Skip to main content
sharethis

แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ แจง ร่างพิมพ์เขียว พ.ร.บ. ฉบับนักศึกษา ที่มาของสภามหาวิทยาลัย ต้องยึดโยงกับประชาชน กำหนดค่าเทอมมาจากมติที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย สนับสนุนอิสระและเสรีภาพในการวิชาการ ด้าน รมว. ศึกษาฯ รับข้อเสนอ พร้อมจะนำเรื่องไปปรึกษากับประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อ

28 ก.พ. 56 เวลา 9.10 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการให้ตัวแทนนักศึกษาจากแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบประมาณ 20 คน เข้าร่วมพูดคุยจากกรณีที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งความประสงค์ให้กลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยที่เตรียมการออกนอกระบบ เช่น กรณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของ “ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ...” ที่นิสิตและบุคลากรในมหาวิทยาลัยไม่มีส่วนร่วม นอกจากนี้การถูกลิดรอนสิทธิ์การประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลในการออกนอกระบบที่จัดทำขึ้นโดยนักศึกษา จากการติดใบปลิวประชาสัมพันธ์แต่โดนดึงออก และโดนกีดกันการจัดเวทีเสวนาด้วย

ในขณะที่ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย นายปรีชญา นงนุช ประธานสภานักศึกษาและตัวแทนองค์การนักศึกษา กล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... เช่นกัน ซึ่งเสนอว่าการร่างพ.ร.บ.ควรจะร่วมกันร่างจากประชาคมในมหาวิทยาลัย โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาคมส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อร่างพ.ร.บ.เดิม ไม่ชอบธรรมแล้ว ทางตัวแทนนักศึกษาก็ขอยับยั้งร่างพ.ร.บ.ที่จะรอเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้นั้น กลับมาพิจารณาใหม่จากประชาคมในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง และอยากให้มีการทำประชามติ

ด้านนายปกรณ์ อารีกุล นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ได้กล่าวถึงปัญหาที่ยังค้างคาใจของกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาฯ ว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 เอื้ออำนาจให้กับสภามหาวิทยาลัยมากเกินไป ขาดการตรวจสอบการภาคประชาคม

นอกจากนี้ นายปกรณ์ในฐานะคณะทำงานข้อมูล ของกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาฯ ยังได้กล่าวเสนอกรอบแนวคิด (ร่างพิมพ์เขียว พ.ร.บ.) ของนักศึกษา 5 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ

1. ต้องมีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ให้มีการยึดโยงกับประชาคมมหาวิทยาลัย และภาคประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด หรือกึ่งหนึ่งต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้นๆ

2. ต้องมีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบการบริหารงานของสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารสภามหาวิทยาลัย โดยประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้นๆ

3. ต้องมีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวกับการกำหนดเพดานค่าเทอม และการเปลี่ยนแปลงระเบียบเกี่ยวกับค่าเทอมในมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมีการมติที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือ สภามหาวิทยาลัย ตัวแทนฝ่ายนักศึกษาหรือผู้ปกครอง และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พร้อมทั้งอยู่ภายใต้หน่วยงานกลาง ที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อควบคุมอัตราค่าเทอมในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

4.ต้องมีการบัญญัติมาตราเกี่ยวกับความคล่องตัว อิสระและเสรีภาพในการวิชาการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบริการทางวิชาการแก่สังคมและประชาชน ทั้งนี้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างเพียงพอให้มหาวิทยาลัยประสบกับภาวะขาดแคลนงบประมาณ

5. จากข้อ4.จึงไม่ต้องมีบทบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับการให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่าหรือให้เช่า กู้หรือให้กู้เงิน จากนิติบุคคลต่างๆ

ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ ได้กล่าวรับข้อเสนอ และจะนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก ในขณะนี้ สถานการณ์ ร่างพ.ร.บ. มก.อยู่ในลำดับการพิจารณาที่ 4 และก่อนหน้านั้นคือร่าง พ.ร.บ.ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในวาระด่วนที่ 17 แต่ยังไม่เลื่อนวาระขึ้นมา

ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ ยอมรับว่า ประเด็นเรื่อง ม.นอกระบบมีการผลักดันมานาน แน่นอนว่าจะต้องมีการคัดค้านและกล่าวอ้างโดยผู้บริหารว่ามีการมีส่วนร่วมแล้ว แต่จะพยายามหาทางออก โดยได้มีการเสนอว่า ในกรณีที่ร่างของมก.ที่จะต้องเข้าสภาฯนั้น จะให้นักศึกษาเข้าเป็นมีส่วนเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง แต่ทางตัวแทนนิสิตมก.ไม่รับข้อเสนอ เพราะเป็นการมีส่วนร่วมที่ปลายทาง ไม่มีการเห็นชอบตั้งแต่ต้น และคิดว่าการดึงร่างกลับมาเพื่อให้มหาวิทยาลัยนำกลับไปให้ประชาคมร่วมพิจารณา คือ ทางออกที่ดีที่สุด

ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับที่ตัวแทนแนวร่วมฯ ยืนยันจุดประสงค์ไม่ได้คัดค้านการพัฒนามหาวิทยาลัย แต่อยากให้กลับไปมีส่วนร่วมอย่างชอบธรรมและเต็มที่ จากประชาคมในแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งหากเสียงของระชาคมพร้อมที่จะออกนอกระบบจริง กระบวนการต่างๆก็จะต้องเป็นไปตามข้อเสนอ เนื่องจาก ข้อเสนอดังกล่าวถึงเป็นข้อเสนอที่ประชาคมจะได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด

นอกจากนี้ตัวแทนนิสิต มก. ชี้แจงอีกว่าเคยยื่นหนังสือให้ประธานวิปรัฐบาล โดยวิปรัฐบาลส่งแฟกซ์ไปให้ทางมหาวิทยาลัยเพื่อให้เร่งรัดการจัดเวทีทำความเข้าใจต่อนิสิต ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่ทางผู้บริหารกลับมาจัดเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาคมในวันนี้ ( 28 ก.พ.) ซึ่งก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีความพร้อมที่จะให้ประชาคมรับรู้อย่างเต็มที่เลย โดยตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมฯ เล่าความเป็นมาของม.นอกระบบ ที่ไม่เป็นธรรมจากในอดีต และเล่าเรื่องของการประท้วงของ มรภ.สวนสุนันทา พร้อมทั้งแสดงความคาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะให้ความเป็นธรรมแก่นักศึกษาและมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็รับปากจะติดตามเรื่องนี้ให้อย่างเต็มที่

ในท้ายที่สุด นายพงศ์เทพ รับปากว่าจะประสานงานไปยังนายอำนวย  คลังผา ประธานวิปรัฐบาล เพื่อปรึกษาว่าจะสามารถดำเนินการตามที่ตัวแทนแนวร่วมนิสิตนักศึกษาเสนอได้หรือไม่ โดยในระหว่างการสนทนา นายพงศ์เทพ ได้กดโทรศัพท์หานายอำนวย ทันที แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net