Skip to main content
sharethis

 

22 ก.พ.56 ที่ผ่านมา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มกวีราษฎร์  กลุ่ม ​Real Frame กลุ่ม FilmVirus เครือข่ายศิลปินอิสระ เครือข่ายเดือนตุลา กลุ่มศิลปินกานต์และเพื่อน และ เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ร่วมกันจัดงาน "นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ" ซึ่งงานเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. และจะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. นี้

วันที่ 22 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่สองของงาน มีการจัดเสวนา "สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร การแสดงออกและการควบคุมโดยรัฐ และกระบวนการยุติธรรม" มีวิทยาการจากหลากหลายวงการเข้าร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย วิภา ดาวมณี

 

 

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข - พัฒนาการเสรีภาพในสื่อและผลกระทบคดี “สมยศ”

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า ศิลปะในเมืองไทยไม่รับใช้เสรีภาพมากเท่าที่ควร เป็นไปในทางธรรม ศาสนา แนวคิดแบบพุทธเสียมาก  และไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่เปิดให้คนแสวงหาพระเจ้าของตนเอง ซึ่งประชาชนอาจจะเลือกพระเจ้าองค์เดิมก็ได้

นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ เป็นงานที่สร้างสรรค์และยิ่งใหญ่สำหรับสังคม ศิลปะเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออก แต่ศิลปะก็อาจถูกตีความไปในทางลบได้ เมื่ออยู่ในบริบทหรือกระแสสังคมที่มองอะไรก็หมิ่นเหม่ไปหมด

ที่ผ่านมาถือว่าเราได้มีบทเรียนกันอย่างเจ็บช้ำกันพอสมควรแล้ว และเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดว่าเราต้องกลับมาพูดเรื่องนี้กันอีกครั้ง การเกิดขึ้นของไอทีวี ซึ่งเรียกว่าเป็นทีวีเสรี ทีวีเพื่อสาธารณะ ก็เป็นผลมาจากการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในกรณีการนองเลือด พฤษภาคม 2535  

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 39-41 เป็นกฎหมายว่าด้วยเรื่องสื่อที่มีความก้าวหน้ามาก คือ การพยายามแยกออกจากกันระหว่างเสรีภาพของกอง บก. หรือนักข่าวสารที่จะนำเสนอข่าวสาร กับ เจ้าของกิจการหรือรัฐ คือเจ้าของกิจกาจหรือรัฐไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน และความจริงอยู่ไหนก็ไม่มีใครรู้ จึงต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเสนอความจริง

กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อไว้ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็เห็นพัฒนาการที่ดีระหว่างกอง บก. และเจ้าของกิจการ คือกอง บก. ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มต่อรองกับเจ้าของกิจการมากขึ้น ความเข้มแข็งในการปกป้องการนำเสนอข่าวสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เราเห็นนักข่าวอย่าง ประวิตร โรจนพฤกษ์ มีสิทธิและเสรีภาพในการที่เขาจะนำเสนอข่าวสาร แม้คุณ สุทธิชัย หยุ่น อาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

แต่สุดท้ายเกิดการรัฐประหารขึ้น การพยายามทำให้หลักการเสรีภาพเหล่านี้แข็งแรง และหลุดพ้นจากมรดกของคณะเผด็จการในอดีตก็พังลง แม้เราจะมี พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ ที่มีผลยกเลิกมาตราเซ็นเซอร์สื่อ และยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ทุกฉบับ ข้อความที่กล่าวว่า การปิดทั้งสำนักพิมพ์จะกระทำมิได้ ก็ถูกยกเลิกลงไปด้วย แต่เสรีภาพสื่อกลับถูกปิดกั้นมากขึ้นผ่านเครื่องมือที่เรีบกว่าวัฒนธรรม

ความบิดเบี้ยวของสื่อวิชาชีพ ทำให้เกิดสื่อใหม่ๆ ซึ่งไม่แบ่งแยกระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนนำเสนอข่าวได้เองผ่านเฟสบุ๊ค หรือ โซเชียลมีเดียอื่นๆ เฟสบุ๊คบางท่านมีจำนวนคนกดติดตาม (Follow) มากกว่าสื่อมืออาชีพบางสื่อเสียอีก โลกมาไกลเกินกว่าจะผูกขาดความดีงามไว้กับกลุ่มสื่อวิชาชีพ ภูมิทัศน์ของวงสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไป ใครๆ ก็ทำสื่อได้ เราจะบอกว่า “Voice of Taksin” (ที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็น บก.) ไม่ใช่สื่อหรือเป็นสื่อเทียม เป็นสื่อที่ไม่รอบด้าน ก็เป็นสิ่งที่ดูจะตกยุคเกินไป หมดยุคที่จะสามารถผูกขาดความถูกต้องได้แล้ว

สถาบันต่างๆ ในสังคมไทยอยู่ในภาวะที่ล้มละลายทางความชอบธรรม และภาวะแบบนี้ได้เกิดขึ้นกับสถาบันสื่อมวลชนด้วย และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมการเสพข่าวก็เปลี่ยนไป เราไม่จำเป็นต้องหาซื้อหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ตทำให้เราสามารถอ่านข่าวจากหลายๆ สำนักพิมพ์ได้ หรืออย่างในเฟสบุ๊คก็จะพบว่ามีการแชร์ข่าวสารที่หลากหลาย

คำพิพากษากรณีคุณสมยศที่ว่า “ตำแหน่ง บก.บห. ต้องมีวิจารณญาณสูงกว่าประชาชนทั่วไป ย่อมต้องรู้ว่าบทความดังกล่าวหมิ่นประมาทกษัตริย์ และไม่มีความจริง แต่จำเลยยังคงลงพิมพ์ เผยแพร่ จึงเป็นการกระทำโดยเจตนา ส่วนที่ต่อสู้ว่ามีเวลาอ่านบทความจำกัดและเมื่ออ่านแล้วเห็นว่าสื่อถึงอำมาตย์ ไม่คิดว่าเป็นพระมหากษัตริย์นั้นก็ฟังไม่ขึ้น” ซึ่งหากมองในทัศนะของสื่อวิชาชีพก็ถือว่าถูกต้องที่ บก.ต้องรับผิดชอบ แต่หากมองด้วยทัศนะสื่อเล็กๆ อย่างประชาไท หรือ Voice of Taksin หรืออื่นๆ ก็อาจมีปัญหา

กรณีคุณสมยศเป็นการมองในลักษณะ “สื่อมีวิชาชีพแบบเดียว” และในทางปฏิบัติจะพบว่า บก. ในสื่อเล็กๆ อาจทำหน้าที่เป็นเจ้าของกิจการด้วย ต้องวิ่งหาแหล่งทุน ต้องทำหน้าที่หาคนเขียนบทความ และโดยมารยาท บก. หรือธรรมเนียมปฏิบัติก็จะไม่เข้าไปก้าวก่ายกอง บก. หรือแม้กระทั่งในฐานะ บก. คุณสมยศอาจจะต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่จะชี้ว่าได้กระทำโดยเจตนา ปล่อยให้บทความนั้นผ่านโดยจงใจ มันเกินเลยไปอยู่ดี

คำพิพากษากรณีคุณสมยศถือว่าสะเทือนวงการมาก คือ หากสามารถตีความได้หมดเลย ละครจักรๆ วงศ์ๆ ก็สามารถตีความให้หมิ่นได้ หากจะตีความกันจริงๆ กระเทือนถึงสื่อสำนักพิมพ์ นวนิยายอาจถูกตีความว่าหมิ่นได้เหมือนกัน จึงกลายเป็นเสรีภาพที่ผิดเพี้ยนไปหมด บก. ก็แทรกแซงสื่อทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าจะโดนเล่นงานเมื่อไร ก็ต้องถามว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมองสิ่งเหล่านี้ด้วยแว่นแบบไหน แว่นแบบสื่อวิชาชีพหรือเปล่า

 

ดิน บัวแดง - เสรีภาพในมหาวิทยาลัย มีจริงหรือ

ดิน บัวแดง นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างถึงคำพูดของเพื่อนนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่กล่าวว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษาไปเรียน ซึ่งมีอาจารย์หลายท่านก็สอนว่า เป็นเรื่องเสรีภาพของบุคคล แต่ก็มีเรื่องน่าตลกว่า หากเป็นเสรีภาพจริงๆ เหตุใดเมื่อถึงเวลาสอบต้องมีการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบด้วย ซึ่งในที่สุดก็ตอบไม่ได้ว่ามันมีไว้เพื่ออะไร สิ่งนี้เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ที่ถือว่าเป็นเสรีนิยมแล้ว

หากได้สนทนากับผู้สนับสนุนให้ใส่ชุดนักศึกษาก็จะพบคำตอบที่ใช้อ้างกันอยู่เพียงไม่กี่คำตอบ เช่นว่า ชุดนักศึกษามีไว้เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ “หากคนรวยแต่งชุดหรูๆ มาเรียน แล้วคนจนหละ” หรือก็อาจกล่าวในทำนองว่า เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ ความเรียบร้อยและมีวินัย และสุดท้าย โดยเฉพาะที่จุฬาฯ ก็กลายเป็นเรื่องชุดพระราชทาน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การยกเลิกชุดนักศึกษามันใช่เรื่องที่กระทำได้โดยง่าย เพราะชุดนักศึกษาก็แฝงไปด้วยอุดมการณ์มากหลาย ทั้งเรื่องที่ต่ำที่สูง เรื่องกษัตริย์นิยม

นอกจากเรื่องเครื่องแต่งกายแล้ว ยังมีเรื่องการสั่งห้ามไม่ให้ขายวารสารฟ้าเดียวกัน ที่อาคารบรมราชกุมารี เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะว่ามีคนไปแจ้งว่าวารสารฟ้าเดียวกันเป็น วารสารเสื้อแดง วารสารล้มเจ้า นำมาขายได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็กลัวกัน มหาวิทยาลัยก็สั่งห้ามไม่ให้ขาย

 “มหาวิทยาลัยควรจะเป็นแหล่งที่เราเข้าถึงความรู้อะไรต่างๆ แม้แต่ Voice of Taksin ผมก็คิดว่าควรจะมีในห้องสมุด” คือหากต้องการจะสร้างบุคลากร สร้างนิสิตที่มีวิจารณญาณ นิสิตก็ต้องมีโอกาสที่จะเข้าถึงชุดความรู้ต่างๆ และตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ทุกอย่างถูกยัดเยียดไปหมด ซึ่งก็รวมไปถึงเรื่องชุดนิสิตที่กล่าวไว้แล้วด้วย

นิสิตจะไม่มีทางเลือกมากนัก แล้วนิสิตจะทำอะไรได้บ้างในภาวะที่ถูกควบคุมด้วยอุดมการณ์อะไรมากมาย หรือปิดกั้นความรู้ไม่ให้เข้าถึงอะไรต่างๆ

 

วสันต์ พานิช - กฎหมายซึ่งมีที่มาจากการใส่ร้ายป้ายสี

วสันต์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์การต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 4 ตุลาคม 2519 ก็มีการเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น วันที่ 4 ตุลาตม 2519 มีการแสดงละครล้อเลียนที่ลานโพธิ์ มีการแสดงโดยเอานักศึกษามาแขวนคอให้เห็น มีพระห่มจีวรสีแดงถืออาวุธปืน พอวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็ได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เกิดเรื่องประหลาดคือมีการโหมข่าวว่าภาพนักศึกษาแขวนคอนั้น ได้แต่งหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูง กลายเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พอวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการล้อมปราบกลุ่มนักศึกษา และทำการรัฐประหาร หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ให้มีโทษสูงขึ้น จาก 3 ปี เป็น 15 ปี โดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ

คดีดังกล่าวก็มีการสอบพยาน และปากคำจากพยาน จากสื่อที่ได้ถ่ายภาพก็ยืนยันว่า ตอนถ่ายก็ไม่ได้รู้สึกว่า นักศึกษาที่ถูกแขวนคอมีใบหน้าคล้ายพระราชวงศ์ชั้นสูงแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมันเป็นการกล่าวร้ายให้นักศึกษาต้องรับโทษ ในที่สุดมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ทำให้ไม่ได้เปิดเผยว่าความจริงคืออะไร สุดท้ายก็พบว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เกิดขึ้นจากการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง อย่างคดีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็แจ้งความจับโดยทหาร สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าคนเหล่านี้ที่ไปแจ้งความเป็นกลุ่มคนที่จงรักภักดีเสียเหลือเกิน

 

ชาญชัย ชัยสุขโกศล - อาณาเขตแห่งเสรีภาพจำกัดไว้ ณ ที่ใด

ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีการกล่าวเน้นในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาก แต่น้อยนักที่จะพิจารณากันว่าขอบเขตของเสรีภาพจำกัดไว้อยู่ ณ จุดใด

ยกตัวอย่างกรณีของกลุ่ม Neo-Nazism และกลุ่ม Ku Klux Klan  ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในปี ค.ศ.1977 ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการเฉลิมฉลองในกลุ่ม Neo-Nazism มีการแต่งเครื่องแบบอย่างนาซี ตกแต่งเครื่องหมายสวัสดิกะ และมีการประกาศว่าจะเดินขบวนผ่านหมู่ Skokie ซึ่งปัญหาก็คือ หมู่บ้าน Skokie มีผู้คนกว่า 60% เป็นชาวยิวหรือผู้ที่เป็นญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ Holocaust (เหตุการณ์พันธุฆาตชาวยิว) ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและจะกระทบต่อความรู้สึกอย่างมากหากมีการเดินขบวนผ่านหมู่บ้านโดยกลุ่ม Neo-Nazism

กลุ่ม Neo-Nazism อ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตาม First Amendment ของสหรัฐอเมริกา ทางกรรมการหมู่บ้าน Skokie จึงได้ประชุมกันถึงแนวทางปฏิบัติและได้ข้อสรุปว่า ทางหมู่บ้านจะอนุญาตให้เดินขบวนผ่านได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเดินผ่าน 300,000 ดอลล่าร์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างมากว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ เรื่องราวใหญ่โตถึงศาลสูงของสหรัฐอเมริกา และสุดท้ายมีคำตัดสินออกมาว่าการกระทำของกลุ่ม Neo-Nazism ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออก

จากตัวอย่างดังกล่าวจะพบว่าก็ยังมีปัญหา ยิ่งหากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากก็ยิ่งมีปัญหามาก แม้แต่ในระดับสากลเองก็ยังไม่ลงตัวนัก ว่า Hate Speech มันมีขอบเขตเท่าไร หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องจำกัดไว้แค่ไหน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือการจะมีเสรีภาพได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีตัวเลือกให้มากเข้าไว้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเพียงเสรีภาพที่ถูกครอบงำจากตัวเลือกที่จำกัด แม้แต่ในการกล่าวถึงวาทกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพก็ตาม หลายคนให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอย่างมาก ประชาชนต้องเป็นใหญ่ ประชาชนต้องมีเสรีภาพต่างๆ นานา และคำถามที่ต้องฉุกคิดคือใครบ้างเป็นประชาชน เฉพาะคนที่เห็นด้วยกับเราใช่หรือไม่ คนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตย คนที่ไม่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมจะเป็นประชาชนด้วยหรือเปล่า ในหลายกรณีก็จะพบว่าเราก็ยังถูกครอบงำจากหลายๆ ความคิดซ้อนกันอยู่นั่นเอง

