Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฮูโก ชาเวซ ซึ่งพึ่งเสียชีวิตไป ประกาศตัวเป็น “นักสังคมนิยม” แต่เราต้องประเมินว่าเขาสร้างพรรค และสามารถปลุกระดมให้ประชาชนยึดอำนาจเพื่อปกครองตนเองและเป็นใหญ่ในแผ่นดินแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นผู้นำที่ให้ความหวังมากมายกับคนจนในลาตินอเมริกาและที่อื่น

ต้นกำเนิดของรัฐบาล ฮูโก ชาเวส
เวเนซุเอลา เป็นประเทศในลาตินอเมริกาที่ร่ำรวยเพราะมีน้ำมัน แต่ในอดีต ผลประโยชน์ตกอยู่กับอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนไม่กี่คน โดยมีการเอาใจกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจน้ำมัน ซึ่งได้ส่วนแบ่งบ้าง รัฐวิสาหกิจน้ำมันนี้เดิมเสมือน “รัฐอิสระ” ที่ให้ประโยชน์กับคนส่วนน้อย โดยเกือบจะไม่จ่ายเงินเข้าคลังของรัฐเลย นอกจากนี้มีการ “จัดการ” ระบบเลือกตั้งให้พรรคของพวกอภิสิทธิ์ชนชนะเสมอ และสื่อทั้งหมดอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนผู้มีอำนาจอีกด้วย ผลคือ ประชาชนที่เหลือยากจนและอาศัยอยู่ในสลัม

พอถึงปี ค.ศ.1989 ประชาชนทนไม่ไหว มีการลุกฮือครั้งใหญ่ในเมืองหลวงคาราคัส เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งเหตุการณ์นี้เรียกว่า “การลุกฮือ คาราคาโซ (Caracazo)” ปรากฏว่า รัฐบาลอำมาตย์ฆ่าประชาชนตาย 2,000 คนเพื่อปราบปรามอย่างเลือดเย็น

ฮูโก ชาเวซ เป็นสมาชิกกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ไม่พอใจกับระบบการปกครองของอำมาตย์ พวกเขาต้องการพัฒนาสังคมและำรายได้จากน้ำมันมาสร้างความเป็นธรรม เขามองด้วยว่า จักรวรรดินิยมสหรัฐมีอิทธิพลในประเทศเขามากเกินไป ในปี 1992 ชาเวซจึงพยายามทำรัฐประหารล้มรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ เลยติดคุกสองปี แต่ประชาชนที่เจ็บปวดจากการปราบปรามของรัฐบาลในปี 1989 หันมาสนใจชาเวซ

ในปี1998 ชาเวซลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และชนะด้วย 58% ของคะแนนทั้งหมด หนึ่งปีหลังจากนั้น เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีกลไกตรวจสอบนักการเมือง มีการเพิ่มงบประมาณรัฐให้โรงเรียนและลดบทบาทสถาบันศาสนาคริสต์ที่เคยสนับสนุนอำมาตย์ สตรีมีสิทธิเลือกทำแท้ง มีมาตราเพื่อปฏิรูปสื่อและปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมัน ปรากฏว่า 71% ของประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้

ต่อมาในปี 2000 ชาเวซ ชนะการเลือกตั้งอีกรอบด้วยคะแนน 59% คราวนี้มีการออกกฎหมายเพื่อบังคับเพิ่มเงินที่บริษัทน้ำมันต้องจ่ายให้รัฐ และมีการนำเงินนี้มาเพิ่มงบประมาณการศึกษาและสาธารณสุขสำหรับประชาชน รวมถึงมีการปฏิรูปที่ดินด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2002 ทหารฝ่ายขวาทำรัฐประหารโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ และชาเวซถูกจับเข้าคุก ไม่มีใครในกองทัพช่วย แม้แต่เพื่อนเก่าก็ไม่ทำอะไร แต่เมื่อประชาชนคนจนออกมาต่อต้านเผด็จการบนท้องถนนเป็นแสน รัฐประหารฝ่ายขวาก็ล้มเหลว และชาเวซถูกปล่อยตัว จึงกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง เราจะเห็นได้ชัดว่าพลังมวลชนเป็นพลังชี้ขาด

ในปี 2004 ชาเวซจัดให้มีประชามติเพื่อดูว่า ประชาชนอยากให้เขาดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระหรือไม่ ตามกติกาใหม่ที่เขาเคยเสนอเพื่อให้ประธานาธิบดีต้องฟังเสียงประชาชน ชาเวซชนะด้วยเสียง 58.3% และในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2006 ก็ชนะอีกด้วยเสียง 62% ล่าสุดชาเวซชนะการเลือกตั้งในปี 2012 ด้วยคะแนน 55%

ปัญหาของรัฐ
ปัญหาใหญ่สำหรับชาเวซ และประชาชนเวเนซูเอลาคือ ถึงแม้ว่าชาเวซจะได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นคนจน และมวลชนพร้อมจะออกมาปกป้องเขา แต่โครงสร้างรัฐอำมาตย์เก่ายังอยู่ และพยายามทุกวิธีที่จะคัดค้านนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้นายทุนฝ่ายค้านก็คุมสื่อส่วนใหญ่นอกจากสื่อของรัฐบาลเอง และมีการประโคมข่าวเท็จด่ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ในระดับหนึ่ง ชาเวซพยายามสร้างรัฐใหม่คู่ขนานกับรัฐเก่า เช่น มีการสร้างสภาชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนรากหญ้า มีธนาคารชุมชนเพื่อเน้นการลงทุนสำหรับคนจน มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่สนับสนุนอำมาตย์ และในบางสถานที่มีการทดลองให้กรรมกรคุมการผลิตเอง ทั้งหมดนี้เพื่อจะลดการพึ่งพาอาศัยข้าราชการและกลุ่มอำนาจเก่า แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รื้อถอนรัฐเก่าอย่างเป็นระบบเลย

ยิ่งกว่านั้น ชาเวซมองว่า เผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ของคิวบา เป็นแม่แบบในการสร้างสังคมใหม่ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่า ชาเวซจะเน้นการนำพรรคพวกของเขาเข้าไปเป็นข้าราชการในโครงสร้างรัฐเก่า แทนที่จะเน้นพลังมวลชนในการรื้อถอนทำลายรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ และข้าราชการหลายคนของชาเวซกลายเป็นคนโกงกินที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ ช่วงนี้ ชาเวซ สร้างพรรคสังคมนิยมของตนเองขึ้นมา และกลายเป็นพรรคมวลชน แต่คำถามสำคัญคือ ชาเวซสร้างพรรคนี้เพื่อผลักดันการปฏิวัติมวลชน หรือเพื่อควบคุมมวลชนกันแน่?

การทำการปฏิวัติสังคมแค่ครึ่งทาง โดยไม่ทำลายรัฐเก่า และไม่ยึดปัจจัยการผลิตทั้งหมดจากนายทุนเพื่อให้ประชาชนบริหารเองมีปัญหามากและอันตราย  เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจเต็มที่ในการบริหารประเทศ และไม่สามารถพัฒนาสภาพชีวิตของคนจนได้ตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้การแปรรูปสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้มีการบริหารเองโดยคนงาน ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ผ่านการออกกฏหมายอย่างเดียว ต้องมีการปลุกระดมมวลชนให้กระตือรือร้น และต้องมีการยึดสถานที่ทำงานโดยมวลชนกรรมาชีพเอง ผลของการทำการปฏิวัติครึ่งทางคือ เริ่มมีคนจนที่ผิดหวังกับผลงานของชาเวซ และในเดือนธันวาคม 2007 ชาเวซแพ้ประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ก้าวหน้ามากขึ้น อันนี้น่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัย

ชาเวซประกาศว่า ตนเองเป็นผู้นำที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ในการต่อต้านจักรวรรดินิยม เขาไปจับมือกับเผด็จการในคิวบาและอิหร่านซึ่งเกลียดสหรัฐ และเคยชมกาดาฟี่ในลิเบียอีกด้วย แต่ถ้าจะมีการปลดแอกประชาชนภายใน เวเนซูเอลา ก็ต้องสนับสนุนประชาชนที่กำลังสู้กับเผด็จการทั่วโลก

ฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มในเวเนซูเอลา เช่น กลุ่ม “ต่อสู้ชนชั้น” และกลุ่ม Por Nuestras Luchas (กลุ่ม “โดยการต่อสู้ของเราเอง”) เสนอว่า ต้องมีการปลุกระดมมวลชนชั้นล่าง กรรมกร เกษตรกร และคนพื้นเมือง เพื่อปฏิวัติอย่างถาวร และเขามองว่าต้องปฏิวัติภายในกระแสที่สนับสนุนชาเวซ

หลังจากที่ชาเวซจากโลกนี้ไป เครื่องชี้วัดว่า เขาเปลี่ยนสังคมเวเนซูเอลาได้อย่างจริงจังหรือไม่ คือความสามารถของมวลชนและพรรคสังคมนิยมที่จะนำการเมืองต่อไป และสร้างสังคมใหม่โดยไม่พึ่งพาวีรบุรุษคนเดียว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net