Skip to main content
sharethis

อาร์วา ดามอน นักข่าวต่างประเทศอาวุโสของ CNN ได้นำเสนอรายงานเนื่องในวันสตรีสากล เรื่องบทบาทของผู้หญิงในการประท้วงของซีเรีย โดยขณะที่พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ในอีกทางหนึ่งก็ต้องสู้รบกับอคติทางเพศ การถูกควบคุม และต้องต่อสู้เพื่อพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงด้วย

8 มี.ค. 2013 สำนักข่าว CNN นำเสนอรายงานของอาร์วา ดามอน นักข่าวอาวุโสผู้ลงพื้นที่ไปทำข่าวการประท้วงของซีเรียตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปี 2011 และได้มีโอกาสพูดคุยกับสตรีผู้มีส่วนร่วมในการประท้วงหรือมีบทบาทในการช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ในรายงานเริ่มต้นกล่าวถึงแคเธอรีน อัล-ทาลลี ซึ่งพ่อของเธอเป็นนักกิจกรรมที่ถูกกักขังเป็นเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 1992 แคเธอรีนกล่าวถึงความยากลำบากในการพูดคุยกับสื่อเนื่องจากพวกเธอถูกจ้องมองอยู่ตลอดเวลา แม้แต่การสนทนาใน Skype ก็ต้องใช้แต่ตัวอักษร ไม่ใช้เสียง และต้องลบทิ้งทุกครั้งหลังพูดคุยเสร็จ

แคเธอรีนเป็นนักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมาย เธอเคยมีส่วนในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงดามาสกัสช่วงแรกๆ ในเดือนมี.ค. 2011 และถูกจับขังคุกเป็นเวลา 48 ชม. ในอีกสองเดือนถัดมา

แคเธอรีน เล่าว่ากลุ่มที่กุมขังพวกเขากระทำเหมือนผู้ต้องขังไม่ใช่มนุษย์ มีการบังคับให้ดื่มน้ำจากชักโครก และเรียกนักกิจกรรมผู้หญิงด้วยคำต่ำทราม หลังจากนั้นเธอก็ถูกปล่อยตัวออกมาเพราะว่าเธอเป็นนักกฎหมายที่มีคนรู้จักมาก แต่ก็ทำให้เธอต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ

อาร์วา เล่าว่าแคเธอรีนเป็นหนึ่งในสตรีที่เธอพบเจอในการประท้วงของซีเรียที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการประท้วง โดยแคเธอรีนมุ่งเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิโดยรัฐบาลซีเรียเพื่อเตรียมพยานหลักฐานสำหรับดำเนินคดีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐบาลในอนาคต

แคเธอรีนเล่าว่ามีครั้งหนึ่งที่กลุ่มนักกิจกรรมได้เปล่งคำขวัญเรียกร้องความกลมเกลียวในหมู่ประชาชน ความกลมเกลียวระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสเตียน แต่ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบก็กระโดดมาขวางหน้าและยิงใส่ผู้ประท้วง ทำให้เธอเห็นคนรอบข้างเธอถูกยิงต่อหน้า

หญิงชาวคริสเตียนที่ใช้นามแฝงว่ามาเรียก็เล่าว่าเธอเกือบตายขณะออกไปประท้วงจากการที่เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาและตามด้วยกระสุนเข้าใส่ผู้ชุมนุม

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นชาวมุสลิมและเป็นนักกฎหมาย เรียกตัวเองว่าซานา ผู้เคยถูกกักขังอยู่ช่วงหนึ่ง และเริ่มทำงานเบื้องหลังเพื่อช่วยเหลือให้นักกิจกรรมรายอื่นๆ ได้ออกจากคุก

อาร์วากล่าวว่าหากมองสถานการณ์ในซีเรียผ่านจากข้างนอกเช่นจากวิดีโอของยูทูบแล้วอาจดูเหมือนว่าผู้หญิงไม่ได้มีบทบาทมากเท่าผู้ชาย แต่สำหรับเธอแล้วผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากในสถานการณ์ของซีเรีย ผู้หญิงในซีเรียเริ่มมีความคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น ทั้งยังมาจากหลากหลายภูมิหลังและความเชื่อที่แตกต่างกัน


ผู้หญิงซีเรียกับงานเบื้องหลังการชุมนุม
อาร์วา เปิดเผยอีกว่าเธอได้พูดคุยกับผู้หญิงสามคนที่สวมชุดคลุมสีดำจากหัวจรดเท้าในย่านคาฟาร์โซเซห์ ที่พวกเธอไม่ยอมออกไปประท้วงบนท้องถนนเพราะกลัวว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่จะล่วงละเมิดทางเพศ และถึงแม้ว่าพวกเธอจะมาจากพื้นเพนิกายซุนนีอนุรักษ์นิยมแต่พวกเธอก็ยืนยันว่าไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองด้วยกฎหมายอิสลาม

"พวกเราอยากให้มีคนฟังเสียงของเรา ผู้หญิงต้องการเสรีภาพ นี่ก็เป็นซีเรียของพวกเราเช่นกัน" หญิงทั้ง 3 คนกล่าวพ้องกัน

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยพากันดรอปจากการเรียนและมาช่วยกันทำธงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและวาดหน้ากากให้กับพวกผู้ชายที่ออกไปประท้วง รวมถึงมีการสร้าง 'คลินิกใต้ดิน' เพื่อคอยปฐมพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการช่วยตามหาครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้ถูกกุมขังเพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน อาหาร หรือเครื่องนุ่งห่ม แก่พวกเขา


ความกล้าหาญและความกลัว
อาร์วา ยังได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอได้พบกับผู้บัญชาการฝ่ายกบฏนิกายซาลาฟีในเมืองอเล็ปโป ผู้แสดงความไม่พอใจและมีท่าทีดูถูกเมื่อทราบว่า หญิงอายุ 19 ปีที่ใช้นามว่าอายา ละทิ้งสามีเธอเพื่อมาเป็นอาสาสมัครในหน่วยแพทย์ของฝ่ายกบฏ

"เธอไม่อยากให้ประเทศซีเรียที่เธอต่อสู้เพื่อให้ได้มาต้องถูกปกครองโดยผู้ชายแบบเขา" อาร์วากล่าวในรายงาน

อายาเปิดเผยว่าสามีเธอเข้าร่วมกับกลุ่มกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (Free Syria Army) แต่เธอเป็นผู้หญิงจึงไม่สามารถร่วมรบได้ เธอจึงตัดสินใจมาที่นี่เพื่อช่วยเหลือผู้คน อายาบอกว่าตอนแรกๆ ที่เธอเห็นเลือดเธอรู้สึกกลัว แต่อะไรบางอย่างข้างในบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เธอควรทำต่อไป

อายามาจากครอบครัวนิกายซุนนีอนุรักษ์นิยมเช่นกัน เธอหวังว่าอนาคตของซีเรียจะเป็นประเทศที่มีทั้งศาสนาอิสลามและมีความเป็นประชาธิปไตย

"แต่ประชาธิปไตยก็ดีกว่า" อายากล่าว "พวกเราต้องการเสรีภาพ พวกเราต้องการประชาธิปไตย พวกเราอยากพูดในสิ่งที่เราต้องการ โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่า 'ทำไมถึงพูดแบบนี้' "

อาร์วายังได้เล่าถึงนักกิจกรรมสตรีหญิงแกร่งอีกคนหนึ่งในอเล็ปโปที่ใช้นามแฝงว่าซามา อาร์วาบรรยายถึงซามาว่าเธอสวมกางเกงยีนส์และรองเท้าบูทที่เต็มไปด้วยโคลน มัดผมหางม้าหลวมๆ ถือเครื่องคอมพิวเตอร์และสะพายกล้องคล้องคอไปมารอบห้องในโรงพยาบาลของกลุ่มกบฏ ซึ่งทำให้อาร์วารู้สึกแปลกใจเพราะเธอคุ้นเคยกับบทบาทของ "นักกิจกรรมด้านสื่อ" ในซีเรียที่มักเป็นผู้ชายมากกว่า

ในช่วงเริ่มแรกของการลุกฮือ ซามาเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยอเล็ปโป ซามามีความฝันอยากเป็นผู้สื่อข่าวเธอจึงเริ่มคว้ากล้องมาถ่ายรูปผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งซามาบอกว่าเธอไม่เคยปรับตัวให้คุ้นชินกับมันได้เลย

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ซามาอยู่ในเหตุการณ์ที่มีลูกปืนใหญ่ตกใส่กลุ่มประชาชนที่มารอรับขนมปัง เธอบอกว่าเธออยากวางกล้องลงแล้วร้องไห้

"แต่เมื่อคุณบอกกับตัวเองว่า มันมีสารที่คุณต้องสื่อออกไป แม้จะหนักหน่วงและทารุณ แต่คุณก็ต้องสื่อมันออกไป มันเป็นความรับผิดชอบของคุณ คุณอาจซึมเศร้าได้ แต่คุณต้องบังคับตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งให้ได้" ซามากล่าว


การลุกฮือที่ทำให้คนได้แลกเปลี่ยนแนวคิด
อาร์วาบอกว่าในโรงพยาบาลของฝ่ายกบฏที่เธอเข้าไปทำข่าวมีผู้คนจากหลากหลายภูมิหลัง ทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มคนที่กลางๆ กลุ่มศาสนาอิสลาม กลุ่มนิกายซาลาฟี และพวกเขาก็ถกเถียงกันเรื่องอนาคตของซีเรียเป็นประจำ และการลุกฮือที่เกิดขึ้นในซีเรียก็ทำให้กลุ่มคนที่ไม่เคยปฏิสัมพันธ์กันมาก่อนได้มาแลกเปลี่ยนแนวคิดกัน

"ฉันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติมาตั้งแต่ต้นแล้ว การปฏิวัติก็เป็นทางแบบหนึ่ง มันไม่ใช่ของกลุ่มอิสลามเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นของชาวซีเรียทุกคน และชาวซีเรียก็มาจากหลากหลายนิกาย" ซามากล่าว


การตระหนักในบทบาทของผู้หญิง
ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความรู้สึกเกิดขึ้นในหมู่นักกิจกรรมสตรีว่าควรมีการตระหนักถึงเรื่องการเสริมพลังให้กับผู้หญิงมากกว่าเดิม อาร์วา กล่าวว่าในความจริงแล้วผู้หญิงชาวซีเรียเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลแต่เรื่องนี้ถูกนำเสนอน้อยมาก

และแม้ว่าประเทศซีเรียจะมีผู้หญิงที่มีบทบาทในระดับสูงเช่นนักกฎหมาย นักการธนาคาร และนักการเมือง แต่โดยรวมแล้วผู้หญิงในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทั้งในและนอกประเทศซีเรียก็ยังถูกนำเสนอน้อยกว่าความเป็นจริง

หนึ่งในสตรีผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งคือ ราจา อัล-ทาลลี น้องสาวของแคเธอรีน ผู้ได้รับทุนไปศึกษาด้านคณิตศาสตร์ที่บอสตัน และเมื่อมีการลุกฮือขึ้นในบ้านเกิด เธอก็ร่วมจัดตั้งองค์กร ศูนย์เพื่อประชาสังคมและประชาธิปไตยในซีเรีย ในตอนนี้ราจาได้ไปอยู่ที่ทางตอนใต้ของตุรกีและเริ่มค้นคว้าเรื่องบทบาทของเพื่อนสตรีในการปฏิวัติซีเรีย และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างบทบาทของพวกเขา

ราจาได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้หญิงในค่ายผู้ลี้ภัยพบว่าเรื่องหลักๆ ที่ผู้หญิงให้ความสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของซีเรียคือเรื่องการศึกษาและเรื่องเศรษฐกิจ ในเชิงการเมือง ทั้งยังต้องการเสรีภาพ ความยุติธรรม และการเคารพศักดิ์ศรี แม้ว่าบางส่วนยังคิดว่าผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทนำในการบริหารประเทศหรือในเชิงนิติบัญญัติ


การรับศึกสองด้านของสตรีในซีเรีย
อย่างไรก็ตาม ราจากล่าวผ่าน Skype ว่ามีผู้หญิงบางที่อยากเรียนรู้และมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่พวกเธอไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะไม่มีคนคอยผลักดัน และไม่มีทักษะในการล็อบบี้ ขณะที่ผู้ชายมีส่วนร่วมในการเมืองมากกว่าและมีโอกาสในการเรียนรู้มากกว่า

ราจาเน้นการทำงานเพื่อเสริมพลังให้กับผู้หญิงจากหลากหลายชนชั้นทางสังคม โดยการสร้างทักษะวิธีการทำให้ความเห็นของผู้หญิงและความต้องการของผู้หญิงได้เป็นที่รับรู้

ราจาบอกว่าผู้หญิงยังผลักดันตัวเองไม่มากพอ และถ้าหากผู้หญิงไม่พยายามทำ ผู้ชายก็จะไม่สนใจ

ในการประชุมล่าสุดที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ มีนักกิจกรรมสตรีราว 15-20 คน มาร่วมอภิปรายและหนึ่งในหัวข้ออภิปรายนั้นคือบทบาทของผู้หญิงหลังยุคอัสซาด (บาชาร์ อัล-อัสซาด รัฐบาลปัจจุบันของซีเรีย) เรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบตุลาการ ระบบนิติธรรม การบริหาร และการให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการตัดสินใจ

กลุ่มสตรีตั้งเป้าหมายไว้สูงมากคือการผลักดันให้มีผู้แทนในรัฐบาลเป็นผู้หญิงร้อยละ 50 และพยายามเปลี่ยนแปลงพลวัตของสภาท้องถิ่นและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลโดยการเรียกร้องให้มีตัวแทนเป็นผู้หญิงมากขึ้น

ราจาและผู้หญิงคนอื่นๆ เล็งเห็นว่าในอนาคตอาจมีกฎหมายใหม่จากกลุ่มที่มีแนวคิดแบบสุดโต่งคอยควบคุมหรือผลักผู้หญิงออกไปอยู่ชายขอบ พวกเธอจึงต้องเสริมพลังให้กับผู้หญิงมากกว่านี้

อาร์จา กล่าวว่า ผู้หญิงในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของซีเรียต้องต่อสู้แบบรับศึกสองด้าน ด้านแรกคือการต่อสู้กับรัฐบาลซีเรียและอีกด้านหนึ่งคือการต่อสู้ที่ยากลำบากพอกันคือการทำให้แน่ใจว่า สิทธิปัจเจกชนจะไม่ถูกลบล้างไปในกระบวนการและพลวัตของการลุกฮือเพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของซีเรีย

"มันไม่ใช่เป้าหมายง่ายๆ และไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จ แต่ผู้หญิงชาวซีเรียส่วนใหญ่ที่ฉันพบเจอจากการทำงานข่าวในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็จะไม่นิ่งดูดายและเฝ้ามองเสรีภาพของตนถูกฉกชิงหรือปล่อยให้อนาคตของพวกเขาถูกควบคุม" อาร์จา กล่าว

 

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Syria's women: Fighting a war on two fronts, CNN, 07-03-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net