Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

          ไม่ว่าจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ สักกี่ครั้ง คนกรุงเทพฯ คงจะเห็นแล้วว่า นโยบายยังย่ำอยู่กับที่ ผลประโยชน์ที่ตกถึงปากท้องของประชาชน เป็นเพียงเศษเงินจากงบประมาณจำนวนมหาศาลเท่านั้น  เพราะจากนโยบายโดยรวม เป็นนโยบายประชานิยมที่ไม่ได้แก้ไขความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยอะไร  นโยบายส่วนใหญ่ที่ผู้สมัครนำมาหาเสียง เป็นนโยบายดาดๆ พื้นๆ ทั่วไป ประเภท ติดกล้องวงจร ลดค่าโดยสาร แก้ปัญหาขยะ จัดการรถติด หาเสียงกันซ้ำซาก วนเวียนกับความสะดวกปลอดภัยสำหรับปัจเจกชนที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบโดยพื้นฐานอยู่แล้ว  ฉะนั้นหากต้องการให้กรุงเทพเป็นเมืองสวรรค์ โดยไม่ต้องรอให้เทพยดาที่ไหนมาสร้าง ดังคำขวัญลมๆแล้งๆ  ก็ต้องลงมือสร้างนโยบายใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนเมืองและผู้ใช้แรงงานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯซะตั้งแต่บัดนี้ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองหลวงนั่นเอง

            ข้อเสนอนโยบายกรุงเทพฯ ต้องก้าวหน้าและเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขความเลื่อมล้ำในตัวเมืองได้อย่างเป็นระบบจริง ได้แก่ นโยบายด้านการศึกษา นักเรียนจะต้องได้เรียนฟรีอย่างแท้จริง ทุกอย่างต้องฟรี ทั้งค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะ ที่สำคัญต้องสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนในโรงเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งต้องจัดหาสวัสดิการมากขึ้น อาหารทั้งมื้อเช้าและมื้อเที่ยงฟรี ต้องให้ความสะดวกในการเดินทางไปเรียนของนักเรียนทุกคน โดยมีรถโรงเรียนรับส่งฟรี ปลอดภัย ไม่เป็นภาระของผู้ปกครอง

            การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ คือ ปัจจัยในการแก้ไขปัญหาจราจร ถ้ายิ่งมีประสิทธิภาพ เข้าถึงและทั่วถึง ก็ยิ่งทำให้ลดการใช้รถส่วนตัวลงได้  การบริการประชาชนต้องฟรีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ปรับอากาศหรือรถเมล์ธรรมดา เรือโดยสาร รถไฟฟ้าทั้งใต้ดินบนดิน แอร์พอร์ตลิงค์และบีทีเอส ก็เปิดให้บริการฟรีทั้งหมด นอกจากจะฟรีแล้วประชาชนมีสิทธิตรวจสอบปรับปรุงการบริการได้ด้วย ขณะที่เร่งแก้ไขปัญหาไฟจราจร เส้นแบ่งเลนถนน ป้ายสัญญาณ สะพานคนข้าม ฯลฯ   กทม.ต้องให้ความสำคัญกับคนเดินถนน โดยจัดสร้างทางเท้าที่กว้างขวาง สะดวก ปลอดภัย ติดโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างอย่างทั่วถึงเป็นอันดับหนึ่ง

            สำหรับคนทำงานในเมืองจะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งในที่ทำงานและย่านชุมชน ต้องมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงลูกด้วย ทำงานไปด้วย กำหนดให้บริษัทให้สิทธิการลาคลอดได้ 6 เดือน จะต้องมีศูนย์อาหารราคาประหยัดใกล้ที่ทำงานและชุมชน พื้นที่รกร้างจะต้องถูกแปลงเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือสร้างที่อยู่อาศัยให้คนจน นอกจากสร้างสวนสาธารณะให้เป็นปอดของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ดินผืนใหญ่เหล่านี้จะมาจากไหนหากไม่ใช่การเวนคืนสถานที่ราชการและทหารที่มาอยู่ใจกลางเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ที่ตีกอล์ฟของคนรวยที่ใช้ได้ไม่กี่สิบกี่ร้อยคน แต่ประชาชนธรรมดากลับไร้บ้าน วัดไทยกว่าห้าร้อยแห่งในก.ท.ม.ต้องเปิดให้เป็นที่สาธารณะ มีห้องสมุด และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเข้าไปเสริม ให้วัดเป็นแหล่งส่งเสริมวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า แทนการมอมเมาประชาชน เอแต่รดน้ำมนต์ ใบ้หวย ดูหมอ หลอกล่อเงินทองจากประชาชน ขณะที่พื้นที่คุก ทัณฑสถานต่างๆ บ้านเมตตากรุณาสารพัดที่ขังพลเมืองอย่างไม่เป็นธรรมต้องได้รับการปรับปรุง ต้องเห็นคนเป็นคน ไม่ใช่การกักขังเหมือนสัตว์อย่างที่เป็นอยู่ และต้องลดจำนวนการคุมขังที่แออัดลงโดยเร็ว ทั้งนี้ระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมต้องถูกปฏิรูปด้วย

                 ที่สำคัญ คือ สถานที่ชุมนุมของประชาชนผู้เดือดร้อนต้องเปิดกว้าง ต้องเพิ่มที่ทางให้มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างเสรี  สนามหลวงและสนามหน้ารัฐสภา ต้องพร้อมที่จะรับการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย โดยมีแสงไฟ เครื่องเสียง และรถสุขาของ กทม.ให้บริการอำนวยความสะดวกตลอด

                 อีกประการหนึ่ง เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดทอนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในทางเศรษฐกิจ คือ  การเก็บภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน  หุ้น ศูนย์การค้า คอนโดฯ แพงๆ และภาษีโรงงานต่างๆ ต้องเก็บในอัตราก้าวหน้าเพื่อเอาเงินภาษีมาสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้ามาตรฐานเดียว  ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่ลดความเหลื่อมล้ำไร้รอยต่อ  และในเชิงการเมือง ต้องจัดระบบการบริหารการปกครองแบบไตรภาคี  (สามฝ่าย) ในองค์การสาธารณะ หน่วยงานของรัฐ โดยประกอบไปด้วย ผู้แทนฝ่ายการเมือง ผู้แทนของคนทำงานในพื้นที่/ชุมชนนั้นๆ และผู้แทนของผู้บริโภค ให้มีอำนาจตัดสินใจกำหนดนโยบายร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่เป็นไม้ประดับ และทุกคนต้องมาจากระบบการเลือกตั้ง

 

                                                                        ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net