Skip to main content
sharethis

ระบุการรีบเขียนคำวินิจฉัยอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ โดยคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องเริ่มด้วยคำวินิจฉัยที่มีข้อเท็จจริงยุติก่อน และค่อยตามด้วยข้อกฎหมาย แต่ที่ผ่านมากลับนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาก่อน แล้วค่อยมาเป็นถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริง เช่นคดีสมัคร สุนทรเวช กรณี "ชิมไปบ่นไป"

แฟ้มภาพนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มา: Wikipedia)

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (15 มี.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้จัดโครงการสัมมนาสื่อมวลชน ประจำปี 2556 ที่โรงแรมนาน่า รีสอร์ท  แอนด์สปา จ.เพชรบุรี  หัวข้อ การรักษาดุลยภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเจษฎ์  โทณะวณิก ผู้อำนวยการมหาบัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมเสวนา

ในระหว่างการสัมมนา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายนครินทร์  ถึงในเรื่องของบทบาทหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการให้เป็นที่ยอมรับจะต้องปรับบทบาทอย่างไร นายนครินทร์ ได้แนะนำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีการปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับ ด้วยการเข้าถึงสื่อมวลชนให้มากขึ้น เพราะการตัดสินคดี ต้องมีการอธิบายและขยายความเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ซึ่งตัวตุลาการจะพูดแต่ตัวคำวินิจฉัยอย่างเดียว คนฟังก็จะเข้าใจยาก ดังนั้นน่าจะมีกลไกมาช่วยสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจการพิจารณาคดีมากขึ้น

ขณะนั้นนายวสันต์ ได้แย้งขึ้นว่าสาเหตุที่ประชาชนเกิดความเข้าใจคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายากขึ้นนั้น เกิดจากสื่อมวลชนไม่ได้มีการนำเสนอผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  อาทิ ล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคชีวิตที่ดีกว่า และวินิจฉัยชี้ว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 41 ขัดกับรัฐธรรมนูญ นั้น ก็ไม่ได้มีการถูกนำไปเสนอเป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งที่เรื่องทั้งสองเป็นกรณีที่สำคัญ

ขณะที่นายวสันต์ กล่าวชี้แจงต่อว่า เราก็คำนึงถึงสังคมว่า เราไม่ควรมานั่งฟังคำวินิจฉัยของศาล แต่บางครั้งคำวินิจฉัยนั้นเข้าใจยาก เหมือนอย่าง “สุขเอาเผากิน” ดังนั้น คำวินิจฉัยต้องมีการอ่านในวันนั้น และเจ้าหน้าที่ก็ต้องยกร่างคำวินิจฉัย ณ วันนั้น ต้องเร่งทำคำวินิจฉัย ทำให้มีข้อผิดพลาดได้ง่าย ตนเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องมีคำวินิจฉัยที่มีข้อเท็จจริงยุติก่อน และค่อยตามด้วยข้อกฎหมาย แต่ที่ผ่านมากลับนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยก่อน แล้วค่อยมาเป็นถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงไม่ต้องการเอาแบบ “สุขเอาเผากิน” อย่างกรณีคำวินิจฉัย คดีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการชิมไปบ่นไปเป็นต้น

เมื่อเราได้มติเสียงข้างมากในห้องประชุม เราก็เอาคำวินิจฉัยมาปรับปรุงและนำมาเขียนเป็นร่างคำวินิจฉัย ซึ่งจะดูเนียนกว่าเดิม และเร็วขึ้นด้วย เพราะหลังจากอ่านคำวินิจฉัยผู้ร้องและผู้ถูกร้องสามารถมาคัดลอกคำวินิจฉัยได้อีก 15 วันถัดมา ตรงกับวิธีการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอ่านได้ทันและเร็วขึ้น เพราะมีการเตรียมการล่วงหน้า แต่ไม่ใช่เป็นการฟันธงไว้ล่วงหน้า ซึ่งเราจะมีการเขียนคำวินิจฉัยไว้หลายๆ แบบ หากผลคำวินิจฉัยที่มีการถกเถียงกันออกมาเป็นอย่างไร ก็ค่อยนำร่างที่ร่างไว้มาเขียนเป็นคำวินิจฉัย แต่ในบางครั้งคนเราหรือแม้กระทั่งตัวตุลาการแต่ละท่านก็มีความเข้าใจในคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงมีทีมโฆษกไว้ตอบคำถามสื่อมวลชน เพื่อให้หายข้อข้องใจ แต่สื่อมวลชนก็ต้องพยายามที่จะเข้าใจ

จากนั้นผู้ร่วมสัมมนาได้สอบถามนายวสันต์ถึงกรณีข้อกล่าวหาข้อครหาว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นตุลาการภิวัฒน์  โดยนายวสันต์ ตอบว่า หากไม่มีใครทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีคดีเข้ามาให้ศาลพิจารณา ตัวเขาก็พร้อมตกงาน แต่ปรากฎว่าก็มีการทำผิดกันมาเรื่อยๆ  ยิ่งถ้าคนทำผิดเป็นคนของตัวเองก็อยากให้ศาลวินิจฉัยให้ชนะ แต่ถ้าไม่ใช่ก็อยากให้แพ้ อีกทั้งก็มีการกล่าวหาว่าการพิจารณาของศาลมีการตั้งธงมาก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วกว่าที่จะตัดสินได้ เราใช้เวลานานมากพอสมควร ดังนั้นอย่ามองว่าศาลเป็นพวกของคนนี้เป็นพวกคนนั้น

"การยื่นร้องประเด็นน้ำท่วม ของแจก ต้องบอกว่าเวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน  จะหวังให้ทุกคนทำถูกต้องตามเงื่อนไขไม่ไหวหรอก  เราก็จำหน่ายคำร้องหมดทั้งคู่  เมื่อจำหน่ายเขาก็ว่าเราทั้งนั้น ไม่มีใครพอใจ จริงๆ ถ้าไม่มีใครทำผิด  เราก็ไม่ต้องทำหน้าที่ เราก็สบาย เพราะฉะนั้นจะทำผิดกันทำไม  สังคมอยากทำผิดแต่ไม่อยากถูกลงโทษ สังคมไทยมันเป็นอย่างนี้" ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net