 

ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ - ทุนนิยมต้องเปิดเผย

ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ นักเขียนและนักจัดรายการวิทยุชุมชน กล่าวว่า เราเห็นการเผชิญหน้ากันเรื่องสิทธิเล็กๆ น้อยๆ ที่กระทบกระเทือนกับ "ทุน" เคยมีข่าวนักศึกษารามคำแหง ซึ่งได้ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านต่อต้านโรงโม่หินถูกฆ่าตาย คือโดนอำนาจเถื่อนเล่นงาน  ไม่แน่ใจว่าจะคาบเกี่ยวกับอำนาจในระดับอำนาจบริหารประเทศเลยหรือเปล่า แต่มันแสดงให้เห็นถึงภาวะการเติบโตของอำนาจทุน สื่อหรือนักเขียนก็หันมาสนใจเรื่องโลกาภิวัฒน์ โจมตีทุนนิยม ถ้านึกอะไรไม่ออกก็ใส่เรื่องคนชายขอบ สิทธิทำกินไปด้วย และแนวคิด  Postmodernism เริ่มเติบโตขึ้น ทฤษฎี  Postmodernism ถูกใช้มาอธิบายปรากฏการณ์นี้ แต่สุดท้ายมันก็ปฏิเสธความจริงของระบบทุนนิยม ไม่ได้กล่าวถึงพัฒนาการของทุนนิยมแบบแผนผัง

“มันน่าเกิดจากปัญหาป่าแตก” หลังจาก พ.ศ. 2523 แล้วเกิดการประนีประนอมกับทุนเก่า ไม่มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัด หากพูดตามข้อเท็จแล้วจะพบว่าการพัฒนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มาเรื่อยจนรัชกาลที่ 5 ก็เป็นการพัฒนาโครงสร้างของระบบทุน เป็นการยกระดับการพัฒนาของระบบทุนโดยคนส่วนน้อยของประเทศ คนส่วนน้อยที่ในยุคปัจจุบันเรียกว่า "อํามาตย์" แต่ในยุคสมัยนั้นไม่มีคำอธิบายในเรื่องนี้จากนักเขียนหรือสื่อสารมวลชน หากแต่มีข้อจำกัดเฉพาะทุนร่วมสมัย หรือทุนที่แสดงตนอย่างเปิดเผย และทฤษฎี Postmodern ก็มีข้อบกพร่องในเรื่องการปฏิเสธความจริงอยู่ในตัวของมันเอง สิ่งนี้เองที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์โลกาภิวัฒน์ วิจารณ์ทุนเดิม ไม่อาจเกิดขึ้นได้ มันก็กลายเป็นตัดขาดความจริง ไม่สามารถวิเคราะห์หรือขยายความไปสู่การออกมาต่อต้านรัฐประหารในปี 2549 ได้

การรัฐประหารในปี 2549 เป็นเครื่องชี้ชัดเลยว่า คนในสังคมไทยเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ผ่านมาของสังคมไทย มันไม่ได้แค่เปิดหน้ากากฝ่ายเขา แต่เปิดหน้ากากฝ่ายเราด้วยว่าเราเข้าใจมากแค่ไหน

รัฐประหาร 2549 ไม่ใช่การรัฐประหารธรรมดา ก่อนการเกิดรัฐประหารมีการออกมาขององคมนตรี หรือการออกมาของผู้พิพากษาเป็นคณะ มันแสดงให้เห็นอะไรชัดเจนมาก และปรากฏการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นเยอะมากก่อนจะมีการรัฐประหาร 2549

สุดท้ายแล้วก็อยากเห็นถึงการเปิดเผยของทุนนิยม เปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในระบบทุนนิยม แน่นอนว่ามันจะหลีกเลี่ยงความจริงไม่ได้ และมันเกี่ยวข้องกับ ม.112 ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net