Skip to main content
sharethis

"เผดิมชัย"ปัดโรงงานโอ่งราชบุรีปิดตัว ไม่เกี่ยวขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่โรงงานผลิตโอ่งใน จ.ราชบุรี ต้องปิดกิจการ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรีว่า โรงงานทำโอ่งได้หยุดกิจการชั่วคราวทั้งหมด 2 แห่ง มีแรงงานจำนวน 7 คน โดยสาเหตุที่หยุดกิจการไม่ได้เกิดจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่เป็นเพราะโรงงานไม่มียอดสั่งซื้อ (ออเดอร์) สินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งตลาดภายในประเทศมีจำนวนจำกัด และค่าวัตถุดิบมีราคาแพง ทำให้บริษัทขาดทุนจึงต้องปิดกิจการ ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงงานโอ่งใน จ.ราชบุรี มี 31 แห่ง มีแรงงานประมาณ 500 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าและกะเหรี่ยง ทำให้การแข่งขันสูง เพราะโรงงานที่ปิดตัวไปเป็นโรงงานขนาดเล็ก ไม่สามารถแข่งขันกับโรงงานขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังมีโรงงานโอ่งที่หยุดกิจการชั่วคราว 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จำนวน 1 แห่ง มีลูกจ้าง 10 คน และมีโรงงานที่มีแนวโน้มที่จะหยุดกิจการในเดือนมีนาคม จำนวน 1 แห่ง มีลูกจ้าง 6 คน

นายเผดิมชัยกล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดทั่วประเทศประสานขอข้อมูลจาก พาณิชย์จังหวัดที่มีสถานประกอบการไปยื่นจดทะเบียนเปิดกิจการ เพื่อเป็นการรายงานข้อมูลที่รอบด้าน ให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยในส่วนการแก้ปัญหาโรงงานโอ่งขนาดเล็กนั้นมองว่า เมื่อไม่มีออเดอร์เข้ามา ทางโรงงานควรร่วมกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ในการรับงาน เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

(มติชนออนไลน์, 18-2-2556)

 

ผ.อ.การท่าเรือยื่นใบลาออกแล้ว หลังโดนสหภาพฯท่าเรือประท้วงขับไล่

วันที่ 18 ก.พ. ที่ประชุมคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อหารือกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่ง ประเทศไทย ชุมนุมประท้วงขับไล่ เรือตรีวิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการการท่าเรือ

โดยสหภาพแรงงานการท่าเรือฯได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้อำนวยการการท่าเรือลา ออกหลังจากที่เกิดปัญหาบริหารงานผิดพลาด ใช้อำนาจในทางที่มิชอบ ทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์กร

ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการหารือ เรือตรีวิโรจน์ จงชาณสิทโธ ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งโดยมีพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง มีมติเห็นชอบกับการลาออกและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป

พร้อมแต่งตั้ง ร.อ.อิทธิชัย สุพรรณกุล รองผู้อำนวยการ สายบริหารทรัพยากรบุคคลและการเงิน ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการการท่าเรือ

ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นการหารือและเรือตรีวิโรจน์ได้ลาออกตามคำเรียกร้อง สหภาพแรงงานก็กลับเข้าทำงานตามปกติ

(สปริงนิวส์, 18-2-2556)

 

ชาวบ้านร้องถูกหลอกขายแรงงานญี่ปุ่น

20 ก.พ. 56 - แรงงานกว่า 20 คน รวมตัวร้อง ปคม. ถูกนายหน้าเถื่อนลวงจะพาไปทำงานที่ญี่ปุ่น โดยเก็บเงินค่าเรียนภาษาและวีซ่า คนละ 5 หมื่นบาท แต่กลับไม่ได้ไปจริง 

นายอิทธิพงษ์ ทุ่งไธสง ชาวนครราชสีมาและชาวบ้านจากอีกหลายจังหวัดทางอีสานอีกกว่า 20 คน เข้าร้องเรียนกับตำรวจปคม. หลังถูก นายนภดล เทียนทิพย์จรัส ที่อ้างตัวเป็นบริษัทจัดหางาน มีโควตาไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ต้องเข้าเรียนภาษา และเสียเงินค่าขอวีซ่า คนละ 50,000-60,000 บาท และวันเดินทางต้องเสียเงินรวม 280,000 บาท มีผู้หลงเชื่อกว่า 80 คนนำเงินมาจ่าย และเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยบริษัทมีสัญญาระบุจะพาเดินทางไปทำงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อสอบถามนายนภดลกลับพยามบ่ายเบี่ยงและผิดนัดหลายครั้ง จึงพากันมาแจ้งความ เพราะเชื่อว่าน่าจะถูกหลอก

(สำนักข่าวไทย, 20-2-2556)

 

สปส.ชี้ขยายอายุเกษียณ 60 ปี ไม่มีอำนาจขึ้นอยู่กับนายจ้าง

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุและลูกจ้างเสนอให้มีการขยายอายุ เกษียณการทำงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ว่า สปส.ไม่มีอำนาจกำหนดเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่จะทำความตกลงกันเองว่าจะเกษียณ อายุการทำงานเมื่ออายุเท่าใดต่างจากภาคราชการที่กำหนดไว้ชัดเจนให้อยู่ที่ อายุ 60 ปี ทั้งนี้ เหตุที่ สปส.กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีชราภาพเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ เพราะเห็นว่าเป็นช่วงวัยที่ลูกจ้างทำงานมานานเพียงพอแล้ว และนายจ้างส่วนใหญ่เลือกที่จะเปลี่ยนลูกจ้างรุ่นใหม่เข้ามาแทนลูกจ้างรุ่น เก่าในช่วงอายุ 55 ปี

นายอารักษ์กล่าวว่า ส่วนเกณฑ์การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้แก่ผู้ประกันมาตรา 39 และมาตรา 33 แบ่งเป็น 2 รูปแบบได้แก่ 1.เงินบำเหน็จชราภาพให้เป็นเงินก้อนเดียวแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไม่ครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี และ 2.เงินบำนาญชราภาพให้เป็นเงินรายเดือนแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 15 ปี และออกจากงาน โดยปัจจุบันในการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 5 จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ใช้ดูแลสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต 2.ใช้จ่ายสิทธิประโยชน์การว่างงาน และ 3.ในส่วนของเงินชราภาพที่จะนำมาจัดเก็บในอัตราร้อยละ 3 และผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินออมเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ ซึ่งคำนวณจากระยะเวลาในการนำส่ง หากส่งไม่ครบ 15 ปี จะได้ในลักษณะของเงินบำเหน็จชราภาพ

"โดยในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพ สปส.ได้ประมาณการไว้ว่า จะมีผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 33 อายุครบ 55 ปีที่รับเงินบำนาญชราภาพ 5,000 คน รวมเป็นเงิน 90 ล้านบาท และรับเงินบำเหน็จชราภาพประมาณ 120,000 คน เป็นเงิน 8,000 ล้านบาท รวมแล้วจ่ายเงินกว่า 8,090 ล้านบาท" นายอารักษ์กล่าว

(ประชาชาติธุรกิจ, 21-2-2556)

 

รวบหนุ่มใหญ่สวีเดน หลอกแรงงานไทย 168 คนไปปล่อยลอยแพ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 ก.พ. ที่กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว พล.ต.ต.รอย อิงคไพโรจน์ ผบก.ทท.  พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รอง ผบก.ทท. พ.ต.ท.เกื้อกมล ดวงประทีป รอง ผกก.3 บก.ทท. พ.ต.ต.บวรภพ สุนทรเลขา สว.ส.ทท.2 กก.1 บก.ทท. ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมนายอารี เวคโค จูฮานี ฮาวลิโคเน่น อายุ 52 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของประเทศสวีเดน

พล.ต.ต.รอยเปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวกับตำรวจของสวีเดน ได้ร่วมกันสืบสวนจนทราบว่าเมื่อปี 53 ที่ผ่านมา นายอารีได้ทำการเปิดบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งต่อมาเจ้าตัวได้ส่งแรงงานไทยจำนวน 168 คน ไปทำงานด้านการเกษตรยังประเทศสวีเดนเพื่อทำงานด้านเกษตร ซึ่งแรงงานชุดดังกล่าวได้ทำการกู้เงินจากธนาคาร และเงินนอกระบบรวมทั้งหมด 13 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่เมื่อแรงงานชุดนี้เดินทางไปทำงานที่ประเทศสวีเดนแล้วปรากฏว่านายอารียัง ฉ้อโกงเงินค่าจ้างไปอีก คิดเป็นเงินไทยจำนวน 24.8 ล้านบาท ทำให้แรงงานทั้งหมดไม่ได้รับเงินค่าจ้างและถูกปล่อยลอยแพ ทั้งหมดจึงเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือกับทางการสวีเดน ก่อนจะได้รับการส่งตัวกลับประเทศไทยในเวลาต่อมา
 
พล.ต.ต.รอย กล่าวต่อว่า หลังเกิดเหตุนายอารีได้นำเงินทั้งหมดที่ได้จากการหลอกลวงแรงงานหลบหนีมา กบดานที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 54 โดยจะเปลี่ยนที่กบดานอยู่เสมอทำให้ยากต่อการจับกุม ต่อมารัฐบาลสวีเดนจึงทำการออกหมายจับและยกเลิกหนังสือเดินทางของนายอารีไว้ ก่อนประสานมายังประเทศไทยเพื่อให้ติดตามจับกุมตัว จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีผ่านทางระบบ Touriat Buddy Applications ว่าพบนายอารีหลบช่อนตัวอยู่ใน จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่จึงได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดชลบุรี ก่อนเข้าจับกุมนายอารีขณะกบดานอยู่ภายในบ้านเลขที่ 127/759 หมู่ที่ 3 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี ก่อนควบคุมตัวมาสอบปากคำ

