Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ห้อง 301 ชั้น 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันท์ มีการเสวนาเสวนาเปิดตัวหน้งสือ "ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป (เดวิด วัยอาจ)" แปลโดย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผศ.กาญจนี ละอองศรี และคณะ โดยแปลจากหนังสือ "Thailand: A Short History" ของ ศ. David K.Wyatt

โดยก่อนหน้านี้ประชาไทเผยแพร่คลิปแนะนำหนังสือ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ช่วยเลขานุการและกรรมการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับคลิปนี้เป็นช่วงเสวนา "เดวิด วัยอาจ กับประวัติศาสตร์ไทย"โดย ม.ร.ว. ดร.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของซีมีโอ (SEAMEO SPAFA) จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนและนักแปล รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์  ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อ.ณัฐพล ใจจริง  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินรายการโดย ผศ.กาญจนี ละอองศรี หนึ่งในคณะผู้แปล "ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป"

สำหรับ ศ.เดวิด วัยอาจ จากข้อมูลของบทความ "ศ. เดวิด เค. วัยอาจ กับประวัติศาสตร์ไทย" ของชาญวิทย์ เกษตรศิริที่เผยแพร่ในมติชนออนไลน์นั้น เดวิด เค. วัยอาจ (พ.ศ. 2480 - 2549) หรือ "อาจารย์วัยอาจ" นั้น เป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2480 เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคอร์แนล มลรัฐนิวยอร์ก ระหว่าง พ.ศ. 2512 - 2545 เคยเป็นคณบดีคณะประวัติศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลงานที่สำคัญก็คือ Thailand: A Short History

โดยเดวิด วัยอาจ จบปริญญาตรีด้านปรัชญา จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เมื่อ พ.ศ.2502 และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบอสตัน กับมหาวิทยาลัยคอร์แนล จนได้ปริญญาโทและเอก ทางด้านประวัติศาสตร์ ใน พ.ศ. 2503 และ 2509 โดยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับการปฏิรูปสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยผลงาน Thailand: The Politics of Reform ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2512  โดยเขาถึงแก่กรรมอย่างสงบที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ขณะมีอายุได้ 69 ปี

ทั้งนี้อาจารย์กาญจนี ได้ตั้งประเด็นการเสวนาเอาไว้สามหัวข้อ ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง จริงหรือไม่ที่คนนอกมีวิสัยทัศน์หรือมุมมองที่กว้างไกลกว่าคนใน เพราะอาจารย์ธำรงศักดิ์บอกว่าคนในเขียนไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นจริงเปล่าที่คนนอก

ประเด็นที่สอง จริงหรือเปล่าที่คนนอก ไม่ติดกับ หรือไม่ถูกขังกรง ไว้กับอคติของความรัก ความหลงในชาติหรือเชื้อชาติเช่นคนใน

ประเด็นที่สาม จริงหรือเปล่าที่คนนอกรู้จักใช้ข้อมูลอย่างพินิจพิเคราะห์ รู้จักวิจารณ์ นำไปสู่ปัญญา มากกว่าคนในที่ใช้ข้อมูลอย่างรัก หลง ชัง เกลียด และนำไปสู่ปัญหา แล้วอาจารย์สุเนตรเป็นบุคคลหนึ่งที่เขียนเรื่องปัญหาความขัดแย้งในอาเซียนอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net