Skip to main content
sharethis

สถาบันการสื่อสารระหว่างประเทศ (IIC) เปิดสาขาในไทย เชื่อไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำ แต่ยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบาย-บาง กม.ที่ต่างกับประเทศอื่นมากไป ส่งผลคนลงทุนลำบากขึ้น

(6 มี.ค.56)  ในงาน Digital Agenda Thailand ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันระหว่างสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการ ค้าไทย สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ และ บริษัท แอ๊บโซลูท คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ อีเวนท์ส (ACE) มีการเปิดตัว Thailand Chapter ของสถาบันการสื่อสารระหว่างประเทศ (International Institute of Communications: IIC) ซึ่ง Thailand Chapter จะเป็นสาขาของ IIC ลำดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากสิงคโปร์ และเป็นลำดับที่ 3 ในทวีปเอเชีย

สำหรับ IIC ก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2512 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเป็นเวทีที่พูดถึงนโยบายระดับโลกเพื่อให้สมาชิกมีโอกาสได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศต่างๆที่กำลังมีความสำคัญ และทราบถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายตามปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผ่านการประชุมประจำปีของสถาบัน เวทีประชุมของหน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศ และเวทีที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมสื่อ

แอนเดีย มิลล์วูด ฮาร์เกรฟ ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ IIC กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเปิดสาขาในประเทศไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพจะเป็นผู้นำ โดยมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน มีการใช้สื่อหลายแพลตฟอร์ม มีโครงสร้างการกำกับดูแลที่ทันสมัยอย่าง กสทช. เรียกว่ามีสภาพที่ไม่ใช่แค่มีพลวัต (dynamic) แต่เป็นการระเบิดออก (explode) อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบาย ซึ่งหวังว่าจะได้นำมุมมองจากประเทศต่างๆ มาแลกเปลี่ยน

เมื่อถามถึงอุปสรรคของไทยต่อการเป็นผู้นำ เธอกล่าวว่า หากไทยสร้างอุปสรรคต่อการลงทุนมากเกินไป มีกฎหมายที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่นมากไป เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายหมิ่นประมาท ผู้ที่สนใจก็จะเข้ามาลงทุนได้ลำบากขึ้น ดังนั้น การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจและหาจุดตรงกลางร่วมกัน


เชื่อผู้บริโภคควบคุม 'สื่อเลือกข้าง' ได้
ด้านวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง "บทบาทของสื่อมวลชนในประเทศไทย" ว่า ขณะนี้ บทบาทของสื่อนั้นเกี่ยวข้องกับคนไทยตลอด 24 ชั่วโมง เทียบกับสิบกว่าปีก่อนแล้ว การแข่งขันสูงขึ้นมาก ประชาชนบริโภคสื่อตลอดทั้งวัน ทั้งในรูปแบบภาพ เสียง ข้อความและทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างไรก็ตาม เมื่อการแข่งขันของธุรกิจสื่อสูงขึ้น ทำให้มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจส่งผลต่อการทำผิดจรรยาบรรณ อย่างไรก็ตาม มองว่าสื่อไทยมีองค์กรตรวจสอบกันเอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับ

ส่วนประเด็นเรื่องการเลือกข้างของสื่อนั้น วรากร กล่าวว่า สื่อเป็นองค์กรสำคัญในการชี้นำสังคมพอสมควร แม้จะบอกว่าสังคมไทยคนมีการศึกษามากขึ้น สามารถใช้วิจารณญาณได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้บริโภคสื่ออาจไม่ได้ทบทวนข้อมูล หรือได้รับข้อมูลซ้ำๆ ส่งผลให้ได้รับข้อมูลแบบไม่ถูกต้องก็ได้ ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อจึงสำคัญ แต่เชื่อว่า สื่อในไทยยังมีกลุ่มที่มีความเป็นกลางมากกว่าที่ไม่เป็นกลาง หากสื่อทำหน้าที่อย่างไม่ตรงไปตรงมา เลือกข้างด้วยความรู้สึกอย่างไม่มีเหตุผลจะเป็นอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม สื่อเหล่านี้ก็จะถูกควบคุมโดยองค์กรต้นสังกัด และผู้บริโภคซึ่งจะปฏิเสธการรับสื่อนั้นโดยปริยาย หากผู้บริโภคเห็นว่าไม่ถูกต้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net