7 ประเทศที่มีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวดีที่สุดในยุโรป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเรียกสั้นๆ ว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านทางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในภาครัฐ โดยภาคเอกชนและภาคครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าและบริการจากตลาดโดยคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมักจะมีงบประมาณจำนวนมากและถือเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดจนสามารถกำหนดทิศทางของตลาดได้ในระดับหนึ่ง

เนื่องจากการบริโภคของภาครัฐโดยทั่วไปมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะมีอิทธิพลกระตุ้นตลาดให้ปรับฐานการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในประเทศต่างๆ มีขนาดประมาณ 10-30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยมีขนาดประมาณ 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนอกจากจะเป็นการสร้างอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการสีเขียวแล้ว ยังถือเป็นการทำตนเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนในประเทศได้ปฏิบัติตามในด้านจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างสูง หนึ่งในความคิดริเริ่มของสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็คือการให้ภาครัฐเป็นหักหอกในการพัฒนาตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ผ่านทางการจัดซื้อจ้ดจ้างภาครัฐสีเขียว (Green Public Procurement: GPP) โดยสหภาพยุโรปได้นิยาม GPP ไว้ว่าหมายถึงแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐผนวกเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการค้นหาและเลือกผลลัพธ์หรือทางออกที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุดผ่านการพิจารณาวัฏจักรของสินค้าตลอดวัฏจักร

ทั้งนี้ บางประเทศได้ดำเนินงานไปไกลกว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ขยายขอบเขตไปเป็น “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยั่งยืน” (Sustainable public procurement (SPP)) ซึ่งได้นำปัจจัยทางสังคมเข้ามาพิจารณาด้วย เช่น การค้าที่เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน และเงื่อนไขทางแรงงาน เป็นต้น

ระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวของยุโรปเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2004 โดยหลังจากใช้ระเบียบไป 2 ปีและมีการประเมินก็พบว่ายังคงมีอุปสรรคที่สำคัญบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบว่าเอกสารข้อเสนอการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในสหภาพยุโรปเพียง 36% เท่านั้นที่ตั้งเกณฑ์การพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง โดยมีบางประเทศเช่นสวีเดนและเยอรมนีที่มีเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 60% ของเอกสารข้อเสนอการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในยุโรป

จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีผลการดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ดี มี 7 ประเทศ หรือเรียกกันว่ากลุ่ม “Green 7” ประกอบไปด้วยประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลดน์ เยอรมนี เนเธอรแลนด์ สวีเดน และอังกฤษ โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้กลุ่ม Green 7 ประสบความสำเร็จประกอบด้วย

·         การมีการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากฝ่ายการเมืองและการมีแนวทางการปฏิบัติระดับประเทศ (Strong political drivers and national guidelines)

·         การมีโครงการระดับชาติ (national programes) และต่อเนื่องหลายปี

·         ความพร้อมด้านข้อมูลสารสนเทศ (Information sources) ผ่านเว็บไซต์และฉลาก Eco-labels

·         การมีเทคนิคการจัดซื้อจัดจ้างที่มีนวัตกรรม (Innovative procurement techniques) เช่นการคิดตลอดวัฎจักรสินค้า

·         หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างใช้ระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Purchasing organizations apply environmental managements systems (EMS))

ประเทศอังกฤษได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็น 75% ของงบประมาณและตั้งเป้าว่าการก่อสร้างของรัฐบาลกลางและการขนส่งจะเข้าเกณฑ์คาร์บอนสมดุลได้ในที่สุด โดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอังกฤษครอบคลุมสินค้าเหล่านี้คือ กระดาษ ซองจดหมาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์สำนักงาน การก่อสร้าง การขนส่ง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอ และบริการการจัดสวน ส่วนประเทศไอร์แลนด์ กระทรวงการคลังของไอร์แลนด์มุ่งเน้นให้ “ความยั่งยืน” เป็นส่วนสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยนำเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ์ (MDG) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ในขณะที่ประเทศเบลเยี่ยม เป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยั่งยืนที่ขยายขอบเขตไปพิจารณาด้านสังคม โดยเบลเยี่ยมได้คำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) โดยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

ผลการสำรวจต่อคำถามที่ว่า เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ถูกนำไปพิจารณาในองค์กรของคุณในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่(Are there environmental criteria taken into account in your organisation when purchasing?)

จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายประเทศยังไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิผลเกิดจากทัศนคติต่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่ามีราคาแพง การขาดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การขาดการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร การขาดข้อมูลและเครื่องมือ และการขาดการฝึกอบรม อุปสรรคเหล่านี้ความจริงแล้วสามารถแก้ไขได้โดยการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีหรือ Good practice จากกลุ่ม “Green 7” เข้าไปประยุกต์ใช้ในประเทศต่างๆ ได้ ซึ่งประเทศไทยสามารถศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาว่ากลุ่ม Green 7 ทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไรและทำอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น อุปสรรคที่สำคัญที่มักเกิดขึ้นในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในกรณี การขาดสินค้าและบริการสีเขียวในตลาด การแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวทำได้โดยการเจรจากับซัพพลายเออร์เป็นกรณีพิเศษ การลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมให้กับผู้ผลิต และการลดภาษีนำเข้าสินค้าสีเขียวที่ต้องการ เป็นต้น

ผลการสำรวจอุปสรรคที่สำคัญต่อการผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว

OECD (2012) ได้ศึกษากลุ่มสินค้าและบริการที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่ากลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ หรือเรียกว่า กลุ่ม “Easy wins” ซึ่งประเทศต่างๆ ควรเริ่มจากลุ่มสินค้าเหล่านี้ก่อน

 

กลุ่มสินค้าและบริการที่มีความยากง่ายต่างกันในการผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว

กลุ่ม Easy Wins ประกอบด้วย

·         สินค้าและบริการทำความสะอาด

·         บริการจัดสวน

·         ยาและการแพทย์

·         พลังงาน

·         ผลิตภัณฑ์เคมี ยาง พลาสติก

·         ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงภัตราคารและการจัดเลี้ยง

·         สถาปัตยกรรม

·         งานก่อสร้าง

·         การกำจัดของเสียและขยะ

·         บริการสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย

·         อุปกรณ์สำนักงาน

·         เฟอร์นิเจอร์

·         กระดาษ การพิมพ์

·         การขนส่งและการสื่อสาร

กล่าวโดยสรุป การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือการนำปัจจัย “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้า” มาพิจารณาเป็นปัจจัยหลักในการซื้อสินค้าและบริการของภาครัฐ ในระยะยาว นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่จุดที่มีความล้มเหลวของตลาดสูง หรือกลุ่มสินค้าและบริการที่ผลกระทบทางลบภายนอก (externalities) ยังไม่ได้ถูกนำมาคิดเป็นราคาตลอดผ่านนโยบายต่างๆ ในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยมีขนาดประมาณร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งถือว่าเป็นอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่มีขนาดใหญ่พอจะเป็นผู้นำในการกระตุ้นให้ตลาดปรับตัวสู่การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางควรดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานต่างๆ  โดยบูรณาการกับแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2555-2559 (โดยกรมควบคุมมลพิษ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย แล้วจึงขยายขอบเขตสู่ “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยั่งยืน” (Sustainable public procurement (SPP)) โดยนำปัจจัยทางด้านสังคมมาพิจารณาต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ควรจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยกระตุ้นตลาดสีเขียวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเพื่อให้ภาคการผลิตของประเทศไทยปรับตัวเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการสีเขียวเพิ่มมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท