Skip to main content
sharethis

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น (focus Group) ผู้บริโภคกับทีวีดิจิตอล ครั้งที่ 1 “ว่าด้วยทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนที่อยากเห็น” เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมเสวนาราว 60 คน จากทั้งภาคประชาสังคม ผู้บริโภค คนพิการ นักวิชาการ สื่อ มีข้อเสนอต่อ กสทช. ในการออกประกาศการอนุญาตบริการทีวีสาธารณะและทีวีชุมชน กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ดังนี้

-มีข้อเสนอให้ชะลอการออกใบอนุญาตทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนออกไปก่อน โดยต้องหาหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะและชุมชนให้ชัดเจน รวมทั้งมีการศึกษาโมเดลทีวีสาธารณะและชุมชน โดยคำนึงถึงภูมิทัศน์ความหลากหลายของสังคมไทย บูรณาการภาคส่วนต่างๆ ในการกำหนดสัดส่วนและจัดสรรช่องรายการ เนื้อหา และรูปแบบการดำเนินการให้ใบอนุญาตให้มีความชัดเจน และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

-ทั้งยังขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งในด้าน
(1) ความชัดเจนของคำนิยาม ต้องมีการตีความไปในทิศทางเดียวกัน เช่น คำว่า “สาธารณะ” และ “ชุมชน” ยังมีการตีความที่ไม่ชัดเจน และคลุมเครือ คำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน จึงไม่ควรตีความว่าเป็นความมั่นคงทางการทหารเท่านั้น

(2) คุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการสาธารณะและชุมชน ควรมีความเป็นสาธารณะและความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง โดยเพื่อประชาชน และประชาชนเข้าถึงได้ โดยมีข้อเสนอว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องแสดงชื่อกรรมการ ผังรายการ โดยควรมีภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ต้องแสดงที่มาของรายได้ และแสดงรายชื่อผู้ที่อุดหนุน ต้องแสดงแผนความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีกรรมการตรวจสอบการเงิน และรายงานผลการตรวจสอบต่อองค์กรกำกับ และควรมีหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทั้งจากองค์กรกำกับและสาธารณะ

(3) เงื่อนไขการประกอบการทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะและชุมชน ควรพิจารณาเรื่องการโฆษณาและการหารายได้ของสถานี ที่อาจแอบแฝงในบริการประเภทสาธารณะและชุมชน การกำหนดขอบเขตเรื่องรายได้จากการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสาร หรือการเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัท และกิจการโดยมิได้โฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอโดยกำหนดให้ชัดเจน และในการออกแบบเงื่อนไขการประกอบการ ควรคำนึงถึงผู้เล่นรายใหม่ในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้สามารถหมุนเวียนได้

(4) ประเภทช่องรายการบริการสาธารณะ มีข้อวิจารณ์ว่า บริการสาธารณะประเภทที่ 1 ไม่มีการระบุช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้งยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนจำนวนช่องในแต่ละประเภทบริการว่าควรมีกี่ช่อง ทั้งนี้ ช่องรายการต้องมีเนื้อหาทีวีสาธารณะที่สามารถเข้าถึงครอบคลุมทุกกลุ่มคน ไม่ว่ากลุ่มเด็ก คนชรา ผู้ใช้แรงงาน คนชายขอบ คนพิการ คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
 
(5) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นในการกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาในการออกประกาศหลักเกณฑ์ฯ

-ด้านการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาชน ควรมีการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาชน ในการประกอบกิจการ การผลิตรายการ การเป็นนักข่าวภาคพลเมือง และความพร้อมในเรื่องวิศวกรรม

-สำหรับการให้ความรู้แก่ประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล มีข้อเสนอว่า ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของทีวีดิจิตอล การประกอบกิจการตามกฎหมายกำหนด สิทธิที่พึงมีพึงได้ สิทธิประโยชน์ของการเป็นเจ้าของคลื่น และจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ให้มีการเข้าถึงสื่อที่เท่าเทียม กระจายข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงคนที่หลากหลาย มีการจัดเวทีให้ความรู้ให้แก่ภูมิภาค และมีการออกเป็นหลักเกณฑ์กำหนดให้มีการเท่าทันสื่อที่ชัดเจน

-ด้านกลไกการกำกับดูแล มีข้อเสนอ ได้แก่
- ควรมีการตรวจสอบก่อนการให้ใบอนุญาต ต้องไม่มีการแอบแฝงของภาคเอกชนในประเภทกิจการสาธารณะและชุมชน และคนทุกกลุ่มสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง
- ควรมีคณะกรรมการติดตาม ประเมินผล และกำกับดูแลผู้ที่ได้รับใบอนุญาต
- ควรมีการบันทึกประวัติการดำเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาต และกำหนดบทลงโทษเมื่อผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์
- ควรมีการกำหนดบทลงโทษ และหลักเกณฑ์ในการถอดถอนใบอนุญาต
- ควรมีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการให้กับภาคประชาชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์
- ควรมีการสร้างความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) เพื่อทำหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ความโปร่งใสในการดำเนินการ
- กลไกการออกใบอนุญาต ต้องมีหลักเกณฑ์ กติกาการจัดสรรช่องรายการ กำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน กระจายให้ได้ทุกความหลากหลาย และทุกสาธารณะและชุมชน
- ควรมีหลักเกณฑ์การกำกับเนื้อหา ผังรายการที่ชัดเจน
- ควรมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของภาคประชาชน เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนในการกำกับดูแล
- ควรมีการกลไกตรวจสอบความคุ้มค่าให้การให้ใบอนุญาตแก่หน่วยงานของรัฐ ที่มีผู้รับชมไม่ถึง 1%
- บริการชุมชนควรจัดทำ Roadmap ในการดำเนินการที่ชัดเจน และมีการเตรียมการเพื่อประเมินความพร้อม เช่นการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับองค์กรระดับชุมชน
- ผู้รับใบอนุญาตต้องมีการแบ่งปันช่องให้กับกลุ่มอื่นๆ และต้องมีแผนการแบ่งปันอย่างชัดเจน
- ควรมีการเตรียมการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ และศึกษาการดำเนินการของหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว
- ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล โดยอาจมีการตั้งคณะทำงานร่วม

ด้านเทคนิค มีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการจัดทำ Closed Caption สำหรับคนพิการ องค์กรกำกับควรมีการสนับสนุนศูนย์ในการผลิตและพัฒนา Closed Caption เพราะนอกจากจะใช้ได้กับคนพิการแล้วยังสามารถใช้ได้กับคนทั่วไปที่มีการใช้ภาษาอื่นๆ เพื่อส่งเสริมพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net