พล.ต.ต.รอย กล่าวด้วยว่า จากการสอบสวนนายอารี ให้การรับสารภาพโดยอ้างว่าเพิ่งเปิดบริษัทหลอกลวงแรงงานไทยชุดดังกล่าวเพียง ชุดเดียว เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ ได้รับอนุญาต ก่อนควบคุมตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้หากมีแรงงานไทยคนใดเคยถูกนายอารี หลอกลวงในลักษณะนี้ก็สามารถเข้ามาแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมได้

(เดลินิวส์, 22-2-2556)

 

ระทึกไฟไหม้โรงไฟฟ้านิคมอยุธยาเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบริษัทโรจนะเพาเวอร์ จำกัด 1/73 หมู่ที่ 5 สวนอุตสาหกรรมโรจนะ โรจนะ  ต.คานหาม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา จึงพร้อมด้วยรถดับเพลิงจากเทศบาล อบต.กว่า 30 คัน เข้าไปควบคุมเพลิง พบมีกลุ่มควันพวยพุ่งออกมากลุ่มพนักงานกว่า 500 คนหนีออกมาจากอยู่บริเวณด้านนอกของโรงงาน    ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนไม่เข้าไปภายใน ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีสามารถควบคุมเพลิงได้  มีคนงานได้สำลักควันได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย สอบสวนพนักงานรายหนึ่งให้ข้อมูลว่าก่อนเกิดเหตุอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เชื่อมเหล็กอยู่แล้วเกิดประกายไฟ ไปถูกถังพลาสติกซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีแล้วเกิดเพลิงไหม้ขึ้นอย่างรวด เร็ว ระบบป้องกันเพลิงไหม้ได้ทำงานทันทีทำให้สามารถควบคุมเพลิงได้อย่างรวดเร็ว ดีที่ระบบแก๊สยังไม่ได้เข้าที่ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีเพียงระบบน้ำเท่านั้นที่ เริ่มเข้าสู่ระบบแล้ว
 

นายเรวัต ประสงค์ นายอำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา  กล่าวว่า เท่าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่าจุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อยู่บริเวณเครื่องหล่อ เย็น หรือระบบคูลลิ่ง ที่ 4 ซึ่งทำด้วยพลาสติกได้รับความเสียหายทั้งหมด ค่าเสียหายทราบจากทางเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 ล้านบาท  ส่วนสาเหตุต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง โรงงานยังไม่ได้เปิดทำการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ระหว่างการก่อสร้าง  สำหรับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโรจนะเพาเวอร์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าด้วยระบบไอน้ำ กับก๊าซธรรมชาติ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก่อสร้างเสร็จจะส่งกระแสไฟฟ้าด้วยกำลังผลิต  289.55 เมกกะวัตต์ ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม

(เดลินิวส์, 22-2-2556)

 

"เผดิมชัย"จับตาสถานการณ์แรงงาน เผยสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้าง 47แห่ง 1,904 คน

นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์ว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง เนื่องจากปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ถึงวันที่21 กุมภาพันธ์ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบมีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างแล้ว 47แห่ง รวมลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,904 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 11 คน ในสถานประกอบการ 3 แห่ง
 
นายเผดิมชัยกล่าวว่า ในจำนวนการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นลูกจ้างได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง เป็นวันละ300 บาท จำนวน 517 คน ในสถานประกอบการ 28 แห่ง เป็นการเลิกจ้างบางส่วน 27 แห่ง ลูกจ้าง 510 คน และปิดกิจการ 1 แห่ง ลูกจ้างเพียง 7 คนเท่านั้น แต่ยังมีสถานประกอบการเสี่ยงเลิกจ้างเพิ่ม อีก 31 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 5,301 คน ในจำนวนนี้เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 4,072 คน ด้วยสาเหตุที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหลายเดือนติดต่อกัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 7 แห่ง ลูกจ้างเสี่ยงเพิ่มอีก 171 คน

(มติชนออนไลน์, 22-2-2556)

 

กสร.เห็นด้วยเกษียณ 65 ปีแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

อธิบดีกรมสวัสดิการฯเห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณการทำงานจาก 55 ปี เป็น 65 ปี เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น และจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. กล่าวถึงกรณีองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุและลูกจ้างเสนอให้มีการขยายอายุ เกษียณการทำงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปีว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และควรขยายอายุเกษียณการทำงานเป็น 65 ปี เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และทำให้ลูกจ้างมีระยะเวลาเก็บออมเงินประกันสังคมไว้ใช้ในยามชราภาพมากขึ้น

“หากมีการขยายอายุเกษียณการทำงานเป็น 60 ปี หรือ 65 ปี ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อรองรับในเรื่องนี้ เพราะในกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดอายุเกษียณการทำงานไว้ โดยเขียนไว้เพียงเรื่องเกี่ยวกับค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ”

ส่วนการจ้างงานนั้นนายปกรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันเอง ถ้าลูกจ้างอายุ 55 ปีแล้วนายจ้างยังต้องการจ้างลูกจ้างต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี เพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีประสบการณ์สูง และลูกจ้างยินดีทำงานต่อก็สามารถจ้างงานต่อไปได้เลย ทั้งนี้ หากเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจจะเป็นอำนาจของกระทรวงการคลังพิจารณา

(โลกวันนี้, 25-2-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net