หนึ่งเสียงวิทยุชุมชน 'กสทช.สอบไม่ผ่าน'

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กสทช.ได้มอบใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง หรือ วิทยุชุมชน ให้กับผู้ประกอบการจำนวน 515 สถานี ซึ่งพ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนภายใต้กฎ กติกา ตามที่กฎหมายกำหนด โดยการแจกใบอนุญาตครั้งนี้จะมีผลนำไปสู่การประเมินเพื่อให้ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงของจริงในปีถัดไปด้วย

ขณะที่องค์กรกำกับดูแล มองว่านี่คือก้าวสำคัญ แต่ "วิชาญ อุ่นอก" เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ มองว่า 1 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่า กสทช.ลงมาทำงานวิทยุชุมชนน้อย เพิ่งมามีบทบาทช่วงท้ายปี เพราะมีปัญหาเรื่อง 3G ทีวีดิจิตอลซึ่งเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร

เขามองว่า เหตุผลที่ กสทช.ไม่ยอมแตะ "วิทยุชุมชน" เพราะพอแตะหรือจัดระเบียบที่ไม่ชอบกับบางกลุ่ม ก็จะมีมวลชนมากดดัน ทำให้ กสทช.ไม่อยากออกระเบียบจริงจัง เช่น กรณีให้ 7,000 กว่าสถานีลดกำลังส่งเหลือ 500 วัตต์ ลดความสูงเสาลงเหลือ 60 เมตร และลดรัศมีกระจายเสียงเหลือ 20 กม. สายวิทยุเสียงธรรม กับวิทยุขนาดใหญ่ก็ไม่ยอม ก็เจอล็อบบี้ การพยายามไม่แตะของ กสทช. จึงทำให้สถานีวิทยุขนาดเล็กมีปัญหามาก เพราะพอไม่ลงมา ก็ทำให้วิทยุขนาดเล็ก 7,000 กว่าสถานีไม่มีการจัดการ

วิชาญมองย้อนไปเมื่อต้นปีก่อน เขาตั้งข้อสังเกตว่า ใครที่มีเงินเยอะ ก็จะซื้อเครื่องส่งขนาดใหญ่มาใช้ ทำให้วิทยุขนาดเล็กโดนคลื่นทับตลอด ออกอากาศไม่ได้ นอกจากนี้ พวกวิทยุขนาดใหญ่ยังมีโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ทำให้ภาพลักษณ์เสียมาถึงวิทยุขนาดเล็ก

"ตอนนี้ 7,000 กว่าสถานี มีวิทยุชุมชนจริงๆ คือ ไม่มีโฆษณา ไม่เกิน 100 สถานี" 

วิชาญบอกว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัย กทช.ชุดเดิม วิทยุขนาดเล็กไปลงทะเบียนมาสามรอบแล้ว ทุก 300 วันจนคนที่เคยไปยื่นเอกสารก็เริ่มเบื่อ เพราะ กสทช.ไม่ยอมทำอะไร

เขาบอกว่า ต่อมาเมื่อ กสทช. ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการ พ.ศ.2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2555 ซึ่งให้กลุ่มผู้ที่ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ ในลักษณะชั่วคราว กลุ่มผู้รับใบอนุญาตตามประกาศ กทช. และกลุ่มผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตตามประกาศ กทช. (เดิม) ทั่วประเทศ ยื่นขออนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภายใน 120 วัน ปรากฏว่าใกล้ปิดรับการพิจารณาแล้ว มีคนยื่นแค่ 1,000 กว่าสถานี กสทช.จึงจูงใจด้วยการจะพิจารณาให้เร็วขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่ามีการให้ใบอนุญาตทดลองออกอากาศฯ ไป 515 สถานี พบว่า ใน 44 สถานีที่ได้ไป มีไม่เกิน 10 แห่งที่เป็นวิทยุชุมชนจริงๆ ที่เหลือ เป็นกลุ่มธุรกิจที่หนีค่าธรรมเนียม

ประกาศดังกล่าวแบ่งวิทยุชุมชนออกเป็นสามกลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มวิทยุชุมชน ซึ่งห้ามโฆษณา ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง วิจารณ์การเมืองได้ ค่าธรรมเนียม 500 บาท สอง บริการธุรกิจ โฆษณาได้ ต้องจดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ค่าธรรมเนียม 10,000 บาท สาม บริการสาธารณะ เป็นสมาคมนิติบุคคล ค่าธรรมเนียม 2,000 บาท

เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยคุยกับ กสทช. ว่าถ้าจะให้ใบอนุญาตกับวิทยุรายใหม่ นอกจากเอกสารแล้ว ควรต้องตรวจสอบกลับไปที่พื้นที่ด้วย  ซึ่งก็อาจทำให้ได้ใบอนุญาตช้า แต่จะแม่นยำขึ้น ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดที่สังคมมองวิทยุชุมชนทั้งหมดแบบเหมารวม วิทยุชุมชนถูกมองในแง่ลบ มองว่าปลุกปั่น โฆษณาชวนเชื่อ จะได้วิจารณ์ถูก ว่าจริงๆ แล้วเป็นวิทยุประเภทไหน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงออกมา แต่วิชาญมองว่า โดยเนื้อหาแล้ว ก็ไม่ต่างกันกับการได้สิทธิทดลองออกอากาศชั่วคราวที่เคยมีก่อนหน้านั้น โดยมองว่า นี่เป็นความต้องการมีผลงานของ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมา โดนวิจารณ์ว่าทำงานไม่คืบหน้า

ถามว่าการมอบใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงนั้น แตกต่างจากการทดลองออกอากาศเดิมอย่างไร วิชาญมองว่า ครั้งนี้เป็นการแยกประเภทว่าใครเป็นใคร และกำหนดกำลังส่งให้เท่ากัน 500 วัตต์ กำหนดให้ต้องเอาเครื่องไปเช็คใน 1 ปี แต่ก็ยังหวั่นว่าจะเป็นเหมือนเดิม คือไม่มีการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม วิชาญมองเห็นข้อดีอยู่บ้างว่า ในทางหลักการ การได้ใบอนุญาตทดลองออกอากาศ จะทำให้วิทยุขนาดเล็กด้วยกันมีสิทธิร้องเรียนได้ หากมีใครออกอากาศเกิน 20 กม.ตามที่ประกาศกำหนด ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยลดเรื่องกำลังส่งตีกันกับของวิทยุเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยัง สามารถของบสนับสนุนจากกองทุน กสทช.ได้ เพราะผู้ที่จะขอได้ ต้องได้ใบอนุญาตแล้วเท่านั้น

โดยสรุป โดยพฤตินัย ไม่มีอะไร ไม่มีการพัฒนาต่อ หรือกำกับดูแลจริงๆ ที่ผ่านมา พยายามเสนอการกำกับดูแลกันเองของแต่ละจังหวัด ให้ตรวจสอบดำเนินการกันเอง แต่ กสทช.ไม่เอา ส่วนของสหพันธ์ฯ ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 150 สถานี มีร่างจริยธรรมซึ่งเตรียมจะนำมาใช้ในอนาคตแล้ว

เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เสนอว่า หนึ่ง ต่อไปต้องมีการสนับสนุนวิทยุชุมชน สื่อชุมชน ให้มีการพัฒนา เพราะไม่ใช่สื่อธุรกิจที่จะปล่อยให้เกิดและดูแลตัวเอง ตามกฎหมายแล้ว สื่อชุมชนโฆษณาไม่ได้ หางบไม่ได้ ดังนั้น กสทช.จะต้องอุดหนุนจริงจัง ทั้งในด้านงบประมาณและความรู้

สื่อธุรกิจ ภาคธุรกิจดูแล สื่อของรัฐ รัฐหนุน ส่วนสื่อชุมชน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดสรร 20% ของคลื่นทั้งหมดให้สาธารณะ แต่ กสทช.ไม่ทำเลย และเมื่อกฎหมายก็ห้ามหารายได้ สื่อชุมชนจึงไม่พัฒนา 10 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า สื่อชุมชนอยู่ไม่ได้ โดยมีรายได้จากการระดมทุน 50% เท่านั้น ดังนั้น รัฐและ กสทช. ต้องหนุน

สอง ส่งเสริมให้สื่อชุมชนกำกับดูแลกันเอง ที่ผ่านมา กสทช.กับตำรวจ ร่วมมือกันไล่จับวิทยุชุมชน จะทำให้ไม่โต ไปซูฮก ทำตามบอกเหมือนสื่อของรัฐ ฉะนั้น ต้องให้สื่อชุมชนมีองค์กรกำกับกันเอง เหมือนที่สื่อหลักก็มีการรวมกลุ่มกัน มีจริยธรรมของตัวเอง ไม่ใช่เห็นว่าผิดก็ไปจับ

สาม ควรแบ่งประเภทสื่อขนาดเล็กให้เป็นจริง เพราะกังวลกันว่าใบอนุญาตที่ออกให้ไปตอนนี้ หากไม่ตามไปกำกับดูแล ก็จะผิดประเภทเหมือนเดิมอีก

ทั้งนี้ วิชาญย้ำด้วยว่า กฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ตอนนี้นั้นโอเคแล้ว แต่ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลต้องปฏิบัติตามระเบียบและเอาจริงด้วย ไม่ใช่ว่า มีโฆษณาเกินจริง กำลังส่งเกิน ก็ไม่ทำอะไร แต่มาเอาจริงในช่วงการเมือง เช่น ใครพูดไม่เข้าหูรัฐบาลก็จะโดนเล่นงาน สุดท้าย คนที่จะลำบากก็คือคนเล็กคนน้อย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท