สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: สงครามเย็นตกยุค

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลได้เชิญ คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ มาเป็นวิทยากรสนทนาเรื่อง “นักโทษการเมือง : ภาพสะท้อนสงครามเย็นตกยุค” มีประเด็นที่สำคัญกว่า กลุ่มชนชั้นนำของไทยนั้น เป็นกลุ่มที่เคยผ่านบทเรียนและประสบการณ์สมัยสงครามเย็น แม้ว่าในขณะนี้ สงครามเย็นในโลกจะยุติไปนานแล้ว แต่ทัศนะแบบสงครามเย็น ทำให้ชนชั้นนำไทยเห็นประชาชนเป็นศัตรู และใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ และการปราบปรามแบบยุคสงครามเย็น จึงทำให้เกิดการกวาดล้างเข่นฆ่าประชาชน และจับกุมคุมขังคนที่คิดต่าง ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศอันล้าหลังทางการเมือง โดยประจักษ์พยานสำคัญก็คือ การคุมขังนักโทษการเมือง ซึ่งก็คือนักโทษทางความคิดนั่นเอง
 
ประเด็นที่คุณภควดีเสนอมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าพิจารณาว่า ยุคแห่งสงครามเย็นในโลก เป็นยุคเริ่มต้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยสถานการณ์โลกในขณะนั้น คือ การเผชิญหน้าระหว่างสองอภิมหาอำนาจที่มีอุดมการณ์ต่างกัน นั้นคือ สหรัฐอเมริกา ผู้นำฝ่ายโลกทุนนิยม  และ สหภาพโซเวียต ผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ อภิมหาอำนาจทั้งสองมีความขัดแย้ง และแข่งอำนาจกันในดินแดนทั่วโลก แต่ไม่สามารถที่จะก่อสงครามกันโดยตรงได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์มหาศาล เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการต่อสู้สมัยสงครามเย็นก็คือ การใช้สงครามจิตวิทยา หรือการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลด้านเดียวโฆษณาให้เห็นความเลวร้ายของฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับฝ่ายของตน
 
ในยุคสงครามเย็นนั้น ชนชั้นนำไทยก็ได้นำประเทศเข้าร่วมอยู่ในฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายร่วมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์โซเวียต และต่อมา ก็คือ ต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่และเวียดนามเหนือ ในการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้มีการใช้สงครามจิตวิทยา วาดภาพให้ราวกับคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจร้าย ใช้ข้อกล่าวหาอันปราศจากเหตุผลมาโจมตี เช่น คอมมิวนิสต์เอาผู้หญิงเป็นของกลาง เอาคนชราไปทำปุ๋ย ฯลฯ และที่สำคัญคือ คอมมิวนิสต์เป็นพวกขายชาติ ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาพคอมมิวนิสต์จะมี 2 ลักษณะ คือ เป็นระบบการเมืองสังคมตามที่เป็นจริง นั่นคือ เป็นระบบที่ปฏิเสธทุนนิยม สร้างสวัสดิการโดยรัฐ ใช้เศรษฐกิจวางแผน ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้าย แต่ที่เลวร้ายกว่าคือ ผีคอมมิวนิสต์ที่ถูกวาดขึ้นมาตามจินตภาพของชนชั้นนำไทยที่เป็นอนุรักษ์นิยม และหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง และความกลัวผีคอมมิวนิสต์นี้เอง ที่นำมาสู่การเข่นฆ่าประชาชนในชนบทจำนวนมาก ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเช่นเดียวกัน คือ การนำมาสู่การกวาดล้างเข่นฆ่านักศึกษาในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
 
ต่อมา สงครามเย็นในโลกผ่อนคลายและยุติลง เนื่องจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก พ.ศ.2532 แล้วนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ.2534 ส่วนจีนก็เปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศไปสู่วิธีการแบบทุนนิยม การเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศในเวทีการเมืองโลกลดลง ในขณะที่ระบบการเมืองของประเทศอื่นในโลกก้าวไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น จนกระทั่งแทบจะไม่เหลือประเทศที่เป็นเผด็จการทหารเลย  แม้กระทั่งในลาตินอเมริกา และอัฟริกา ก็กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น ประเทศไทยก็ดูเหมือนจะก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยเช่นกัน จนกระทั่ง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ก็เกิดการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ย้อนยุคอย่างไม่น่าเชื่อ
 
การสนับสนุนให้กองทัพยึดอำนาจเพื่อโค่นรัฐบาลที่ชนชั้นนำไม่ถูกใจ โดยไม่ต้องสนใจเสียงของประชาชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในยุคสงครามเย็น ที่สหรัฐฯเข้ามาสนับสนุนเผด็จการในประเทศเอเชีย เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพียงแต่ว่าในวันนี้ สหรัฐฯไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหารแล้ว แต่เป็นชนชั้นนำไทยเองที่เลือกใช้วิธีการนี้ ทั้งนี้เพราะกรอบความคิดของชนชั้นนำไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ไม่เห็นว่าประชาชนเป็นที่มาแห่งอำนาจที่ชอบธรรม แต่มีความคิดย้อนยุคแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เท่านั้นเป็นที่มาแห่งความชอบธรรมทางการเมือง ดังนั้น การล้มล้างประชาธิปไตยจึงไม่เรื่องเสียหาย ตราบเท่าที่สถาบันกษัตริย์ยังมั่นคง
 
และเพื่อสร้างความชอบธรรมในลักษณะนี้อย่างเป็นกระบวนการ ก็คือ การสร้าง”ผีทักษิณ”ในลักษณะเดียวกับผีคอมมิวนิสต์ในอดีต เช่นกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นที่มาแห่งความชั่วทุกอย่างในสังคมไทย และที่ร้ายแรงคือ การสร้างภาพให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นศัตรูกับสถาบันกษัตริย์และมีความต้องการที่จะล้มเจ้า ซึ่งเป็นวิธีการแบบสงครามจิตวิทยาที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในสงครามเย็น และเพื่อจะหล่อเลี้ยงข้อหาลักษณะนี้ จึงต้องมีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ในการจับกุมบุคคลที่คิดต่างมากขึ้น
 
แต่ปัญหาของชนชั้นนำไทยในสมัยหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็คือ ไม่สามารถควบคุมและโน้มน้าวการสนับสนุนของประชาชนได้ ในที่สุด ก็นำมาสู่การพัฒนาของมวลชนคนเสื้อแดง ที่กลายเป็นพลังสำคัญมากขึ้นทุกที ข้อเสนอหลักที่ฝ่ายขบวนการเสื้อแดงต้องการผลักดันก็คือ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ถือเสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์อย่างแท้จริง กรณีที่กลายเป็นกระแสใหญ่ที่สุด ก็คือ การเคลื่อนไหวของขบวนการคนเสื้อแดงที่นำโดย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) เมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นประชาธิปไตยธรรมดาที่ไม่มีความแหลมคมด้วยซ้ำ
 
ปรากฏว่าชนชั้นนำไทยได้ตอบโต้อย่างเต็มรูปแบบลักษณะเดียวกับสมัยสงครามเย็น เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉินขั้นร้ายแรงและระดมทหารติดอาวุธพร้อมมารับมือกับประชาชน จากนั้น ก็มีการอุปโลกน์ผังล้มเจ้าขึ้นมา แล้วสร้างกระแสใส่ร้ายป้ายสีขบวนการเสื้อแดงโยงเข้ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาว่าจะล้มเจ้า แล้วก็ใช้กำลังทหารเข้าเข่นฆ่าปราบปราม วิธีการทั้งหมดนี้ มาจากทัศนะที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู แทนที่จะเห็นว่าเป็นเพียงพวกมาเรียกร้องความเป็นธรรม จึงเลือกใช้วิธีการทางการทหารมาปกป้องอำนาจรัฐจากประชาชน แล้วก็ใช้วิธีการใส่ร้ายป้ายสีโจมตีฝ่ายคนเสื้อแดงว่ามีอาวุธร้ายแรง ซึ่งไม่ต่างกับการใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาเมื่อครั้งกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ว่า สะสมอาวุธจำนวนมากไว้ในธรรมศาสตร์นั่นเอง
 
หลังจากที่ใช้การเข่นฆ่าสังหารจนมีประชาชนเสียชีวิตนับร้อยคน และบาดเจ็บนับพันคนแล้ว ก็กวาดล้างโดยการจับประชาชนฝ่ายต่อต้านดำเนินคดีและขังคุก จนก่อให้เกิดนักโทษการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะในคดี 112 ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีนักโทษทางความคิด จนกลายเป็นที่กังขาในโลกนานาชาติ ต่อมา กระบวนการใส่ร้ายอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการโจมตีว่าล้มเจ้าแล้ว ยังสร้างกระแสโจมตีเรื่องการเผาบ้านเผาเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมในหมู่ชนชั้นกลาง และเป็นวิธีการที่ใช้ในยุคสงครามเย็นเช่นกัน
 
ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่ยังคงรุนแรง และหาทางสมานฉันท์ได้ยากในขณะนี้ จึงมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นนำไทยที่มีทัศนคติอันตกยุคสมัย คือยังยึดอยู่กับความคิดในบริบทแบบสงครามเย็น เห็นประชาชนเป็นศัตรู และใช้วิธีการที่สู้กับคอมมิวนิสต์มาต่อสู้กับประชาชน การแก้ไขสถานการณ์คงจะทำได้ยาก นอกจากจะต้องรณรงค์ให้เห็นว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องเหลวไหล ตกยุค และไม่เหมาะกับการเมืองแบบประชาธิปไตย และประชาชนก็จะต้องก้าวให้พ้นชนชั้นนำอันล้าหลังเหล่านี้
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท