Skip to main content
sharethis

ชาวโรฮิงยาที่ลี้ภัยจากพม่าไปยังมาเลเซียได้สำเร็จ บางคนเกิดอยากมีคู่จึงใช้บริการจัดหาผู้หญิงในบ้านเกิดมาแต่งงานด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่า 'เจ้าสาวจัดส่ง' ผู้ไม่มีสัญชาติและอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จะต้องเผชิญความเสี่ยงอะไรบ้าง

 

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2013 มาเฮอร์ สัตตา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานเรื่องราวของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียที่ใช้บริการ 'เจ้าสาวทางไปรษณีย์' จากท้องถิ่นเดิมเพื่อมาเป็นคู่ชีวิตในมาเลเซีย

ในรายงานกล่าวถึงชายชาวโรฮิงยาที่ชื่อ ชัมซุล อะลาม ผู้ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยร้านขายผ้าและคนงานก่อสร้างหลังจากอพยพจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ไปยังประเทศมาเลเซีย ชัมซุล เล่าว่าเขาต้องทำงาน 12-14 ชั่วโมงต่อวันในไซต์งานก่อสร้าง ก่อนจะต้องรีบทานอาหารและหลบหนีไปอยู่บนภูเขาเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ทางการ

แต่ ชัมซุล ชายอายุ 30 ปีผู้นี้ก็เกิดอารมณ์กวีขึ้นมาเมื่อพูดถึงเรื่องที่เขาอยากแต่งงาน "ถ้าผู้ชายจะมีชีวิตอยู่ได้ เขาต้องมีผู้หญิงอยู่ด้วย ...คนเราต้องการคู่ชีวิตเพื่อจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้"

อย่างไรก็ตาม อัลจาซีร่าเปิดเผยว่า นอกจากชัมซุลแล้ว ชาวโรฮิงยาหลายคนที่อพยพไปใช้ชีวิตในมาเลเซียก็ประสบปัญหาเรื่องการหาคู่ชีวิตเช่นกัน จากการที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนที่มีสถานะทางสังคมต้อยต่ำ

"มีช่องว่างทางสังคมกว้างมากระหว่างชายชาวโรฮิงยากับผู้หญิงชาวมาเลย์" คริส เลวา ผู้อำนวยการอาระกันโปรเจกต์ องค์กรสนับสนุนด้านสิทธิให้กับชาวโรฮิงยากล่าว "พ่อของผู้หญิงชาวมาเลย์คงไม่อยากให้ลูกสาวกับคนที่บุคคลไร้สัญชาติ"

จากสภาพเช่นนี้ทำให้มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นคือ 'เจ้าสาวจัดส่ง' ของชาวโรฮิงยาในมาเลเซีย


กระบวนการจัดส่งเจ้าสาว

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เคยกล่าวไว้ว่าชาวโรฮิงยาไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดในโลก พวกเขาถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างขณะอยู่ในพม่า ทั้งการเดินทาง การแต่งงาน และการมีลูก

มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาอยู่ราว 30,000 คนที่หนีจากความรุนแรงด้านเชื้อชาติในบ้านเกิดไปยังมาเลเซีย โดยกลุ่มคนส่วนมากที่เดินทางล่องเรือหนีมาเป็นชายโสด

เลวา เปิดเผยว่าในอดีตชายชาวโรฮิงยาจำนวนมากจะแต่งงานกับชาวอินโดนีเซียที่ไม่มีเอกสารรับรองหรือไม่ก็หญิงมุสลิมชาวพม่า แต่ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีการส่งตัวเจ้าสาวโรฮิงยาจากหมู่บ้านผ่านสายการบิน

โดยนักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทำการประมาณจำนวนว่ามีเจ้าสาวชาวโรฮิงยาหลายร้อยคนถูกส่งข้ามประเทศตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยปีที่แล้วมีการส่งตัวเจ้าสาวข้ามประเทศถึง 67 ราย

ดีน โมฮัมเหม็ด ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเลดาในเมืองค็อกส์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ เล่าว่า ในค่ายผู้อพยพของเขามีชายหลายคนที่เคยเดินทางไปมาเลเซียแล้วเรียกร้องให้ช่วยส่งตัวผู้หญิงให้ไปแต่งงานด้วย

อัลจาซีร่าเปิดเผยว่าในกรณีนี้จะมี 'นายหน้า' รวมถึงสมาชิกครอบครัวที่อาศัยทั้งในพม่าและในค่ายผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศเพื่อตามหาผู้หญิงที่มีคุณสมบัติตามต้องการ เมื่อหาพบแล้วก็จะมีการเจรจาตกลงกัน ฝ่ายผู้สู่ขอ ซึ่งมักจะเป็นพ่อแม่ของเจ้าบ่าวจะตกลงกับพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งมักจะมีเรื่องของสินสอดหรือเงินรายเดือนมาเกี่ยวข้องด้วยโดยมักไม่ค่อยมีการปรึกษาตัวผู้หญิงก่อน

จากนั้นฝ่าย 'นายหน้า' จะจัดเตรียมสิ่งต่างๆ อย่างพาสปอร์ตปลอม, ตั๋วเดินทาง และเอกสารอื่นๆ ให้สำหรับผู้หญิงกับคนเดินทางร่วมกับเธอซึ่งมักแสดงตัวว่าเป็นสามีของเธอเพื่อให้สามารถผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้


หันมาเดินทางผ่านเครื่องบิน หลังทางการไทยไล่ชาวเรือ

อัลจาซีร่ากล่าวว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการส่งตัวเจ้าสาวผ่านทางเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของไทยที่มีต่อผู้ลี้ภัยที่อพยพมาทางเรือ เมื่อก่อนทางการไทยแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในเรื่องนี้ แต่ในปี 2009 ทางการไทยได้ผลักให้ผู้ลี้ภัยซึ่งต้องการอาศัยประเทศไทยในการเดินทางไปมาเลเซียกลับลงสู่ทะเล เป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยต้องเสี่ยงกับภาวะขาดน้ำและปัญหาสุขภาพ ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสการโดยสารเครื่องบินราคาถูกในเอเชีย โดยสายการบินอย่างแอร์เอเชียได้เพิ่มเส้นทางอีกจำนวนมากในปี 2008

นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็ดูรับได้มากกว่ากับการส่งตัวเจ้าสาวผ่านเครื่องบินแทนการให้ลูกสาวตัวเองต้องเสี่ยงกับการเดินทางบนเรือเล็กๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ชายเปลี่ยวอย่าง ชัมซุล อะลาม ได้ใช้เงินสะสมของเขาไปกับการหาตัวเจ้าสาว จ่ายให้นายหน้า และจ่ายค่าเครื่องบิน

ดีน โมฮัมเหม็ด เปิดเผยอีกว่า การนำตัวเจ้าสาวส่งผ่านเรือในปัจจุบันมีราคาสูงกว่าการนำตัวเจ้าสาวผ่านเครื่องบิน โดยนายหน้าจะชาร์จค่าส่งผู้หญิงตัวผ่านเรือราว 2,280 ดอลลาร์ (ราว 67,000 บาท) ขณะที่ค่าตั๋วเครื่องบินจะตกอยู่ประมาณ 1,500 ดอลลาร์ (ราว 44,000 บาท) ค่าพาสปอร์ทและค่าเอกสารอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 250 ดอลลาร์ (ราว 7,400 บาท)

แต่อย่างไรก็ตาม ดีน บอกว่ามีผู้ลี้ภัยหลายคนที่ไม่สามารถเลือกให้เดินทางโดยเครื่องบินได้ จากการที่ไม่สามารถจัดหาพาสปอร์ทและเอกสารอื่นๆ ได้


อนาคตที่ไม่แน่นอนของ 'เจ้าสาวไร้สัญชาติ'

ซเยด คาริม ผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศที่เตรียมส่งลูกสาวผ่านเรือเพื่อไปแต่งงานที่มาเลเซียยังมีความกังวลกับสถานการณ์ เขารู้เพียงแค่ว่าเขาต้องส่งเงินที่ได้จากเจ้าบ่าวไปที่หนึ่งแล้วจะมีคนมารับลูกสาว โดยที่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครรู้แค่ชื่อของเขา คาริมยังกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาวอายุ 21 ปีของเขา และลูกสาวเขาก็กังวลว่าจะไปถึงตัวเจ้าบ่าวได้อย่างไร

โมฮาเหม็ดเล่าว่าบางครั้งการเดินทางก็กลายเป็นโศกนาฏกรรม โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าสาวโรฮิงยาสองคนที่เดินทางด้วยเรือจากค็อกส์บาซาร์ไปยังมาเลเซีย ก็ประสบเหตุเรือล่มเนื่องจากคลื่นลมแรง

นอกจากความไม่แน่นอนในการเดินทางแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นของเจ้าสาวโรฮิงยาก็ไม่มีอะไรคาดเดาได้เช่นกัน

โมฮัมเหม็ด เล่าเรื่องของผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชายในมาเลเซียแล้วพบว่าเขามีเมียแล้วกับลูกอีกสองคน มีการยกเลิกการแต่งงานและฝ่ายหญิงก็อยู่ในภาวะตกปลัก

"พ่อแม่ของเธอไม่ได้ข่าวอะไรจากเธอเลยหลายเดือน ไม่รู้ว่าเธอเป็นตายร้ายดีอย่างไร จนกระทั่งเธอสามารถติดต่อพ่อแม่ได้และบอกพวกเขาว่าเธอตั้งใจจะหาสามีใหม่" โมฮัมเหม็ดเล่า

ทางด้านเลวากล่าวแสดงความกังวลเรื่องอนาคตของผู้หญิงซึ่งกลายคนยังอายุไม่มากนัก เลวาบอกอีกว่าผู้หญิงเหล่านี้จะอยู่ภายใต้ความควบคุมของสามี และสามีก็ไม่ยอมให้เธอออกไปข้างนอกเพราะกลัวเธอถูกจับจึงเป็นเรื่องยากที่จะติดต่อกับผู้หญิงที่ข้ามมาแต่งงาน

"กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอได้แสดงความกังวลว่าจะเกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวในชุมชนชาวโรฮิงยา อย่างน้อยในหมู่บ้านที่พม่าคุณก็ยังมีญาติหรือผู้ใหญ่บ้านคอยช่วยเหลือ" เลวากล่าว "เจ้าหญิงแรกรุ่นไม่มีสัญชาติที่มาอยู่ในประเทศต่างแดนมีความเสี่ยงที่จะถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐและคนในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ยังเสี่ยงต่อการถูกรังแกโดยผู้ลี้ภัยในชุมชนเดียวกันด้วย"


เรียบเรียงจาก

Rohingya refugees import 'mail-order' brides, Aljazeera, 17-03-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net