Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์นักข่าวอาวุโส “อัศโตรา ชาบัต” 30 ปีในมาเลเซีย สะท้อนความเคลื่อนไหวและข้อถกเถียงภายในของกลุ่มนักสู้เพื่อเอกราชฟาฏอนีย์ในฝั่งมาเลย์ มั่นใจไม่ใช่ละครตบตา ย้ำทั้งไทยและมาเลย์ต้องสร้างภาวะที่เอื้อต่อการพูดคุย เพื่อแก้ปัญหา มิฉะนั้นก็จะต่อสู้กันไปอีกนานเท่านาน

การลงนามเพื่อริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับนายฮัซซัน ตอยิบ ผู้แทนของขบวนการบีอาร์เอ็น ที่เปิดเผยต่อสาธารณะชน ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่มุมที่เป็นบวกต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรง และในแง่มุมที่เป็นลบจากการตั้งข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนของกระบวนการดังกล่าวจากหลายภาคส่วน

กว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวได้รับการส่งเสียงผ่านช่องทางสื่อสารและวงพูดคุยทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่เสียงที่เราไม่ค่อยได้ยินมากนัก คือเสียงสะท้อนและข้อถกเถียงภายในกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชฟาฏอนีย์โดยเฉพาะบรรยากาศในประเทศมาเลเซีย

ในช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสสัมภาษณ์ “อัศโตรา ชาบัต” ผู้สื่อข่าวอาวุโส ที่ระบุว่าหลังวันลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ไม่กี่วัน เขาได้เดินทางข้ามแดนไปสนทนากับบรรดาผู้ที่เคลื่อนไหวและเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยฟาฏอนีย์หลายกลุ่มในฝั่งมาเลเซีย โดยอาศัยสายสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นคนชายแดนใต้ ที่ไปประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในมาเลเซียร่วม 30 ปี

“คนที่ผมไปคุยด้วยมีหลายกลุ่ม มีทั้งขบวนการบีอาร์เอ็น ทั้งบีอาร์เอ็น โคออดิเนต และบีอาร์เอ็น คองเกรส ซึ่งตอนนี้ก็รวมกันเป็นบีอาร์เอ็น (BRN) เฉยๆ กลุ่มพูโล บีไอพีพี ซึ่งหลายคนในที่นี้ได้เลิกเคลื่อนไหวแล้ว บางคนหันไปทำงานด้านศาสนา ไม่ยุ่งกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มี”

 

คนที่อยู่ในมาเลย์ยังระแวง

อัศโตรา ซึ่งเพิ่งเขียนรายงาน “สะสางความสับสนหัวหน้าขบวนการต่างๆ ที่มาเลเซีย” ตีพิมพ์ในวารสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับล่าสุดอธิบายว่า คนที่เคยต่อสู้เหล่านี้ที่ย้ายไปอยู่ประเทศมาเลเซียนั้นมีทั้งที่ยังเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้และอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นเพียงอดีตนักต่อสู้ที่ปักหลักทำมาหากินในมาเลเซียอยู่ในปัจจุบันและไม่คิดจะกลับบ้านอีกแล้ว”

“คนในกลุ่มหลังนี้ก็เหมือนกันคนในพื้นที่ ซึ่งมีทัศนะต่อการลงนามดังกล่าวด้วยความสงสัยและหวาดระแวง เพราะในอดีตนั้น พวกเขาก็มีประสบการณ์ในการพูดคุยกับรัฐไทยมาแล้วหลายครั้ง และมีบทเรียนว่า สุดท้ายก็มีการจับกุมตัว หรือถูกทางการมาเลเซียควบคุมตัวและส่งข้ามแดนมาให้ฝ่ายไทยหลายครั้ง”

“อย่างกลุ่มพูโลที่เคยเข้าร่วมพูดคุยเจรจากับรัฐไทยมาแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็มีคนเข้าไปคุยด้วยแล้วกลับเจอกับปัญหา กลับถูกจับตัว อย่างเช่น อิสมาแอ ท่าน้ำ และ ฮัจญีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ บางคนก็ถูกอุ้มฆ่า คนที่อยู่ในมาเลเซียก็จะกลัวว่าจะเป็นอย่างนั้นอีก”

แม้ว่าจะมีความหวั่นเกรงอยู่ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาเองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก สำหรับพวกหัวแข็งหน่อย อัศโตราบอกว่า คนกลุ่มนี้จะไม่ยอมรับการพูดคุยกับรัฐไทย พวกเขาต้องการกลับบ้านอย่างภาคภูมิใจ แต่สำหรับคนที่ปักหลักอยู่ที่มาเลเซียนั้น เป็นกลุ่มที่ง่ายต่อการถูกกดดันจากทางการมาเลเซียอยู่แล้ว พวกเขาต้องทำตามแรงบีบ แต่ถึงเป็นอย่างนั้น หากรัฐบาลไทยจริงใจและรัฐบาลมาเลเซียตั้งใจจริงก็อาจทำให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในทางกลับกันหากใช้กำลังเข้ากดดัน ปัญหาก็อาจจะไม่จบเช่นกัน

ส่วนท่าทีของคนในกลุ่มแรก ซึ่งยังเป็นกลุ่มคนที่ยังเกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็มีความคิดเห็นต่อกรณีการลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่แตกต่างกันอยู่เช่นกัน อัศโตรา ให้ภาพว่า ในบีอาร์เอ็นก็มีทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราบ คนกลุ่มแรกมองว่าการพูดคุยเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่สายพิราบนั้นกลับมองว่าการพูดคุยกับรัฐบาลไทยน่าจะเป็นวิธีการที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

เขาประเมินว่า คนที่มีความคิดในสายพิราบนั้น น่าจะมีจำนวนมากกว่า โดยที่ ฮัซซัน ตอยิบ เองก็ถือเป็นคนที่มีความคิดออกไปในทางสายพิราบ แม้แต่คนที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทหารในพื้นที่บางคนก็มีแนวคิดโน้มเอียงในสายพิราบที่มองเห็นความจำเป็นของการพูดคุยกัน

 

คนในสายเหยี่ยวจะติดตามการพูดคุยต่อไป

ส่วนท่าทีของคนในสายเหยี่ยว เท่าที่พูดคุยมา อัศโตราบอกว่า ในตอนแรกพวกเขาอาจจะยังระแวงอยู่บ้าง แต่ในตอนนี้หลังจากพิจารณาว่า ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียออกแรงสนับสนุนกระบวนการนี้อย่างเต็มที่ก็ทำให้พอประเมินได้ว่า การพูดคุยดังกล่าวไม่น่าจะเป็นละครการเมือง ท่าทีของพวกเขาในตอนนี้คือไม่ถึงกับคัดค้าน แต่เฝ้าดูกระบวนการหลังจากนี้ต่อไป

“หากเป็นละคร ความน่าเชื่อถือของรัฐไทย รวมทั้งมาเลเซียก็จะหมดไปแน่นอน” อัศโตราอ้างถึงเหตุผลของพวกเขา

อัศโตรา ระบุต่อไปว่า แม้ ฮัซซัน ตอยิบ จะเป็นคนที่มีแนวคิดสายพิราบ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นผู้นำระดับสูงสุด ตนไม่แน่ใจว่าฮัซซันจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการเคลื่อนไหวมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ บีอาร์เอ็นไม่ได้นำโดยตัวผู้นำสูงสุด แต่ตัดสินใจโดย DPP หรือ Dewan Pimpinan Parti หรือสภาองค์กรนำที่มีอยู่หลายคน กล่าวคือยังมีคนที่อยู่เหนือขึ้นไปจากฮัซซันอีก

“ฮัซซันเป็นเพียงคนที่รัฐไทยรวมทั้งมาเลเซียเข้าถึงได้เท่านั้น ถ้าหากกระบวนการพูดคุยล้มเหลวหรือนายฮัสซันคนนี้ถูกเล่นงาน เขาก็จะถูกตัดออกไปจากขบวนการทันที เขาก็จะกลายเป็นคนธรรมดา ดังนั้น สถานะของนายฮัสซันจึงมีความเสี่ยงมาก”

แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ว่าจะมีความจริงใจมากน้อยเพียงใด หากมีความจริงใจ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็จะหยุดเอง แต่ถ้าไม่จริงใจกระบวนการทั้งหมดก็จะถูกตัดทิ้ง รัฐก็ต้องมาเริ่มใหม่อีกครั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่ หรือจนกว่ารัฐไทยจะหาจุดที่สามารถเริ่มกระบวนการพูดคุยต่อไปได้อีกครั้ง

อัศโตรา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ท่าทีที่แตกต่างระหว่างสายเหยี่ยวกับสายพิราบในบีอาร์เอ็นอีกเรื่องหนึ่งในขณะนี้ก็คือ ระดับของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ในมุมของฝ่ายพิราบนั้น พวกเขาต้องการให้การเจรจาต่อรองนั้นเป็นเรื่องของรัฐไทยกับประชาชนปาตานี ไม่ใช่เพียงแต่บีอาร์เอ็นเท่านั้น

“ประชาชนในที่นี้ มีที่มาจากหลากหลายกลุ่มในพื้นที่ ซึ่งมีฐานคิดมาจากการมองว่า การต่อสู้ในขณะนี้ไม่ใช่เป็นสงครามกองโจร แต่เป็นสงครามของแนวร่วม (Partisan Warfare) ดังนั้นจึงต้องให้บทบาทกับกลุ่มประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่มบีอาร์เอ็นได้แสดงบทบาทด้วยเช่นกัน”

พวกเขาคิดว่าบีอาร์เอ็นอาจเป็นเพียงตัวกลางที่ทำให้รัฐกับประชาชนได้พูดคุยกันเท่านั้น หากประชาชนยอมรับให้มีการหยุดยิง ก็จะสามารถหยุดยิงได้จริง แม้ว่าจะมีมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ก็ตาม

“แต่ข้อเสนอนี้ยังมีปัญหาอยู่ เพราะคนที่อยู่ในสายเหยี่ยวต้องการให้เป็นการเจรจาระหว่างรัฐกับคนของขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้น”

 

มั่นใจไม่ใช่ละครตบตา

อัศโตรา ย้ำว่า ตนมีความมั่นใจว่า การพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการหลอกลวง เพราะมั่นใจในบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ และมั่นใจว่าทางการมาเลเซียมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

ตนมองว่า หากมาเลเซียไม่มีส่วนช่วยเหลือก็จะประสบกับปัญหาต่อไป มาเลเซียเองต้องการให้เกิดความสงบ รวมทั้งเงื่อนไขที่จะเกิดการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนที่ไม่ต้องการความขัดแย้งแบบนี้ รวมไปถึงท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้ดินแดนในแถบนี้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการก่อการร้าย ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเองก็ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ส่วนประเทศในสหภาพยุโรปเองก็ไม่ต้องการให้มีการใช้กำลังอย่างที่เป็นอยู่เช่นกัน

ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าสู่การพูดคุยของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้นเป็นการบังคับฝืนใจ ซึ่งอาจส่งผลให้การพูดคุยสันติภาพไม่มีความยั่งยืนนั้น อัศโตรา อธิบายว่า เท่าที่เขาทราบ คนที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้ถูกบังคับทุกกลุ่ม

แต่แม้จะมีการบีบบังคับก็ถือเป็นเรื่องที่ธรรมดา เพราะการเริ่มต้นพูดคุยในลักษณะนี้ก็เป็นเหมือนความขัดแย้งในหลายๆ ที่ เช่นในกรณีของอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าต่อจากนี้หากประเทศมาเลเซียและประเทศไทยไม่สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้กับการพูดคุย (conducive) กระบวนการก็จะไม่สามารถทำให้กลุ่มต่างๆ ยอมรับได้ ปัญหาก็จะยังไม่จบ การสู้รบก็จะทำกันต่อไป คนที่ออกมาพูดคุยในครั้งนี้ก็จะตกเป็นแพะรับบาปในที่สุด

“การลงนามในครั้งนี้อาจเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ถ้ามีสภาวะที่ดี ที่เอื้อ กระบวนการมันก็เดินไปได้” ผู้สื่อข่าวอาวุโสตั้งข้อสังเกต

 

ออโตโนมี เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ส่วนเงื่อนไขที่ว่าการพูดคุยจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทยนั้นส่งผลให้เกิดคำถามในบรรดาผู้ที่เคลื่อนไหวในมาเลเซียหรือไม่อย่างไร อัศโตรา อธิบายว่า คนในขบวนการรู้เรื่องรัฐธรรมนูญไทยเป็นอย่างดี

เท่าที่เขาทราบ คนที่เคลื่อนไหวเหล่านี้รับได้ในเรื่องการปกครองพิเศษตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป้าหมายของขบวนการนั้นมี 3 เป้าหมายหลัก เป้าหมายสูงสุด คือ เอกราช เป้าหมายที่สอง คือรวมกับมาเลเซียในฐานะรัฐหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายนี้เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในปัจจุบัน

“เป้าหมายที่สาม คือ ออโตโนมี ซึ่งถูกต้องแล้วที่รัฐไทยจะให้ตรงนี้ แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อเสนออะไร คำว่าออโตโนมีไม่ได้หมายความว่าต้องแยกรัฐออกไป แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคำๆ นี้ยังเป็นคำแสลงสำหรับสังคมไทยเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม อัศโตรา กล่าวด้วยว่า หากฝ่ายขบวนการยังไม่รับรูปแบบดังกล่าว รัฐไทยก็มีกำลังพอที่จะสามารถสู้รบกันไปได้อีกนานเท่านาน ส่วนฝ่ายขบวนการก็ไม่มีปัญหา เพราะสามารถสู้รบกันต่อไปได้เช่นกัน แต่ปัญหาก็จะไม่จบ

ในฐานะนักสังเกตการณ์ อัศโตรา เสนอว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งรัฐไทยและขบวนการจะต้องใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา เพื่อที่จะให้มีการพูดคุยเจรจากันต่อไป โดยต้องไม่คิดว่าเป็นการเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะต้องแพ้ แต่ให้เป็นการแก้ปัญหาที่สามารถจะชนะทั้งสองฝ่าย (win - win) แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลานาน

ในขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพมากยิ่งขึ้นเนื่องจากเรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการแก้ปัญหา ส่วนจะเป็นไปในรูปแบบไหนนั้น ก็จะต้องช่วยกันคิดและร่วมกันทำงาน

อัศโตรายังเตือนสังคมไทยด้วยว่าอย่ามองเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องการเมืองของกรุงเทพเท่านั้นแต่ต้องพยายามมองในมุมบวก เพราะไม่มีใครต้องการให้ปัญหาคงอยู่ตลอดไป แม้แต่ฝ่ายขบวนการเองที่จับอาวุธต่อสู้ พวกเขาก็มีเป้าหมายเพื่อสันติภาพด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net