Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพโดย
Vlad Nikitin (CC BY 2.0)

 

คำถามตกค้าง สำหรับการศึกษาสายสังคมที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางในสาขาวิชาต่างๆ เช่น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นมรดกของสมัยใหม่ เห็นจะเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นของการมี “รัฐ” และ “ชาตินิยม” เมื่อต้องตอบกันจริงๆ ว่า ยังจำเป็นต้องสร้างสำนึกรักชาติ หรือปกป้องชาติกันด้วยชีวิตอีกหรือไม่ ในยุคที่สงครามระหว่างรัฐไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กลับกันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและทลายพรมแดนระหว่างรัฐเป็นแนวโน้มที่ขยายไปทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

การตอบคำถามนี้ ผมขอกระทำโดยการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นต้นทางความคิดเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างรัฐสมัยใหม่ รวมไปถึงกระบวนการประกอบสร้างวัฒนธรรม “ชาตินิยม” โดยชนชั้นนำไทยได้นำเข้ามาดำเนินโครงการเรื่อยมาอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้บริบทของสหราชอาณาจักรที่กำลังจะผนวกรวมเข้ากับสหภาพยุโรปอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการเปรียบเทียบกับรัฐไทยที่พยายามจะเป็นหัวขบวนชิงความได้เปรียบเมื่อภูมิภาคอาเซียนรวมตัวกัน

หลังจากที่ผมได้เหยียบเข้ามาในแผ่นดินราชอาณาจักร สิ่งที่หลายๆ ท่านรวมถึงผมจะสัมผัสได้ไม่ยาก คือ ประเทศบริเตนใหญ่ เอาจริงเอาจังกับการจัดแสดงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของป้ายโฆษณาหลากหลายที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี รวมไปถึงการออกแบบแผนที่สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับมหานครลอนดอน การจัดวางรูปภาพสัญลักษณ์ของสถานที่สำคัญและจัดหมวดหมู่ประเภทกิจกรรมดีมาก

เมื่อตะวันตกดิน สถานที่ซึ่งดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลไปรวมกันไม่ขาดสาย เห็นจะเป็นบริเวณ “เลสเตอร์สแควร์” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ธุรกิจสำคัญต่างๆ รวมถึงย่านไชน่าทาวน์อันขึ้นชื่ออย่าง โซโห ร้านอาหารที่หลากหลายและรสชาติดี (เมื่อเทียบกับอาหารอื่นๆ ในอังกฤษ) ล้วนรวมกันอยู่ในบริเวณนี้ แต่สิ่งที่ดึงดูดสายตาของผู้คนได้ดีจนกลายเป็นจุดที่ต้องมาแวะถ่ายรูปและแชร์ขึ้นหน้าเฟซบุ๊ก เห็นจะไม่พ้นหน้าโรงละครต่างๆ ที่มีการจัดวางรูปปั้นหรือป้ายปิดขนาดใหญ่เชื้อเชิญให้เข้าชมมหรสพต่างๆ ที่รอแสดงอยู่ภายในโรงละครทั้งหลายที่แข่งกันดึงดูดผู้ชมด้วยสื่อจัดแสดงรูปแบบต่างๆ

แต่การแสดงที่บ่งบอกถึงความสามารถในการจัดแสดงได้ดีที่สุดของประเทศบริเตนใหญ่ เห็นจะเป็นพิธีเปิดและพิธีปิดมหกรรมกีฬา “โอลิมปิก 2012” ที่ได้มีการถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราว สื่อสาร สร้างอารมณ์ร่วม และแฝงไปด้วยความคิด สะท้อนตัวตนและความเป็นบริติชได้ดี อย่างที่การแสดงของโอลิมปิกครั้งก่อนๆ ยากจะเทียบ

ด้วยเหตุที่ต้องการพิสูจน์ว่าความสามารถในการจัดแสดงของสหราชอาณาจักรเป็นของจริงหรือไม่ เราจึงต้องลองเข้าไปชมละครและการแสดงต่างๆ ในโรงละครโดยเฉพาะในลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลาง (สหราชอาณาจักรมีลักษณะรวมศูนย์ในหลายแง่เหมือนกับไทย โดยเฉพาะในทางวัฒนธรรม) ก็พบว่า การแสดงทั้งหลายยอดเยี่ยมคุ้มค่ากับราคาที่สูงลิบ และผู้ชมก็คงไม่เสียดายค่าตั๋ว แม้เมื่อเทียบแล้วอาจจะแพงกว่าการเข้าไปชมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอยู่หลายเท่าก็ตาม

สิ่งที่ปรากฏแทรกซึมมาด้วยเป็นระยะ คือ งานศิลปวัฒนธรรมและการแสดงของชาวบริติช ล้วนแต่เชื่อมโยงหรืออาจจะถึงขั้นหมกมุ่นอยู่กับความเป็นชาติและชาวบริติชอันน่าภาคภูมิใจเสียยิ่ง ไม่พักต้องพูดถึงการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่เป็นศูนย์รวมความภาคภูมิใจของชาวบริติชผู้ยิ่งใหญ่ ล้วนมีการจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวอันสะท้อนจิตวิญญาณของผู้ชนะ (เช่น พิพิธภัณฑ์ Imperial War Museum) และสามารถครอบครองสารพัดสิ่งทั่วโลก ราวกับเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (แต่เป็นศูนย์กลางของโลกแน่ๆ - ถ้าไปเยี่ยมชม กรีนนิช ซึ่งแสดงจุดที่แบ่งโลกออกเป็น ซีกตะวันออก และตะวันตก ด้วยอำนาจของราชนาวี)

หากท่านเคลิบเคลิ้มไปกับการบอกเล่าของเขาก็เท่ากับตกเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าเจ้าผู้ครองโลก และอยากเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ทรงแสนยานุภาพและครองโลกไว้ใต้อุ้งมือ และมีวัฒนธรรมอังกฤษเป็นศูนย์กลาง (แม้กระทั่งชาวสก็อต ยังโดนเหยียดเย้ยหยันในบางครั้ง) นั่นคือ ประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะที่ชื่อ สหราชอาณาจักร “ชาตินิยม” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่เกรียงไกร สง่างาม และน่าพิสมัย

หากมองปัจจุบัน จะพบว่า ฟุตบอล English Premier League (EPL) กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่มีแฟนบอลทั่วโลกติดตาม และคาดหวังว่าจะมาเยือนที่สนามให้ได้สักครั้งในชีวิต (มาอยู่จริงจะพบว่า จองตั๋วยากมาก โดยเฉพาะทีมซึ่งเป็นที่รู้จักระดับโลก) จุดเด่นของ EPLไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามหรือแทคติกในการเล่น แต่อยู่ที่รูปแบบการนำเสนอ เช่น การตัดสลับ เน้นสีหน้า อารมณ์ ความรู้สึก การวิเคราะห์ระหว่างเกมส์ พักครึ่ง ก่อนเกมส์ หลังเกมส์ การฉายภาพซ้ำ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเหนือกว่าลีกอื่นในแง่การจัดแสดง และแน่นอนการแสดงชุดนี้มีมูลค่าทางตรงและทางการตลาดสูงลิ่ว แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้เล่นผู้จัดการมาจากนานาชาติ

อีกรายการที่ควรพูดถึง คือ The Voice UK 2012 ซึ่งจัดในช่วงงาน Queen Jubilee และโอลิมปิก และเผยแพร่ในช่อง BBC ที่พยายามหาความหลากหลายของเสียงและโชว์ รวมไปถึงสัดส่วนของโค้ชที่ประกอบไปด้วย ชาวอังกฤษ (เจสซี่ เจย์) ชาวไอริช (แดนนี่ แม็คคอนาฮิลล์) ชาวเวลช์ (เซอร์ทอม โจนส์) และชาวอเมริกัน (วิล ไอแอม) แต่ไม่มีชาวสก็อตติช ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะมี เจมส์บอนด์ เป็นสายลับเชื้อสายสก็อต ที่มาปกป้องสหราชอาณาจักรแทน (ตัวแทนสก็อตแลนด์ยาร์ด และกษัตริย์เชื้อสายสก็อตคนแรกที่ปกครองอังกฤษ ชื่อ “คิงเจมส์”) สิ่งที่สะท้อนในรายการก็คือ “บริติช” ประกอบไปด้วยความหลากหลาย แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือความสามารถในเชิงศิลปวัฒนธรรมขั้นสูง และทุกคนสามารถหลอมรวมเข้าสู่ธงยูเนี่ยนแจ็คได้ ผ่าน “ภาษาอังกฤษ” (ทุกเพลงในรายการเป็นภาษาอังกฤษ)

เมื่อผนวกกับคำแถลงการณ์ของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรที่ได้กล่าวในงานประชุมประจำปีของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้กล่าวว่า “เราจะสร้างให้ บริติช กลายเป็นแบรนด์ที่ชาวบริติชภูมิใจและเป็นที่ปรารถนาของคนทั้งโลก” ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการทั้งหลายได้สะท้อนออกมาผ่านการแสดงรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นแผนโครงการขนาดใหญ่ที่กระตุ้นเร้า “ชาตินิยม” เพื่อสร้างความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปกับสัญลักษณ์ “บริเตนใหญ่” จนผู้คนทั้งที่เป็นชาวบริติชหรือไม่ใช่ล้วนตื่นเต้นและพร้อมจะเสียเงินซื้อและเสพกันอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง เอาง่ายๆ ครับ แค่ถุงใส่สินค้าในร้านต่างๆ ถ้ามีรูปธงอยู่จะแพงขึ้นไปอีกเกือบปอนด์ เช่นเดียวกับของชำร่วยตราสัญลักษณ์ธงชาติที่มีอยู่ทั่วไป

ข้อพิสูจน์อีกประการ คือ ช่วงปลายปี 2012 มีการพยากรณ์และข้อมูลทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่า สหราชอาณาจักรจะพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยด้วยมหกรรมทั้งหลายที่มีในช่วงครึ่งปีแรก และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งการจับจ่ายของชาวบริติช และนักท่องเที่ยว (รวมถึงนักเรียนนานาชาติด้วย)

โครงการสร้าง “ชาตินิยม” นี้จึงเต็มไปด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คือ สร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น “ชาตินิยม” จึงต้องสร้างในลักษณะที่เปิดกว้าง ยอมให้มีความหลากหลายในความเป็นชาติ เพราะปัจจุบันผู้ที่อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ ที่รัฐบาลต้องการผนวกให้เข้ามาภูมิใจใช้ของบริติช กินของบริติช และยังพัฒนาไปถึงเปิดกว้างให้ชาวโลกทั้งหลายปรารถนาและเข้ามาใช้ได้ตราบใดที่ยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศส่วนใหญ่ซีกโลกตะวันตกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนักโดยเฉพาะประเทศในยุโรป การจัดเก็บภาษีเพื่อจัดทำบริการสาธารณะและนำไปจุนเจือเป็นสวัสดิการสังคมก็ทำได้ยากขึ้นทุกที และไม่ต้องพูดถึงการพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่สู้จีนไม่ได้แน่ๆ เมื่อดูการพัฒนาสินค้าในเชิงความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็สู้ อเมริกา ที่มีเสรีภาพทางความคิดด้วย First Amendment ไม่ได้อีกเช่นกัน สหราชอาณาจักรจึงต้องเลือกทางที่ถนัด คือ การขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงละคร “ชาตินิยม” นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ นักแสดงทั้งชาติต้องร่วมเล่นบทบาทไปด้วย คือ ร่วมกันสร้างชาติที่พึงปรารถนาให้ลูกค้าที่มีชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นพลเมืองในประเทศและคนที่มาจากภายนอกได้สัมผัสในชีวิตประจำวันอย่างรื่นรมย์ สมกับเป้าหมาย “บริติชอันน่าพิสมัยของทุกคน” การบ้าคลั่งชาติจนเหยียดผู้อื่น หรือการเหยียดเชื้อชาติวัฒนธรรมอื่น จึงกระทำไม่ได้และมีการกวดขันโดยใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการเข้มงวด ภาพลักษณ์นี้จึงทำให้กระบวนการสร้างชาตินิยมต้องเป็นไปอย่างคำนึงถึง “ความหลากหลาย” ทั้งภายในสังคมตน และความรู้สึกของคนนอก เป็นอย่างมาก

หากมองสังคมไทยว่าเรา “ชาตินิยม” กันอย่างไร คงหดหู่ใจ เพราะเราได้ทำตรงกันข้าม ไม่รู้ที่มาที่ไป และแย่ที่สุด คือ ไม่รับรู้ถึงผลกระทบของ “ชาตินิยมแบบบ้าคลั่ง” ที่คับแคบ หรือแม้กระทั่ง “ชาตินิยมไร้เดียงสา” ที่ไม่รู้ว่าการกำหนดนิยามที่ขีดกันผู้อื่นให้อยู่นอกเหนือนิยาม “ความรักชาติ” ของตน ได้ทำให้เกิดการแตกแยกและพาลไปถึง เบื่อหน่ายไม่ร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย?  และไม่ต้องพูดถึงความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านที่เราหวังว่าจะทำมาหากินกับเขาในอนาคตอันใกล้

ดังนั้นโครงการพัฒนาระยะใกล้สำหรับการสร้างความได้เปรียบเมื่อเกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน หรือการออกจากภาวะสงครามกลางเมืองทางวัฒนธรรมที่เรากำลังเผชิญร่วมกันทั้งชาติ เห็นจะไม่พ้นการปรับความเข้าใจร่วมกันของนักแสดงและเหล่าผู้กำกับการแสดงทั้งหลายในโรงละครชาติไทย ว่าเราจะเล่นละครใดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย “ความเป็นไทย” ที่คนในชาติและชาวโลกปรารถนา

บางท่านอาจจะกล่าวว่า แบรนด์ชาติไทย มันเสียหายและมองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องแย่ๆ แต่หากมองต้นทุนรัฐไทยอย่างตรงไปตรงมา มิใช่วิสัยทัศน์แนวโลกสวยก็จะพบว่าไทยยังมีศักยภาพอีกมาก เมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักร สิ่งที่ต้องทำคือ พลิกด้านดีขึ้นมากลบด้านลบ “Flip it” อย่างที่บริติชชนทำเก่งก็เท่านั้นเอง ไม่ยากเกินความสามารถหรอกครับ อยู่ที่ว่าจะรอให้ล้มละลายกันก่อน หรือจะทำตอนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net