Skip to main content
sharethis

ปธ.กกต.กทม.เตือน ห้ามใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คหาเสียงหลัง 6 โมงเย็นวันนี้ โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี แอดมินเพจดังกังขา ย้อนถาม “คนมันจิตอ่อนขนาดนั้นเหรอ” นักวิจัยชี้กฎหมายไม่เข้ากับธรรมชาติของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ยกการเลือกตั้งอเมริกาเทียบ ใช้ประโยชน์จากโซเชียลเน็ตเวิร์คแบบ ‘เรียลไทม์’

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 3 มี.ค.นี้ ถือว่ามีความคึกคักในการรณรงค์หาเสียงเป็นอย่างมาก ทั้งป้ายหาเสียงที่ติดอยู่ตามถนนหนทาง ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คก็คึกคักมาก ผู้สมัครแทบทุกเบอร์ใช้ช่องทางนี้ในการรณรงค์หาเสียงโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ซึ่งแปรไปตามความเติบโตของการใช้สื่อนี้โดยรวม โดยกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก คือ  12,797,500 users ซึ่งมีมากกว่าเท่าตัวของประชากรในกรุงเทพฯที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนราษฎร โดยเฉพาะรูปแบบแฟนเพจนั้นมีการเติบโตอย่างมากทั้งในเชิงการค้า การเมืองและสังคม ล่าสุดข้อมูลจาก zocialrank.com ประเทศไทยมีแฟนเพจประมาณ 3 แสนเพจ เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิ้งห่างที่ 3 อย่างฟิลิปปินส์ที่มีเพียง 2 หมื่นกว่าเพจเท่านั้น

คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่ขึ้น

ห้ามใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คหาเสียงหลัง 6 โมง  ชี้มีความผิดโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา  ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ได้กล่าวในรายการ ถามตรง(ว่าที่)ผู้ว่าฯ ถาม กกต. ทางเว็บไซต์ MCOT.net เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า วันที่ 2 มี.ค.นี้ หลังเวลา 18.00 น. ต้องพึงระมัดระวังในการสนทนาระหว่างบุคคลในเฟซบุ๊กและการโพสต์ในเว็บไซต์ที่เป็นสาธารณะ อันนี้จะเข้าองค์ประกอบความผิดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่โซเชียลเน็ตเวิร์คที่เป็นเป็นสาธารณะ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 57 (5) มีโทษตามมาตรา 118 จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ปรับ 20,000 ถึง 200,000 บาท ให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

นอกจากนี้ ประธาน กกต.กทม.ยังกล่าวเตือนคนรุ่นใหม่และผู้ใช้สังคมออนไลน์ ห้ามถ่ายภาพการลงคะแนนบนบัตรเลือกตั้ง เพราะกฎหมายระบุให้กระทำโดยเป็นความลับ ไม่เช่นนั้นอาจถูกร้องเรียนว่าจะนำหลักฐานไปขายเสียงได้

 

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Kapook

 

แอดมินเพจดังกังขาการนำข้อห้ามไปปฏิบัติย้อนถาม “คนมันจิตอ่อนขนาดนั้นหรอ

ผู้ใช้นามแฝงว่า ‘จ่าพิชิต ขจัดพาลชน’ ซึ่งแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ Drama-addict และเว็บไซต์ drama-addict.com กล่าวถึงกรณีการห้ามใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คหาเสียงหลัง 6 โมงเย็นวันนี้ว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากคนไทยชอบกดแชร์ กดถูกใจ โดยไม่สนใจเนื้อหาที่กดแชร์มากมายอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ประกาศห้ามก็คงมีคนกดแชร์เรื่อยๆ แล้วกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ทปอ.) จะดำเนินการอย่างไร

จ่าพิชิต ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหากมีคนกดแชร์สถานะในเฟซบุ๊กที่ชวนให้ลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครเบอร์ 69 หลังเวลาที่กำหนดสักพันคน ตำรวจจะตามไปจับทั้งพันคนนั้นเลยหรือไม่

ด้านแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ "ศาสดา" กล่าวถึงข้อห้ามดังกล่าวว่า “งี่เง่า คิดว่าคนมันจิตอ่อนขนาดนั้นเหรอ เอาเข้าจริงๆ คนมันเลือกมาตั้งแต่วันแรกๆ แล้ว ไม่มีใครมาเปลี่ยนใจกันง่ายๆ เพราะเห็นสื่อวันสุดท้ายหรอก” เช่นเดียวกับแอดมินเพจ "ออกพญาหงส์ทอง" ที่มองว่า "คนจะเลือกเบอร์ไหนเค้าตัดสินใจเองได้ ต่อให้ไปตะโกนข้างหูในคูหา เค้าก็ไม่เปลี่ยนใจหรอกถ้าได้เลือกไว้แล้ว"

ภาพโปรไฟล์เพจ เพจ Drama-addicและเพจศาสดา

นักวิจัยชี้ กม.ไม่เข้ากับธรรมชาติของโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ทวีพร คุ้มเมธา บรรณาธิการออนไลน์เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) และนักวิจัยด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คกล่าวถึงกรณีนี้ว่า กกต. อ้างถึง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 58 ที่ระบุว่า ห้ามไม่ให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน จนสิ้นสุดการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อดูตรง "การโฆษณาไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ" นั้นจึงทำให้การสื่อสารออนไลน์แบบสาธารณะ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด เป็นต้น ถูกรวมเข้าไปด้วย และที่แย่อีกคือคำว่า "ผู้ใด" นั้น ทำให้การพูดคุยของประชาชนทั่วไปในคืนก่อนเลือกตั้งก็ถูกเหมารวมไปด้วย

