Skip to main content
sharethis

ขบวนการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจริงหรือไม่? สงครามของใคร? เราจะจัดการตัวเองอย่างไร? เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?  มีทางเลือก ทางต่อสู้อื่นอีกหรือไม่? คำถามเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นในเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 


 
ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีนำเสนอ ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ซึ่งเป็นเวทีที่นำ ความคิด มุมมองจากกลุ่มคน หลากหลายกลุ่ม เพื่อมาถกเถียง พูดคุย เพื่อที่จะนำสันติภาพกลับคืนสู่สังคม เวทีสาธารณะ ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี เป็นความร่วมมือกันของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,ปาตานี ฟอรั่ม,สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน 3 จังหวัด และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กรเครือข่าย ได้เปิดพื้นที่ให้กับการพูดคุยปริศนาที่เกิดขึ้น โดยมีวิทยากรทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่จาก ศอ.บต. และภาคประชาชน มาร่วมพูดถึง ความเป็นไปของปริศนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้คือ  ศิโรจน์  แวปาโอะ  (ตัวแทนชาวอำเภอบาเจาะและประธานเครือข่ายที่ดินบูโด)  สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ (ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม)  ปกรณ์ พึ่งเนตร (บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้สถาบันอิศรา)  อดินันท์ ปากบารา (รองเลขาธิการ ศอ.บต) นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ และ พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส  โดยมี  เอกรินทร์  ต่วนศิริ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ 
 
การเสวนาครั้งนี้เริ่มต้นโดยผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงความสำคัญและความเป็นไปในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม RKK ที่นำโดยนายมะรอโซ จันทราวดี (ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และ พรก.ฉุกเฉินหลายคดี) กับเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน  ประจำฐานปฏิบัติการทหารร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา[1]  คำถามจากเหตุการณ์ครั้งนี้เราได้เห็นผู้คนในสังคมออกเป็นสองขั้ว มีข้อถกเถียงอันหลากหลายเกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้ ทำให้สังคมไทยมาดูเรื่องภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง ปัญหาการแบ่งขั้วสองขั้วที่สุดโต่ง ทั้งมุมมองที่กล่าวว่าคนเชิดชูกลุ่มนี้ หรือมองว่า คนเหล่านี้สมควรที่จะถูกกวาดล้างให้หมด
 

สื่อมองปรากฏการณ์ความรุนแรงภาคใต้อย่างไร
 
ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้สถาบันอิศรา ในมุมมองของสื่อ สื่อก็มองภาคใต้อย่างหลากหลายเช่นเดียวกันกับสังคมไทย มีทั้งกลุ่มที่มองผู้ตายในเชิงบวก หรือมองในเชิงลบ และในขณะเดียวกันก็มีมุมมองที่เป็นกลาง เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรที่จะแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่ใช้ความรุนแรง ในการนำเสนอข่าวของสื่อ มีทั้งเสนอในประเด็นของอาชญากรรม ในเชิงที่ว่ามีการตายเกิดขึ้น ใครทำอะไร? ที่ไหน? แต่อาจจะลืมเรื่องอย่างไร? ในส่วนตรงนี้ก็จะมีสื่ออีกบางประเภทที่จะค้นหาว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ที่ไปมากกว่านั้นสื่อบางสื่อจะช่วยในการแก้ปัญหา จะมีการเปิดเวที ให้ผู้คนแสดงความเห็น ซึ่งจะเป็นสื่อออนไลน์โดยส่วนใหญ่ แต่สื่อลักษณะนี้จะมีค่อนข้างน้อย สื่อพวกนี้จะเป็นสื่อกระแสรอง โดยในขณะที่สื่อกระแสหลัก จะถูกยึดพื้นที่ด้วยข่าวสารขององค์ความรู้หลัก กล่าวคือจะเป็นสื่อที่นำข่าวมาจากคนของรัฐ
 
แต่สิ่งที่ได้สังเกตเห็นในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ ฝ่ายรัฐมีสติมาก ซึ่งสังเกตุจาก กอ.รมน. ได้ออกข่าวในช่อง 9 คำแรกที่ได้กล่าวก็คือ “ขอแสดงความเสียใจ” ความพยายามในสิ่งที่พยายามที่จะปฏิรูป ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 9 ปี เริ่มทีจะเห็น “สติ” โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ครั้งนี้รัฐสื่อสารได้ค่อนข้างที่จะดี ซึ่งจะเห็นได้ทั้งคำพูดที่ว่า เสียใจและอย่าเพิ่งไปดีใจ เพราะว่าการตายที่ฐานปฏิบัติการไม่ใช้ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าวนั้นมันเป็นจุดเปลี่ยนต่อสถานการณ์สื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงของภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็น “มุมดี” ที่แสดงถึงความมีสติมากยิ่งขึ้น
 
 

