Skip to main content
sharethis

เวทีองค์กรอิสระจากมุม วิชา มหาคุณ ป.ป.ช., พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส-สตง., วัลลภา แวนวิลเลียนวาร์ด และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจ โดยธนาธรวิพากษ์ องค์กรอิสระของไทยเป็นอิสระจากประชาชน ชี้ตราบเท่าที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์เดิม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระกี่ชั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้

8 มีนาคม 2556 ร.ร. พลาซาแอทธินี ประชาไท ร่วมกับ โครงการสะพาน และ USAID จัดเสวนาหัวข้อ ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล  ร่วมเสวนาโดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช., พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ดำเนินรายการโดย รศ. นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าวว่าเมื่อพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องมองในแง่สากลว่าโลกต้องการอะไรและเราต้องเดินตามแนวทางอะไร และต่างประเทศมีความสนใจว่าประเทศไทยมีแนวโน้มดำเนินการกับคดีทุจริตอย่างไรบ้าง และจะดำเนินการอย่างไรกับภาคธุรกิจที่ทุจริต ทั้งนี้ในภาคธุรกิจอาจจะไม่ต้องการทุจริตคอร์รัปชั่นถ้าไม่มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยจนทำให้เกิดทุจริตคอร์รัปชั่น

กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้มีการประสานเครือข่ายทางศาสนา  เริ่มจากนักธุรกิจคาทอลิกที่จะไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นและรับสินบน เป็นกลุ่มที่กำลังดำเนินกระบวนการในกลุ่มของตัวเองอย่างแข็งขัน โดยใช้กลไกทางศาสนาและการศึกษา ภาคีองค์กรต่อต้านการทุจริตคณะหอการค้าไทย เริ่มมีการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งระดมความคิดกันว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องรับไม่ได้

นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มมุสลิมซึ่งไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ จากโพลล์ในประเทศไทยออกมาตลอดเวลาว่า “ไม่เป็นไรขอให้ได้ประโยชน์” ทำให้สังคมเสื่อมขนาดหนัก เพราะถ้าถามคำถามเดียวกันที่มาเลเซีย กว่า 80 เปอร์เซ็นต์บอกว่าแม้แต่คิดก็ผิดแล้ว เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานจากความเป็นมุสลิม ซึ่งก็ตรงกับที่ไปคุยกับจุฬาราชมนตรีที่เห็นด้วยกับแนวทางของป.ป.ช. การขับเคลื่อนผ่านองค์กรทางศาสนาจึงเริ่มดำเนินไปอย่างแข็งขัน แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือศาสนาพุทธเพราะมีองค์กรอยู่หลากหลายมาก

ศ.พิเศษ วิชา กล่าวต่อไปถึงวัฒนธรรมที่ผู้ให้สินบนมักจะถูกกันไว้เป็นพยานและรอดจากการดำเนินคดี โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อการทุจริตที่เกิดขึ้น โดยชี้ด้วยว่าภาพรวมของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาทั่วสโลกตระหนักถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยสหประชาชาติประเมินว่าเป็นมูลค่าความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในระบบแบบไทยและญี่ปุ่นก่อนการพัฒนาประเทศนั้นยึดโยงกับระบบอุปถัมภ์ ระบบที่ขึ้นกับเจ้านาย แต่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงได้เพราะถือหลักจริยธรรมเดียวกับฝรั่ง คือการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

การร่วมมือกันเพื่อแก้ไขจึงมีความสำคัญมาก ต้องคุยกันว่าปัญหารากเหง้าคืออะไร ไม่กี่วันก่อนนี้มีการไต่สวนองค์กรรัฐวิสาหกิจที่กินกันจนพรุนแล้ว ไม่เหลือซากแล้วจึงเลิกองค์กรนั้นไป ข้าราชการที่ถูกเชิญมาไต่สวนบอกว่าองค์กรนี้เลิกไปตั้งแต่ปี 2550 ทำไมจึงเพิ่งเรียกมาไต่สวน คำอธิบายก็คือนี่คือเทคนิคของการร้องเรียน กว่าจะมาร้องเรียนก็ล่าช้า การปราบปรามนั้นมีลักษณะของการทำตามหลัง สู้อย่างไรก็ไม่ชนะ กระบวนการในการป้องกันและการสร้างจิตสำนึกของคนจึงมีความสำคัญมาก  และต้องสร้างคนให้เข้มแข็งพอที่จะปฏิเสธ

กรรมการป.ป.ช. ย้ำว่า ในกระบวนการเพื่อความโปร่งใสนั้นกลุ่มธุรกิจมีความสำคัญมาก และชี้แนวทางให้ภาครัฐได้

 

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า สตง. นั้นเป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่องมาก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 แต่หลังจากนั้นได้ยกระดับสำนักงานขึ้น

ที่ปรึกษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ปัญหาที่ต่อเนื่องของวงราชการไทยก็คือเรื่องจัดซื้อจัดจ้างที่มีปัญหาซื้ออย่างไรก็ได้ ความทุกข์ยากของประชาชนคือเหยื่ออันโอชะของฝ่ายที่มีอำนาจที่มาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง

เขากล่าวด้วยว่าเมื่อเร็วๆ นี้สตง. ส่งจดหมายไปแจ้งฝ่ายบริหารว่าสตง.ได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าโครงการหลายๆ โครงการมีเงินทอน 30, 5 และ 15 ในแต่ละขั้นตอน รวม 55 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นหักกำไรของฝ่ายธุรกิจที่ดีลกับหน่วยงานรัฐประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของที่ถึงมือหน่วยนงานรัฐก็มีคุณค่าเหลือเพียง 20-30 จากเงินที่จ่ายไป 100 บาท เป็นวงจรอุบาทว์ และทำให้ต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันและปราบปราม และมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น ทั้ง สตง. ป.ป.ช. แล้วก็มี ป.ป.ท. ขึ้น

ที่ปรึกษา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ทางสตง.พยายามหาทางออกโดยการแก้ปัญหาหวังว่าเรื่องทุจริตที่ตรวจพบจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่จะใช้เวลารวดเร็วพอสมควร แต่ก็มีขั้นตอนทางกฎหมาย และมีภาระในการนำสืบพิสูจน์อย่างมากมาย ขณะที่สตง. ก็ไม่มีฐานะมีอำนาจเหมือนฝ่ายบริหารที่จะไปยับยั้งความเสียหายที่อาจจะมีได้ กว่าจะดำเนินคดีก็มีความเสียหายต่อเนื่องอีกมาก

ในส่วนของภาคเอกชนนั้นข้อเท็จจริงคือหน่วยงานภาครัฐเป็นองค์กรบริโภคใหญ่ที่สุด งบประมาณเป็นล้านล้านบาทต่อปีและส่วนใหญ่ของงบประมาณเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และถ้าใครอยากได้งานโดยไม่คำนึงถึงธรรมภิบาลหรือจริยธรรมก็ทำได้ทุกรูปแบบขอเพียงให้ต่อติดกับฝ่ายผู้มีอำนาจ เอกชนที่หากินสุจริตก็จะหมดโอกาสนำไปสู่การผูกขาดตัดตอน

ที่ปรึกษาผู้ว่าการ สตง. กล่าวแสดงความหวังว่าจะได้ความร่วมมือจากภาคเอกชนที่อยู่ในปัญหาและรู้ปัญหา รวมถึงความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ เช่น ระบบเรดาร์ ระบบดาวเทียม โดยช่วยจะให้ข้อมูลและเบาะแส

นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินที่ขาดประสิทธิภาพประสิทธิผล มีสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช่ประโยชน์รวมแล้วสองพันกว่าล้าน ปีที่ผ่านมามีการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินศัตรูพืชในจังหวัดภาคอิสาน 18 ครั้ง โดยใช้งบประมาณแก้ภัยพิบัติครั้งละ 50 ล้านบาท ผลจากการตรวจสอบพบว่ายากำจัดศัตรูพืชเป็นสินค้าควบคุม มีการทุจริตจัดซื้อยากำจัดศัตรูพืช จากงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท และเรื่องนี้หากจัดการได้เร็ว ภาคเอกชนก็จะได้ประโยชน์จากการไม่มีการกีดกันทางการค้า หรือฮั้วงานกัน

ที่ปรึกษาผู้ว่าการ สตง. ย้ำว่าภาคเอกชนจะรู้ปัญหาดีกว่าภาครัฐและองค์กรตรวจสอบ เพราะอยู่กับข้อมูลและข้อเท็จจริงโดยตรง และควรอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับ ปปช. และสตง. ที่จะให้ข้อมูและเบาะแส ในส่วนของภาครัฐนั้น ค่าใช้จ่ายภาครัฐมีจำกัดในการดำเนินการตรวจสอบ อีกส่วนคือคนที่ให้ข้อมูลเบาะแสที่เป็นชาวบ้านที่เห็นความไม่ชอบมาพากล และเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียผลประโยชน์ที่มาอย่างล่าช้า เพราะกลัวอิทธิพล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการติดตามข้อมูล เนื่องจากบางกรณีล่าช้าเกินไปที่จะหาหลักฐาน ดังนั้นภาคเอกชนที่อยู่ใกล้ชิดข้อมูลควรจะช่วยเหลือตัวเองในการบอกความจริงต่อหน่วยงานตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม มีความสุ่มเสี่ยงต่อการฟ้องร้องเช่นกัน

“บ้านเมืองนี้ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะมีคนมาจัดระเบียบ แล้วบางทีเป็นระเบียบแบบไทยๆ” นายพิศิษฐ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าฎหมายของไทยระบุว่า การทุจริตมีโทษถึงประหารชีวิตแต่กลับไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เขาย้ำทัศนะส่วนตัวว่า ควรประหารชีวิตผู้ที่มีโทษฐานทุจริตอย่างเป็นจริงเป็นจัง

 

วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด กล่าวว่านอกเหนือจากเรื่องคอร์รัปชั่นแล้ว ความโปร่งใสยังเชื่อมโยงถึงความไม่ชอบธรรมของทิศทางการพัฒนา การผลักดันธุรกิจด้วยจีดีพีที่บำรุงโภคทรัพย์ของคนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น

วัลลภาได้ยกแนวคิดเรื่อง ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Index) ที่ตั้งคำถามกับธรรมภิบาลของจีดีพี ที่ส่งผลต่อการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การใช้ทรัพยากรที่มีธรรมาภิบาล ในบางประเทศที่ใช้ GNH Index ห้ามธุรกิจเหมืองแร่ ป่าไม้เชิงพาณิชย์ หรือการท่องเที่ยวที่ไม่คำนึงถึงระบบนิเวศ และวัฒนธรรม

ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด กล่าวว่าต้องสร้างดัชนีใหม่ๆ มาเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาด้วย นอกเหนือจากประชาธิปไตยทางการเมืองแล้ว ต้องพิจารณาถึงประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อมด้วยว่าจะตั้งคำถามกับการลงทุนที่มีคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีในการเกษตรอันดับสี่ของโลก ซึ่งสะท้อนว่าไทยกำลังพัฒนาอย่างเบียดบังทรัพยากร

หากตลาดและสังคมคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมนั้นอาจจะนำมาซึ่งการประกอบการทางสังคมใหม่ๆ เราต้องบอกว่าเราเป็นเมืองมากเกินไม่ได้ ต้องให้เมืองกับชนบทมาจัดสัดส่วนกัน ถ้าเรามีความเชื่อมั่นและมีการควบคุมคุณภาพ กลไกการตลาดที่มีอยูในปัจจุบันต้องถูกตั้งคำถาม เรามีบริษัทอาหารที่ผลิตอาหารให้เรากินมีอยู่แค่ไม่เกิน 5 บริษัท ถ้าไม่ทำให้ระบบการผูกขาดอาหาร แล้วเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยจะอยู่ได้อย่างไร

ธุรกิจคิดแต่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัว (Private Property) ขณะที่ รัฐมองแต่เรื่องทรัพย์สินสาธารณะ (Public Property) แต่จะทำอย่างไรให้เกิดทรัพย์สินร่วม (Common Property) จะทำอย่างไรให้เกิดการเกษตรที่เป็นพลังชุมชน ไม่ใช่เกษตรที่รัฐจัดการหรือธุรกิจเกษตร มองผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าประโยชน์ระยะสั้น

“เรามองจากภาคประกอบการทางสังคม และการสร้างวิธีคิดอิสระทางสังคม  และต้องการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่แค่การตรวจสอบด้วยกลไกทางกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องการการตรวจสอบจากมิติกระบวนทัศน์ใหม่ด้วย”

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท “ผมเห็นด้วยกับการสร้สางธรรมภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชนั่นเพราะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสังคมสมัยใหม่ แต่เราต้องพูดถึงบทบาทสถานะขององค์กรอิสระด้วย”

เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดเรื่องธรรมภิบาล กระแสธรรมภิบาลที่เข้าสู่เมืองไทยจริงๆ คือหลังวิกฤตปี 2540 มีการโปรโมตครั้งใหญ่ผ่านสองสามเรื่องคือ นักเลือกตั้งโกงกิน และคอร์รัปชั่นคือนักธุรกิจร่วมมือกันโกงกินกับราชการ เรากำลังไปกล่าวโทษความโลภทางธุรกิจ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังพูดเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดความคิดเรื่ององค์กรอิสระมากกว่ากลไกปกติ เพื่อจัดการกับความโลภ ความอยากที่ไม่สามารถเอาผิดได้ในกระบวนการกฎหมายปกติ

รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติให้มีองค์กรอิสระ 6 องค์กร ก่อนหน้าปี 2540 ไม่มีการพูดถึงองค์กรอิสระมาก่อน และสร้างความหวังว่านี่จะเป็นกลไกใหม่ เป็นความหวังที่จะสร้างให้ไทยสะอาดขึ้น แต่ว่าหลังจาก 15 ปีเราพบว่ามีปัญหาเรื่ององค์กรอิสระมากมาย

ปัญหาแรกสุดคือ องค์กรอิสระมีอำนาจที่ไม่ชัดเจน ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ  เช่น กกต.ที่รวบอำนาจทุกอย่างเกี่ยวกับการเลือกต้ง ทั้งออกระเบียบได้ ตรวจสอบไต่สวนได้ และจัดการการเลือกตั้งได้ คือมีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ในองค์กรเดียว

เรื่องต่อมาคือ องค์กรอิสระมีอำนาจเหนือรัฐที่มาจากการเลือกตั้งด้วย ยกตัวอย่าง ป.ป.ช. ไม่อยู่ในคำจำกัดความของหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร

ปัญหาต่อมาคือ การไม่ยึดโยงกับประชาชน  และเห็นได้ชัดมากขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 ยกตัวอย่าง  กกต. คณะกรรมการสรรหามาจากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองฯลฯ โดยสรุป 7 ตำแหน่งที่เป็นคณะกรรมการสรรหา มีเพียง 2 ตำแหน่งที่ยึดโยงกับประชาชนคือผู้นำฝ่ายค้านในสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นเป็นการยกคุณธรรมความดีงามมาแต่งตั้งองค์กรอิสระ เพราะเชื่อว่าประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนดี เมื่อไปดูกรรมการสรรหาในองค์กรอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันคือมีอัตราส่วนจากคนที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่า

ประเด็นต่อไปสำหรับองค์กรอิสระก็คือ การกลายเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายหนึ่ง ถูกทำให้เป็นการเมืองมาก (politicized) ยกตัวอย่าง กกต. ชุดที่มีพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน โดยมีกรณีที่กรรมการคนหนึ่งเสียชีวิต ซึ่งกรรมการคนนั้นเป็นโควตาแต่งตั้งของที่ประชุมศาลฎีกา แต่เพื่อดิสเครดิต กกต. ชุดนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาบอยคอต โดยไม่ตั้งกรรมการไปปฏิบัติหน้าที่แทน

“ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเรื่องสถาบันและสถานะขององค์กรอิสระ ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการจับผู้ร้าย ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการสร้างธรรมภิบาลในภาคธุรกิจและราชการ แต่ที่ผ่านมามีปัญหาในเชิงบทบาทสถาบันขององค์กรอิสระที่อยู่เหนือรัฐและเป็นอิสระจากประชาชนอยู่”

สำหรับประเด็นธรรมภิบาล ก่อนจะพูดเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนนิยมไทยที่เป็นประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนนิยมโดยรัฐ โดยเฉพาะอย่างยนิ่ง2475-2500 มีการก่อตั้งบริษัทของรัฐมากมายโดยวิธีการสะสมทุนของนายทุนในประเทศไทยคือการสะสมทุนโดยการหากินกับรัฐมาเนิ่นนาน ไม่ใช่เพิ่งมาเป็น และเป็นวิถีที่ต่างกับวิถีทุนนิยมตะวันตกอย่างมาก ซึ่งกรณีของทุนนิยมตะวันตกนั้นระบบพัฒนาด้วยเอกชน ด้วยการแข่งขัน ด้วยการเปิดเสรี

แต่ของไทยกลับถูกทำด้วยรัฐและนายทุนจำนวนหนึ่งซึ่งมีเครือข่าย มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐขณะนั้น เอาเข้าจริงทนนิยมไทยเพิ่งเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจหลังจากทศวรรษ 2530 มานี้เอง กล่าวคือ หลังจาก 2500 ที่จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจแต่ผู้เดียว ตามด้วยจอมพลถนอม ประภาส มีคนกลุ่มเดียวที่เป็นนายทุนในไทยได้ คือกลุ่มที่พึ่งพิงอาศัยกับนายทหารเหล่านี้

หลังจากมีการเลือกตั้งจึงเริ่มมีนายทุนหน้าใหม่ๆ ขึ้นมา คือเมื่อมีพรรคชาติไทยและพรรคอื่นๆ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยเพิ่งมาเปิดเมื่อยี่สิบปีมานี้เอง ดังนั้นรากฐานเรื่องการหากินกับรัฐไม่ใช่เพิ่งมาเป็น

“เอาเข้าจริงการพูดถึงเรื่องนี้ผมไม่คิดว่าเรื่องการทุจริตหรือธรรมาภิบาลเป็นเรื่องแปลกแม้แต่ในสังคมที่มีทุนนิยมก้าวหน้า สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอในวันนี้ เราพูดถึงเยอะเกี่ยวกับปัญหาองค์กรอินสระ แต่สิ่งที่ไม่พูดกันคือแนวคิดเบื้องหลังคือเรื่องการต่อสู้กับการทุจริตเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างความดีและความเลว-ซึ่งไม่ใช่ ทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องสามัญมากในทุนนิยม ดังนั้นวิธีที่จะทำให้การทุจริตในสังคมให้น้อยลงเรามีทางเลือกทางนโยบายอยู่สามสี่ข้อ”

หนึ่ง การเอารัฐออกจากตลาด เช่น การรถไฟ ฯลฯ วิธีนี้คือทำให้รัฐไม่มีอำนาจ ให้เอกชนเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจแทน แน่นอนคนที่ไม่เห็นด้วย หรือคนที่เป็นคอนเซอร์เวทีฟคิดว่าตลาดเลวร้ายกว่ารัฐ การเอาตลาดมาดำเนินการยิ่งทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ

สอง การกระจายอำนาจ ทำให้งบประมาณออกจากรัฐบาลกลางให้เยอะที่สุด ให้ลงไปที่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง โดยความเชื่อว่า เมื่องบเล็ก ท้องถิ่นใกล้ชิด มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเพราะการเมืองท้องถิ่นอาศัยความเชื่อถือ มีความสัมพันธ์มากกว่าการเมืองระดับชาติ แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่าจะทุจริตมากขึ้นเพราะคนจนในต่างจังหวัดโง่ เอาเงินมาฟาดหัวก็เสร็จแล้ว

“สิ่งที่อยากเสนอและคิดว่าสำคัญกว่าองค์กรอิสระ มากกว่าการเอาคนดีมาปกครององค์กรอิสระ คือการทำให้กระบวนการยุติธรรมปกติที่มีผลบังคับใช้จริงกับผู้ที่ทำการทุจริต เหตุผลคือกรรมการอิสระนั้น อิสระจากอะไร คำตอบคือ อิสระจากประชาชน สิ่งที่เราต้องการน้อยที่สุดคือองค์กรที่เป็นอิสระจากประชาชน เราต้องการองค์กรที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชน ต้องทำให้กลไกยุติธรรมปกติทำงานได้ ไม่ต้องพูดถึงคนดีคนเลว ถ้าคนที่มีอำนาจสูงสุดไม่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายปกติ ต่อให้คุณตั้งกรรมการอิสระ องค์กรอิสระของอิสระอีกกี่ชั้นก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำให้คนที่มีอำนาจอยู่ในรัฐธรรมนูญและที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญรับผิด คือไม่ว่าจะองค์กรแบบไหนก็ไม่สามาถจับบิ๊กเนมหรือคนที่มีภาษีทางสังคมสูงได้ และถ้าองค์กรยุติธรรมปกติทำไม่ได้ องค์กรอิสระก็ทำไม่ได้เพราะมันอยู่ในโครงสร้างอุปถัมภ์อันเดียวกัน ดังนั้นถ้าจะให้ผมเสนออะไรก็คือเสนอให้องค์กรยุติธรรมใช้งานได้จริง” ธนาธร กล่าวในที่สุด

ในช่วงท้าย วิชา มหาคุณกล่าวว่า องค์กรอิสระไม่ใช่เรื่องความดี หรือคนดี แต่เป็นเรื่องความโปร่งใส ความรับผิด ตรวจสอบได้ และประชาชนมีส่วนร่วม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net