Skip to main content
sharethis

 ทีมข่าวสืบสวนของ The Independent รายงานเรื่องการถอนสัญชาติของชาวอังกฤษสองสัญชาติที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวโยงกลุ่มก่อการร้าย อาจมีการสมคบคิดกับสหรัฐฯ กรณีการจับกุมและจู่โจมบุคคลเหล่านี้ในเวลาต่อมา และมีสองรายที่ถูกจู่โจมด้วยเครื่องบินไร้คนบังคับหรือโดรน

วันที่ 28 ก.พ. สำนักข่าว The Independent นำเสนอรายงานพิเศษกรณีที่รัฐบาลอังกฤษได้ดำเนินโครงการถอนสัญชาติอังกฤษจากประชาชนบางส่วนโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ จนทำให้ในเวลาต่อมามีสองคนที่ถูกปลดสัญชาติถูกสังหารโดยเครื่องบินรบไร้คนขับหรือโดรนของสหรัฐฯ

จากการสืบสวนโดยหน่วยงานข่าวสืบสวนสอบสวนของ The Independent ทำให้ทราบว่าตั้งแต่ปี 2010 เทเรซ่า เมย์ รัฐมนตรีดูแลกิจการภายในประเทศของอังกฤษ (Home Secretary) ได้ยึดพาสปอร์ตของบุคคล 16 คนซึ่งหลายคนในนั้นต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มติดอาวุธ

มีนักวิจารณ์เตือนว่าโครงการถอนสัญชาติเป็นการที่รัฐบาลอังกฤษสามารถทำให้ตนเองพ้นจากการครหาได้ กรณีที่หากผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายซึ่งถูกถอนสัญชาติอาจจะโดนทรมานและถูกกุมขังอย่างผิดกฏหมาย นอกจากนี้หากคนที่ถูกถอนสัญชาติถูกสังหารแล้ว รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ต้องมีภาระในการเข้าแทรกแซงด้วย

The Independent ระบุว่า มีคนสัญชาติอังกฤษที่ถูกถอนสัญชาติอย่างน้อย 5 ราย เกิดในประเทศอังกฤษ และมีรายหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศมาเกือบ 50 ปี การถอนสัญชาติเป็นเหตุให้พวกเขาเสียสิทธิในการเข้าประเทศอังกฤษและมีความยากลำบากในการอุทธรณ์ต่อรองการตัดสินใจของฝ่ายกิจการภายในฯ

โดยเมื่อคืน 27 ก.พ. ที่ผ่านมา รองหัวหน้าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยของอังกฤษ ไซมอน ฮิวจ์ส ได้เขียนคำร้องต่อเทเรซ่า เมย์ เรียกร้องให้มีการทบทวนการใช้กฏหมายเกี่ยวกับการถอนสัญชาติอย่างเร่งด่วน

กฏหมายดังกล่าวผ่านร่างไปในปี 2002 อนุญาตให้ฝ่ายกิจการภายในฯ สามารถถอนสัญชาติบุคคลที่ถือสัญชาติพร้อมกันสองสัญชาติที่กระทำการ "สร้างความเสียหายร้ายแรง" ต่ออังกฤษ แต่ก็มีการบังคับใช้กฏหมายนี้น้อยครั้งมากก่อนการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลปัจจุบัน

นักกฏหมายสิทธิมนุษยชนวิจารณ์การบังคับถอนสัญชาติ

แกเรธ เพียส ทนายความนักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าสถานการณ์การถอนสัญชาติอังกฤษในปัจจุบันเปรียบได้กับการเนรเทศในยุคกลางมีทั้งความโหดร้ายและการใช้อำนาจตามอำเภอใจเท่าๆ กัน

"พลเมืองชาวอังกฤษกำลังถูกขับไล่ออกจากประเทศของตัวเอง ถูกถอนสิ่งที่สำคัญต่อการระบุตัวตนของพวกเขาโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ และถูกให้ต้องออกไปเสี่ยงภัย" เพียสกล่าว

เอียน แมคโดนัล คิวซี ประธานสมาคมนักกฏหมายผู้อพยพ กล่าวว่าการบังคับใช้กฏหมายนี้เป็นเรื่องชั่วร้าย และเป็นการใช้อำนาจบริหารในทางที่ผิด เอียนวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษว่าพวกเขาเป็นรัฐบาลปิด และควรจะมีการเปิดโปง

แมคโดนัลกล่าวอีกว่า การถอนสัญชาติทำให้รัฐบาลอังกฤษไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบเวลาหน่วยงานความมั่นคงให้ข้อมูลเรื่องเป้าหมายสังหารด้วยโดรนแก่สหรัฐฯ 


กรณีของ บีลัล อัล-เบอยาวี

ทางหน่วยข่าวสืบสวนสอบสวนสามารถระบุตัวตนและทราบความเป็นไปของผู้ถูกถอนสัญชาติ 17 รายจากทั้งหมด 21 ราย มีอยู่สองรายที่สามารถอุทธรณ์สำเร็จ มีรายหนึ่งในนั้นถูกส่งไปอยู่สหรัฐฯ มีหลายรายที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อผ่านสื่อได้เนื่องจากยังอยู่ภายใต้การดำเนินคดี หน่วยข่าวสืบสวนยังได้ค้นพบหลักฐานว่ารัฐบาลอังกฤษได้ดำเนินการในช่วงที่บุคคลเหล่านี้อยู่นอกประเทศ โดยมีอยู่สองครั้งที่ดำเนินการช่วงวันหยุด ก่อนที่จะทำการยึดพาสปอร์ตและปลดสัญชาติพวกเขา

มีอยู่รายหนึ่งชื่อ บีลัล อัล-เบอยาวี ชาวเลบานอน-อังกฤษ ผู้ที่มาอยู่อังกฤษตั้งแต่ยังเป็นทารกและเติบโตมาในลอนดอน แต่ก็ออกเดินทางไปโซมาเลียในปี 2009 พร้อมกับ โมฮาเหม็ด ซัคร์ เพื่อนสนิทที่กำเนิดในอังกฤษแต่ถือสัญชาติอียิปต์ด้วย โดยทั้งสองคนนี้ต่างก็ถูกจับตามองโดยหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ และหน่วยงานความมั่นคงก็กังวลว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อการร้าย

โดยมีการสันนิษฐานว่าทั้งสองคนได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักรบติดอาวุธ อัล-ชาบับ ซึ่งเบอยาวีได้รับตำแหน่งระดับสูงในองค์กรและมีเพื่อนชาวอียิปต์ของเขาเป็น "มือขวา" โดยในปี 2010 เทเรซ่า เมย์ ก็ได้ถอนสัญชาติอังกฤษจากทั้งสองคนและในเวลาต่อมาทั้งคู่ก็กลายเป็นเป้าสังหารการไล่ล่าของสหรัฐฯ

ในเดือน มิ.ย. 2011 เบอยาวีก็ได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการโจมตีด้วยเครื่องบินโดรนเป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ ในโซมาเลีย และในปี 2012 เขาก็ถูกสังหารโดยการจู่โจมของโดรนเช่นกัน เขาถูกสังหารเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับการที่ภรรยาของเขาได้ให้กำเนิดลูกชายคนแรก

ครอบครัวของเบอยาวีกล่าวว่าทางสหรัฐสามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของเขาได้โดยการตรวจสอบจากตำแหน่งโทรศัพท์ที่เขาโทรหาภรรยาในอังกฤษ ส่วนซัคร์ถูกสังหารโดยเครื่องบินโจมตีของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 2012 โดยที่สัญชาติอังกฤษของเขาเพิ่งได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อไม่นานนี้เอง

ซากีร์ ฮุสเซน อดีตทนายของซัคร์บอกว่ามีความเกี่ยวข้องกันระหว่างการถอนสัญชาติโดยฝ่ายกิจการภายในฯ ของอังกฤษและปฏิบัติการโจมตีของสหรัฐฯ

"ดูเหมือนว่ากระบวนการถอนสัญชาติจะทำให้สหรัฐฯ วางตัวซัคร์ให้เป็นข้าศึกฝ่ายศัตรูได้ง่ายชึ้น ซึ่งทางอังกฤษเองก็ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ด้วย" ซากีร์ ฮุสเซนกล่าว


พวกเราก็ 'เป็นคนอังกฤษ' มากเท่าๆ กับคนอื่น

กลุ่มนักรณรงค์ CagePrisoners ได้เข้าหาครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก อะซิม คูเรชี ผู้อำนวยการ CagePrisoners เปิดเผยว่าสิ่งที่หน่วยข่าวสืบสวนสอบสวนค้นพบเป็นสิ่งที่ขวนให้ชาวอังกฤษที่มีพื้นเพเป็นชนกลุ่มน้อยรู้สึกกังวลอย่างมาก

"พวกเรารู้สึกว่าพวกเรา 'เป็นคนอังกฤษ' มากเท่าๆ กับคนอื่น แต่ว่าเพราะแค่พ่อแม่ของพวกเรามาจากประเทศอื่น พวกเราก็อาจถูกใช้อำนาจเกินเลยทำให้เราไม่กลายส่วนหนึ่งของประเทศนี้ต่อไป" คูเรซีกล่าว

"ผมคิดว่านี้เป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะมันได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวว่าพวกเขาถูกรัฐบาลของตนเองมองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขามาจากบางภูมิภาคของโลก"

ไซม่อน ฮิวจ์ส กล่าวว่า แม้เขาจะยอมรับในเรื่องการคำนึงถึงความมั่นคง เขาก็กังวลว่าผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาจากหน่วยงานกิจการภายในฯ อาจต้องประสบภาวะถูกทอดทิ้งทางสภาบันและการเมือง ฮิวจ์ส บอกอีกว่าเขากังวลเรื่องที่มีประชาชนที่ต้องสูญเสียชาติจำนวนมากขึ้น และการบังคับใช้กฏหมายนี้ก็มีการขยายตัวมากขึ้นด้วย


ผลกระทบต่อครอบครัว

The Independent เปิดเผยอีกว่า บางครั้งครอบครัวของผู้ถูกถอนสัญชาติก็ได้รับผลกระทบ โดยตัวพ่อแม่ของผู้ถูกถอนสัญชาติจะต้องเลือกว่าจะให้ลูกของพวกเขาอยู่ในอังกฤษหรือไปอยู่กับพ่อในต่างประเทศ

มีกรณีหนึ่งซึ่งรู้จักในชื่อ L1 ชายชาวซูดาน-อังกฤษ พาลูกๆ ของเขา 4 คนและภรรยา ไปเที่ยววันหยุดในซูดาน โดยที่ภรรยาของเขามีจำนวนครั้งจำกัดในการเดินทางออกประเทศไม่เช่นนั้นจะทำให้สิทธิในการอยู่ในอังกฤษหมดลง อีก 4 วันถัดมา เทเรซ่า เมย์ ก็ตัดสินใจถอนสัญชาติของชายผู้นี้ ทำให้ผุ้เป็นพ่อถูกห้ามเข้าประเทศอังกฤษ และผู้เป็นแม่ก็ไม่มีสิทธิในการอยู่ในประเทศอย่างถาวร ทำให้ลูกๆ ของพวกเขาซึ่งมีอายุระหว่าง 13 เดือนถึง 8 ปี ไม่สามารถเติบโตในอังกฤษได้ ทางศาลอังกฤษเองก็บอกว่าแม้ลูกๆ ของพวกเขาจะสามารถเติบโตในอังกฤษได้ แต่การที่พ่อเขาถูกถอนสัญชาติความเป็นพลเมืองก็มีน้ำหนักมากกว่าสิทธิของลูกๆ พวกเขา

ในอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีของชายที่เติบโตในนิวคาสเซิลเมื่อปี 1963 และลูกๆ ของพวกเขาที่เกิดในลอนดอนทั้ง 3 คนก็ถูกถอนสัญชาติเมื่อสองปีที่แล้วขณะอยู่ในปากีสถาน

มีผู้เชี่ยวชาญพยายามร้องเรียนต่อศาลอุทธรณ์พิเศษของผู้อพยพ (SIAC) ว่าสถานการณ์ของครอบครัวผู้ถูกถอนสัญชาติอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงจากรัฐบาลในประเทศและจากกลุ่มติดอาวุธ แต่ทาง SIAC ก็อ้างว่าทางประเทศอังกฤษไม่มีพันธะใดๆ ต่อการกระทำที่เกิดจากรัฐปากีสถานและจากผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐในปากีสถาน

ผู้เป็นแม่ในกรณีล่าสุดเป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิดกำลังต้องการกลับประเทศเนื่องจากเป็นห่วงลูกชายคนสุดท้องที่มีความต้องการตามหลักพัฒนาการ แม้ว่าเขาจะอยู่ในวัย 15 ปี แต่ก็ยังต้องพึ่งพาแม่และพ่อของเขาในเรื่องการสนับสนุนทางอารมณ์และความช่วยเหลือต่างๆ ผู้เป็นแม่บอกอีกว่าลูกของเธอไม่สามารถศึกษาต่อได้ในปากีสถาน และตัวเธอเองยังเป็นเบาหวานและปัญหาด้านการเคลื่อนไหวขึงไม่สามารถกลับไปด้วยตัวคนเดียวได้

ผู้พิพากษามิตติง ได้มีคำสั่งตัดสินยกฟ้องคำอุทธรณ์ในกรณีโดยบอกว่า แม้จะยอมรับว่าการถอนสัญชาติผู้เป็นพ่อในครอบครัวส่งผลให้เกิดปัญหาต่อภรรยาและลูกชายคนเล็ก แต่ผู้เป็นพ่อก็มีภัยต่อความมั่นคงของชาติ และคิดว่าผลกระทบที่เกิดต่อบุตรและภรรยาของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม

โฆษกของฝ่ายกิจการภายในกล่าวไว้ว่า "การถือสัญชาติพลเมืองเป็นสิทธิพิเศษ (privilege) ไม่ใช่สิทธิพื้นฐาน (right) ฝ่ายกิจการภายในมีอำนาจในการถอดถอนสัญชาติจากบุคคลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผู้ที่ถูกถอดถอนสามารถยื่นคำร้องอุทธรณ์ได้"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีการให้ข่าวสารด้านความมั่นคงแก่รัฐบาลต่างประเทศหรือไม่ ทางโฆษกก็ปฏิเสธจะตอบคำถามเรื่องงานข่าวความมั่นคง และบอกว่าการจู่โจมด้วยโดรนเป็นเรื่องของทางฝั่งสหรัฐฯ

เรืองราวของมาห์ดี ฮาชีและ โมฮาเหม็ด ซัคร์

ทาง The Independent ยังได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของมาห์ดี ฮาชี และโมฮาเหม็ด ซัคร์ ก่อนปละหลังจากที่พวกเขาถูกถอนสัญชาติ

ในกรณีของฮาชี เขาเคยถูกทาบทามให้ไปทำงานในหน่วยงานความมั่นคงของอังกฤษ แต่ตอนนี้เขาต้องถูกทางการสหรัฐฯ จับกุมและขังในคุกที่มีการรักษาความปลอดภัยระดับสูงเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทำงานร่วมกับกลุ่มก่อการร้าย อัล-ชาบับ

ฮาชีเล่าว่าก่อนหน้านี้เขาได้เห็นการทรมานนักโทษในคุกแอฟริกา จากนั้นเขาจึงถูกจับส่งตัวให้ซีไอเอและถูกบังคับให้เซ็นต์รับคำสารภาพ โดยทางอังกฤษเองก็ตัดหางปล่อยวัดเขาโดยการยกเลิกสัญชาติเขาในช่วงที่เขาหายตัวไปในโซมาเลียเมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่ผ่านมา ทางหน่วยงานต่างประเทศก็ไม่สามารถช่วยเหลือครอบครัวเขาได้โดยอ้างว่าฝ่ายกิจการภายในได้ถอดสัญชาติอังกฤษเขาไปแล้ว

The Independent กล่าวว่า กรณ๊นี้ชวนให้สงสัยว่าอังกฤษอาจสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ โดยถอนสัญชาติเขาเนื่องจากทราบว่าเขาจะถูกจับในแอฟรืกา และก่อนหน้านี้ในปี 2009 ฮาชีเคยให้สัมภาษณ์กับ The Independent ว่า หน่วยงาน ความมั่นคงของอังกฤษหรือเอ็มไอไฟว์ (MI5) พยายามขอให้เขาช่วยทำงาน โดยที่เขาถูกกักตัวในสถานกักกันของสนามบินในแอฟริกากว่า 16 ชั่วโมง และเมื่อเขากลับมายังอังกฤษแล้วเอ็มไอไฟว์ก็บอกว่าเขาจะอยู่ในสถานะผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายจนกว่าเขาจะยอมทำงานให้เอ็มไอไฟว์ ซึ่งงานดังกล่าวคือการสืบข้อมูลจากเพื่อนๆ โดยกระตุ้นให้พูดเกี่ยวกับจีฮาด

ในกรณีของซัคร์ เขาถูกสังหารโดยปรากฏในข่าวของแอฟริกาที่รายงานเมื่อเดือน ก.พ. 2012 ว่า 'กลุ่มติดอาวุธต่างชาติ 4 ราย' ถูกสังหารจากการจู่โจมทางอากาศด้วยเครื่องบินโดรนทางตอนใต้ของกรุงโมกาดิชู เมืองหลวงโซมาเลีย หนึ่งวันหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้มีการจู่โจมางอากาศกับกลุ่มก่อการร้าย อัล-ชาบับ

ในเวลาเดียวกันสื่อตะวันตกนำเสนอข่าวการโจมตีดังกล่าวโดยอ้างอิงคำพูดของเจ้าหน้าที่ว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นเป็น "ชาวอียิปต์" ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เกิดในอียิปต์ บอกว่าเป็นชาวอังกฤษผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายที่เคยทำธุรกิจร้านล้างรถในลอนดอนจะตรงกว่า

ซัคร์เริ่มกลายมาเป็นที่สนใจของหน่วยงานข่าวกรองอังกฤษเมื่อเขาเดินทางไปเยือนซาอุดิอารเบีย, อียิปต์ และดูไบ ในปี 2007 หลังจากนั้นเขาก็ตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายมาตลอด 2 ปี ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้เขาหนีออกจากประเทศไปโซมาเลียในปลายปี 2009

The Independent ตั้งข้อสงสัยทิ้งท้ายในกรณีของซัคร์ว่า กฏหมายของอังกฤษอนุญาตให้ถอนสัญชาติเขาได้นับตั้งแต่เขาเดินทางออกจากอังกฤษ แต่การถอนสัญชาติเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลปัจจุบันของอังกฤษเข้าสู่ตำแหน่ง เวลาผ่านไปราวปีครึ่งก่อนที่เขาจะถูกสังหาร

เรียบเรียงจาก

British terror suspects quietly stripped of citizenship… then killed by drones, The Independent, 28-02-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net