ระบบอาหารที่ดีต้องสร้างเอง (ภาคคนกิน)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

กิน (ไม่) เปลี่ยนโลก ?

             

เมื่อตอนที่แล้วชวนคุยเรื่องเกษตรกรชาวนาชาวไร่ และความมั่นคงทางอาหาร เรื่องใหญ่

ครอบโลก เลยต้องยืดเยื้อมาเป็นตอนสอง ที่อยากจะชวนถกเรื่องผู้บริโภคกินเปลี่ยนโลก

ที่มาของการชวนกันถกคือบทความ “เกษตรอินทรีย์ กับระบบอาหารโลก”  ซึ่งชี้ให้เห็นข้ออ่อนและข้อจำกัดของเกษตรอินทรีย์ ที่มีแนวโน้มกลายเป็นโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ของธุรกิจการเกษตรมากกว่าจะเป็นคำตอบที่นำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ในการผลิตการตลาดใหม่ หรือการรณรงค์กับผู้บริโภคหากไปไม่พ้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมปัจเจก สนใจแต่สุขภาพ หรือการพูดเรื่องการกินแบบประดิษฐ์ประดอย (แดก) ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโครงสร้างซึ่งมีความซับซ้อน

ในฐานะคนทำงานรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” ไม่อาจเห็นด้วยไปได้มากกว่านี้

ในเวลานี้ กลุ่มคนที่ตกอยู่สถานะลำบากที่สุดน่าจะเป็นผู้บริโภคเต็มเวลา (แปลว่าผู้ไม่มีหรือไม่ได้ใช้ที่ดินทำการเพาะปลูกใดๆ และไม่มีอาหารผลิตได้เป็นของตนเอง) ที่พอจะลุกขึ้นมาเลือกกินไม่ว่าจะด้วยห่วงใยตัวเอง ห่วงสิ่งแวดล้อม หรือรักเกษตรกรรายย่อย รักความเป็นธรรมมั่กๆ ก็ไม่มีให้เลือกด้วยเหตุที่ “ระบบทุนนิยมสร้างเงื่อนไขบีบบังคับผู้บริโภค” ดังที่เนตรดาวระบุ

ดังนั้นโจทย์หลักจึงเป็นว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างหรือขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการสร้างระบบอาหารที่ดี คืออาหารดี ปลอดภัย ราคาเหมาะสม เป็นธรรมกับทั้งคนปลูกคนกิน เป็นระบบที่สามารถตอบโจทย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การจะมีระบบอาหารแบบนี้ได้ที่สุดแล้วก็จะต้องมีเสียงทางการเมืองที่เข้มแข็ง ที่จะไปบอกกับรัฐบาลว่าควรจะมีนโยบายสาธารณะ และมาตรการต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการสร้างระบบอาหารที่ดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินเท่านั้นจึงจะเข้าถึงอาหารดีได้

งานกินเปลี่ยนโลกในระยะแรกเรียนรู้และนำหลักการของขบวนการ Slow food มาใช้สื่อสาร หลักการนั้นคือ Good  Clean  Fair  ดีนั้นหมายถึงอาหารดี มีประโยชน์ อร่อยด้วย สะอาดหมายถึงกระบวนการผลิตที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีอะไรตกค้าง ปลอดภัยต่อคนปลูกคนกิน และเป็นธรรม ก็คือคนปลูกมีรายได้พอใจ คนขายอยู่ได้ คนกินรับได้ เข้าถึงได้ สิ่งที่ชวนคนกิน เลือกกิน ก็มีเพียงเลือกกินอาหารสด ใหม่ ไม่แช่แข็ง ไม่แปรรูป ไม่มาไกลเกินจำเป็น เลือกซื้อจากตลาดนัดชาวนา ร้านค้าท้องถิ่นบ้าง อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอาหารอินทรีย์เลย ในยุโรป หรือกระทั่งอเมริกาในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งทำได้ง่ายๆ เลย แต่เมื่อมามองบ้านเราอาจนึกว่าง่าย ปรากฏว่ากลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยวิถีการกินบ้านเราเปลี่ยนเร็วเหลือเชื่อ ใครจะนึกว่าชั่วเวลาไม่ถึงสิบปี คนไทยผู้ร่ำรวยทางวัฒนธรรมอาหารจะสามารถปรับตัวให้อยู่กับอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็งอุ่นไมโครเวฟได้มากขนาดนี้

ปัญหาใหญ่มากอีกประการหนึ่งคือความรู้เรื่องอาหาร ความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของผู้คน ผู้บริโภคอยู่ห่างไกลจากระบบการผลิต ขาดความรับรู้เรื่องที่มาหรือกระบวนการผลิตอาหาร ตลอดจนการขาดการสืบทอดเรื่องการปรุงอาหารในระดับครอบครัว นอกเหนือจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนที่ได้จากขบวนการโฆษณาอาหารสุขภาพ ทำให้ความสามารถในการเลือกเหลือน้อยยิ่งกว่าน้อย

ดังนั้น “กินเปลี่ยนโลก” ก็ทำได้เพียงชวนผู้บริโภคตั้งคำถามค้นหาที่มาของสิ่งที่เรียกว่าอาหารที่กินเข้าไปวันละไม่ต่ำกว่า 3 มื้อทุกวัน รวมทั้งนั่งบอกข่าวร้ายอยู่ทุกวี่วัน ว่าอันนี้อย่าไปเชื่อเขาโฆษณาเกินจริง ผักไฮโดรโปนิคไม่ใช่ผักอินทรีย์นะ ตรา Q มีสารตกค้างพอๆ กับผักรถเร่เลย ฯลฯ หนักเข้าก็บอกกันไปตรงๆ ว่าถ้ากินอาหารปลอดภัยจริงๆ ในขณะนี้หาไม่ได้เลย ให้ทำใจ

เช่นกันกับงานฟากผู้ผลิต สิ่งที่พอทำได้คือชวนผู้บริโภคที่เห็นว่าการเลือกกินนั้นสำคัญ พอมีทรัพย์ และเงื่อนไขแวดล้อมที่จะเลือก มาปฏิบัติการบางอย่างเท่าที่ปัจเจกบุคคลพอทำได้ เริ่มจากการจ่ายตลาดสดบ้าง คุยซักไซร้กับแม่ค้าบ้าง ลองกินผักพื้นบ้านแปลกๆ หาความรู้เรื่องฤดูกาลของผักก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ผัดกระเพราไก่ไข่ดาวกินเองบ้าง โดยใช้กระเพราใบเล็กๆ ดำๆ แล้วจะเริ่มเรียนรู้ความต่างๆ ของผักหญ้า หัดทำอาหารจานโปรดที่แม่เคยทำให้กินโดยโทรไปถามสูตรแม่ ใครจะมีสุนทรียะขนาดลุกขึ้นมาโขลกเครื่องแกง คั้นกะทิเองบ้างเป็นพัก ๆ ก็มิได้เป็นเรื่องประหลาดพิสดารจนต้องห้ามลอกเลียนแบบ พวกขยันมากหน่อยก็ไปจนถึงปลูกผักกินเอง หรือที่สุดแล้วปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย แค่สงสัยเป็นพักๆ ก็ยังดีกว่ามีอะไรก็กินๆ เข้าไป มิได้คิดสิ่งใดเลย

กระบวนการเช่นนี้จริง ๆ แล้วคือมิใช่การตั้งเป้าเพียงเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะเอาเข้าจริงแล้วอาจเปลี่ยนแทบไม่ได้ หากแต่ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนความรู้และทัศนคติ ซึ่งหมายถึงในอนาคตอันไม่ใกล้นักผู้บริโภคก็จะข้ามผ่านเป็นพลเมืองที่มีอำนาจของความรู้ และส่งเสียงทางการเมือง บอกว่าฉันขอกำหนดแบบแผนการผลิตอาหารร่วมกับเกษตรกรชาวนาชาวไร่ กำหนดการตลาดหรือการกระจายอาหาร และวิถีการกินของฉันเองบ้าง

