังก(ล)างเมืองวันแรก ปิดท้ายด้วยหนังสารคดีเรื่องสุดท้าย ‘บ้านของคนสร้างบ้าน’ โดยวชร กัณหา ช่างภาพ ผู้กำกับหนังสั้น ที่เล่าถึงชีวิตของผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาแสวงหางาน หาชีวิตที่ดีกว่า ด้วยการเข้ามาเป็นคนงานก่อสร้างผู้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมือง
 
 
 
 
หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจ ศุกร์ที่ 22 ก.พ.56 สามารถร่วมรับชมและรับฟังทรรศนะของคนในหนัง คนทำหนัง และเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งศึกษาเรื่องนโยบายพลังงานมายาวนาน ในประเด็น “นโยบายสาธารณะของเมือง”
 
และพบกับหนังสารคดีอีก 3 เรื่อง คือ “เดิน” โดย ธัญ เปลวเทียนยิ่งทวี และ ณัฐฏา หอมทรัพย์ “ชุมชนกระดาษ” โดย ธีรยุทธ์ วีระคำ และ “แถวนี้แม่งเขื่อน” โดย ศิริพร คงมา และพัชร เอี่ยมตระกูล
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net