Skip to main content
sharethis

คนบ้านหัวทุ่ง เชียงดาว ร่วมกับสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT-I สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ กศน.จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมจัดงาน“ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยตอกย้ำว่า ชุมชนพึ่งตนเองได้ ถ้าช่วยกันดูแลรักษาฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนให้ดี

 

 

แทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่เดินทางออกจากตัวอำเภอเชียงดาว ไปตามถนนเลี่ยงเมืองเชียงดาว ผ่านสี่แยกถ้ำเชียงดาว ไปทางทิศเหนือไม่กี่กิโลเมตร  ผ่านเข้าไปบ้านทุ่งละคร ก็จะพบกับหมู่บ้านหัวทุ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเจอกับชุมชนบ้านหัวทุ่ง เป็นชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ติดกับป่าต้นน้ำและดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งหมู่บ้านหัวทุ่ง แห่งนี้ถือว่าเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เป็นชุมชนพึ่งตนเองและทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมาอย่างต่อเนื่อง จนชุมชนบ้านแห่งนี้ได้รับรางวัลมากมายหลายสิบรางวัล

โดยเฉพาะเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ หรือรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านปลอดการเผา “ชุมชนสีเขียว” ระดับจังหวัด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมาอีกด้วย ซึ่งรางวัลเหล่านี้ ถือว่าได้สร้างกำลังใจให้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก และยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอเชียงดาว และจังหวัดเชียงใหม่ไม่ใช่น้อย

นายสุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่ง กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากคนลัวะ คนไทลื้อ และคนยอง อพยพโยกย้ายมาจากจังหวัดลำพูน จนกระทั่งเข้ามาบุกเบิกที่ทำกินแห่งใหม่ โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันบริเวณบ้านทุ่งละคร จาก 10 หลังคาเรือนก็ขยับขยายมากขึ้นเรื่อยๆต่อมา ได้แยกจากหมู่บ้านทุ่งละคร มาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อ ‘หัวทุ่ง’ ปัจจุบันมีทั้งหมด 150 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 454 คน

จุดเด่นของบ้านหัวทุ่ง ก็คือ ชาวบ้านทุกคนได้ช่วยกันรักษาดิน น้ำ ป่า ดูแลป่าชุมชนกันมาอย่างยาวนาน            

เมื่อศึกษาดูประวัติหมู่บ้านก็จะรู้ว่าเมื่อก่อน ป่าผืนนี้เคยโดนสัมปทานป่า ต่อมาชาวบ้านก็ได้ช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำ จากรุ่นสู่รุ่น เพราะเมื่อก่อนนี้ชาวบ้านก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำแห้งน้ำแล้ง แต่พอเราช่วยกันปลูกป่าเสริม แล้วปล่อยให้ป่ามันฟื้นขึ้นมาเอง เพราะว่า จริงๆแล้ว ถ้าเราดูแลกันจริงๆ ไม่ให้มีการบุกรุกทำลายอีก โดยธรรมชาติ ป่ามันจะฟื้นขึ้นมา ก็ทำให้เรามีน้ำอุดมสมบูรณ์                                            

“ทุกวันนี้ ถ้าเดินเข้าไปดูข้างใน ก็จะเห็นป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำกันแล้ว”

ถ้าใครมีโอกาสไปเยือนบ้านหัวทุ่ง ก็จะรู้ว่า ชุมชนบ้านหัวทุ่ง นั้นตั้งอยู่ที่บนที่ราบชายขอบของผืนป่าขนาดใหญ่ติดกับเชิงดอยหลวงเชียงดาวและดอยนาง ขนาดพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ (รวมป่าอนุรักษ์ ,ป่าชุมชน ,ป่าใช้สอยชุมชน)ทับซ้อนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว  ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาได้ใช้น้ำจากลำห้วยแม่ลุที่ไหลมาจากต้นน้ำ มารวมกับห้วยละคร ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง แน่นอน น้ำแม่ลุ จึงถือได้ว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสาขาอีกสายหนึ่ง ที่ได้ไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนรวมทั้งเกษตรกรผู้ใช้น้ำถึง 5 หมู่บ้าน ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิง บริเวณบ้านวังจ๊อม ของอำเภอเชียงดาว                                         