จากกินละเมียด สู่ขบวนการอาหารท้องถิ่น ไปทวงคืนระบบอาหาร

จากการเฝ้ามองขบวนการเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นของโลกไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า ขบวนการอาหารท้องถิ่นได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วกว้างขวางทั่วโลกตะวันตก และเริ่มไปเชื่อมโยงกับขบวนการต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์อย่างน่าสนใจ

จากคาร์โล เปตรินี นักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งชื่นชอบและให้ความสำคัญกับศิลปะการปรุงอาหาร ได้ลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ เพื่อต่อต้านการคุกคามของ McDonald ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารโลกที่มาเปิดสาขาในกรุงโรม เมื่อปี 2529 นำมาสู่การก่อนตั้งขบวนการ Slow food ในปี  2532 เพื่อเป็นขั้วตรงข้ามกับอาหารจานด่วนหรือ fast food และนับตั้งแต่การจัดมหกรรมอาหารช้า และเครือข่ายแผ่นดินแม่ Slow food Festival & Terra Madre ในปี 2547 เป็นต้นมา รับรองผู้คนจากทุกสารทิศทั่วโลกทั้งชาวไร่ชาวนา นักปรุงอาหาร เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์สัตว์ ชาวประมง นักเก็บเมล็ดพันธุ์ คนเลี้ยงผึ้ง คนทำขนมปัง นักการศึกษา และนักวิชาการมากมายถึง 170,000 คน (จาก 5,000 คนในปีแรก) เพื่อแลกเปลี่ยนตั้งแต่เรื่องสูตรลับก้นครัว การบริโภคน้ำ อาหารท้องถิ่น ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน จากจุดเริ่มต้นสมาคมคนกินมีรสนิยม ได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเข้มแข็งและเจริญเติบโตให้กับเครือข่ายผู้ผลิตอาหารท้องถิ่น และขับเคลื่อนให้ “อาหารช้า” หมายถึงอาหารที่ดี-สะอาด-เป็นธรรม อันหมายถึงเป็นอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติ “ดี” มีกระบวนการผลิตที่ “สะอาด” เคารพธรรมชาติ และ “เป็นธรรม” นั่นคือผู้ผลิตมีศักดิ์ศรี ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับความนับถือจากผู้บริโภค

ตั้งแต่ปี 2548-49 เราได้เห็นการขยายตัวของขบวนการอาหารท้องถิ่น ที่มุ่งส่งเสริมการผลิตของเกษตรกรขนาดเล็ก เช่นที่ในอเมริกาเรียก “family farm” ผู้บริโภคหันมาแสวงหาอาหารสด ใหม่ ปลูกจากฟาร์มในท้องถิ่นไม่ไกลจากที่ตนอาศัยอยู่ จากตลาดดัดจริตกินของคนมีเงินรักสุขภาพ จำนวนไม่กี่ตลาด ผู้ผลิตขยายตัว ตลาดชาวนา Farmer market ขยายตัวจากนับสิบเป็นนับพันแห่งทั่วยุโรป และอเมริกาในช่วงเวลาเพียงสามสี่ปี ตามด้วยขบวนการ City Farm และเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่คนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่เริ่มขยับไปหาพื้นที่ดินทำการเกษตร สร้างระบบอาหารสมาชิก ผัก Community Support Agriculture: CSA ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายรัฐของอเมริกา

นอกเหนือจากแนวคิด ”อาหารช้า” โปรเฟสเซอร์ทิม ลาง แห่งภาควิชานโยบายอาหาร มหาวิทยาลัยเมืองลอนดอน Food Policy at City University, London ได้พัฒนาวาทกรรม “ประชาธิปไตยทางอาหาร”  ในราวกลางปี 2533 ในการตอบโต้กับการขยายการควบคุมระบบอาหารของบรรษัท และการที่ผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ในระบบอาหาร โดยแนวคิดนี้เสนอว่าพลเมืองมีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายด้านอาหาร และปฏิบัติการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับสากล เป้าหมายของประชาธิปไตยทางอาหารคือการมีหลักประกันการเข้าถึงอาหาร ที่มีราคาเหมาะสม ดีต่อสุขภาพ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมอาหาร และเน้นความเป็นธรรมทางสังคมในระบบอาหาร เพราะเชื่อว่าอาหารคือหัวใจของกระบวนการประชาธิปไตย

เมื่อขบวนการยึดวอลสตรีท Occupied Wall street เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2554 ขบวนการผู้บริโภคอาหารท้องถิ่น เครือข่ายชาวนาขนาดเล็ก เครือข่ายเมล็ดพันธุ์ Seed Growers  ในสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมอย่างแข็งขัน ไม่นานก็เคลื่อนเป็นขบวนการยึดคืนระบบอาหาร Occupied Food System เคลื่อนไหวความคิดทวงคืนระบบอาหารจากการครอบงำของบรรษัทขนาดยักษ์ เดินขบวนไปพร้อมตั้งครัวปรุงอาหารทั้งจากฟาร์มของเครือข่าย และไปเก็บอาหารทิ้งหมดอายุที่ยังกินได้แต่กลายเป็นขยะของซุปเปอร์มาร์เก็ต ในยุโรปมีการจัดขบวนคาราวาน Good Food March 2012 ทั้งคนกิน คนปลูกเดินทางร่วมกัน เริ่มต้นจากหลายเมืองในยุโรป มุ่งหน้าสู่กรุงบรัสเซลล์ในปลายเดือนสิงหาคม 2555 ที่ซึ่งจะมีการตัดสินใจทางนโยบายเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป (Common Agriculture Policy: CAP) เพื่อเรียกร้องนโยบายที่จะสร้างระบบอาหารและระบบการผลิตที่ดี

หันกลับมามองในบ้านเรา คงไม่อาจคาดหวังได้ว่าการเคลื่อนไหวอย่างมีพลังของขบวนการผู้ผลิตเชื่อมโยงกับผู้บริโภคจะเกิดขึ้นรวดเร็วนัก แต่พัฒนาการที่เรียนรู้ได้จากขบวนการผู้บริโภคในโลกตะวันตกก็บอกย้ำกับเราว่า นี่มิใช่ความฝันที่เป็นไปไม่ได้

น่าเสียดายว่า บรรดานักสังเกตการณ์สังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน ยังมิอาจทำความเข้าใจและร่วมขบวนความคิดได้มากนัก จะเป็นด้วยข้อจำกัดใดคงจะได้วิเคราะห์หาทางปรับปรุงปฏิบัติการกันต่อไป และคงจะเป็นประโยชน์กว่านี้มาก หากการวิเคราะห์วิจารณ์จะช่วยชี้ให้เห็นถึงข้ออ่อนอย่างรอบด้าน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมองให้เห็นที่มา ชุดความคิด และพัฒนาการของขบวนที่ปฏิบัติการอยู่

การวิจารณ์ที่ติดกับคำไม่กี่คำ หรือเลือกจากภาพไม่กี่ภาพมากล่าวถึงอย่างบิดเบือน  และเมื่อไปดูท้ายบทความตอนอ้างอิง ก็แทบไม่เห็นว่าศึกษาขบวนที่ทำ ๆ กันอยู่จากเอกสารอะไร ที่จะกล่าวถึงประสบการณ์ประเทศไทย ก็เห็นมีเพียงสารคดีข้าวปลาอาหาร ออกอากาศเป็นซีรีส์ มีทั้งหมดสิบตอน ไม่แน่ใจว่าได้ดูครบทุกตอนหรือไม่ ดังนั้นก็น่าจะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะช่วยกันวิเคราะห์ และพัฒนาขบวนการและปฏิบัติการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดระบบอาหารที่ดีซึงแท้จริงแล้วเป็นของทุกคน

“The most political act we do on a daily basis is choosing what to eat”

(Professor Jules Pretty, University of Essex, UK)

 การปฏิบัติการการเมืองอย่างที่สุดที่เราทำเป็นประจำวัน นั้นก็คือ 

การเลือกว่าจะกินอะไร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท