Skip to main content
sharethis

 

ใกล้ถึงวันหยุดส่งก๊าซจากพม่า 5-14 เม.ย.ไปทุกที แต่ข่าวสารตลอดเดือนที่ผ่านมาก็น่าจะทำให้เรื่องวิกฤตไฟฟ้าเริ่มคลี่คลายลงแล้ว หลายคนเบาใจกับสถานการณ์ที่ การไฟฟ้าทั้งสาม น่าจะ “เอาอยู่” เหลือไว้แต่เพียงร่องรอยความทรงจำว่า “ก๊าซไม่แน่ไม่นอน ถ่านหินสิแน่นอนกว่า”  ถึงขั้นที่ กฟผ.เตรียมชงให้ถ่านหินเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเราใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้ามากเกินไป (เกือบ 70%) 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ดูเหมือนคลี่คลาย แต่ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนจากมุมมองอื่นๆ อีกครั้ง
 

 

ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน นักวิจัยด้านพลังงานกลับจากสหรัฐอเมริกามาเมืองไทยในช่วงเกิดวิฤตก๊าซจากพม่าพอดี ‘ประชาไท’ ชวนเธอพูดคุยถึงสถานการณ์นี้และได้ข้อมูลบางประการที่น่าสนใจ เช่น

กรณีนี้สมควรเป็นวิกฤตหรือไม่ ?  เป็นเรื่องจัดการไม่ได้จริงหรือ? ใครควรรับผิดชอบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมาเป็นน้ำมันเตา/ดีเซล? รวมถึงเพราะอะไรพลังงานทางเลือกจึงเป็นหมัน แม้แผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จะกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้สวยหรู ขยับจาก 1% เป็น 20%

เราเริ่มต้นคุยกันด้วยการเปิดสัญญาการซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับบริษัทร่วมทุนในฝั่งพม่าที่ขายก๊าซจากแหล่งยาดานาและเยตากุน

ปตท.เป็นผู้ผูกขาดการซื้อขายก๊าซรายเดียวของประเทศ ขณะที่บริษัทร่วมทุนฝั่งพม่าประกอบด้วย กระทรวงปิโตรเลียมของพม่า บริษัทพลังงานชั้นนำของโลก รวมถึง ปตท.สผ. บริษัทลูกของ ปตท. ด้วย

โดยสรุป สัญญาระบุไว้ว่า หนึ่ง การปิดซ่อมนั้นกระทำได้ ปีละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน  สอง จะต้องแจ้งคู่สัญญาล่วงหน้า 1 ปีหรือย่างน้อยที่สุด 6 เดือนก่อนถึงวันซ่อม  สาม แม้จะซ่อมก็ต้องส่งก๊าซให้ได้ 50% ของที่เคยส่ง  สี่ หากไม่สามารถส่งได้ตามนั้นจะต้องลดค่าก๊าซให้ 25% ของจำนวนที่ขาดหายไป

 

ตารางรายชื่อบริษัทร่วมทุนในพม่า (ที่มา:โครงการพลังงานทางเลือก)

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามจึงเกิดขึ้นหลากหลายประเด็น

“อย่างนี้แสดงว่ารู้กันมาตั้งแต่อย่างน้อย 6 เดือนล่วงหน้า ถ้าจะเกิดไฟดับจริงทำไมเพิ่งมาตีปี๊บเดือนสองเดือนล่วงหน้า ทำไมไม่เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ “ – คำถามที่หนึ่ง

“ถ้าไม่รู้ล่วงหน้า อยู่ดีๆ ฝ่ายบริษัทร่วมทุนเพิ่งมาแจ้งขอเปลี่ยนแปลงอย่างฉุกละหุก อันนี้ถือว่าเขาผิดสัญญา ทำไม ปตท.ไม่รักษาสิทธิตามสัญญา เป็นประเด็นถามกลับไปยังกระทรวงพลังงานด้วยว่า คุณบริหารอย่างไร” – คำถามที่สอง

“การซ่อมทำได้ แต่การส่งก๊าซไม่ใช่หายไปเลยทั้ง 100% อย่างน้อยต้องส่งก๊าซ 50% เรื่องนี้ไม่มีการพูดถึงเลย ปีที่แล้วก็หายไปเลยทั้งหมดแบบนี้เหมือนกัน ปตท.เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในสัญญา ทำไมยอมให้เราเสียเปรียบขนาดนี้ แล้วส่งผ่านต้นทุนให้ผู้บริโภคอย่างเดียว หรือ ปตท.ได้ใช้สิทธิในการได้ราคาส่วนลดหรือเปล่า และถ้าได้ ได้แค่ไหน อยากให้เปิดเผย” – คำถามที่สาม

 

ที่มา: กฟผ.

