‘อุทยานการเรียนรู้’ จัดเวที ‘การอ่าน’ หวังสร้างการเรียนรู้ที่เท่าเทียม

ประชุมวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park หัวข้อ การอ่านเพื่อความเท่าเทียมกัน หวังลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความตระหนักเรื่องการอ่านเป็น “สิทธิ” ของมนุษยชาติ

 
 
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 ในหัวข้อ Reading for Equity: การอ่านเพื่อความเท่าเทียมกัน ระหว่างวันที่ 21-22 มี.ค.56
 
การประชุมมีนักวิชาการและนักปฏิบัติการที่มีบทบาทด้านส่งเสริมการอ่าน และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้จากไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน 3 ประเทศ ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิการอ่านจากประเทศอินเดีย มาร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมหาแนวทางส่งเสริมการอ่านอย่างเท่าเทียมกัน โดยหวังลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และกระตุ้นให้สังคมตระหนักว่า การอ่านเป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานอันพึงมีของมนุษยชาติ
 
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park เปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการอ่าน การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญของ TK park ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในประเทศ
 
การจัดประชุมครั้งนี้ สอร.ยังคงมุ่งเน้นการขยายองค์ความรู้และความรับรู้ที่มีต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศทางด้านนโยบายการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันที่แนบแน่นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในฐานะพลเมืองอาเซียนภายใต้ปรัชญา ‘Towards ASEAN Citizenship with Books and Reading’
 
สำหรับหัวข้อการประชุมที่ว่าด้วยเรื่อง Reading for Equity หรือ การอ่านเพื่อความเท่าเทียมกัน ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2554 ซึ่ง สอร.มีแนวคิดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนไทย ที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพื่อรู้เขา รู้เรา
 
“นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจสถานการณ์การอ่านของคนในกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้พบว่าปัญหาการอ่านของแต่ละประเทศมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก คือ การขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงการอ่านของประชากรจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากปัญหาความเหลื่อมล้ำกันทางสังคม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศกลุ่มอาเซียนในปัจจุบัน” ดร.ทัศนัยกล่าว
 
สุดท้าย ดร.ทัศนัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ สอร.หวังว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมจะสามารถนำความรู้ แนวคิดและแนวทางการส่งเสริมการอ่านอย่างเท่าเทียม ไปต่อยอดขยายผลและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
 
นอกจากนี้แล้วสังคมทุกภาคส่วนควรหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสและการเข้าถึงการอ่าน และการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนไทยอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ เพราะวันนี้การอ่าน เป็นเรื่องของ “สิทธิ ” ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ไม่ใช่เรื่องการหยิบยื่นโอกาส แต่เป็นหน้าที่ในการสร้างโอกาสและกระจายการเข้าถึงการอ่าน และการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนในทุกระดับ เมื่อการอ่าน การเรียนรู้เกิดความเท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะลดน้อยถอยลงและหมดไปในที่สุด
 
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ และนักปฏิบัติการที่มีบทบาทด้านส่งเสริมการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์บนเวทีครั้งนี้ ประกอบด้วย
 
ดร.ธีร์ จินกราน ผู้ประสานงานด้านสิทธิการศึกษา ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านการพิทักษ์สิทธิเด็ก ประเทศอินเดีย ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม : บทบาทสำคัญของการพัฒนาทักษะและนิสัยการอ่านในช่วงวัยประถมศึกษา”
 
นิลา แทนซิล ผู้ก่อตั้งโครงการอุทยานการอ่านสายรุ้ง จากประเทศอินโดนีเซีย เธอเป็นผู้ให้โอกาสการรู้หนังสือกับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสห่างไกลความเจริญตามเกาะต่างๆ ทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ด้วยการระดมทุนจากสังคมไปสร้างห้องสมุดให้กับเด็กๆ จำนวน 25 แห่งบน 10 เกาะ และส่งเสริมให้คนในพื้นที่บริหารจัดการเอง จนกลายเป็นห้องสมุดที่ยั่งยืน โดยเธอยังคงทำงานประจำอยู่กับบริษัท ไนกี้  นำเสนอรายการหัวข้อ “อุทยานการอ่านสายรุ้ง ความคิดริเริ่มสู่การกระตุ้นและสร้างสรรค์จินตนาการของเด็กในพื้นที่อินโดนีเซียตะวันออก”
 
ยี เท็ต อู ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการห้องสมุดทาราพา และศูนย์การเรียนรู้อมรา, ประเทศเมียนมาร์ เป็นผู้ส่งเสริมการอ่านหนังสือให้กับเด็กและเยาวชนในกรุงย่างกุ้ง และสร้างห้องสมุดขนาดเล็กๆ ในชุมชนต่างๆ รวมทั้งห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อส่งเสริมการอ่านในพม่า นำเสนอรายงานหัวข้อ“คิดใหม่เรื่องบทบาทของห้องสมุดขนาดเล็กและโครงการส่งเสริมการอ่านในพม่า”
 
เหงียน ไฮ ฮา ผู้อำนวยการห้องสมุดแห่งโรงเรียนสาธารณสุขฮานอย ประเทศเวียดนาม นำเสนอรายงานหัวข้อ “การหมุนเวียนหนังสือระหว่างห้องสมุด: แนวทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหนังสือและสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดช่องว่างทางวัฒนธรรมระหว่างคนในชุมชนเมืองและชนบท”   
 
ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วัฒนธรรมหนังสือในอุษาคเนย์” โดยรศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมาเสนอแง่คิดเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมการอ่านหนังสือว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเมือง หรือนิสัยคนแต่ละประเทศหรือไม่อย่างไร
 
ส่วน ดร.ภญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร นักวิชาการอิสระด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ จะมานำเสนอรายงาน “เปิดชีวิต อ่านเพื่อนบ้าน: วิเคราะห์หนังสือนิทานพื้นบ้านอาเซียน” เพื่อวิเคราะห์ว่านิทานเด็กของแต่ละประเทศในอาเซียนมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และสุดท้าย ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ นำเสนอรายงาน “เด็กอ่านโลก: จากทักษะการอ่านสู่ทักษะแห่งศตวรรษใหม่” เป็นต้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท