Skip to main content
sharethis

'กสทช.' แง้มราคาตั้งต้นประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ช่อง HD สูงสุดที่ 1,000-3,000 ล้านบาทต่อช่อง ด้าน 'สุภิญญา' แนะช่อง 5 เพิ่มรายการสาระ ช่อง 11 เพิ่มพื้นที่ฝ่ายค้าน หากต้องการเป็นช่องสาธารณะ


(6 มี.ค.56) ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ราคาตั้งต้นในการประมูลใบอนุญาต หรือ ไลเซนส์ ทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง ซึ่งจะมีอายุ 15 ปี แบ่งเป็นช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) จะเริ่มที่ 1,000-3,000 ล้านบาทต่อช่อง ช่องคุณภาพทั่วไป (SD) จะเริ่มที่ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อช่อง และช่องรายการเด็ก เริ่มที่ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อช่อง 

ทั้งนี้ ธวัชชัย กล่าวว่า ราคาตั้งต้นดังกล่าว อยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ คือ หนึ่ง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry rule) ซึ่งตอนนั้นเขียนขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดกรณีจอดำ-บอลยูโร ซึ่งทีมศึกษาฯ ตีความว่า จะต้องออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาประมูลต่ำ และ สอง การกำหนดเพดานให้ผู้ประกอบการถือครองไม่เกิน 2 ช่อง ซึ่งหากเงื่อนไขเหล่านี้เปลี่ยน เช่น ไม่ต้องออกอากาศทุกช่อง หรือให้ถือครองได้ 3 ช่อง ก็จะทำให้ราคาตั้งต้นประมูลสูงขึ้น ทั้งนี้ จะนำผลการศึกษาดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันจันทร์หน้า (11 มี.ค.)

ก่อนหน้านี้ (4 มี.ค.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ได้แถลงถึงมติบอร์ด กสท. เรื่องการพิจารณากรณีการออกอากาศคู่ขนานของช่องโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก ซึ่งจะเป็นแนวนโยบายที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล โดยระบุว่า เนื่องจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบอนาล็อกเดิมเป็นของหน่วยงานของรัฐและคู่สัญญาสัมปทาน กสท.จะต้องคำนึงถึงกระบวนการออกอากาศคู่ขนานเป็นกรณีๆ ไป เพื่อมิให้ขัดต่อกฎหมาย โดยจะแบ่งเป็นสองกรณีคือ 1.ช่องรายการระบบอนาล็อกเดิมที่อาจจะเป็นกิจการประเภทบริการสาธารณะในอนาคต เช่น ททบ. 5 สทท. 11 หรือไทยพีบีเอส กสท.มีมติให้ออกอากาศคู่ขนานในสัดส่วนช่องรายการกิจการบริการสาธารณะ โดยการออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิทัลนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อก 2.ช่องรายการระบบอนาล็อกเดิมที่อาจจะเป็นกิจการประเภทบริการธุรกิจในอนาคต เช่น ช่อง 3 ช่อง ททบ.7 หรือ ช่อง 9 อสมท. กสท.มีมติให้ใช้คลื่นความถี่ที่จัดไว้สำหรับกิจการบริการชุมชน โดยกำหนดให้ยุติการออกอากาศคู่ขนานเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และเริ่มออกอากาศช่องบริการธุรกิจ


สุภิญญา แนะช่อง 5 ช่อง 11 ต้องปรับตัว หากต้องการเป็นช่องสาธารณะ
สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. และ กสท. กล่าวว่า ขณะนี้ บอร์ด กสท. ยังไม่มีมติว่าฟรีทีวีที่มีอยู่ ช่องไหนจะเป็นช่องบริการธุรกิจหรือช่องบริการสาธารณะ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า จะยอมให้เป็นช่องบริการสาธารณะได้ ช่อง 5 และช่อง 11 จะต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่บอกว่าเกี่ยวกับความมั่นคง โดยส่วนตัวเสนอว่า ช่อง 5 อาจต้องปรับผังรายการ ให้มีรายการสาระ 70% และแสดงให้เห็นว่าการหารายได้ของช่องจะต่างจากช่องบริการธุรกิจอย่างไร ขณะที่ช่อง 11 ก็อาจต้องปรับผังรายการ โดยเพิ่มพื้นที่ให้ฝ่ายค้าน 30-50% แต่หากไม่มีการปรับตัวเลย ก็คงยากจะให้ได้ เพราะจะขัดกับหลักการและความเป็นจริง

สุภิญญา กล่าวต่อว่า สำหรับช่องบริการสาธารณะที่จะมีการยื่นขอจัดสรรใบอนุญาต (Beauty Contest) จะเสนอให้มีการวางหลักเกณฑ์ที่ละเอียดขึ้นในการประชุมบอร์ดจันทร์หน้า เช่น กำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของ โมเดลรายได้ เป็นต้น โดยวันศุกร์ที่จะถึงนี้จะเปิดเวทีเพื่อระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ คาดว่าหากมีการวางหลักเกณฑ์ก็น่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่สาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net