สถานที่ท่องเที่ยวของบ้านหัวทุ่ง ที่โดดเด่น หลายคนนิยมไปกัน นั่นก็คือ ‘น้ำออกฮู’ หรือน้ำออกรู ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกแต่งดงาม เมื่อจู่ๆ ก็มีน้ำใสไหลทะลักออกจากซอกรู โตรกผา ของตีนดอยนาง อันถือว่าเป็นดอยคู่พระคู่นางกับดอยหลวงเชียงดาว                                                                                                        

แม่หล้า ศรีบุญยัง ปราชญ์ผู้นำบ้านหัวทุ่ง ได้บอกเล่าถึงตำนานเรื่องเล่าของน้ำออกรู นี้ว่า “ในตำนานคนเฒ่าคนแก่ เขาเล่าว่า บนดอยหลวงเชียงดาว นั้นมีเจ้าพ่อหลวงคำแดงกับแม่นางอินเหลา ตอนหลังเขามาเปลี่ยนชื่อเป็นแม่นางคำเขียว ที่รักษาหัวน้ำรูแห่งนี้ ที่ว่าแปลก ก็คือ ลักษณะของดอยหลวงเชียงดาวนั้นมันเป็นเทือกเขาหินปูน ซึ่งถ้าพูดในเชิงวิชาการ เขาว่ามันเป็นเขาหินปูน มันเก็บน้ำไม่ได้ แต่ทำไมเราถึงมีน้ำออกรูให้ชาวบ้านได้ใช้กันทุกวันนี้” 

แม่หล้า ยังบอกอีกว่า “ชาวบ้านที่นี่มีความเชื่อกันว่า ที่น้ำมันออกมารูแบบนี้ เขาว่ากันว่า ผีปั๋นกิน คือผีเจ้าป่าเจ้าเขาได้แบ่งให้กิน คือถ้าเราไปยืนดู ไปเห็นขุนน้ำ มันจะลาดเอียงไปทางบ้านถ้ำ น้ำมันน่าจะไหลไปทางบ้านถ้ำ แต่ทำไมน้ำถึงไหลลงมายังฝั่งบ้านหัวทุ่ง ซึ่งเราดูด้วยสายตาก็รู้ เพราะดอยหลวงกับดอยนางมันคู่กัน ดอยหลวงคือเจ้าพ่อหลวงคำแดง ส่วนดอยนางคือเจ้าแม่นางคำเขียว คล้ายกับปั๋นเมียเปิ้นมาเลี้ยงลูกหลานทางนี้”            

ซึ่งถ้ามองทั้งหมด พื้นที่ดอยหลวงกับดอยนาง นั้นถือว่าเป็นตัวรองรับน้ำ ซับน้ำแล้วก็แบ่งสรรปันส่วนกันมาให้ทั้ง 5 ลุ่มน้ำ 5 สายน้ำ คือ แม่กึ้ด แม่ลุ แม่ก๊ะ แม่นะ แม่แมะ ลำห้วยสายนี้ก็ล้วนไหลมาจากดอยหลวงเชียงดาวทั้งหมด

บ้านหัวทุ่ง จึงมีสโลแกนที่ทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนคือ “ป่าสวยน้ำใส สมุนไพรขึ้นชื่อ เรื่องลือข่าวเศรษฐกิจ วิถีชีวิตจักสาน สมานสามัคคี มีน้ำใจพัฒนา”                                                       

