Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง กว่า 400 คน ชุมนุมต่อเนื่อง วันที่ 3 หน้าโรงงาน ค้านบริษัทเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ชี้ต้องทำงานต่อวันมากขึ้นแม้มีวัดหยุดเพิ่มขึ้น ด้าน ตร. แจ้งให้ย้ายชี้ผิด พรบ.จราจร ผู้ชุมนุมยันปักหลังจนกว่านายจ้างเจรจา

4 มี.ค. 56 บริเวณหน้าสำนักงาใหญ่บริษัทเอ็นเอ็กซ์พีแมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์)จำกัด แยกหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ คนงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง กว่า 400 คน ชุมนุมต่อเนื่องบริเวณบาทวิถีและล้นลงผิวจราจร 1 ช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาปรับสภาพการจ้างงานระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงานไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทำให้ตัวแทนสหภาพแรงงานใช้สิทธินัดหยุดงานและฝ่ายนายจ้างใช้สิทธิปิดงานตาม พรบ. แรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

โดยเมื่อเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องได้นำประกาศแจ้งให้คนงานกลุ่มนี้ขนย้ายคนและสิ่งของออกจากที่ชุมนุม ภายใน 17.00 น. ของวันที่ 4 มี.ค. โดยระบุว่าการกระทำของคนงานเหล่านี้เป็น ผิดพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 109, 114 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 โดยในประกาศระบุด้วยว่าการกระทำของคนงานกลุ่มนี้ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในถนนแจ้งวัฒนะและต่อเนื่องไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

ประกาศเตือนที่ ตำรวจนำมาปิด และนำออกไปแล้ว

อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมยังคงยืนยันที่จะปักหลังชุมนุมบริเวณเดิม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการจราจรให้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจราจรบริเวณดังกล่าวยังคงเคลื่อนตัวได้ และล่าสุดเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำประกาศดังกล่าออกไปแล้ว

สภาพการจราจรบริเวณที่ชุมนุม 17.30 น. ซึ่งรถยังคงสามารถเคลื่อนตัวได้

นายวัลลภ ชูจิตร์ ประธานสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าวถึงสาเหตุที่มาชุมนุมว่าเกิดจากกรณีที่นายจ้างปิดงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน เรื่องรูปแบบการทำงาน ที่นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนสภาพการจ้างจากทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน เป็น ทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน ซึ่งสหภาพแรงงานได้คัดค้าน เนื่องจากการทำงาน 4 วันนั้นต้องทำวันละ 12 ชั่วโมง

ประธานสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พีฯ กล่าวถึงการชุมนุมบริเวณดังกล่าวว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เวลา 23.00 น. เนื่องจากนายจ้างเริ่มปิดงาน จึงเริ่มชุมนุม และในวันที่ 27 และ 28 ก.พ. นายจ้างก็มีการคัดคนว่ามีใครยอมรับระบบการทำงานแบบใหม่หรือไม่ หากยอมรับก็จัดให้ลงชื่อรับเงื่อนไขสละข้อเรียกร้อง หากใครไม่ยอมก็ให้ออกจากนอกพื้นที่เลย ซึ่งบางคนถูกให้ออกมาในยามวิกาลประมาณตี 1 ตี 2 โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เพราะสวนใหญ่คนงานที่นี่เป็นคนงานหญิงและเป็นลูกจ้างรายวัน ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เวลากลาคืนจะที่เปลี่ยว

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องในวันที่ 25 ก.ย. 55 และทางบริษัทยื่นข้อเรียกร้องปรับรูปแบบการทำงานดังกล่าวสวนกลับมาในวันที่ 16 ต.ค. 55 โดยที่ผ่านมามีการเจรจา 2 ฝ่าย ระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงาน 5 ครั้ง ไกล่เกลี่ยแบบไตรภาคี 13 ครั้ง รวมทั้งหมด 18 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบการทำงาน เนื่องจากระบบการทำงานใหม่นี้จะเสมือนบังคับการทำงานล่วงเวลาเรา เพราะ ทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน  ต้องทำวันละ 12 ชั่วโมง แต่ระบบเดิมทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน นั้นทำวันละ 8 ชั่วโมง เพราะทำให้คนงานรายวันจำเป็นต้องทำล่วงเวลาเพื่อชดเชยวันหยุดที่เพิ่มขึ้นมา เพราะต่อเดือนจะได้ค่าจ้างที่น้อยลง

นอกจากนี้ การที่คนงานหยุดไม่ตรงกันนั้นก็จะส่งผลต่อการจัดกิจกรรมสหภาพแรงงานและครอบครัวด้วย เพราะจากระบบเดิมที่จะมีการหยุดวันอาทิตย์ จึงมีเวลาให้กับครอบครัวในวันอาทิตย์ แต่ระบบใหม่มันจะตรงบ้างไม่ตรงบ้างและในแต่ละวันที่เวลาทำงานเพิ่มขึ้นทำให้เวลาในครอบครัวลดลง

โดยประธานสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พีฯ กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทแรงงานพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาโดยตลอด แต่ถึงที่สุดนายจ้างไม่ไกล่เกลี่ยหรือเจรจากับเรา ดังนั้นพวกตนจึงยังคงชุมนุมต่อเนื่องจนกว่านายจ้างจะยอมเจรจา โดยขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อเจรจา

สำหรับสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง เป็นสหภาพที่คนงานทำงานอยู่ในบริษัทเอ็นเอ็กพี เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย)  จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับผลิตให้กับลูกค้ายี่ห้อดังหลายยี่ห้อ ทั้งโทรศัพท์มือถือ ทีวี โทรทัศน์ เครื่องเสียง รวมถึงรถยนต์ สหภาพฯ เป็นสหภาพระดับผู้ปฏิบัติการ มีสมาชิก 2,522 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานแบบรายวันกว่า 2,000 คน ที่เหลือเป็นรายเดือน อายุคนงานเฉลี่ย 30 ปี ส่วนอายุงานเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี ส่วนมากเป็นคนงานหญิง

ภาพบรรยากาศที่ชุมนุม :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net