Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สองสามประเด็นที่ดูจบแล้ว ชวนให้ขบคิด 

อันแรกเลยคือ คาดหวังไว้มากก่อนเข้าไปดูเพราะรางวัลหนังยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ค (The New York Film Critics 2012) และอื่นๆมากมายรวมทั้งเข้าชิงหนังยอดเยี่ยมออสการ์ ทำให้คิดว่าน่าจะมีมุมมองแปลกใหม่ในการนำเสนอ ความขัดแย้งของอเมริกากับประเทศอื่นๆบ้าง  อย่างน้อยผู้กำกับหญิงอาจจะมีมุมมองผู้หญิงที่นึกไม่ถึง   ซึ่งก็มีจริงๆ แต่ก็น่าชวนให้คิดย้อนไปถึงอุดมการณ์ที่มากับ Spy-themed entertainment  บางประการ

ประเด็นแรก  ที่ชวนคิดคือการใช้ตัวละครหญิงนำ ในสิ่งที่ผู้ชายเคยนำ และแถม Kathryn Bigelow ผู้กำกับเป็นผู้หญิงด้วย  มีหลายฉากหลายตอนที่หนังทำได้แค่  การเชิดชูผู้หญิงคนเดียวโดดๆ  ที่สามารถทำได้แบบผู้ชาย  กลายเป็นเฟมินิสต์ขั้นไร้สติ  เช่น ฉากที่นางเอกอยู่ท่ามกลางหน่วยรบซีลกล้ามโตทั้งหลายจนดูโดดเด่น (เนื่องจากมุมกล้องและการจัดแสง)  ฉากรอดูความสำเร็จและเดินเข้าไปตรวจศพ  ฉากอีกหลายฉากที่เน้นความเป็นฮีโร่หญิง เชื่อมั่น เด็ดเดี่ยว ฉลาด  ไม่มีความอ่อนแอ อ่อนโยนใดๆ  ใช้ภาษาแบบผู้ชาย  ทั้งมุมกล้องและการเคลื่อนกล้องก็ส่งให้นางเอกกลายเป็นฮีโร่ขึ้นมา  ทั้งที่ในความเป็นจริง การทำงานลักษณะนี้น่าจะต้องเป็นทีมอยู่มาก แต่หนังก็ทำให้บรรดาผู้ชายทั้งหมดกลายเป็นผู้ช่วยของเธอได้  ดูไร้ความสามารถ  ป่าเถื่อน  โหดร้าย  โง่มากบ้างน้อยบ้างคละกันไป 

อย่างไรก็ตาม  ฉากที่ใช้เป็นมุมมองความเป็นหญิงได้สะเทือนใจ คือ ฉากท้ายๆของการไล่ล่าบินลาเดน  ที่หน่วยซีลก็ฆ่าไม่ละเว้นแม้แต่ผู้หญิง ซึ่งผู้กำกับน่าจะจงใจให้ฉากเหล่านี้ชัดเจน และสะเทือนใจ  ว่ามันเป็นการฆ่าที่ไร้เหตุผล ไร้มนุษยธรรม และไม่มีความชัดเจนด้วยซ้ำว่าเป้าหมายอยู่ไหน  คือใคร  แม้จะต้องเสี่ยงฆ่าเด็กและผู้หญิงไปบ้างก็ตาม

ประเด็นที่สอง  ความลักลั่นของหนังที่ผู้กำกับอาจจะจงใจ ไม่ตัดสินนำเสนออะไรให้ชัดเจนว่า ขีดคั่นทางศีลธรรมหรือความชอบธรรมโน้มเอียงไปทางใด  ทำให้การตีความก็เป็นไปตามบริบทของคนดูอย่างหลากหลายมาก  

ความจริงโดยส่วนตัวคิดว่า  บิเกโลว์ ไม่ใช่คนที่จะมีมุมมองธรรมดาของการเอาชนะบิน ลาเดนแบบสำนักข่าว CNN หรือฝ่ายซีไอเอกรอกหูผ่านสื่อหลายๆอย่าง  ส่วนตัวคิดว่า บิเกโลว์ต้องการให้เห็น การไล่ล่าศัตรูของชาติที่ไม่มีเหตุผล  ไร้ตรรกะหรือความชอบธรรมใดๆ  อคติที่อยู่เหนือมนุษยธรรม ความชอบธรรมในการทรมานมนุษย์  และถึงที่สุด  การตัดสินใจถล่มบ้านใครคนหนึ่งเพื่อหมายจะฆ่าศัตรู  ก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่า  มันใช่ เป้าหมาย”หรือไม่  เพียงแค่สงสัย  ก็ฆ่าไว้ก่อนแล้ว ขนาดฆ่าเอาศพมาแล้วยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าใช่ “เป้าหมาย”หรือไม่  เป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออก   

แม้จะเชื่อว่าบิเกโลว์พยายามจะสื่อสิ่งเหล่านี้   แต่หนังก็ไม่อาจนำพาไปสู่การตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้อย่างมีพลัง  ตรงข้ามอาจจะมีหลายฉากที่ส่อให้เห็นถึง  การสนับสนุนให้คนดูคิดว่า พวกมุสลิมที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยสมควรตายหรือได้รับโทษ  และปฏิบัติการในช่วง Zero dark thirty  หรือ 30 นาทีหลังเที่ยงคืน ก็เต็มไปด้วยความองอาจ เก่ง เด็ดเดี่ยว  ไฮเทค  กล้าหาญ  ที่สามารถช่วยปลิดชีพฆาตกรโลก (ในความหมายของอเมริกัน) ได้อย่างเรียบร้อย  

ที่สุ่มเสี่ยงที่สุดคือ  ตรรกะ Narrative แบบสูตรสำเร็จ ที่ขึ้นต้นด้วยดราม่าคนใกล้ตายช่วงถล่มตึกเวิล์ดเทรดในวัน 9/11 ตามด้วยการทรมานนักโทษมุสลิม  การฆ่าซีไอเออเมริกันซ้ำเพื่อย้ำถึงความชอบธรรมในการทำสงครามกับฝ่ายศัตรู  การทรมานนักโทษซ้ำๆกันจนความลับเปิดเผย  ขั้นตอนการทำงานอันเฉลียวฉลาดของซีไอเอหญิง นำมาสู่การปลิดชีพบิน ลาเดนในที่สุด  การวาง Narrative เช่นนี้นำไปสู่ความเข้าใจได้ไม่ยากว่า  “คนผิด” (ในความหมายของซีไอเอ ณ ยูเอส) จะได้รับการทรมานจนกว่าจะได้รับโทษตายในที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การให้ตัวเอก มายา ซึ่งเป็นผู้หญิงเริ่มต้นอาการเห็นการถูกทรมานด้วยความคับข้องใจ แต่แล้วก็พัฒนาให้โหดขึ้นเรื่อยๆ  จนกลายเป็นคนทรมานนักโทษเสียเอง  ภายใต้รหัสเก๋ๆ ของC.I.A.ว่า  "enhanced interrogation techniques” และได้ผลดีเสียด้วย  นักโทษชายต่างเชื้อชาติ  ต่างอุดมการณ์แรงกล้าทั้งหลาย  ต่างยอมจำนนและคายความลับออกมา  จนนำไปสู่การสังหารบุคคลที่ต้องการได้   การเล่าเรื่องและใช้ฉากเหล่านี้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนักเขียนรางวัล Pulitzer Prize-  Steve Coll ก็โดดมาร่วมวงด้วย

ประการหนึ่งที่คนดูหนังต้องรู้ไว้ก่อนเลยคือ  คือโดย Concept ของหนัง มันสร้างอยู่บน “อุดมการณ์” ที่ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว(อย่างไม่รู้ตัว)ว่า  ผู้สมควรตายคือบิน ลาเดน  และ “อุดมการณ์” ที่ว่าผู้ก่อการร้ายต่างเชื้อชาติก็โหดร้ายพอที่จะระเบิดพลีชีพจนอเมริกันตายไปอีกหลายศพ จนนำพานางเอกมาสู่อารมณ์พลุ่งพล่านแก้แค้นแทนเพื่อนร่วมงาน  นอกเหนือจากสั่งสมความรักชาติ แบบซีไอเอไว้เต็มเหนี่ยวแล้ว  ฉะนั้น  หนังจึงไม่สามารถขุดราก ตั้งคำถามในเชิงความชอบธรรมต่างๆ และลุ่มลึกพอเกี่ยวกับแง่มุมของอคติ การกดขี่  ผลประโยชน์ที่มีด้วยกันทั้งสองฝ่ายหรือสามฝ่ายในสงครามนี้

แม้หนังจะจบด้วย  ความสับสน  ว่างเปล่าของตัวมายา  เพราะหนังทำได้ชัดในฉากสุดท้ายว่า ที่สุดแล้วหลังการสังหารศัตรูเธอก็ไม่รู้จะไปไหนทำอะไร  เพราะตลอดชีวิตเธอคือการไล่ล่าคนๆหนึ่ง  ทั้งชีวิตเธอทุ่มเทให้กับการเฝ้าสังเกตศัตรูของชาติ (ที่ถูกกล่อมเสมอว่าเป็นภัยคุกคามโลก)  จนเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว  เธอก็ไม่รู้ว่า  ชีวิตจะไปไหน ทำอะไรต่อ หรือเอาเข้าจริง อาจเป็นไปได้ว่า เธอก็ไม่รู้ว่าภารกิจที่ทำไปมันถูกต้องหรือไม่ และไล่ล่าสังหารบิน ลาเดนไปทำไม  ในส่วนนี้หนังทำได้ดี  แต่ความสุ่มเสี่ยงอีกหลายประเด็นของหนัง เช่น  รวมทั้งภาพตัวแทนต่างๆของโลกอาหรับ   ก็ชวนให้คนดูอีกมากตีความไปได้ว่า  การทำงานหนักเพื่อการสังหารคนๆหนึ่ง  น่าจะเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้วยิ่งน่ายกย่องในความอดทน กล้าหาญ เฉลียวฉลาด และเข้มแข็ง

เพราะในโลกแห่งความจริง  หลังจากบิน ลาเดนถูกสังหาร  ความระอุของความขัดแย้งก็ไม่ได้จบสิ้นลงไปได้ง่ายๆ  ในโลกของหนัง  นางเอกเป็นภาพตัวแทนของ “ฮีโร่แบบ Entertainment”  ที่ไม่ต่างจากยุคสงครามเย็นที่ฮอลลีวู้ดโจมตีรัสเซียมากนัก  การจัดวาง “ที่ทางแห่งความจริง” ของสงคราม  ยังคงอยู่ในมือของผู้กุมอำนาจสื่อโลก ที่คนดูเพลิดเพลินด้วยการเล่าเรื่องแบบ Spy-themed entertainment

 และผลิตซ้ำความเป็นฮีโร่  ซึ่งย้ายจาก ชาย  มาเป็น หญิง เท่านั้นเอง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net