การเมืองว่าด้วย 'พลังงานไทย' (ตอนที่ 1): ขบวนการ 'สามทวงคืน' ของพันธมิตรเสื้อเหลือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในช่วงระยะสองปีมานี้ ขบวนการโจมตีรัฐบาลและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในประเด็นราคาน้ำมันแพง ได้ขยายตัวขึ้นจนเป็นประเด็นถกเถียงทั่วไป เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่ม “ทวงคืน ปตท.” หรือ “ทวงคืนพลังงานไทย” มีผู้คนเข้าร่วมบนสื่อออนไลน์หลายพันคน แม้แต่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมด้วย

ขบวนการ “ทวงคืน” ดังกล่าว มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ริเริ่มโดยนักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา เริ่มแรกมุ่งโจมตีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยรวม และเน้นไปที่การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 ในเวลานั้น คนพวกนี้กล่าวหาว่า มีการแจกจ่ายหุ้น ปตท.ในหมู่นักการเมืองพรรคไทยรักไทยและเครือญาติ ชูป้าย “ทวงคืนสมบัติชาติ” ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ในกรณีของ ปตท. ก็ได้ไปฟ้องเป็นคดีในศาลปกครอง ให้ยกเลิกการแปลงสภาพ ปตท. ซึ่งยืดเยื้อมาถึงปี 2550

เมื่อเกิดกรณีการจดทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน กลุ่มสันติอโศก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนักการเมือง สว.กลุ่มเผด็จการก็รวมตัวกันเคลื่อนไหว “ทวงคืนแผ่นดินไทย” ฉวยใช้กรณีปราสาทพระวิหาร ปลุกกระแสคลั่งชาติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ปี 2543 ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา

การเคลื่อนไหว “ทวงคืนแผ่นดินไทย” ได้ขยายประเด็นปราสาทพระวิหารไปสู่พื้นที่ทับซ้อนอื่นๆ ตลอดแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา แล้วเอามาผูกโยงกับประเด็นผลประโยชน์พลังงาน โดยลากเส้นพรมแดนของพวกตนลงไปครอบคลุมแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพื่อแสดงว่า การ “สูญเสียดินแดน” บนบกจะนำไปสู่การ “สูญเสียพื้นที่ทางทะเล” ให้แก่กัมพูชาด้วย จากนั้นก็กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบันว่า เป็น “ทุนสามานย์” ขายแผ่นดินไทย (คือปราสาทพระวิหาร พื้นที่ทับซ้อน และพื้นที่ทะเล) ให้กัมพูชา เพื่อแลกกับสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย

กลุ่มสันติอโศกและกลุ่มพันธมิตรฯ สูญเสียมวลชนไปเกือบหมดจากความขัดแย้งกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และความแตกแยกกันเองในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แต่กลุ่ม “ทวงคืน” ก็ยังเคลื่อนไหวต่อไป โดยหวนกลับมาที่ประเด็น ปตท.อีกครั้ง แต่คราวนี้ได้ผนวกเอาประเด็นราคาน้ำมันแพงเข้ามาด้วย กลายเป็น “กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” หรือ “กลุ่มทวงคืน ปตท.” ในปัจจุบัน

ขบวนการนี้จึงอาจเรียกได้ว่า เป็น “ขบวนการสามทวงคืน” คือ ทวงคืนสมบัติชาติ (ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด) ทวงคืนแผ่นดินไทย (ปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน) และทวงคืนพลังงานไทย (ต่อต้าน ปตท.และรัฐบาล กรณีก๊าซและน้ำมัน)

การที่กลุ่มสันติอโศก กลุ่มพันธมิตรฯและสมาชิกวุฒิสภากลุ่มเผด็จการต้องหันมาเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะความเสื่อมทรุดในทางการเมืองและความโดดเดี่ยวไร้มวลชน คนพวกนี้ไม่สามารถดึงดูดมวลชนด้วยการอ้างประชาธิปไตยได้อีกต่อไป แม้แต่การอ้างว่า ต่อสู้เพื่อสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ จึงเหลือแต่ประเด็นราคาน้ำมันแพงอันเป็นความเดือดร้อนร่วมกันของคนส่วนใหญ่ อ้างว่า เป็นประเด็น “ไม่มีสี” เพื่อดึงประชาชน รวมทั้งคนเสื้อแดง มาเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด

คนพวกนี้ดำเนินการอย่างชาญฉลาด โดยการปฏิเสธข้อมูลสาธารณะบางส่วนที่ได้จากรัฐบาลและ ปตท. อ้างว่า เป็น “ข้อมูลเท็จ” ขณะเดียวกัน ก็ใช้ข้อมูลสาธารณะส่วนที่เป็นประโยชน์ เอาไปผสมปนเปกับข้อมูลตัวเลขที่อ้างว่า ได้มาจากแหล่ง “ที่น่าเชื่อถือ” เอาชิ้นส่วนมาประกอบกันเป็นนิทานเรื่อง “กลุ่มผลประโยชน์ครอบงำ ปตท. ปล้นชิงพลังงาน” เพื่ออธิบายว่า นี่คือสาเหตุที่น้ำมันมีราคาแพง

กลุ่มพันธมิตรพวกนี้ลงทุนลงแรงอย่างมาก เอาคนมาอุปโลกน์ตัวเองเป็น “นักวิชาการเครือข่ายพลังงาน” เที่ยวเดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ อ้างอิงตัวเลขข้อมูลจริงปนเท็จ ปลุกกระแสเกลียดชัง ปตท. กระตุ้นให้มีการตั้ง “กลุ่มทวงคืน” ตามที่ต่าง ๆ เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ

คนพวกนี้อาศัยความสลับซับซ้อนของธุรกิจพลังงาน บวกกับความผิดพลาดในนโยบายพลังงานและภาษีของรัฐบาลไทยที่ตกทอดกันมาตั้งแต่ยุค 2520 ถึงปัจจุบัน ใช้เป็นจุดอ่อนในการโจมตีและบิดเบือนความจริง อาศัยความไม่พอใจต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพงเป็นตัวกระตุ้น

และเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมมากที่สุด คนพวกนี้เริ่มต้นจึงยังไม่กล่าวเจาะจงว่า “กลุ่มผลประโยชน์” ดังกล่าวคือใคร แม้หลายครั้งจะกล่าวลอยๆ ว่าเป็น “ทุนสามานย์” (ซึ่งเป็นคำที่พวกพันธมิตรหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวก) จงใจปล่อยให้คนเสื้อแดงที่เข้าร่วมขบวนเข้าใจเอาเองว่า “กลุ่มผลประโยชน์” ที่ว่าคือกลุ่มทุนจารีตนิยม ทั้งที่เป้าโจมตีที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่กรณีการเริ่มเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ยังถูกคนพวกนี้บางคนกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำไปเพื่อต้องการฮุบผลประโยชน์พลังงานในทะเลสามจังหวัดภาคใต้

คนเสื้อแดงที่ไปตามแห่ขบวนการ “ทวงคืนพลังงานไทย” มักจะเป็นกลุ่มที่มีความไม่พอใจพรรคเพื่อไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากประเด็นการแก้ไข ป.อาญา ม.112 กรณีการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เป็นต้น คนเสื้อแดงบางส่วนเชื่อไปถึงขั้นที่ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้หักหลังคนเสื้อแดง หันไป “เกี้ยเซี้ย” สมคบกับพวกจารีตนิยม ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กันในธุรกิจพลังงานโดยผ่าน ปตท.อีกด้วย นัยหนึ่ง เห็นทั้งกลุ่มจารีตนิยมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรูร่วมไปแล้ว

คนพวกนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลังเป็นพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง การตอบโต้คนพวกนี้ก็คือ ต้องเปิดเผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดทางการเมืองและจุดประสงค์ที่แท้จริงของพวกเขา รวมทั้งต้องให้ข้อมูลความจริงที่ชัดเจนแก่ประชาชนในประเด็นเกี่ยวข้องทั้งหมด ในส่วนหลังนี้ ที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงพลังงานและ ปตท. บกพร่องอย่างยิ่งในการชี้แจงให้ทันท่วงที เป็นระบบและชัดเจน

ทั้งหมดนี้ ก็มิใช่เพื่อปกป้อง ปตท.หรือพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อปกป้องขบวนประชาธิปไตย มิให้ไขว้เขวออกไปจากเป้าหมายที่แท้จริงคือ ต่อสู้กับพวกเผด็จการและบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ได้เร็ววัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท