Skip to main content
sharethis

คปก. ผลักดันระเบียบเสนอผู้หญิงเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เผยจุฬาราชมนตรีขานรับข้อเสนอให้มีมุสลิมะห์เข้าร่วมทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามทั่วประเทศ เพื่อรองรับประเด็นอ่อนไหวเฉพาะของผู้หญิง ชี้ไม่มีข้อห้ามตามหลักการศาสนา 

 
เมื่อวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2556 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เวทีขับเคลื่อนเพื่อการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ “ผู้หญิงกับกระบวนการยุติธรรม” ณ โรงแรมเมอร์เคียว กระบี่ ดีวาน่า จังหวัดกระบี่ 
 
ผู้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวประกอบด้วย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตัวแทนภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ อาทิ ศูนย์ทนายความมุสลิม ตัวแทนเครือข่ายสตรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี นักวิชาการอิสระ และสมาชิกวุฒิสภา คือนายสุริยัน ปันจอร์ และ ดร.วรวิทย์ บารู
 
ดร.วิระดา สมสวัสดิ์ ผู้นำการเสวนาได้รายงานความคืบหน้าประเด็นที่จะมีการนำเสนอต่อจุฬาราชมนตรี ให้มีการพิจารณาให้ผู้หญิงสามารถเป็นคณะกรรมการอิสลามได้ โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่าขณะนี้จุฬาราชมนตรีขานรับข้อเสนอ และยืนยันว่าไม่ได้ขัดต่อหลักศาสนาอิสลามแต่อย่างใด 
 
นายสุริยัน ปันจอร์ สว.จังหวัดสตูลและรองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสตูล กล่าวยืนยันในเวทีพร้อมให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยเคยมีคณะกรรมการอิสลามที่เป็นผู้หญิงมาแล้ว ที่มัสยิดต้นสน กรุงเทพมหานคร แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคณะกรรมการจังหวัดอื่นๆ แต่เมื่อดูหลักการศาสนาอิสลามแล้ว ที่ระบุว่า คำว่า “มุสลิม” เท่านั้น โดยสามารถตีความได้สองความหมายคือ มุสลิมที่แปลว่า ผู้ชาย หรือเป็นที่ใช้เรียกผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วไปไม่แยกเพศ จึงทำให้คณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้มีผู้หญิงเป็นคณะกรรมการอิสลามได้ในขณะนั้น 
 
นายสุริยันกล่าวว่า เมื่อสองปีที่แล้วเคยมีการหารือถึงประเด็นดังกล่าวในคณะกรรมการอิสลามในประเทศไทย แต่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าผู้หญิงมุสลิมสามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอิสลามได้หรือไม่ มีเพียงความเห็นว่า ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวจะร่วมทำงานกับมุสลิม(ชาย)ที่เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่เหมาะสมในตอนนั้น และกระบวนการเสนอชื่อคัดเลือกตัวแทนเพื่อเข้าชิงตำแหน่งทางศาสนายังจำกัดในวงของผู้ชาย ตั้งแต่การเลือกโต๊ะอิหม่ามจนถึงจุฬาราชมนตรี ทำให้ผู้หญิงไม่เคยได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งดังกล่าวเลย
 
“ที่ผ่านมาการคัดเลือกตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามมาจากผู้ที่เข้าร่วมละหมาดวันศุกร์ ซึ่งในประเทศไทยผู้หญิงไม่ได้ไปร่วมละหมาดวันศุกร์ในมัสยิดด้วย ฉะนั้นที่ผ่านมาการเสนอชื่อคณะกรรมการอิสลามในการเข้าชิงตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามจึงไม่มีผู้หญิงถูกเสนอเลย แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดต่อหลักการแต่อย่างใด” นายสุริยัน ปันจอร์ กล่าว
 
นายวรวิทย์ บารู สว.จังหวัดปัตตานี ซึ่งเข้าร่วมเวทีดังกล่าวด้วย แสดงความคิดเห็นว่า คณะกรรมการอิสลามต้องรับผิดชอบในทุกกิจการของมุสลิม ซึ่งตนเห็นด้วยกับการเสนอให้มีผู้หญิงมาทำงานในคณะกรรมการอิสลามเพื่อดูแลประเด็นผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งเคยมีการยกประเด็นดังกล่าวเมื่อสองปีที่แล้ว โดยสมัยดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอามีร์การประกอบพิธีฮัจย์ เคยเสนอให้มีกิจการสตรีสำหรับผู้ประกอบกิจการฮัจย์เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นประเด็นเฉพาะของมุสลิมะห์ที่ควรจะมีการดูแลเฉพาะ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ต้องมีผู้ที่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นเพื่อเสนอและผลักดัน 
 
สว.ปัตตานี ยังสะท้อนปัญหาประเด็นที่ไม่มีผู้หญิงในคณะกรรมการอิสลามด้วยว่า เนื่องจากองค์กรการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นศาสนาในประเทศไทยยังมีสถานะที่ไม่ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งทำให้กิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนได้มากนัก เพราะคนทำงานเองทำงานด้วยความสมัครใจ และตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากคนส่วนใหญ่ บางพื้นที่ได้ผู้ทำงานไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำงาน โดยเฉพาะขาดองค์ความรู้ด้านกฎหมายอิสลาม ซึ่งส่งผลต่อการตีความประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นการยอมรับผู้หญิงเข้ามาทำงานในกิจการอิสลามด้วย ทั้งๆที่หลักการได้เปิดกว้าง
 
นายวรวิทย์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่ให้พื้นที่ทางการเมืองสำหรับผู้หญิงเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซียในฐานะที่เป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลกที่กำหนดสัดส่วนของผู้หญิงที่จะเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองในโครงสร้างการปกครองของประเทศ 35 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าชิงทั้งหมดอย่างชัดเจน
 
จากตัวอย่างดังกล่าว ทำให้เห็นว่า บางประเทศให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมบางอย่างที่เดิมทีไม่เคยมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าชิงตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่คาบเกี่ยวกับศาสนา     
นายธีรภทร์ วารีย์ นักวิชาการอิสระ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตำแหน่งใดๆ ทางศาสนาผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสม จะสามารถเข้ารับเลือกดำรงตำแหน่งได้ แต่ต้องเข้าใจว่า หลักการอิสลามได้ระบุว่า ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรใดๆควรให้ผู้ชาย เนื่องจากความเหมาะสมหลายอย่าง
 
ในส่วนความเห็นจากผู้เข้าร่วมที่เป็นมุสลิมะห์ในวงเสวนา ได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นการเสนอผู้หญิงทำงานเพื่อผู้หญิงไม่ควรเอาการเมืองมาเกี่ยวข้องและควรมีความโปร่งใสในการคัดสรรบุคคลเข้ามาทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการต่อต้านผู้หญิงเข้ามาทำงาน ซึ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือพยายามจะลากสู่ประเด็นที่ไม่พอใจต่อที่มาของการได้ตำแหน่งของผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องที่ขัดต่อหลักการศาสนา
l
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net