Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถึงแม้ว่าเรามาจากประเทศที่ต่างกัน (ซาอุดิอาระเบีย, จอร์แดน และปาเลสไตน์) และถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่แต่งตัวเหมือนผู้หญิงมุสลิมคนอื่นๆ ที่เขาคลุมผมหรือปิดหน้า ถึงแม้ว่าจะมีนิกายที่แตกต่างกัน (ซุหนี่, ชีอะห์) แต่เรามีเป้าหมายร่วมเดียวกัน คือ ต้องการสิทธิให้ผู้หญิง (Women Rights) ต้องการให้ผู้หญิงมุสลิมมีการศึกษามากขึ้น เราทำเช่นนี้เพื่อหวังว่าคนในรุ่นอนาคตจะได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

Samar, Rana และ Wafa กล่าวเป็นเสียงเดียวกันในงาน สุนทรียะสนทนา ผู้นำหญิงจากอาหรับ ณ ประเทศออสเตรเลีย (Australian Arab Women Leaders’ Dialogue) ณ National Press Club เคนเบอร่า ออสเตรเลีย วันพุธที่ 20 มีนาคม 2553

ประโยคดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงว่า ผู้หญิงจากโลกอาหรับ นอกจากจะมีความสามารถในการก้าวข้ามความแตกต่างกันในกลุ่มมุสลิมด้วยกันเอง แล้วยังสามารถก้าวข้ามความเป็นพรมแดนของประเทศ นิกาย และความแตกต่างทางวัฒนธรรม อันนำไปสู่การสร้างจุดร่วมเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้หญิงมุสลิมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเธอมาจากโลกอาหรับ เป็นประเทศเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรมอิสลามที่เผยแผ่ไปทั่วโลกไม่เว้นแต่ประเทศไทย

งานสุนทรียะสนทนาในครั้งนี้ ยังได้เชิญท่านฑูตจากประเทศต่างๆ เช่น จอร์แดนและลิเบีย เข้าร่วมรับฟังด้วย

ผู้ดำเนินรายการเล่าว่า จุดเริ่มต้นของสุนทรียะสนทนา มาจากผู้หญิงชาวออสเตรเลีย 2 คน มีความเชื่อว่า “การพูด” สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้

 

ภาพ: บรรยากาศ สุนทรียะสนทนา ณ National Press Club เคนเบอร่า ออสเตรเลีย วันพุธที่ 20 มีนาคม 2553

 

ผู้นำการสุนทรียะสนทนามี 3 คน คือ Ms Samar Fatany จากประเทศซาอุดิอาระเบีย Ms Rana Hussein จากประเทศจอร์แดน และ Ms Wafa’ Abdel Rahman จากประเทศปาเลสไตน์ และมีนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ABC ชื่อ Virginia Haussegger เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

Ms Rana Hussein จากประเทศจอร์แดน

 

Rana เล่าว่า เมื่อเริ่มต้นที่เธอจับเรื่อง อาชญากรรมเพื่อศักดิ์ศรี (honour crimes: เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่เชื่อว่า ครอบครัวสามารถฆ่าผู้หญิงโดยอ้างว่าเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของครอบครัวไม่ให้มัวหมอง)

การขยับเรื่องนี้ในครั้งแรกๆ ไม่มีใครสักคนสนับสนุนเธอเลย แถมยังบอกด้วยว่า “เสียเวลา” แต่หลังจากที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ทำให้เรื่องที่เธอทำได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะคนในระดับรัฐบาล ทั้งยังขยายผลนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้แก่ การทำแท้ง การรักษาความบริสุทธิ์ของผู้หญิง การให้ผู้หญิงมีสิทธิในการตัดสินใจ

แต่หนทางทุกย่างก้าวก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีอุปสรรคมากมายจากสิ่งที่เธอทำ เช่น การถูกซักถามในที่ประชุมด้วยคำหยาบคาย แต่สำหรับการร่วมประชุมสุนทรียะสนทนาในประเทศออสเตรเลียครั้งนี้ มีความแตกต่างกัน เธอรู้สึกอบอุ่นและได้รับเกียรติอย่างสูงในการนำเสนอสิ่งที่เธอทำ

 

Ms Samar Fatany จากประเทศซาอุดิอาระเบีย

“สื่อมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้หญิง ในการสร้างวาทกรรมให้กับสังคม” Samar กล่าว

เธอยังเล่าอีกว่า กิจกรรมด้านการสื่อสารความหลากหลายทางวัฒนธรรมและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงในประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ถูกแรงต้านจากสังคมที่ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ดังนั้นสื่อจึงเป็นทางเลือก ที่จะริเริ่มการหาจุดร่วม เพื่อสนับสนุนผู้หญิงในสังคมมุสลิม โดยการนำเสนอการตีความใหม่ๆ จากเดิมที่มองบทบาทของผู้หญิงว่า “ไม่เป็นอิสลาม” ได้แก่ การไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ ทำงาน หรือมีตำแหน่งทางการเมือง ชุดความคิดในลักษณะเช่นนี้ ล้วนแล้วแต่สร้างข้อจำกัดให้ผู้หญิง

ดังนั้น โครงการที่สนับสนุนผู้หญิงที่เธอกำลังดำเนินการ ณ ปัจจุบันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก โดยเฉพาะโครงการให้ทุนการศึกษา เพื่อการสนับสนุนและสร้างการตระหนักเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง โดยทุนดังกล่าว ได้ทำให้ผู้หญิงมุสลิมจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เดินทางศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศแล้ว กว่า 13,000 คน!! หลายคนตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ และยังได้สานต่อกิจกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงผ่านทางสื่อในโลกออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนผู้หญิงด้วยกัน และที่สำคัญ พวกเธอกลับมาสมัครงาน หางานทำ กลายเป็นผู้หญิงทำงาน!

ประเด็นต่อมาของสุนทรียะสนทนาคือ ผู้หญิงอาหรับตอบสนองอย่างไรในยุคของโลกาภิวัตน์?

พวกเธอกล่าวว่า โลกาภิวัตน์ โลกแห่งการติดต่อสื่อสาร เป็นตัวช่วยให้ผู้หญิงเห็นโลกที่แตกต่างจากตัวเอง เห็นผู้หญิงด้วยกันมีความเข้มแข็งและมีการเคลื่อนไหวเหมือนพวกเธอ ทำให้เธอรู้ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ ไปถูกทิศทาง และต้องมีการขับเคลื่อนต่อไป อีกทั้งยังสามารถนำเสนอ “เสียง” ไม่จำกัดอยู่แค่การประท้วงเพื่อสิทธิสตรีบนท้องถนนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเสนอผ่าน facebook ได้อีกด้วย

 

Ms Wafa’ Abdel Rahman จากประเทศปาเลสไตน์

 

Wafa กล่าวว่า กิจกรรมที่เธอทำที่ปาเลสไตน์โดยเฉพาะด้านสื่อ ยังเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนและผู้หญิง ถ้านับเฉพาะ facebook อย่างเดียวก็มีผู้ติดตามไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

แต่การก้าวเข้าสู่โลกโลกาภิวัตน์ของผู้หญิงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอยังถูกคุกคามอยู่ Rana กล่าวว่า โดยเฉพาะกลุ่มอิสลามบางกลุ่มที่ต่อต้านประเด็น “สิทธิของผู้หญิง” ประเด็นที่ถูกนำเสนอโดยผู้หญิง ดังนั้น โลกแห่งการสื่อสารจึงช่วยให้ผู้หญิงสามารถนำเสนอความเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งความคิดเห็นของผู้หญิงว่า ผู้หญิงต้องการอะไร? ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

การเริ่มต้นสนทนา ต้องมีการปฏิบัติการบางอย่าง และการเริ่มต้นว่า ผู้หญิงทำอะไรได้บ้าง? นำไปสู่การสร้างความตระหนักของสังคมเกี่ยวกับผู้หญิง การพิสูจน์ตัวเอง  และสร้างความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

 

ผู้หญิงมุสลิมกับกระบวนการความเป็นทันสมัย (Modernization) ที่ไม่ใช่ กระบวนการทำให้เป็นตะวันตก (Westernization) [Modernization ≠ Westernization]

“เราเป็นมุสลิมสายกลาง” Samar กล่าว และเราต้องการสร้างพื้นที่สุทรียะสนทนาจากวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันแต่ตระหนักสิ่งเดียวกันด้วยศาสนาอิสลาม เราได้ยกระดับประเด็นทางด้านวัฒนธรรมขึ้นมา นักเรียนของเราหลายคนได้มีโอกาสไปเรียนต่อ ณ ต่างประเทศ และมีตำแหน่งหน้าที่การงานในสังคม เราได้พยายามเปลี่ยนแปลงอย่างระมัดระวัง เราเชื่อว่ากระบวนการก้าวไปสู่ความเป็นทันสมัยของเราไม่ใช่การทำให้เป็นตะวันตก

ผู้หญิงในโลกอาหรับ ยังต้องเผชิญกับสิทธิสตรีอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ จัดตั้งบริษัท หรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

Wafa เสริมประเด็นว่า ในทางทฤษฎีสตรีนิยม (Feminist) นั้นอาจจะไม่สำคัญเท่ากับ สิ่งที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ในแง่ของวิถีชีวิตจริงๆ และทฤษฎีสตรีนิยมก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ก็เป็นแนวทางที่เราใช้ในการมองโลก เรามองโลกอย่างครอบคลุมรอบด้านที่แตกต่างจากภาพหรือโลกของผู้ชาย เรามองทุกอย่างเป็นประเด็นของผู้หญิง และนั้นคือ ประเด็นด้านการเมือง ผู้ชายอาจจะไม่ค่อยทะเลาะกันเท่าไหร่ เพราะโลกทางการเมืองมีพื้นที่ มีเก้าอี้ให้นั่งมากมาย บางทีกว่า 100 ที่นั่งสำหรับผู้ชาย แต่ผู้หญิงต้องคิดเยอะกว่า เพราะพื้นที่เหล่านั้นอาจมีเพียง 1 ที่นั่ง เพื่อนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิง

ถึงแม้ว่าการแต่งตัวของเราจะเหมือนตะวันตก เช่น การแต่งตัวที่มีการใส่สูท แต่การที่ผู้หญิงมุสลิมอีกหลายๆ คน อาจจะสวมฮิญาบ มีผ้าปิดหน้า ก็มีวิธีคิดไม่ได้แตกต่างจากเรา เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิมากขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อไป การกลายเป็นตะวันตก ถือว่าเป็นภาพเหมารวม (stereotype) ที่มองไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้หญิงมุสลิม ว่าต่างก็มีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน และมาจากบริบทที่แตกต่างกัน

Rana เสริมว่า ถึงแม้ว่าตัวฉันเองจะไม่ชอบการแต่งตัว (แบบมีผ้าคลุมผม) แต่ฉันก็ภูมิใจในความเป็นมุสลิมของฉัน มันก็เป็นความเหมือนในความต่าง แต่การถูกถามว่า เป็นตะวันตกหรือไม่นั้น บางทีฉันก็รู้สึกว่า เราถูกมองด้วยอคติจากโลกตะวันตก จากสื่อสิ่งพิมพ์ตะวันตก โดยเฉพาะภาพที่มักถูกนำเสนอว่า โลกอาหรับมีแต่น้ำมันกับการพนัน และผู้หญิงมักจะทนทุกข์ทรมานจากการถูกผู้ชายกดขี่ ผู้หญิงถูกตีตราไปแล้วว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่จริงเอาเสียเลย และเราผู้หญิง ได้รับผลกระทบจากภาพที่ถูกสร้างจากโลกตะวันตก ผู้ชายอาหรับมีภาพของการกลายเป็นนักฆ่า เป็นพวกคนป่าเถื่อน โดยภาพดังกล่าวมีมากในช่วงสงครามอิรักจวบจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงสุดท้าย Rana พูดถึงการให้การศึกษากับผู้หญิงมุสลิมเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างให้ผู้หญิงมีวิธีคิดแบบวิพาษ์วิจารณ์ ส่วน Samar เสริมว่า ในประเทศของเราถึงแม้เป็นมุสลิมที่แตกต่างนิกาย ได้แก่ สุหนี่และชีอะห์ แต่ทั้งสองนิกายก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหาความขัดแย้งด้านการเมือง ทั้งยังสามารถแต่งงานกันได้ และที่สำคัญเราต้องทำงานกับผู้ชายที่อยู่ข้างเรา มาเป็นพวกของเรา โดยเราจะต้องพิสูจน์ตัวเองไปพร้อมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net