Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


               
จากข้อคิดเห็นของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ในรายการ Wake Up Thailand  ว่าด้วยภาพลักษณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยของประเทศและภูมิภาค ซึ่งถูกนำเสนอคู่กับภาพการหมอบกราบคลานของนิสิตจุฬา เป็นเรื่องที่ดูผิดแผกกับภาพลักษณ์การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่ตอบสนองพลวัตของโลก (Research Base University) ในทางกลับกัน จุฬาฯ ถูกนำเสนอในฐานะ มหาวิทยาลัยพิธีกรรม (Ritual Base University) เรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องแปลกที่ถูกนำเสนอครั้งแรกในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเป็น Ritual Base University ของจุฬาถูกนำเสนอมาอย่างยาวนาน มากกว่าเรื่องขีดความสามารถทางวิชาการหรือวิจัย

สิ่งที่ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ตั้งข้อสังเกตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นประเด็นที่จะเตือนสติประชาคมจุฬาว่า “บางอย่างอาจจะไปด้วยกันไม่ได้”  เช่น หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าเป็น มหาวิทยาลัยที่สืบสานความเชื่อและพิธีกรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการและวิจัยก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือการสืบสานพิธีกรรมนี่แหละที่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านอื่นๆ เป็นที่ยอมรับ บทความนี้จะมุ่งชี้ให้เห็นว่าพิธีกรรมหรือการเป็นสถาบันเน้นพิธีกรรมได้สร้างอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสถาบันการศึกษาด้านวิชาการและวิจัย

ในส่วนแรกจะขอยกประเด็นลักษณะการเป็นองค์กรเน้นพิธีกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลายท่านจะเห็นเฉพาะพิธีกรรมที่อยู่นอกชั้นเรียน แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือพิธีกรรมของจุฬาฯ ปรากฏอยู่ในหลายมิติ มิติแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จุฬาฯ เป็นต้นตำรับของการรับน้องที่ปลูกฝังความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ของมนุษย์ การละลายพฤติกรรมผ่านกิจกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ที่หากคุยกับชาวต่างชาติในสังคมอารยะคงมองว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความคล้ายกับกิจกรรมนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นิสิตที่ปลีกตัวออกจากกิจกรรมเหล่านี้จะถูกแบนและลงโทษทางสังคม กิจกรรมบ้านรับน้องที่เป็นการรับรองเส้นสายและระบบคอนเน็คชั่นของนิสิตระหว่างคณะ

ระบบอุปถัมภ์ของสถาบันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนด้อยทางวิชาการ  และความสามารถของบุคลากร เป็นที่ทราบกันดีว่า บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ มีอภิสิทธิ์ในการสอบเข้ารับราชการในกระทรวงหลักของประเทศ ด้วย "สี" ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องกลายเป็นเรื่องของ Know Who ที่สำคัญกว่า Know How ในท้ายสุด

พิธีกรรมของจุฬาฯ ยังคงปรากฏในระบบการเรียนการสอน ระบบการเรียนแบบแพ้คัดออกและการมีเสรีภาพทางวิชาการที่ต่ำโดยเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำในระดับเดียวกัน (อย่าเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศนี้ที่มีเสรีภาพต่ำในระดับใกล้เคียงกัน) การสร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความคิดต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างสำนักคิด มหาวิทยาลัยวิจัยในอุดมคติคือมหาวิทยาลัยที่ปราศจากอำนาจ อาณาจักรและศาสนจักรที่จะคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับที่ผู้สอนต้องเป็นกลางหรือปราศจากอุดมคติทางการเมือง ผู้สอนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก “ระบบคิด” ของตนอย่างเสรีและไม่ถูกคุกคาม แต่จารีตของมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุฬาฯ ไม่เอื้อให้เกิดเงื่อนไขนั้น

หากจำกันได้เมื่อ 4-5 ปีก่อน ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกรณีพิพาทในกรณีการปฏิเสธเผยแพร่งานเขียนของ รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ แน่นอนว่าเป็นสิทธิของศูนย์หนังสือที่จะเลือกเผยแพร่งานชิ้นใด แต่สิ่งที่จุฬาลงกรณ์ต้องขบคิดคือ เส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐกับเสรีภาพของงานเขียนที่มีความเป็นวิชาการควรจะอยู่ที่ใด กรณีของอาจารย์ใจ อาจเป็นกรณีสุดโต่งไปอีกด้านหนึ่ง แต่เราก็จะพบระบบจารีตในทางวิชาการที่มากมายที่อาจไม่ใช่เรื่องการสกัดกั้น แต่การมุ่งตาม Impact Factor จากการตีพิมพ์บทความ  เพียงลำพังก็ได้เพียงแค่ตัวบ่งชี้เชิงปริมาณ แต่ข้างในความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยกลับกลวงเปล่า เพราะองค์ความรู้มิใช่เกิดขึ้นจากการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร หากแต่เกิดจากการถกเถียงและเปิดกว้างในสังคมอารยะอย่างเท่าเทียม

จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ “ตาย” ไม่มีชีวิต นั่นก็ด้วยพิธีกรรมบางอย่างที่ปลูกฝังมา ในทางภูมิทัศน์จุฬาฯ มีลักษณะคล้ายวัด อุทยาน มีความคล้ายกับพุทธมณฑล (พุทธอุทยาน จังหวัดนครปฐม) มากกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย หรือวิชาการ พื้นที่ถูกทำให้สะอาดตา การติดใบปลิวโฆษณาทางการเมืองในพื้นที่ส่วนมากเป็นสิ่งต้องห้าม การทำกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยเหมือนโรคร้ายของคนเสียสติ (เว้นแต่กิจกรรมจารีตที่ได้รับอนุญาต) การสัมมนาทางวิชาการถูกทำให้เป็นทางการเพื่อวิ่งตามตัวชี้วัดของ สกอ.และ สมศ.เมื่อรวมกับความอนุรักษ์แบบจุฬาฯ ทำให้งานสัมมนาวิชาการเป็นเรื่องของการเชิญผู้วิเศษมาบรรยาย มากกว่าการจัดงานเพื่อปฏิสัมพันธ์กันอย่างคนที่เท่าเทียม มหาวิทยาลัยวิจัยต้องเป็นพื้นที่สำคัญที่มนุษย์จะปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียม จึงจะสามารถสร้างองค์ความรู้ที่ตอบสนองต่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ การคิดดำริจินตนาการจากคนส่วนน้อยองค์ความรู้ที่ได้ก็ไม่ต่างจาก ชุดศีลธรรมที่มีไว้ควบคุมความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่อไป

สำหรับผม พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นคนที่น่าเคารพอย่างยิ่งมิใช่ในฐานะอาจารย์แต่ในฐานะมนุษย์ มนุษย์ที่พร้อมจะปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างมนุษย์ด้วยกัน ข้อตักเตือนของท่านเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาคมจุฬาฯ บทความนี้เพียงต้องการยกให้เห็นว่า  Ritual Base ของสถาบันแห่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพทางวิชาการและการวิจัยของสถาบันแห่งนี้ และสถาบันการศึกษาอื่นที่กำลังมุ่งเดินตามเส้นทางนี้โดยไม่ตั้งคำถามอะไร

 

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: คุณูปการของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ต่อประชาคมจุฬา : ภาพลักษณ์ของจุฬาฯในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยที่ก้าวไม่พ้นแนวคิดอนุรักษ์นิยม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net