รำลึก ‘บุญสนอง บุณโยทยาน’ ตื่นตาพรรคฝ่ายซ้ายฝรั่งเศส-มาเลย์-เอลซัลวาดอร์

จากซ้ายไปขวา ปิยบุตร แสงกนกกุล อานนท์ ชวาลาวัณย์ พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ และพัชณีย์ คำหนัก ในการเสวนาหัวข้อ "ว่าด้วยพรรคการเมืองในโลกประชาธิปไตย" ในงานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

2 มี.ค.56  โครงการรวบรวมประวัติและผลงานของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน จัดงานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เหลียวหลังแลหน้า ทางออกระบบพรรคการเมือง ที่ ร.ร.รามาการ์เดนส์ ย่านหลักสี่ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยในงานมีวงสัมมนาว่าด้วยตัวอย่างพรรคสังคมนิยมในประเทศต่างๆ ได้แก่ อานนท์ ชวาลาวัณย์:  พลวัตพรรคการเมืองในอเมริกากลาง กรณีศึกษาพรรคการเมืองในเอลซัลวาดอร์, พัชณีย์ คำหนัก: พรรคฝ่ายซ้ายในอาเซียน กรณีศึกษาพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในมาเลเซีย, ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล : การกลับมาของพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส

ทั้งนี้ บุญสนอง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการ ‘พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้มีแนวคิดสังคมนิยม และบางส่วนจาก “กลุ่มคน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” และ “13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นจุดสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาเคยลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร ในปี 2518 แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาเขาถูกลอบยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางโดยรถยนต์ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ในวันที่ 28 ก.พ.2519

ปิยบุตร แสงกนกกุล และอานนท์ ชวาลาวัณย์ ในการเสวนาหัวข้อ "ว่าด้วยพรรคการเมืองในโลกประชาธิปไตย" ในงานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ลักษณะพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสนั้นจุดกำเนิดเพื่อเป็นฝ่ายค้าน จนตัดสินใจทบทวนว่า ค้านตลอดเวลา ไม่ได้ทำ ไม่มีประโยชน์จึงปรับพรรคใหม่ ทำอย่างไรได้เป็นรัฐบาล พรรคสังคมฝรั่งเศสไม่มีเจ้าของ เพราะมีอุดมการณ์พรรคชี้นำ มีประชาธิปไตยภายในพรรค สมาชิกมีส่วนร่วม เถียงกัน กัดกันมาก แต่เวลาเลือกตั้งผนึกกำลังกัน มีการสร้างคนทุกปี อย่างไรก็ตาม พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสปัจจุบันมีความถึงรากถึงโคน (radical)  น้อยลง แลกกับการไปเป็นรัฐบาล เพื่อให้อุดมคติเกิดผลในทางความจริง นอกจากนี้การสร้างพันธมิตรและแนวร่วมตลอดเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญ พันธมิตรยาวนานที่สุดคือ สหภาพแรงงาน ประกอบกับพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆ ตั้งแต่พรรคกรีนจนถึงพรรคคอมมิวนิสต์

“ถ้าถามว่าในประเทศไทย สังคมนิยมจะกลับมาได้ไหม ตราบใดที่สังคมการเมืองของไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ผมว่ายาก ประชาธิปไตยมันต้องได้ แล้วตอนนั้นจะเถียงกันแล้วว่า จะขวา จะซ้าย ประเทศไทยไม่มีขวาซ้าย มีแต่ประชาธิปไตยกับเผด็จการ ในต่างประเทศที่ลงข่าวสลายชุมนุม รัฐประหาร ต่อให้เป็นฝ่ายขวายุโรปก็งง รับไม่ได้ ดังนั้น  เอามิติฝ่ายซ้ายมาจับประเทศไทย มันจับไม่ถูก เพราะมันยังไม่เป็นแม้แต่ประชาธิปไตย” ปิยบุตรกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า หากย้อนมองดูประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา เช่น ในฝรั่งเศสและเยอรมัน จะพบว่า ชะตากรรมของคนที่เป็นสังคมนิยม มักถูกฝ่ายรัฐเข้าสั่งหารโดยวิธีนอกกฎหมายเสมอๆ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ ดร.บุญสนอง

สำหรับพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสนั้น ปิยบุตรแบ่งการอธิบายเป็นสองประเด็นใหญ่ ได้แก่ พัฒนาการของพรรคสังคมนิยมฝรั่ง และปัจจัยที่ให้พรรคนี้อยู่ในฐานะพรรคของมวลชน ไม่มีเจ้าของ

เขากล่าวว่า ในปี 1870 ซึ่งฝรั่งเศสเข้าสู่สาธารณรัฐที่3 ฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศสมี 2 สายคือ  ซ้ายปฏิรูปที่นิยมระบบรัฐสภา และฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง ที่ใช้แนวทางติดอาวุธ  แต่ทั้งสองสายนี้ก็ไม่แตกกันมากเพราะมีศัตรูร่วมกันอยู่ที่ระบอบกษัตริย์และ ความคิดแบบนโปเลียน โบนาปาร์ต แต่แม้ทั้งสองสายจะทะเลาะกัน แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้จะเห็นว่าซ้ายสองกระแสทะเลาะกัน แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ฝ่ายซ้ายก้าวหน้าไปได้คือ การที่ฝรั่งเศสรับรองสิทธิการนัดหยุดงาน ในปี 1864 ซึ่งทำให้ฝ่ายซ้ายมีเครื่องมือในการต่อรอง

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ปี 1889 มีการจัดสากลที่ 2 ที่ปารีส ซึ่งเป็นการรวมพลังฝ่ายซ้าย ปี 1905 ฝรั่งเศสตั้งกลุ่ม SFIO (French Section of the Workers' International ) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแรกของการตั้งพรรค ในปี 1920 สากลที่ 3 เลนินขึ้นมา และทำให้ฝ่ายซ้ายแตกอีกรอบ เนื่องจากเขาตั้งเงื่อนไขบางอย่างซึ่งทำให้ฝ่ายซ้ายทะเลาะกัน  เสียงข้างมากตัดสินใจออกไปตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เน้นการปฏิวัติทั้งโลกพร้อมกัน ส่วนที่ยึด SFIO ก็ตั้งพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส  จนกระทั่งในปี 1936 หัวหน้าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่เพียงไม่นานก็ล้มก่อนเข้าสู่สงครามโลกหลังสงครามโลก เป็นช่วงฝ่ายซ้ายตกต่ำ ส่งสมาชิกลงแข่งขันเลือกตั้ง ได้ก็ได้คะแนนเสียงเพียง 5%

เขากล่าวต่อว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสคือ เกิดมาเพื่อเป็นฝ่ายค้านตลอดเวลา ในช่วงหลังจึงคิดกันได้ว่าหากไม่มีโอกาสนำสิ่งที่ค้านไปทำย่อมไม่เกิดประโยชน์ จึงคิดปรับพรรคใหม่หาทางให้ได้รับเสียงข้างมาก หมุดหมายสำคัญคือ ปี 1971 มีการจัดประชุมสภาใหญ่ ครั้งนั้นมีคนขอลงสมัครเป็นผู้นำพรรคหลายคน   เมื่อได้หัวหน้าก็เริ่มจัดรณรงค์หลายปีโดยเริ่มการรวมกลุ่มสารพัดซ้าย หลากหลายเฉดเข้าด้วยกัน  จนกระทั่งปี 1981 พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาและได้เป็นประธานาธิบดี การรวมเสียงที่สำคัญคือการสร้างพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส มีการหารือกันเพื่อเตรียมวางแผนนโยบายใหม่ โดยจูนคลื่นกันไว้ก่อนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคสังคมนิยม

ครั้งนี้เป็นการชนะแบบสง่าผ่าเผย  เมื่อได้บริหารประเทศ พรรคฝ่ายซ้ายจัดการทุกอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี ผลงานสำคัญ เช่น ยกเลิกโทษประหารชีวิต, กำหนดเกษียณอายุที่ 60 ปี , สิทธิในการลาคลอดทั้งชายหญิง คนละ 5 สัปดาห์ต่อบุตร 1 คน, การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, การเก็บภาษีผู้มีรายได้สูง, อนุญาตให้สตรียุติการตั้งครรภ์ได้โดยสมัครใจ ซึ่งฝ่ายขวาทำมาก่อน แต่ฝ่ายซ้ายเพิ่มในส่วนว่าเบิกประกันสังคมได้, การทำวิทยุโทรทัศน์ช่องความรู้, การแก้ไขเรื่องบทบาททางการเมืองหญิงชายให้เท่ากัน, การกำหนดการทำงานขั้นสูงไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่สำคัญคือ ทำรถไฟความเร็วสูง,การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นซึ่งมีการเลือกตั้งโดยตรง, สร้างพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ฯ ฝ่ายซ้ายเติบโตมาเรื่อยแล้วจึงค่อยๆ ถดถอยลง ประกอบกับยุโรปเริ่มลดบทบาทรัฐด้วย ฝ่ายขวจึงกลับมาได้ในที่สุด

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ในปี 2008 มีจัดสัมมนาใหญ่ เพราะฝ่ายซ้ายแพ้ฝ่ายขวาอย่างหนัก จึงทบทวนกันอีกครั้งเพื่อปรับพรรคอีกรอบให้ได้เสียงข้างมากในสภา ซึ่งในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในปี 2012 วิธีการปรับพรรค คือ ย้อนกลับไปเอาสมาชิกพรรค แกนนำพรรคเคาะประตูหาชาวบ้านใหม่ โดยมีสโลแกน “ฝรั่งเศสที่เรารัก” ไถ่ถามทุกบ้าน ขอดีเบตกับทุกพื้นที่ทั่วประเทศถึงแนวนโยบายด้านต่างๆ หลังจากนั้นแบ่งทีมศึกษา เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา ความปลอดภัย เศรษฐกิจ แล้วจัดงานอภิปรายตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ เชิญสมาชิกพรรคมาแลกเปลี่ยน สิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ คือ การนำระบบ primary vote มาใช้ โดยในตัดสินหาตัวแทนลงสมัครเพื่อเป็นประธานาธิบดีในปี 2012 ผู้สมัคร 6 คนต้องแข่งขันกันจนชนะโหวตในพรรคก่อน แสดงให้เห็นว่าตัวแทนที่ลงแข่งจะไม่มีทางที่จะหิ้วกระเป๋าเงินเข้ามากำหนดได้ วิธีการแข่งขันก็ให้เลือกตั้งอย่างจริงจัง ในครั้งนั้นมีสมาชิกพรรค 2.8 ล้านคนที่มาออกเสียงลงคะแนน ในการออกเสียงต้องนำเงินมาบริจาคให้พรรคด้วย 1 ยูโร มีการจัดดีเบตออกโทรทัศน์ 3 ครั้ง จนสุดท้ายได้ ฟร็องซัว ออล็องด์  เป็นผู้ชนะ ส่วนนโยบายก็มีการทำไว้แล้วเรียบร้อยจากการเดินสายหารือทั่วประเทศ เขาลงเลือกตั้งโดยม สโลแกนว่า “การเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ !” โดยในแผ่นพับโฆษณา มีแนวนโยบายทั้งหมด 60 ข้อ หลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี สื่อและทุกฝ่ายก็ตรวจสอบจาก 60 ข้อดังกล่าว

“หากเราดูการเดินทางของพรรคสังคมนิยมปัจจุบัน เราจะเห็นว่าปี 2012 พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ชนะทุกสนามเลือกตั้ง  แต่ก็ไม่มีทหาร ไม่มีใครออกมาพูดว่า นี่คือเผด็จการรัฐสภา เผด็จการกินรวบประเทศ ฝ่ายขวาเขาก็รอ อีก 5 ปีมาเลือกกันใหม่ ซึ่งไม่แน่อาจชนะเพราะฝ่ายซ้ายเก็บภาษีเยอะ” ปิยบุตรกล่าว

 ในส่วนของปัจจัยที่ทำให้พรรคสังคมนิยมไม่มีนายทุนใหญ่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ปิยบุตรกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ 1.มีอุดมการณ์ชี้นำพรรคอยู่แล้ว โดยธรรมชาติจึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ วัฒนธรรมภายในก็พยายามทำให้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่รากขึ้นมา

2.ฝรั่งเศสอาจประหลาดหน่อยตรงที่พรรคการเมืองเกิดจากเสรีภาพในการวมตัวกัน ในฝรั่งเศสสมาคมต่างๆ เต็มประเทศเพราะรวมตัวกันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนกับรัฐจะได้ของแลกเปลี่ยน เช่น เงินอุดหนุน ลดหย่อนภาษี

3.พรรคสังคมนิยม มีแนวทางชัดเจนในการสร้างคนใหม่ๆ พรรคมีการสร้างมหาวิทยาลัยของเขาเอง 2 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยถาวรแห่งหนึ่ง คำซึ่งจะมีการจัดอบรมใหญ่ ปีละ 4 สัปดาห์ ที่จะจัด เวียนไปตามหัวเมืองใหญ่ พวกแกนนำ หัวคะแนนจะมาอบรม , อีกแห่งคือ มหาวิทยาลัยฤดูร้อน ทุกฤดูร้อนจะมีการจัดการศึกษาที่เมืองตากอากาศ เน้นกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ที่เริ่มมีแนวคิดสังคมนิยม นอกจากเรียนรู้วิธีคิดแล้ว ยังได้เจอเพื่อนๆ สร้างเครือข่าย

4.สร้าง think thank ขึ้นมาชื่อ “ห้องทดลองของความคิด” เอานักวิชาการมานั่งสกัดนโยบาย โดยเอาข้อมูลจากที่เดินสายทั่วประเทศมาประมวลผล

5.การสร้างเครือข่าย ผูกมิตรกับขบวนการสหภาพแรงงาน กับอีกด้านคือเครือข่ายสังคมนิยมทั่วโลก

 

 

อานนท์ ชวาลาวัณย์ จากกลุ่มประกายไฟ กล่าวถึงการก่อตัวของพรรคสังคมนิยมในเอลซัลวาดอร์ คือพรรค FMLN  (The Farabundo Martí National Liberation Front) พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายนี้มีจุดก่อกำเนิดในแบบขบวนการติดอาวุธก่อน แล้วเพิ่งตั้งเป็นพรรคการเมืองเมื่อปี 1992

เอลซัลวาดอร์ อยู่ในอเมริกากลาง พึ่งพิงระบบเศรษฐกิจกาแฟ เกิดกลุ่มชนชั้นนำที่ผูกขาดที่ดิน คนส่วนใหญ่เป็นแรงงานยากจน ไม่มีที่ดินเกิดการเมืองแบบเจ้าที่ดิน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับทหาร ปัจจัยที่ทำให้เกิดการต่อสู้  นอกจากนี้กระแสการปฏิวัติในคิวบา ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ก็ยิ่งทำให้คนหนุ่มสาวฮึกเหิม สุดท้ายเกิดการลุกขึ้นสู้โดยมีกองกำลังติดอาวุธหลายๆ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีแนวทาง แนวคิดของตัวเอง การต่อสู้ไม่ได้มีเอกภาพมากนัก รู้แต่เพียงมีศัตรูร่วมกัน คือ รัฐบาลเผด็จการ ทำให้การต่อสู้ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ราวปี 1980 การลอบสังหารนักบวชคริสต์ที่ช่วยเหลือชาวนายากจนในเมืองหลวงโดยกลุ่มฝ่ายขวา ผลักดันให้กลุ่มติดอาวุธรู้สึกว่าต้องรวมตัวกัน FMLN ถูกตั้งขึ้นโดยในช่วงต้นเป็นร่มให้แต่ละกลุ่มทำงานร่วมกันในลักษณะแนวร่วม

กลุ่มติดอาวุธยังไม่พร้อมจะสู้กับรัฐบาล แต่เมื่อเรแกนได้รับชัยชนะเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเป็นประธานาธิบดี เขาสนับสนุนกลุ่มกองกำลังฝ่ายขวาในอเมริกาใต้และในหลายภูมิภาค  รวมทั้งหนุนเผด็จการเอลซัลวาดอร์ กลุ่มติดอาวุธฝ่ายซ้ายจึงต้องเปิดศึกระหว่างกัน และต้องชนะเร็วที่สุด สุดท้ายเกิดเป็นสงครามกลางเมือง

แต่เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนแปลง กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย การสนับสนุนจากฝ่ายซ้ายทั้งหลายลดน้อยลง ทำให้ FMLN เริ่มอยากเจรจา แต่เพื่อให้เจรจาในสถานะเท่ากัน จึงรบหนักหน่วงขึ้น จนยูเอ็น เข้ามาเป็นตัวกลางเมื่อปี 1990 การเจรจาแบ่งเป็น 2 หัวข้อคือสร้างเงื่อนไขหยุดยิง กับ การรับคนเข้าสู่สังคม การเจรจาคืบหน้ามาด้วยดีและสำเร็จเมื่อปี 1992 ที่เม็กซิโก มีการยุติสงครามอย่างเป็นทางการ หลังการเจรจา ทหารกลับไปเป็นพลเรือน แปรสภาพตัวเองจากกองกำลังติดอาวุธเป็นพรรคการเมืองในระบบ ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันว่า จะไปทางไหนดี มุมหนึ่งคิดว่าสังคมนิยมคงไม่เวิร์คแล้วจึงลดระดับเหลือสังคมนิยมประชาธิปไตย

ประเด็นนี้ทำให้เกิดการแตกแยกภายใน ผู้ไม่เห็นด้วยก็แยกตัวออกไป ปี 2004 ถกเถียงเรื่องนี้อีก สุดท้ายพรรคในฐานะสถาบันทางการเมืองก็ยังอยู่ และเข้าสู่การเลือกตั้ง  ตัวแทนพรรคได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี คือ Mauricio Funes ซึ่งไปตกลงเป็นพันธมิตรกับกลุ่มกลางๆ ที่ไม่ได้เป็นสังคมนิยม และมีการพูดคุยกับกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งและได้รับการสนับสนุนเงินหาเสียง ปัญหาที่เกิดตามมาคือ มีพันธะผูกพันระหว่างกลุ่มทุนกับพรรคการเมือง นั่นคือ เขาสัญญาว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแบบถึงรากถึงโคนในเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เขาถูกครหาว่าสูญเสียตัวตน ปฏิรูปได้น้อยเกินไป แถมยังต้องพึ่งพิงสหรัฐด้วย เพราะประสบวิกฤตเศรษฐกิจและต้องกู้เงินจากอเมริกา

พัชณีย์ คำหนัก  นักวิจัยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวถึงพรรคสังคมนิยมมาเลเซียว่า ในปีพ.ศ.2534 องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรที่ทำงานกับคนจนเมืองและชนบทในประเทศมาเลเซียเริ่มจัดตั้งเครือข่ายแนวร่วม และอีก 3 ปีต่อมา ก็ได้ร่วมกันเดินขบวนประท้วงที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการตื่นของชนชั้นแรงงานในขณะนั้น

พรรคสังคมนิยมมาเลเซียประกาศตัวในปี 2541 แตในมาเลเซียจดทะเบียนพรรคด้วยชื่อ “สังคมนิยม” นั้นยากลำบากต้องใช้เวลาต่อสู้ถึง 10 ปีจึงได้จดทะเบียนพรรคการเมือง พรรคนี้ประกอบด้วยเสาหลักอย่างขบวนการชาวนา ขบวนการแรงงาน ที่มีประสบการณ์จัดตั้งยาวนาน ช่วงก่อตั้งมีข้อถกเถียงใหญ่ ใช้เวลา 3 ปี คือ 1. เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองหรือไม่ เพราะแนวทางนี้ในมาเลย์ถูกทำลาย ผู้คนเข่นฆ่า จับกุมจำนวนมาก  แต่ก็ยังถกเถียงกันต่อว่าแนวทางที่ถูกคืออะไร นอกจากนี้พรรคนี้ยังมีรูปแบบในการเคลื่อนไหวแตกต่างจากพรรคใหญ่สองพรรค เพราะไม่ได้ยึดติดว่ารัฐสภาคือปลายทาง สิ่งที่เข้มแข็งคือ การทำงานกับมวลชน  นโยบายหลัก สิทธิแรงงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ ขจัดนโยบายเสรีนิยมใหม่ (เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) , ยับยั้งข้อตกลงการค้าเสรี, จัดหาความจำเป็นขั้นพื้นฐานให้ชนบท, หยุดการเมืองศาสนาและเหยียดสีผิว, ขจัดทุจริตคอรัปชั่น

พัชณีกล่าวต่อว่า สำหรับบริบทของไทยนั้น  พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย ประกาศตัวใน ปี 2553 แต่ก็ประสบปัญหาทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อพรรคสังคมนิยม ในขณะที่ประเทศในเอเชียมีพรรคคอมมิวนิสต์เช่น จีน เวียดนาม ที่ชนชั้นนำชอบเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ ชวนมาลงทุนในเมืองไทย  ซึ่งทางรัฐบาลจีนก็ควรจะเชิญ กกต. ไปดูงาน

สำหรับข้อเสนอต่อขบวนการประชาธิปไตยไทยนั้น เธอเสนอว่า ต้องปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองให้ตั้งพรรคสังคมนิยม เพื่อเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากขึ้น เปิดให้มีการแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรีจริง, กกต. ผู้พิพากษาต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ  และทัศนคติอันคับแคบ, รณรงค์ป้องกันการใช้ความรุนแรงกับคนนิยมแนวคิดสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หยุดวัฒนธรรมการฆ่า ทำลายประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง, ตระหนักถึงบทบาทของประชาชนในขบวนการต่างๆ ได้แก่ ขบวนการแรงงาน ชาวนา รวมถึงองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยมากขึ้น และสร้างเสริมศักยภาพขององค์กรในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ด้วยการริเริ่มสร้างพรรคมวลชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท