Skip to main content
sharethis

หลังเกิดกรณีพิพาทเรื่องสิทธิ์เหนือหมู่เกาะระหว่างอังกฤษและอาร์เจนติน่า ล่าสุดชาวฟอล์กแลนด์ได้ลงประชามติยอมรับให้หมู่เกาะยังคงเป็นพื้นที่ของสหราชอาณาจักรร้อยละ 99.8 โดยมีผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วยเพียง 3 รายจากผู้ลงมาใช้สิทธิ 1,517 คน แต่ทางอาร์เจนติน่าเคยอ้างไม่ยอมรับเรื่องหลักการการตัดสินใจด้วยตนเองโดยประชาชนฟอล์กแลนด์

วันที่ 12 มี.ค. 2013 สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษรายงานผลการลงประชามติของประชาชนในหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ พื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสุมทรแอตแลนติก หลังเกิดข้อพิพาทระหว่างอังกฤษและอาร์เจนติน่าในเรื่องกรรมสิทธิในการปกครองหมู่เกาะ ซึ่งผลออกมาว่าร้อยละ 99.8 โหวตให้หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ยังคงถือเป็นพื้นที่อาณาเขตของสหราชอาณาจักร จากผู้มาใช้สิทธิ์คิดเป็นร้อยละ 92 ของผู้มีสิทธิ์ลงประชามติทั้งหมด 1,649 ราย

เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษกล่าวภายหลังประกาศผลการลงประชามติเสร็จสิ้นว่า ผลคะแนนในครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชาวฟอล์กแลนด์ยังคงต้องการเป็นประชาชนของอังกฤษ และขอให้ทางฝ่ายอาร์เจนติน่าเคารพในผลการลงประชามติครั้งนี้

"ชาวเกาะฟอล์กแลนด์ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าพวกเขายังต้องการเป็นคนอังกฤษ และทุกฝ่ายควรเคารพการแสดงความเห็นในครั้งนี้ รวมถึงประเทศอาร์เจนติน่าด้วย" เดวิด คาเมรอนกล่าว

ในจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 1,517 ราย มีผู้โหวต 'ไม่เห็นด้วย' กับการคงอยู่ภายใต้อาณาเขตของอังกฤษเพียง 3 ราย เท่านั้น The Independent กล่าวว่าน่าจะเป็นเพราะชุมชนชาวฟอล์กแลนด์ยังคงจดจำกรณีในปี 1982 ที่เกิดการรุกรานของอาร์เจนติน่าจนกระทั่งอังกฤษเข้าปลดปล่อยในสงครามสามสัปดาห์

ในพอร์ตสแตนลี่ย์ ที่ถนนติดกับเวลล์โบนอาร์ช (Whalebone Arch) หรือซุ้มกระดูกปลาวาฬที่ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปกครองเกาะฟอล์กแลนด์ของอังกฤษ มีประชาชนชาวฟอล์กแลนด์พากันจัดงานเฉลิมฉลอง และพากันร้องเพลง "God Save the Queen" ซึ่งเป็นเพลงชาติอังกฤษ และเพลง "Sailing" ของร็อด สจ๊วต ศิลปินชาวอังกฤษ

อลิซ คลาค ผู้อาศัยที่พอร์ตสแตนลีย์กล่าวถึงผลการลงประชามติว่า เป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมและอัตราส่วนของผลการคะแนนในครั้งนี้เป็นการสื่อที่มีพลัง

อย่างไรก็ตาม คริสติน่า เคิร์ชเนอร์ ประธานาธิบดีอาร์เจนติน่าเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ยอมรับผลการลงประชามติโดยอ้างว่าไม่เป็นไปตามกฏหมาย ซึ่งทางอาร์เจนติน่าได้เรียกร้องให้มีการนั่งโต๊ะเจรจากับอังกฤษกรณีหมู่เกาะฟอล์กแลนด์โดยยืนกรานว่าชาวฟอล์กแลนด์ไม่มีสิทธิในการเข้าร่วม ซึ่งทางอังกฤษปฏิเสธการนั่งโต๊ะเจรจา

เดวิด คาเมรอน กล่าวตอบโต้ในกรณีนี้ว่า ชาวฟอล์กแลนด์มีสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง

"เกาะฟอล์กแลนด์อาจจะอยู่ห่าง (จากอังกฤษ) ออกไปกลายพันไมล์ แต่พวกเขาอย่างไรก็เป็นชาวอังกฤษ และนั่นทำให้พวกเขายังอยากคงอยู่เช่นเดิม ประชาชนควรรู้ว่าพวกเราจะคอยปกป้องพวกเขาตลอดไป" เดวิด คาเมรอนกล่าว

โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาะฟอล์กแลนด์จะนำผลการลงประชามติไปเสนอเพื่อจูงใจรัฐบาลต่างประเทศในที่ประชุมซึ่งจะมีการจัดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเข้มงวดต่อการยอมรับรัฐบาลโดยพฤตินัยของอังกฤษในหมู่เกาะฟอล์กแลนด์และไม่ยอมรับการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชนชาวฟอล์กแลนด์

แบร์รี่ เอลสบี หนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติจากการเลือกตั้งของชาวฟอล์กแลนด์กล่าวว่า "การลงประชามติในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการแสดงความรู้สึกของชาวหมู่เกาะ แต่เป็นการส่งสารถึงโลกภายนอก อาร์เจนติน่าบอกกับโลกว่าพวกเราไม่มีตัวตนอยู่ แต่ในค่ำคืนนี้พวกเราแสดงความคิดเห็นของพวกเราอย่างชัดเจนหนักแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้"

"อาร์เจนติน่ากลัวการลงประชามติในครั้งนี้เพราะมันจะแสดงให้เห็นว่าเราสามารถส่งเสียงออกไปได้ในระดับนานาชาติ" แบร์รี่กล่าว


ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องข้อพิพาท

กรณีพิพาทเรื่องดินแดนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์เกิดขึ้นเมื่ออาร์เจนติน่าบุกรุกหมู่เกาะจนทำให้เกิดสงครามฟอล์กแลนด์ขึ้นในปี 1982 ซึ่งในตอนนั้นอาร์เจนติน่าถูกปกครองโดยกลุ่มเผด็จการทหาร โดยหลังจากสงครามในครั้งนั้นอังกฤษก็ได้เพิ่มกำลังแน่นหนาขึ้นในหมู่เกาะ และมีการตรากฏหมายสัญชาติอังกฤษสำหรับเกาะฟอล์กแลนด์ปี 1983 หรือ "British Nationality (Falkland Islands) Act 1983" ขึ้นเพื่อให้ชาวฟอล์กแลนด์ทั้งหมดมีสัญชาติเป็นชาวอังกฤษ อีกทั้งยังมีการเชื่อสัมพันธ์ด้วยการส่งบุคคลระดับสูงอย่าง มาร์กาเร็ต แทชเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยนั้น เจ้าชายแห่งแคว้นเวลส์ เจ้าหญิงอเล็กซานดรา ไปเยือนหมู่เกาะด้วย

ขณะที่ความขัดแย้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่ออาร์เจนติน่าอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะอีกครั้งในปี 2006 โดยอ้างถึงสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรอย่างการประมงและน้ำมันปิโตรเลียม ต่อมาในปี 2010 อาร์เจนติน่าก็ตอบโต้การวางแผนขุดเจาะน้ำมันของอังกฤษด้วยการอ้างว่าเรือทุกลำที่เดินทางมายังหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (รวมถึงเซาธ์ จอร์เจีย และเซาธ์ แซนด์วิช) ต้องขออนุญาติการใช้อาณาเขตน่านน้ำอาร์เจนติน่าก่อน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลฟอล์กแลนด์ปฏิเสธว่าข้อห้ามดังกล่าวไม่หมายรวมถึงน่านน้ำโดยรอบเกาะ

ทั้งอาร์เจนติน่าและอังกฤษต่างมีข้ออ้างหลายข้อในการถือสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ เช่นฝ่ายอาร์เจนติน่าอ้างว่า อำนาจอธิปไตยของฟอล์กแลนด์ถูกส่งผ่านจากสเปนมาสู่อาร์เจนติน่าหลังจากอาร์เจนติน่าประกาศอิสรภาพจากสเปนตามหลักการ 'uti possidetis juris' ซึ่งอังกฤษได้ละทิ้งการตั้งถิ่นฐานไปในปี 1776 ซึ่งเป็นการประกาศยกเลิกอำนาจเหนือหมู่เกาะตามสนธิสัญญา Nootka Sound Convention และทางอาร์เจนติน่าได้รับอำนาจเหนือหมู่เกาะหลังจากนั้นและไม่เคยประกาศยกเลิกอำนาจ อาร์เจนติน่าอ้างอีกว่าหลักการเรื่องการตัดสินใจด้วยตนเองไม่สามารถนำมาใช้ได้เนื่องจากผู้อาศัยในฟอล์กแลนด์ปัจจุบันไม่ใช่ชาวหมู่เกาะโดยตั้งเดิมแต่เป็นการทีอังกฤษนำประชากรมาอาศัยอยู่แทนชาวอาร์เจนติน่าในช่วงปี 1833 ซึ่งอาร์เจนติน่าถือว่าการขับไล่ชาวอาร์เจนติน่าในครั้งนั้นเป็น "การใช้กำลัง"

ขณะที่อังกฤษอ้างว่าพวกเขามีสิทธิเหนือหมู่เกาะมาตั้งแต่ปี 1690 และไม่เคยยกเลิกอำนาจ อีกทั้งชาวอังกฤษยังเข้ามาอยู่อาศัยที่หมู่เกาะก่อนหน้าอาร์เจนติน่า และการที่อาร์เจนติน่าพยายามยึดหมู่เกาะเป็นอาณานิคมในช่วงปี 1820-1833 นั้นไม่ถือเป็นผล อีกทั้งหลักการ 'uti possidetis juris' ก็ไม่ได้มีการยอมรับตามหลักการของกฏหมายนานาชาติ


เรียบเรียงจาก

Falklands referendum: David Cameron hails 'clear result' as 99.8 per cent of islanders vote to remain British, The Independent, 12-03-2013

http://en.wikipedia.org/wiki/Falkland_Islands_sovereignty_dispute

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net