Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้กลายเป็นภาพจำลองการเลือกตั้งระดับชาติไปแล้ว พร้อมหาสาเหตุที่ผู้สมัครอิสระฯ คะแนนหาย

คะแนนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แบบเปรียบเทียบรายเขตและผลต่างคะแนน (ที่มาของข้อมูล: เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ กทม. ดูภาพขนาดเต็มคลิกที่นี่)

ประชาไทสัมภาษณ์ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 3 มีนาคม 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ 1,256,349 ล้านคะแนน ขณะที่คู่แข่งอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้ 1,077,899 ล้านคะแนน (ดูผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่นี่ [1], [2])

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ คะแนนเสียงที่เคยเทให้กับผู้สมัครอิสระหรือผู้สมัครที่ไม่ได้สังกัด พรรคการเมืองกลับหดหายไป เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งรอบก่อนๆ โดย รศ.สิริพรรณเห็นว่าสาเหตุมาจากการที่ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ อยู่ภายใต้บริบทการเมืองระดับชาติ ซึ่งมีผลต่อการลงคะแนนของผู้เลือกตั้งมาก

 

000

"การเลือกครั้งนี้มองว่าเป็นบริบททางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2549 หลังเหตุการณ์ความรุนแรงและการปะทะกันที่ราชประสงค์ 2553 การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครกลายเป็นภาพจำลองของภาพการเลือกตั้งระดับชาติระดับชาติไปแล้ว"

 

ทำไมการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อ 3 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา คะแนนของผู้สมัครอิสระจึงได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

เหตุผลหลักก็เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ภายใต้ร่มเงาของการเลือกตั้งใหญ่ ที่บริบทการเมืองระดับชาติ เข้ามาครอบงำการตัดสินใจเลือกตั้งของคน ดังนั้น ความขัดแย้งและการต่อสู้กันของสองพรรคหลัก มันเข้มข้นมาก จนถึงแม้คนจะสนใจผู้สมัครอิสระบางคน แต่กลัวคะแนนตัวเองจะตกน้ำ เป็น "Wasted vote" คือสูญเปล่า ดังนั้นพอถึงเวลาที่ลงคะแนน จึงหันมาเลือกผู้สมัครจากพรรคใหญ่ เพราะว่าที่ผ่านมาความรู้สึกของคนคือ การแข่งขันมันสูสีมาก พอเบียดมากก็กลัวพรรคที่ตัวเองเชียร์อยู่ ถึงแม้อาจไม่ชอบทั้งหมด ไม่ได้ชอบผู้สมัครเท่าไหร่ ไม่ได้ชอบนโยบายเท่าไหร่ สนใจผู้สมัครอิสระมากกว่า แต่รู้ว่าอย่างไรก็ตามผู้สมัครอิสระคงไม่ชนะ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คะแนนผู้สมัครอิสระครั้งนี้น้อย เพราะมันหายไปตกน้ำไป

หลายคนพูดว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ผู้สมัครอิสระได้คะแนนน้อยมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งน้อยมากจริงๆ ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 11 มกราคม 2552) ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ก็ได้สามแสนคะแนน อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ก็ได้คะแนนพอสมควร ก่อนหน้านั้น (การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 5 ตุลาคม 2551) สมัยอภิรักษ์ โกษะโยธิน แข่งกับคุณประภัสร จงสงวน ครั้งนั้นผู้สมัครอิสระก็ได้คะแนนเยอะ และก่อนหน้านั้นผู้สมัครอิสระก็ชนะการเลือกตั้ง เช่น พิจิตต รัตนกุล หรือจำลอง ศรีเมือง

อยากให้มองเป็นภาพกว้างเปรียบเทียบ ในสมัยที่ผู้สมัครอิสระชนะการเลือกตั้ง เพราะว่าตอนนั้น ผู้สมัครอิสระแข่งกับพรรคการเมืองเดียวคือพรรคประชาธิปัตย์ สมัยที่คุณจำลอง ศรีเมือง หรือคุณพิจิตต รัตตกุล ลงรับสมัคร พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ตั้งด้วยซ้ำไป และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ไม่ได้สนใจส่งผู้สมัครลงในการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้นการต่อสู้ของผู้สมัครอิสระกับหนึ่งพรรคคือพรรคประชาธิปัตย์ โอกาสที่จะชนะก็คือ 50-50

ทีนี้ พอมีผู้สมัครจากพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ ซึ่งถ้าพูดก่อนความขัดแย้งและการปะทะกันในปี 2553 ผู้สมัครอิสระก็ยังมีโอกาสพอสมควร คะแนนยังเยอะพอสมควร เพราะว่าความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ผลักให้คนคิดสุดโต่งแบบสองขั้วแบบนี้ แต่การเลือกครั้งนี้มองว่าเป็นบริบททางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2549 หลังเหตุการณ์ความรุนแรงและการปะทะกันที่ราชประสงค์ 2553 การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครกลายเป็นภาพจำลองของภาพการเลือกตั้งระดับชาติระดับชาติไปแล้ว

 

ถ้าเราจะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งใช้วิธีคิดแบบการเลือกตั้งระดับชาติ ได้หรือไม่

เชื่อว่าเป็นแบบนั้น

 

000

" คำว่า "อิสระ" คือไม่สังกัดพรรค แต่ไม่ได้แปลว่าผมมาคนเดียว หรือผมมากับคนอีก 4-5 คนที่มาตามหลังผม หรือมากับทีมพริตตี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น "ผู้สมัครอิสระ" ในความหมายทางการเมืองคือไม่ได้สังกัดพรรค แต่จะเห็นว่าผู้สมัครอิสระทั้งสามคนเหมือนกับมาคนเดียว หรือมากับกลุ่ม ไม่ได้เป็นทีม ดังนั้นนี่ก็เป็นตัวอธิบายว่าทำไมผู้สมัครได้คะแนนน้อยมาก"

 

ถ้ามองแนวโน้มของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ในปี 2552 และในปีนี้ กับถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในเร็วๆ นี้หรืออีก 4 ปีข้างหน้า คิดว่าวิธีการเลือกตั้งของผู้ลงคะแนน จะกลับมาเป็นวิธีคิดแบบการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหรือ ยังเป็นการเลือกตั้งที่คิดแบบระดับชาติอยู่

ถ้าภายใน 4 ปี คิดว่ายังถูกครอบงำโดยการคิดแบบระดับชาติอยู่ จนกว่าความขัดแย้งจะคลี่คลายไปบ้าง หรือมีบริบททางการเมืองสำคัญอันใหม่เข้ามา

อีกประเด็นที่ต้องดูนอกจากบริบททางการเมือง ก็คือตัวผู้สมัครอิสระด้วยเช่นกัน บริบททางการเมืองก็เป็นตัวแปรหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้สมัครอิสระที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ หลักๆ คือสามคนที่ได้คะแนนสูงหน่อย ก็ไม่ได้เสนอทางเลือก หรือนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ที่เป็นทางเลือกให้ประชาชนพอที่จะดึงดูดคะแนนเสียงได้ คือถ้าเทียบกับคุณจำลอง ซึ่งมามีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่คุณจำลองมีจุดยืนชัดเจนเรื่องคุณธรรม เรื่องการกวาดล้างระบบการเมืองให้สะอาด คือเป็นทางเลือกชัดเจน

กรณีคุณพิจิตต เอง เขาเป็นผู้สมัครอิสระก็จริงแต่มีทีมของเขา คือกลุ่มมดงาน แต่ผู้สมัครอิสระครั้งนี้ นอกจากคุณเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวสแล้ว อีกสองท่าน (สุหฤท สยามวาลา และโฆสิต สุวินิจจิต) ก็ไม่ได้มีทีมงานอะไรชัดเจน และกรณีคุณเสรีพิศุทธ์ ชัดเจนว่าฐานเสียงคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังนั้น พันธมิตรฯ เองเราก็รู้กันอยู่ว่ากลุ่มหนึ่งต้องเทคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความที่กลัวแพ้ และเป็นการกันท่าพรรคเพื่อไทย

ดังนั้นต้องอธิบายด้วยว่าในอนาคต อีก 4 ปีข้างหน้า ถ้ามีผู้สมัครอิสระที่มีคุณสมบัติโดดเด่นกว่านี้ มีการนำเสนอนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เห็นภาพได้ว่าจะนำพากรุงเทพฯ ไปตรงไหน แก้ปัญหาอะไรบ้าง และมีทีมงานมีประสิทธิภาพ มีการนำเสนอพร้อมทีมงาน คำว่า "อิสระ" คือไม่สังกัดพรรค แต่ไม่ได้แปลว่าผมมาคนเดียว หรือผมมากับคนอีก 4-5 คนที่มาตามหลังผม หรือมากับทีมพริตตี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น "ผู้สมัครอิสระ" ในความหมายทางการเมืองคือไม่ได้สังกัดพรรค แต่จะเห็นว่าผู้สมัครอิสระทั้งสามคนเหมือนกับมาคนเดียว หรือมากับกลุ่ม ไม่ได้เป็นทีม ดังนั้นนี่ก็เป็นตัวอธิบายว่าทำไมผู้สมัครได้คะแนนน้อยมากเช่นกัน

 

000

"ที่หลายคนบอกว่าจาก 6 แสนคะแนนสมัยคุณยุรนันท์เพิ่มมาเป็นหนึ่งล้านคะแนน หรือเพิ่มมาสี่แสนคะแนน ก็เป็นการมองแบบหนึ่งซึ่งก็มองได้ ปลอบใจตัวเองแบบนั้นก็ได้ แต่ถ้าเกิดว่าเพื่อไทย อยากจะตั้งคำถามกับตัวเอง และตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมถึงแพ้ในกรุงเทพฯ ก็ควรจะเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา"

 

หากนำผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2552สะท้อนว่าช่องว่างคะแนนระหว่างสองพรรคเริ่มใกล้กันเข้ามา แต่ถ้านำผลการเลือกตั้งไปเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 พบว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทยลดลง ถ้าหากข้อสันนิษฐานที่ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งใช้วิธีคิดแบบการเลือกตั้งระดับชาติในการเลือกตั้งท้องถิ่น เราสามารถที่จะคะเนหรือสรุปได้หรือไม่ว่า พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมลดลง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงรักษาความนิยมของตัวเองได้อยู่

จริงๆ แล้ว เคยพูดไว้แต่แรกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ต้องเปรียบเทียบกับคะแนนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 (3 กรกฎาคม 2554) ไม่ใช่เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งในปี 2552 (11 มกราคม 2552) หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2552 คะแนนที่จะนำมาเปรียบเทียบต้องเอาคะแนนคุณยุรนันท์ มารวมกับบางส่วนของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ด้วย

ดังนั้นที่หลายคนบอกว่าจาก 6 แสนคะแนนสมัยคุณยุรนันท์เพิ่มมาเป็นหนึ่งล้านคะแนน หรือเพิ่มมาสี่แสนคะแนน ก็เป็นการมองแบบหนึ่งซึ่งก็มองได้ ปลอบใจตัวเองแบบนั้นก็ได้ แต่ถ้าเกิดว่าเพื่อไทย อยากจะตั้งคำถามกับตัวเอง และตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมถึงแพ้ในกรุงเทพฯ ก็ควรจะเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเพื่อไทยคะแนนหายไปสองแสนคะแนน ทำไมถึงหายไปสองแสน ต้องถามเหมือนกันว่าประชาธิปัตย์หายไปเท่าไหร่ ประชาธิปัตย์หายไปประมาณสองหมื่นคะแนน แล้วความต่างของคะแนนคือประมาณร้อยละ 14 หรือ 1.2 ล้านคะแนน กับ 1.07 ล้านคะแนน

ถ้าถามว่า คำถามคือทำไมเพื่อไทยคะแนนหาย อยากวิเคราะห์ว่า โดยปกติการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นคนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยอยู่แล้ว จากครั้งที่แล้วในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2552 มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 51 เทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อปี 2554 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 71 คือเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมโดยทั่วไป เพราะในการเลือกตั้งท้องถิ่นคนจะไม่รู้สึกถึงนโยบายที่มามีผลกระทบเท่าไหร่ เลือก หรือไม่เลือก ชีวิตก็ดำเนินไป แต่ระดับชาติ จะมีนโยบายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจรวมมากขึ้นความรู้สึกจะเป็นแบบนั้น

ถ้ามองแบบนี้ก็ต้องเทียบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ คนกรุงเทพฯ สนใจมากขึ้น ขนาดฝนตก ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งก็ยังเพิ่มจากร้อยละ 51 เป็นร้อยละ 63 ซึ่งเคยทำนายตรงนี้ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ถ้าคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคนกรุงเทพฯ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นฐานที่แข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในการเลือกตั้งเมื่อ4 ปีที่แล้ว มีผู้ไปใช้สิทธิน้อย เพราะดูว่านอนมา คือชนะมาแน่ๆ ดังนั้นก็เลยนอนหลับทับสิทธิ์ พอมาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ต้องบอกว่าโพลมีผลต่อจิตวิทยา อาจจะทำให้คนรู้สึกว่า ถ้าไม่ออกไปเลือกประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์แพ้แน่

ดังนั้น ฐานตรงนี้ ด้านหนึ่งส่วนตัวมองว่าจิตวิทยาของความกลัวที่จะแพ้เพื่อไทย ทำให้ประชาธิปัตย์ออกมาแสดงพลังได้มากกว่า ตอกย้ำว่าฐานของประชาธิปัตย์แข็งจริงๆ แต่ส่วนของเพื่อไทยที่หายไป ถามว่าที่หายไปประหลาดไหม ด้านหนึ่ง คนมาใช้สิทธิน้อยกว่า ดังนั้นหายไปสองแสนเสียง ถ้าเทียบกับสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 71 กับร้อยละ 63 มันก็หายไปตามสัดส่วนของมัน

แต่คำถามคือว่าแสดงว่ามันมีคนที่ หนึ่ง ไม่พอใจเพื่อไทยในระดับพรรค คือมองว่าเพื่อไทยในรอบ 20 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์ในใจของตัวเอง เช่น ไม่ได้ทำเรื่องนิรโทษกรรม ไม่ได้ช่วยผู้กระทำความผิดทางการเมือง ไม่ได้แสดงจุดยืนทางการเมือง อย่างที่ตัวเองคาดหวัง หรือว่าอาจจะไม่เห็นด้วยกับพรรคในการดำเนินนโยบายระดับชาติบางอย่าง นี่คืออันหนึ่ง ซึ่งยากที่จะพิสูจน์ สอง อาจจะไม่พอใจผู้สมัคร คือตัวคุณพงศพัศเท่าไหร่นักก็ได้ ดูได้จากนิกเนมที่เรียกคุณพงศพัศทั้งหลาย สะท้อนว่า เพื่อไทยน่าจะหาผู้สมัครที่ทำงานได้จริงๆ มาเป็นผู้สมัคร นั่นน่าจะเป็นคำอธิบายว่าทำไมนโยบายที่ล้อกับนโยบายระดับชาติจึงไม่ได้ผล จึงเหมือนเป็นสัญญาณบอกเพื่อไทยว่า หนึ่ง คนกรุงเทพฯ ไม่ได้ถูกโน้มน้าวด้วยนโยบายประชานิยมระดับชาติ คือไม่พอใจนโยบายที่เสนอมา สอง ก็คืออาจะไม่พอใจกับผลงานและแนวทางของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ตอบโจทย์ตัวเองในช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา และสาม ตัวผู้สมัครที่พรรคเพื่อไทยเลือก อาจจะไม่เป็นที่พอใจ

จึงน่าจะเป็น 3 อันนี้ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องตอบคำถามว่าคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าเกิดเป็น 2 ข้อแรกคือนโยบายทางการเมืองกับจุดยืนทางการเมือง อันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งระดับชาติ คือมองว่าอย่างไรก็ตาม เลือกตั้ง 4 ปีข้างหน้าเพื่อไทยก็ยังจะชนะในระดับชาติ แต่ว่าคะแนนอาจจะน้อยลง หรือไม่ ถ้าไม่ตอบโจทย์สำคัญๆ 2 เรื่องนี้ อันนี้กำลังโยงกับเรื่องที่เพิ่งเห็นข่าววันนี้ซึ่งยอมรับว่านโยบายจำนำข้าวที่จริงก็มีปัญหา ซึ่ง ธกส. ก็ออกมาบอกว่าให้รัฐบาลใช้หนี้ นี่คือผลของนโยบายที่เพื่อไทยทำมา อาจจะต้องแก้เกมนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนโยบายพรรคในอนาคต โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ยาก ที่เพื่อไทยต้องมาวิเคราะห์กันว่า เป็นเพราะอะไร

แต่โดยส่วนตัว คิดว่ามีทั้งเรื่องของตัวผู้สมัครเองและตัวของนโยบาย ซึ่งนโยบายฟรีทั้งหลายไม่ได้โน้มน้าวคนกรุงเทพฯ คือ คนกรุงเทพฯ จำนวนมาก โดยเฉพาะที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เขาไม่ได้แคร์กับรถเมล์ฟรี รถเมล์ติดแอร์ฟรี รถไฟฟรี คือ คนกรุงเทพฯ เป็นคนที่ฐานะดีเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น เขาดูแลตัวเองได้ เพราะฉะนั้น นโยบายที่เขาคาดหวังไม่ใช่นโยบายชุดที่เพื่อไทยนำเสนอ ในขณะที่เพื่อไทยนำเสนอเพื่อดึงดูดคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนชั้นกลางใหม่และคนชั้นกลางล่าง แต่สัดส่วนของคนที่เป็นฐานเสียงประชาธิปัตย์กลายเป็นคนชั้นกลางเดิม ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ อาจนานกว่า 10-20 ปี เพราะฉะนั้นพอสู้กันผลเลยเป็นอย่างนี้ คิดว่ามันเป็นภาพสะท้อนของทั้งตัวนโยบายพรรค จุดยืนของพรรคและผู้สมัครที่พรรคเลือก

 

แสดงว่าเมื่อเทียบกันแล้ว นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์จับใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า

ไม่เลย ในแง่นี้ไม่ได้หมายความว่านโยบายประชาธิปัตย์ดีกว่า ครั้งนี้คนไม่ได้ตัดสินใจบนนโยบาย กลับไปถึงเรื่องที่กล่าวไว้เมื่อสักครู่นี้ก็คือ มันคือกรอบของการเลือกตั้งระดับชาติเลย คนไม่ได้สนใจนโยบาย ความน่าเสียดายในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือเราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอันเป็นผลจากนโยบายที่แต่ละพรรค หรือผู้สมัครอิสระได้หาเสียง เพราะว่าเราไม่ได้เลือกผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่จะมาจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนากรุงเทพฯ แต่เราเลือกภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองใหญ่ระดับชาติ แล้วก็การกันท่าของทั้งสองพรรค ซึ่งจริงๆ ก็ต้องพูดให้แฟร์ว่าประชาธิปัตย์ก็กันท่าเพื่อไทย และคนที่เลือกเพื่อไทยก็กันท่าประชาธิปัตย์เพราะจำนวนมากไม่ได้ถูกใจกับนโยบายของพรรคเท่าไหร่ และไม่ได้ถูกใจกับผู้สมัครที่พรรคเสนอมา แต่เลือกเพราะว่าอยากให้เพื่อไทยชนะ อันนี้เป็นความน่าเสียดายที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้

ส่วนประเด็นของผู้สมัครอิสระ หากถามว่าโอกาสของผู้สมัครอิสระจะมีขึ้นมากไหม ต้องบอกว่านับวันความยากของผู้สมัครอิสระจะมีมากขึ้น เพราะว่ากรุงเทพฯ มันใหญ่ ดังนั้น ปริมาณเงินที่จะลงไปมันต้องเยอะ อย่าง ส.ส. เฉพาะกรุงเทพฯ ก็มี 33 เขตแล้ว ทีนี้ผู้สมัครอิสระที่จะมีเงินมากขนาดนี้ ที่จะสามารถแข่งกับทรัพยากรของพรรคใหญ่ บุคลากร แล้วก็ฐานเสียงที่สองพรรคมีมันยาก แต่ถ้าถามจริงๆ แล้วมันอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ว่าผู้สมัครคนนั้นจะต้องวางแผนอย่างดี ต้องเตรียมตัวกันอย่างน้อย 3-4 ปี แล้วต้องพยายามโปรโมทตัวเองให้เป็นที่รู้จักและมีทีมงานที่ชัดเจน อาจจะสามารถเขย่าฐานของทั้งสองพรรคได้ และถ้าทั้งสองพรรคยังไม่มีตัวบุคคลที่น่าดึงดูด และผู้สมัครอิสระมีความน่าดึงดูด ก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ เพราะเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ จริงๆ ไม่ได้มีความจงรักภักดีกับพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างยาวนาน แต่ความนิยมในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านก็ถือเป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net