คำถามเหล่านี้สำคัญเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของเรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนนั้นสามารถผลักต้นทุนที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาส่งผ่านมาให้ผู้บริโภคได้ง่ายๆ ผ่าน “ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ค่าเอฟที”

นักวิจัยด้านพลังงานคนนี้ระบุว่า ทุกการขึ้นค่าเอฟที 1 สตางค์ หมายถึงเงินที่ กฟผ.ได้เพิ่มขึ้น 1,500-2,000 ล้านบาท  และค่าเอฟทีในช่วงรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.ของปีนี้ มีการขึ้นค่าเอฟทีไปแล้ว 1 สตางค์ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตก๊าซพม่าอาจมีแนวโน้มจะทยอยเพิ่มในค่าเอฟทีของผู้บริโภคอีก

“แม้ยังไม่พูดชัดเจนว่าจะส่งให้ผู้บริโภค แต่ถ้าทาง กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ทำเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ก็คงหนีไม่พ้นผู้บริโภคที่จะต้องรับภาระ” ชื่นชมกล่าว

เธอเคยอธิบายถึงกลไกการคำนวณค่าเอฟทีไว้ว่า มันเป็นกลไกที่สามารถโปะต้นทุนทุกอย่างให้ทุกคนช่วยกันจ่าย ทั้งที่โดยปกติควรจะนับเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างเดียวเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงมีความผันผวนสูง แต่ทำไปทำมาก็รวมส่วนอื่นเข้าไปด้วย เช่น ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)  ค่าเชื้อเพลิง ค่าประกันกำไร ค่าความเสี่ยงต่างๆ ที่สำคัญ หากทำนายความต้องการใช้ไฟฟ้าไว้สูงเกินไปทำให้มีโรงไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น ก็จะนำเอาส่วนที่คำนวณเกินมารวมไว้ในเอฟทีด้วย

“โครงสร้างทั้งหมดของการคิดค่าไฟมีการประกันกำไรของโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุนด้านไฟฟ้ามีความเสี่ยงน้อยมาก ส่วนใหญ่จะสามารถส่งผ่านให้ผู้ใช้ไฟรายย่อยได้เกือบทั้งหมด ที่สำคัญ โครงสร้างของค่าไฟเอากำไรเป็นตัวตั้ง หารด้วยเงินลงทุน แปลว่า ยิ่งเงินลงทุนมาก ยิ่งกำไรมาก นี่คือโครงสร้างค่าไฟปัจจุบันซึ่งมันผิด” ชื่นชมกล่าว

จากคำอธิบายของชื่นชมจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายของเรานั้นเกี่ยวพันกับจำนวนโรงไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าสำรองด้วย แต่ปรากฏว่าโรงไฟฟ้าที่เป็นกำลังสำรอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริงกลับได้รับคำตอบว่า “ใช้ไม่ได้”  “ใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ” สั้นๆ เพียงแค่นั้น

หากย้อนดูข่าวที่ผ่านมา ธนา พุฒรังษี รองผู้ว่า กฟผ.เคยชี้แจงไว้ว่า กำลังการผลิตติดตั้งนั้นมีปริมาณ 33,056 เมกกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตจริงมีเพียง 31,166 เมกกะวัตต์ หายไป 1,890 เมกกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต

เมื่อประกอบกับวิกฤตการณ์ขาดก๊าซจากพม่าซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตหายไป 4,101 เมกกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตเหลืออยู่ในระบบจริงเพียง 27,065 เมกกะวัตต์

ทั้งนี้ ข่าวหลายสำนักระบุว่า การหยุดส่งก๊าซนี้จะทำให้กำลังการผลิตหายไป 6,000 เมกกะวัตต์ แต่บางส่วนนั้นสามารถใช้น้ำมันเตา/น้ำมันดีเซลแทนได้ ทำให้เหลือส่วนที่ใช้ก๊าซอย่างเดียว 4,101 เมกกะวัตต์ (ดูรายละเอียดโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่าและไม่สามารถเปลี่ยนเชื้อเพลิงได้ในตาราง)
 

โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่า (ที่มา: ชื่นชม)


และด้วยเหตุที่ความต้องการใช้ไฟสูงสุด หรือ พีค ใกล้เคียงกับกำลังการผลิตที่เหลืออยู่มากจนเกินไป (ในช่วงเดือนเม.ย.ของปีที่แล้ว พีคอยู่ที่ 26,121 เมกกะวัตต์ ปีนี้ก็มีการพยากรณ์ว่าอาจสูงถึง 26,300 เมกกะวัตต์)   ทำให้ กฟผ.และรมว.พลังงานออกมาให้ข่าวว่า มีความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะดับ เพราะกำลังสำรองมีต่ำเกินไป

คำถามของชื่นชมต่อกรณีนี้คือ จริงหรือที่โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่าจะเดินเครื่องไม่ได้

ว่าแล้วเธอก็เปิดสัญญาอีกฉบับ

สัญญาซื้อขายไฟระหว่าง กฟผ. และ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) อย่างราชบุรี , TECO, ราชบุรีพาวเวอร์นั้น กำหนดเงื่อนไขในสัญญาอยู่แล้วว่าจะต้องมีคลังเชื้อเพลิงสำรองไว้อย่างน้อย 3 วัน

“ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้คิดเรื่องนี้ไว้แล้วว่าก๊าซพม่าอาจขัดข้องได้ ดังนั้นเขาจึงระบุให้ทุกโรงไฟฟ้าต้องเตรียมคลังเชื้อเพลิงสำรองซึ่งก็คือน้ำมันดีเซล เก็บไว้ใช้ได้อย่างน้อย 3 วัน ถ้าพม่าหยุดส่งก๊าซมากกว่า 3 วันก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีใช้แค่ 3 วัน เพราะมันเติมได้ ดังนั้นที่บอกว่าไฟจะหายไป 4,100 เมกะวัตต์นั้น ข้อเท็จจริงคือไม่ได้หายไปไหน มีการเตรียมตรงนี้ไว้ชัดเจนแล้วตามสัญญา โครงสร้างพื้นฐานของคลังสำรองนี้ก็ถูกนำไปคิดคำนวณรวมไว้แล้วในค่าไฟ เราได้จ่ายค่าเตรียมความพร้อมรองรับการที่พม่าจะหยุดซ่อมไว้แล้ว ทำไมรัฐถึงบิดเบือนว่าก๊าซพม่าหยุดแล้วเราจะมีปัญหา รัฐบาลสร้างภาพเหมือนไฟไม่พอตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าหรือเปล่า” ชื่นชมกล่าว

ไม่เพียง ปตท.ที่ถูกทวงถามความรับผิดชอบ กฟผ.เองก็เช่นกัน ชื่นชมระบุว่า กฟผ.เป็นคู่สัญญาที่ย่อมต้องทราบเวลาในการปิดซ่อม เหตุใดจึงยอมให้ซ่อมในช่วงพีค แทนที่จะเป็น เดือน ธ.ค.หรือ ม.ค. ซึ่งช่วงนั้นไม่มีมรสุม และความต้องการใช้ไฟต่ำกว่าเดือนเม.ย.ประมาณ 3,000-4,000 เมกกะวัตต์ ดังนั้น ช่วงปลายปีต่อต้นปีจึงเป็นช่วงที่ปลอดภัยและต้นทุนต่ำที่สุด

ถามว่าเรื่องราวซับซ้อนทั้งหมดนี้จะแก้ไขได้อย่างไร ? นอกเหนือจากความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลแล้ว ชื่นชมยังเสนอทางออก ซึ่งเหมือนกับ ข้อเสนอของ กกพ.ว่า ควรเลิกให้ ปตท.ผูกขาดการซื้อขายก๊าซ

“ถ้าคุณอยากทำธุรกิจแล้วเป็นเอกชนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่อำนาจผูกขาดในการจัดหาก๊าซขอคืนมาเป็นของประชาชนจะได้ไหม ปตท.ไม่มีสิทธิผูกขาดอีกต่อไป สมมติการจัดหาในอนาคต แทนที่อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับก๊าซต้องมาผ่าน ปตท.หมด เราปลดล็อคตรงนี้ได้ไหม แม้แต่ กฟผ.เอง จะเจรจาตรงกับรายอื่นได้ไหม นิคมอุตสาหกรรม เอกชนบางราย บางทีก็อยากเจรจาทำสัญญาซื้อขายก๊าซโดยตรง ไม่ได้ต้องผ่านปตท.” ชื่นชมกล่าว

แนวคิดนี้สอดคล้องกับความเห็นของเรกูเลเตอร์  ซึ่งกำลังผลักดันร่างระเบียบแข่งขันธุรกิจก๊าซฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.เพื่อพิจารณาในกลางปี 2556 นี้

“ในปัจจุบันนี้มีเพียง บมจ.ปตท. รายเดียวที่ขายก๊าซธรรมชาติ ทำให้เกิดการผูกขาด ซึ่งหากร่างระเบียบการแข่งขันฯ ฉบับนี้แล้วเสร็จ จะเกิดผู้ค้าก๊าซฯ รายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในประเทศไทย สามารถใช้ระบบ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อ และคลังก๊าซแอลเอ็นจี ได้เทียบเท่ากับ ปตท.และผู้ซื้อโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเลือกใช้ก๊าซฯ จากท่อของบริษัทใดๆ ก็ได้ที่มีราคาถูก และให้บริการดีที่สุด สุดท้ายประชาชนทั่วประเทศก็จะได้ประโยชน์ ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมะสม”นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางกระแสวิกฤตไฟฟ้า “ถ่านหินสะอาด” ถูกชูโรงมากขึ้น  หลายคนคิดว่าน่าจะเป็นทางออกทีดีเพราะเรามีเชื้อเพลิงนี้อยู่เอง แต่ชื่นชมตั้งข้อสังเกตว่าถ่านหินบ้านเรานั้นพอมีอยู่แต่เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำซึ่งสร้างมลภาวะสูง ดังนั้น หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคาดว่าคงจะต้องมีการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่

การสร้างภาพพจน์ใหม่ของถ่านหิน ถูกรองรับด้วยรูปธรรมในแผนพีดีพีล่าสุดที่ได้เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นอีก 10,000 เมกะวัตต์ในอีก 15 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ตอนนี้กระทรวงพลังงานเองได้ขายซองประมูลให้โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ไปแล้ว โดยภายหลังการปรับแผนพีดีพีใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา นำไปสู่การประมูลไอพีพี ทั้งหมด 5,400 เมกกะวัตต์ โดยล็อกสเป็กเป็นก๊าซทั้งหมด

“ไอพีพีที่ประมูลไปกว่าจะเข้ามาโรงแรกคือ 8 ปี นับจากปีนี้ ถือว่าไกลมาก หากว่าดีมานด์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ค่าโง่ก็จะบานเลย ถ้าเราสามารถทำให้คนที่ตัดสินใจผิดพลาดมารับผิดชอบต่อภาระที่อาจเกิดขึ้นจากการวางแผนที่ผิดพลาดด้วย ตรงนี้อาจทำให้เขาฉุกคิดว่าที่ทำไปมันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะมันความเสี่ยงเยอะมาก และก๊าซราคาแพงมากด้วย ตอนนี้เราจ่ายค่าไปอยู่ที่ประมาณหน่วยละ 3 บาทกว่า ซึ่งรวมตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ส่ง และจำหน่าย แต่ปากฎว่าการประมูล IPP รอบหลังนี้ค่าไฟเฉพาะผลิตอย่างเดียวจะอยู่ที่ 6-7 บาทต่อหน่วย จากข้อมูลที่มีการคำนวณมา”

หากการพึ่งพิงก๊าซมีปัญหาจริง นักวิจัยผู้นี้ก็เสนอให้มีการทบทวนการประมูลดังกล่าวโดยเห็นว่าการขายซองประมูลนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นที่ยังยกเลิกได้ แล้วหันมาพูดคุยถึงความต้องการ การบริหารจัดการ และสัดส่วนเชื้อเพลิงการใช้ไฟฟ้ากันอย่างจริงจัง เปิดเผยและมีส่วนร่วม โดยอาจเปิดประมูลได้ใหม่แบบไม่ล็อคสเป๊กแค่ ก๊าซ อย่างเดียว

เมื่อพูดถึงสัดส่วนเชื้อเพลิง สัดส่วนสำคัญที่ไม่พูดไม่ได้ สัดส่วนสำคัญภาคประชาชนนำเสนอ แต่ดูเหมือนจะถูกตีตกทุกครั้งในเรื่องต้นทุนและความไม่เสถียร ก็คือ พลังงานหมุนเวียน หรือที่ กระทรวงพลังงานใช้คำว่า พลังงานทดแทน

ชื่นชมยืนยันว่าพลังงานมีศัยภาพในการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ไม่ได้รับโอกาสและการสนับสนุน

แม้แผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่ใช้อยู่จะบอกว่าเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 20% แต่หากดูโดยละเอียดพบว่านับรวมเขื่อนขนาดใหญ่ รวมถึงเขื่อนแบบสูบกลับเข้าไปด้วย ส่วนที่เป็นพลังงานหมุนเวียนจริง ก็กำหนดเพดานรับซื้อค่อนข้างต่ำ และยังตั้งกลไกคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ของกระทรวงพลังงานเมื่อปี 2553 ซึ่งทำให้เกิด  “คอขวด” สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เส้นใหญ่เท่านั้น

“เดิมทีไม่มีระบบที่มากลั่นกรองว่าใครเข้าได้ใครเข้าไม่ได้ อาจตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไม่กี่คน เป็นนวัตกรรมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วแล้วนำมาใช้กับพลังงานหมุนเวียน อาจจะมีการวิ่งเต้นอะไรบ้างแต่มันระดับเล็กๆ เท่านั้นแต่ตอนนี้ พอเขาเห็นช่องในการหากิน เขาก็ตั้งมาเป็นคณะกรรมการ เรียกว่า คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทีนี้เหลือแต่คนที่เส้นใหญ่ๆ หรือเงินถึง ถึงจะได้สัญญา นำสู่การลงทุนสร้างรฟ.พลังงานหมุนเวียนได้”

“มันเริ่มมีธุรกิจคอรัปชั่นเข้ามาแฝงในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนด้วย ตอนนี้ใหญ่มาก มีการวิ่งเต้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20-30 ล้านต่อเมกกะวัตต์ สูงเท่าๆ กับราคาแผงเลย เหมือนกับเป็นค่าแอบแฝงที่มากับค่าไฟที่เราต้องจ่ายเป็นกำไรส่วนเกินให้กับกลุ่มธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจการเมืองด้วยที่มาหากินกับพลังงานหมุนเวียน”

อีกประการหนึ่งที่สำคัญแต่คนมักมองข้ามไปเน้นเรื่องการจัดหาแทนที่จะเน้นการจัดการในฝั่งผู้ใช้  ชื่นชมบอกว่าไม่อยากให้มองข้ามในเรื่องของการประหยัดพลังงาน เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศส่วนนี้ทำได้มากและมีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนในการประหยัดยิ่งต่ำและยิ่งมีศักยภาพในการประหยัดเพิ่มขึ้น และยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม เช่น หลอดไฟที่มีศักยภาพประหยัดไฟได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศถึงกับมีการไฟฟ้าที่ทำในเรื่องของการประหยัดโดยเฉพาะ แทนที่จะให้การไฟฟ้าไฟสร้างโรงไฟฟ้าเลยทีเดียว

“สำหรับประเทศไทย ดูในเรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราได้จากการใช้พลังงาน ปรากฏว่าต่ำมาก มันจะมีตัวชี้วัดหนึ่งเรียกว่าความเข้มข้นพลังงานวัดว่าเราใช้พลังงานเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนต่อมูลค่าเศรษฐกิจที่เราไดมา ซึ่งของไทยแนวโน้มมันมีแต่แย่ลง ค่อนข้างแย่ลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยิ่งมีการออกนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ทำให้เรายิ่งมีการใช้พลังงานโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันจะเป็นตัวฉุดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ อยากจะให้มองตรงนี้เป็นทางเลือก เป็นพระเอกตัวจริง” ชื่นชมกล่าวทิ้งทาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net