บรรณาธิการออนไลน์เครือข่ายพลเมืองเน็ต มองว่า ปัญหาอยู่ที่กฎหมายไม่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมยุคใหม่ ที่คนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อการสื่อสารซึ่งมีลักษณะกึ่งส่วนตัวกึ่งสาธารณะ แต่กฎหมายเก่าๆ แม้กระทั่งกฎหมายฉบับนี้ที่พึ่งเขียนเมื่อปี 2550 ก็นิยามคำว่าโฆษณาโดยมองแบบขาวกับดำ คือ ถ้าออกสื่อ ทีวี หรือตีพิมพ์ เป็นการโฆษณาแบบสาธารณะ (PUBLIC) แต่ถ้าเป็นการคุยกันแบบส่วนตัวระหว่างประชาชนจึงจะนับเป็นการคุยกันแบบส่วนตัว (PRIVATE)

เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาวิจัยด้านโซเชียลมีเดีย ตั้งข้อสังเกตกับข้อห้ามโพสต์หาเสียงในโซเชียลมีเดียนี้ว่า เป็นข้อห้ามที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของโซเชียลมีเดีย เพราะหากเป็นการโพสต์นอกพื้นที่เลือกตั้ง เช่น ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไร และหากสถานะนั้นโพสต์ตั้งแต่ก่อนหกโมงประมาณห้านาที แต่ยังคงอยู่ในไทม์ไลน์ของคนอื่นและมีคนมากดไลค์ต่อๆ กันจนฟีดขึ้นมาใหม่ อย่างนี้จะดำเนินการอย่างไร คนกดไลค์หรือกดแชร์จะมีความผิดหรือไม่ อีกทั้งถ้าหลังเลือกตั้งแล้ว เราแสดงอารมณ์ความรู้สึกขณะนับคะแนนเลือกตั้งได้ไหม ดังนั้น กกต. น่าจะแจ้งให้ละเอียดเพื่อการไม่เลือกปฏิบัติ

เพ็ญจันทร์ กล่าวต่อว่าการจัดการกับสื่อใหม่มีความกำกวมมาก เนื่องจากมีลักษณะการเข้าถึงได้โดยข้ามพรมแดนและไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา

เพ็ญจันทร์ กล่าวเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาด้วยว่า ไม่มีข้อห้ามในลักษณะนี้ และการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาก็มีการใช้โซเชียลมีเดียมาก ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ การโจมตีกันไปมากันทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์  รวมทั้งใช้ช่องทางนี้ในการชวนคนออกไปเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการถ่ายรูปขณะเลือกตั้งนั้นสามารถทำได้ แต่ยกเว้นในบางรัฐที่ห้ามถ่ายรูปที่คูหาเท่านั้น

สำหรับการโซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกานั้น เพ็ญจันทร์กล่าวอีกว่า สื่อใหญ่อย่าง CNN ก็มีการจับมือกับเฟซบุ๊ก ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง และมีการนับว่ามีคนพูดถึง โอบาม่า, โจ ไบเดน, มิท รอมนีย์ และพอล ไรอัน ที่กระโดดจากชั่วโมงละ 100,000 ครั้งมาเป็น 400,000 ครั้งตอนเปิดหีบเลือกตั้งในฝั่งตะวันออกที่เวลาเร็วกว่าที่อื่น รวมทั้งมีการรายงานถึงการที่คนพูดถึงโอบาม่าเพิ่มขึ้น 125 % ในวันก่อนเลือกตั้งหนึ่งวัน ส่วนรอมนี่ย์เพิ่มขึ้น 72% และไรอันเพิ่มขึ้นที่ 289% ด้วย

คนอเมริกันจะเข้ามาหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตในวินาทีสุดท้ายก่อนจะออกไปคูหาเลือกตั้ง โดยจากสถิติของกูเกิล พบว่าค้นหาข้อมูลของโอบาม่ามากที่สุด และสถาบันวิจัย Pew Research Center บอกว่า 25% ของคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย อ่านข่าวการเมืองออนไลน์  และมี 16% เปลี่ยนใจหลังจากได้อ่านข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต

“อินเทอร์เน็ตช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยและให้ข้อมูลกับคนที่กำลังจะไปเลือกตั้ง แต่ปัญหาของคนไทยคือ คิดว่าคนอื่นๆ จะเป็นคนที่โดนกล่อมโดนหลอกได้ง่ายโดยสื่อ เลยจะต้องมีการแบนกันเรื่อยมา” เพ็ญจันทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ข้อห้ามห้ามใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คหาเสียงหลัง 6 โมงเย็นก่อนการเลือกตั้งนั้นเป็นประเด็นที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโซเชียลเน็ตเวิร์คเช่นกัน (อ่าน “จวก กกต. คุมใช้เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์หาเสียงไร้สาระ - ปชป.ทำแอพบนมือถือ”)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net