เรื่อง “สมุนไพร” ก็เป็นจุดเด่นอีกอันหนึ่งของชุมชนบ้านหัวทุ่ง                                                                 

“ถ้าพูดเรื่องสมุนไพรไม่ว่าคนในประเทศ คนต่างประเทศ หรือว่าเด็กก็สนใจ เราก็จะพาเดินไปในป่า ชี้ให้เขาดู เราทำเส้นทางการศึกษา ในบ้านก็มี ในป่าก็มี ครั้งหนึ่ง แม่หล้าไปทำงานได้งบของฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ประมาณ 4,000 บาท ก็เอามารวมตัวกันปลูกสมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ ต่อมา ก็มีสาธารณสุขเข้ามาทำวิจัยเรื่องสมุนไพร ระยะหลังได้ถูกประกาศเป็นพืชคุ้มครองออก พ.ร.บ. คุ้มครองฯ อยู่ 113 ชนิด  ซึ่งพอเราสำรวจแล้ว มันไม่ใช่มี 113 ชนิด จริงๆ แล้วมันมีสมุนไพรเป็นพันๆ ชนิด แล้วระยะหลัง เราจึงได้มีการทำวิจัยเรื่องสมุนไพร จนเกิดกลุ่มสมุนไพรขึ้นมา” แม่หล้า บอกเล่าให้ฟัง                 

จุดเด่นอีกจุดหนึ่ง ของบ้านหัวทุ่ง ก็คือ ‘การปลูกไผ่เศรษฐกิจ’ ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนแห่งแรกที่มีการสานก๋วยของอำเภอเชียงดาว และก็เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการปลูกไผ่เพื่อชาวบ้านได้ช่วยกันดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน จนกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน โดยมีทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ เข้ามาศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง                   

พ่อหลวงสุขเกษม สิงห์คำ บอกเล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านได้ร่วมใจกันปลูกป่าไผ่ในสมัยพ่อหลวงติ๊บ ศรีบุญยัง ซึ่งได้ได้ไปขอพื้นที่ของ นพค.32 กรป.กลาง ที่เขาได้ใช้ที่ดินเป็นที่เลี้ยงวัว ต่อมาได้ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ทางพ่อหลวงติ๊บ นอกจากชาวบ้านจะช่วยกันดูแลป่าชุมชนกันได้แล้ว  แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ละครอบครัวก็มีการสานก๋วย ซึ่งก็ต้องมีการตัดไผ่กันทุกวันๆ แล้วถ้าชาวบ้านตัดไผ่ โดยไม่มีการปลูกไผ่เสริมเลย วันหนึ่งมันก็หมด ทางพ่อหลวงติ๊บจึงได้ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา แล้วก็ไปขอที่ดิน นพค.เพื่อปลูกไผ่ ในเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ ซึ่งทำให้ตอนนี้ชาวบ้านหัวทุ่งได้รับประโยชน์ ก็คือชาวบ้านก็ไปตัดไม้ไผ่ที่ปลูกไว้ เพื่อเอาไปสานก๋วย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยที่ไม่ต้องไปตัดในป่าข้างนอก”                                                                                     

หลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วจะตัดไผ่แบ่งกันอย่างไร จึงจะยุติธรรมและไม่มีความขัดแย้ง                                 

พ่อหลวงบ้านหัวทุ่ง บอกเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นทางพ่อหลวงติ๊บ ได้ตั้งกฎระเบียบขึ้นมา การตัดไม้ไผ่วันไหน ก็จะใช้เสียงตามสายของหมู่บ้านประกาศให้ลูกสมาชิกไปช่วยกันตัด ช่วยกันแบกขน และเอามาคัดเป็นกองๆ จากคัดเรียบร้อยก็จะมาจับฉลาก จะมีเบอร์เขียนเอาไว้ ตอนแรกๆ นั้น มีทั้งหมด 95 คน ก็เขียนเบอร์ 1- 95”

“หมายความว่า เมื่อมีคนทั้งหมด 95 คน นี่หมายความว่าตัดแต่ละครั้งก็จะตัด 950 เล่ม ตัดแล้วเอามารวมกัน คนมีหน้าที่ขนก็ขน แล้วก็จะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งคอยจัดแบ่ง แบ่งคนละสิบเล่ม เสร็จแล้วก็จะมาคัดตรวจ อันไหนเล่มใหญ่เล่มเล็ก ถ้าเล็กก็เอาไปเพิ่มให้ แล้วหลังจากนั้นก็จับฉลาก ทำแบบนี้ ก็ยุติธรรมดี ไม่มีการทะเลาะกัน” แม่หล้า เล่าเสริมให้ฟัง                                                                                                        