มุมมองของทหาร มองเหตุการณ์นี้อย่างไร
 
นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร เวทีนี้จะเป็นเวทีที่ดีที่สุด หากเรามีเป้าหมายร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ภาคใต้ตอนล่าง กลับคืนสู่ความสงบและสันติสุข  ประการแรกขอกล่าวว่าในนามของผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ “ขอแสดงความเสียใจ” ต่อผู้ที่สูญเสีย เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มคนที่เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการทุกคนสวมชุดเกราะ มีอาวุธสงคราม มีระเบิด 3-5 ลูก แม็กกาซีน 3-5 แม็ก อย่างไรก็ตามท่านก็คือ บุคคลที่เกิดร่วมแผ่นดินเดียวกัน การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารทุกคน เพื่อรักษาชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แต่เราต้องป้องกันฐานที่มั่น เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง
 
หลังจากเกิดเหตุการณ์ ภายในวันเดียวกันนั้น นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ได้กล่าวว่า 16 คนที่เสียชีวิตไม่ใช่ชัยชนะของเจ้าหน้าที่ ไม่เคยมีชัยชนะจากความสูญเสียของผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน ในทุกกรณีที่ผ่านมา
 
ต่อจากนั้น นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่บาเจาะว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากในอดีตได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทุกๆ สามวัน ในปัจจุบันนี้ได้ดีขึ้นตามลำดับ ต่อเนื่องจากสถานการณ์ในบาเจาะ คุณศิโรจน์  แวปาโอะ  ได้กล่าวถึงพื้นที่ของบาเจาะว่า เดิมบาเจาะมีกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวอยู่จริง แต่ปัจจุบันนี้ไม่แน่ใจว่ามีการกลายพันธุ์ไปแล้วหรือไม่ เพราะว่าในทุกวันนี้มีหลายฝ่าย เข้ามายุ่งเกี่ยวเช่น กลุ่มยาบ้า กลุ่มของเถื่อน เป็นต้น ที่ได้เข้าไปปะปนในสังคมของชาวบาเจาะ เกิดความสับสนอยู่ในพื้นที่ของบาเจาะ
 
 
ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ในมุมมองของ ศอ.บต.
 
อดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต เรามีปริศนาที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ทางภาคใต้ที่เป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลาย อะไรคือ? ปริศนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติพันธ์เป็นปริศนาที่คนรุ่นใหม่เริ่มมีความสับสน โดยตัวอย่างจากคำว่า ตนเองเป็นคนมลายูหรือไม่ ? มลายูที่ไม่พูดภาษามลายูปาตานี หรือยาวีนี้ เป็นมลายูหรือไม่ ไม่เคยมีความกระจ่างชัด ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ภาคประชาชนที่จะให้คำตอบต่อประชาชนที่ชัดเจน หรือว่ามี แต่ถูกปฏิเสธโดยบางกลุ่ม
 
ประการต่อมาในเรื่องของศาสนา ปริศนาที่สำคัญนั่นก็คือว่า การที่เปิดโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ว่าเปิดได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวนี้ก็ถูกคลี่คลายลงในปัจจุบัน การแต่งกาย เมื่อก่อนถูกตั้งคำถามว่า แต่งกายคลุมฮิญาบได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นปริศนาดำมืด ต่อมารัฐบาลยอมรับก็ออกระเบียบอนุญาตคลุมฮิญาบได้ ประการถัดไป การมีส่วนร่วมในการปกครองมีความหลากหลาย มีตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแย่งชิงอำนาจเกิดขึ้นตามมาด้วย เศรษฐกิจก็เป็นปริศนาในเรื่องของการจัดการทรัพยากรที่เดิมทีนั้นไม่ได้มีความลงตัวเท่าไหร่ นี้ก็เป็นปริศนาที่เกิดขึ้นที่ต้องคลี่คลาย ในขณะเดียวกันยาเสพติดที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นปริศนากันว่า ผู้ใดเป็นใครทำ
 
ปริศนาเหล่านี้ทำให้เกิดความกดดัน นำไปสู่การต่อสู้ทางความคิด และปริศนาเหล่านี้ได้นำไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม แล้วสร้างความคิดใหม่ให้มาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
สำหรับขบวนการที่เคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นขบวนการที่มีอยู่จริง ซึ่งจะชื่ออะไรก็ตาม มีขวบวนที่มีกำลังคน มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วมีการทำซ้ำ แต่ ศอ.บต. ก็มีการยอมรับว่า กลุ่มคนเหล่านั้นคือผู้ที่มีความเห็นต่าง คำถามที่เกิดขึ้นว่า เรากำลังทำสงครามกับใคร คำตอบก็คือ เราทำสงครามกับคนไทยด้วยกันเอง ที่ไม่มีวันชัยชนะกันเลย จะพบกับความพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่าย
 
 
 
 
ที่มา: Patani Forum
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net