ปัจจุบัน โครงการปลูกไผ่เศรษฐกิจ ได้ขยายปลูกเพิ่มไป 37 ไร่ รวมทั้งหมดเป็น 78 ไร่ ว่ากันว่า แปลงปลูกไผ่โครงการล่าสุดนี้ ตอนนี้ใหญ่โตสมบูรณ์พร้อมใกล้จะตัดได้แล้ว                                                       

ทุกวันนี้ บ้านหัวทุ่ง จึงกลายเป็น พื้นที่ดูงานในเรื่องนี้ จนโด่งดังไปทั่ว จนชาวบ้าน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ จากหลายๆ ประเทศพากันศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง                                                              

“การศึกษาดูงานบ้านหัวทุ่ง ตอนนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะบ้านเรานะ ต่างประเทศเขาก็สนใจ อย่างฝรั่ง ออสเตรเลียที่มาบ่อย เขาสนใจมาก ผู้นำของเวียดนามก็มาดูงานว่าทำไมต้องมีไผ่ ทำไมต้องสานก๋วย เนปาลก็สนใจ ก็สนใจระบบนิเวศทั้งหมด เพราะว่าการจัดการป่าของเรา มันเชื่อมโยง จนมาถึงเกิดไผ่เศรษฐกิจได้ ก็เพราะว่าการดูแลป่าชุมชนแล้วเพราะเรามองการณ์ไกลของอนาคตบ้านหัวทุ่งด้วย”                                                    

มาถึงตอนนี้ เราจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมบ้านหัวทุ่ง จึงได้รับรางวัลมากมายกว่าหลายสิบรางวัล และรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกรางวัลหนึ่งชาวบ้านหัวทุ่งภาคภูมิใจ                                                                                                            

“จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ ก็มีคนเข้ามาท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่พอดี การท่องเที่ยวโดยชุมชน ของซีบีที เขาเข้ามาในหมู่บ้านเราแล้วเขาก็นำเอานักศึกษาหรือว่าฝรั่งที่ชอบการท่องเที่ยวด้านนิเวศ แล้วก็มีประชาชนต่างถิ่น ยกตัวอย่าง อย่างคนเมืองกาญจนบุรีที่ได้เข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งรางวัลนี้บ้านหัวทุ่งก็ไม่ได้คิดว่าจะได้รับรางวัล ก็ทำกันไปเรื่อยๆ ทำกันอย่างต่อเนื่องซึ่งจากรุ่นสู่รุ่น พอดีเขาก็แจ้งว่าทางการท่องเที่ยวและการกีฬาแห่งประเทศไทยแจ้งมาว่าบ้านหัวทุ่งได้รับรางวัล ก็คงเป็นเพราะว่า บ้านหัวทุ่งเราได้ดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกันมานานกว่า  20 ปีแล้ว

“การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของบ้านหัวทุ่ง ตอนนี้มีระบบการจัดการอย่างไรบ้าง” เราเอ่ยถาม                   

“พอดีการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนของบ้านหัวทุ่ง ตอนนี้ก็มีบริษัทการท่องเที่ยว เขามาสนับสนุนเรา โดยทางชาวบ้านก็มีการจัดบ้านพักโฮมสเตย์เอาไว้ โดยโปรแกรมก็เข้ามาอยู่ 1 คืน กับอีก 2 วัน เราก็จะเปิดต้อนรับที่ศาลาแล้วก็เข้าบ้านพัก พอตกเย็นก็จะพาเดินดูวิถีชีวิตของชุมชนบ้านหัวทุ่ง ว่าอยู่อย่างไร จากนั้น วันรุ่งเช้า เราก็จะพาเข้าไปเที่ยวในป่าชุมชน ไปศึกษาดูว่าป่ามันฟื้นอย่างไร ในป่าก็จะมีจุดการศึกษา โดยจะมีมัคคุเทศก์ของหมู่บ้านคอยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว หลังจากนั้นเราก็จะทานข้าวเที่ยงร่วมกัน สรุปแล้ว จุดเด่นก็คือ หนึ่ง เรียนรู้วิถีชีวิต เรียนรู้ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจหรือป่าไผ่ที่ชาวบ้านได้ปลูกกันไว้”                                                   

พ่อหลวงสุขเกษม ได้บอกผ่านไปยังคนเชียงดาว คนเชียงใหม่และคนทั่วประเทศว่า ด้วยว่า “นี่เป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกที่บ้านหัวทุ่งได้ทำสืบต่อกันมา อันนี้ก็อยากให้คนอำเภอเชียงดาว ไม่ว่าท่านผู้นำก็ดี หรือชาวบ้านที่อยากจะมาดูว่าบ้านหัวทุ่งเขาจัดการบริหารอย่างไรถึงได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่จริงๆ แล้วถ้าได้รับรางวัล แต่ไม่ลงทำ มันก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งบ้านหัวทุ่งก็ทำด้วยจิตสำนึกมากกว่า มันเป็นจิตใต้สำนึกของคนบ้านหัวทุ่งไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ช่วยกันดูแล ซึ่งเรื่องนี้คนเชียงดาวก็คงไม่ค่อยรู้” ก่อนเดินทางกลับ แม่หล้า ศรีบุญยัง ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านหัวทุ่ง ได้ฝากคำบอกเล่าไปยังพี่น้องคนเชียงดาวและนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ ได้เข้าใจวิถีของคนอยู่กับป่ามาช้านาน ว่า “ป่ามันคือชีวิต น้ำก็คือชีวิต ป่านี่เป็นปัจจัยสี่ ที่คนควรจะเข้าไปเอาใจใส่ดูแลมัน เราเข้าไปในป่า เราไม่มีเงินซักบาท เราก็ยังได้กิน เหมือนกับเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนจน หรือเจ็บป่วยเราเข้าไปยาอันไหนดีมีที่นั่นเยอะแยะ แล้วก็มองเห็นว่าป่ามันมีชีวิตจริงๆ”           

ในขณะที่ แม่หล้า ศรีบุญยัง ก็ได้บอกย้ำว่า “อยากฝากไปถึงคนเชียงดาว  คนเชียงใหม่ คนที่ไม่มีป่า และคนที่อยู่ในเมืองคนทั่วประเทศ ด้วยว่า  ที่จริงแล้ว ชาวบ้านหัวทุ่งได้ช่วยกันดูแลป่านั้น ก็ไม่ใช่เพื่อชาวหัวทุ่งเท่านั้น เพราะอากาศบริสุทธิ์ มันก็ลอยไปทั่วประเทศ ทั่วโลก ขนาดเขาอยู่ต่างประเทศเขายังจะมาซื้ออากาศเรา เราในฐานะที่เป็นคนหัวทุ่ง ที่ดูแลป่ามาได้กว่า 20 ปี ก็อยากจะเชิญชวนคนเชียงดาวหันมาสนใจดูแลป่า ก็ได้น้ำ แล้วเอามาทำการเกษตร ในเมื่อมันครบวงจร ก็ทำให้วิถีชีวิตของคนเชียงดาวดีขึ้นมา  ทั้งอากาศ ทั้งการเกษตร อุปโภคบริโภค มลภาวะก็ดีขึ้น ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับป่า ขึ้นอยู่กับป่าทั้งสิ้น ถึงบ้านคุณไม่มีป่า อยู่ในเมือง ก็ขอส่งกำลังใจให้คนที่ดูแลรักษาด้วย” ผู้นำธรรมชาติบ้านหัวทุ่ง บอกย้ำ

ล่าสุด ในวันที่ 25 มีนาคม 2556 นี้ ทางชาวบ้านชุมชนบ้านหัวทุ่ง หมู่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT-I สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ กศน.จังหวัดเชียงใหม่ จะได้ร่วมกันจัดงาน“ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน”  ณ ลานกีฬา โรงเรียนบ้านทุ่งละคร อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยงานดังกล่าว จะมีเวทีนำเสนอผลงานวิจัย "โครงการวิจัยการปรับตัววิถีพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชนบ้านหัว" ภายใต้ชื่องานว่า“ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน”  ซึ่งจุดเด่นของกิจกรรมครั้งนี้ ก็คือ ชาวบ้านบ้านหัวทุ่ง ทุกคนล้วนเป็นนักวิจัย และจะนำเสนอผลการทำงานวิจัยในชุมชนของตนเอง ให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้

โดยงานดังกล่าว มีกิจกรรมหลากหลาย  อาทิเช่น ในเวทีวิชาการ จะเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยผ่านเวทีเสวนาและบทบาทของหน่วยงานในการใช้ประโยชน์และขยายผลงานวิจัย โดยจะมีการจัดนิทรรศการความรู้ ข้อมูลและผลงานวิจัยตลอดระยะเวลา 8 เดือน  ซึ่งเป้าหมายของการนำเสนอผลงานวิจัยระยะแรกของโครงการวิจัยในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการสื่อสารสังคม รูปธรรมของชุมชนจัดการความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง และหาทิศทางแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีพันธมิตรทั้งในและนอกพื้นที่ อ.เชียงดาว รวมทั้งเพื่อขยายเครือข่ายการจัดการชุมชนพึ่งตนเองต่อไป

โดยภายในงานนี้ จะมีการสาธิต ถ่ายทอด เพื่อสื่อสารภายใต้แนวคิด ชุมชนจัดการความมั่นคงทางอาหารสู่การพึ่งตนเองโดยแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ (1) ดิน น้ำป่า (2) คน วัฒนธรรม สุขภาพ (3) เกษตรพึ่งตนเอง (4) การท่องเที่ยว (5) อาหารท้องถิ่น และ (6) ข้อมูลชุมชนพึ่งตนเอง (รวมเรื่องเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ)รวมทั้งการขายสินค้าพื้นบ้านภายใต้แนวคิดการจัดงาน โดยจะเน้นในเรื่องของผักพื้นบ้านและสมุนไพร เป็นหลัก

 



 

 

กำหนดการเวทีวิชาการ

“ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน”

วันที่ 25 มีนาคม 2556 ณ ลานกีฬา โรงเรียนบ้านทุ่งละคร อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

เวลา 8.00 – 8.30 น. ลงทะเบียน

เวลา 8.30 – 8.40 น. การแสดง กลองสะบัดชัย

เวลา 8.40 – 8.50 น. กล่าวรายงานการจัดงาน โดย ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่ง

เวลา 9.00 – 9.30 น. กล่าวเปิดงาน โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

เวลา 9.30 – 9.40 น. การแสดง ฟ้อนสาวเชียงดาว

เวลา 9.40 – 10.00 น. บรรยายพิเศษ “ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการชุมชน”

โดย ตัวแทน สำนักงาน กศน. จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ.

เวลา 10.00 – 10.20 น. วีดีทัศน์ “หนังสั้น เรื่อง ทรัพยากรกับคน ชุมชนบ้านหัวทุ่ง”

เวลา 10.20 – 12.00 น. เสวนา “ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน”

• รูปธรรมจากหัวทุ่ง

- ยุคบุกเบิก เริ่มเป็นชุมชนหัวทุ่ง โดย หล้า ศรีบุญยัง

- ยุคสานต่อแนวคิด โดย ประจักษ์ บุญเรือง

- ยุคสืบสาน พัฒนา โดย สุขเกษม สิงห์คำ

- ชุมชนหัวทุ่งในอนาคต โดย จิราวรรณ คำซาว

• บทบาทการสนับสนุน วันนี้และอนาคต โดย ผู้แทน สกว.

• พันธมิตรร่วมสานต่อ โดย ผู้แทนจาก สำนักงาน กศน. จังหวัด

เชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ

ดำเนินรายการโดย พิธีกร ช่อง 11 ท้องถิ่น

เวลา 11.00 – 12.00 น. สาธิต ถ่ายทอด และร่วมรับประทาน อาหารพื้นบ้านเพื่อความมั่นคง

เวลา 13.00 – 13.15 น. การแสดงระบำตัวหนอน ฟ้อนสาวเชียงดาว

เวลา 13.15 – 14.45 น. ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร โดย กลไกกลางงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ภาคเหนือ

เวลา 14.45 – 15.00 น. การแสดงปิด กล่าวสรุปและปิดงาน

 

 

 

ข้อมูลประกอบ

- ‘วิถีบ้านหัวทุ่ง ชุมชนคนกับป่า กับ'รางวัลท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ' สำนักข่าวประชาธรรม,15 ม.ค. 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net