ชินัว อาเชเบ นักเขียนผู้เป็นต้นธารวรรณกรรมแอฟริกันเสียชีวิต

"ถ้าคุณไม่ชอบเรื่องราวของใครสักคน คุณก็เขียนมันขึ้นมาเอง" คือประโยคที่ทำให้ชินัว อาเชเบ นักเขียนไนจีเรียผู้ล่วงลับ สร้างงานวรรณกรรมที่เผยเรื่องความขัดแย้งและนำเสนอภาพของชาวแอฟริกันออกมาแตกต่างจากงานเขียนของตะวันตก จนได้รับยกย่องให้กลายเป็นผู้วางรากฐานวรรณกรรมแอฟริกัน

ชินัว อาเชเบ Photo by 'Stuart C.

 

ชินัว อาเชเบ นักเขียนชาวไนจีเรีย เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอายุ 82 ปี สำนักข่าวต่างประเทศยกย่องให้เขาเป็นนักเขียนชื่อดังผู้วางรากฐานวรรณกรรมแอฟริกัน ผลงานดีเด่นของอาเชเบคือนิยายเรื่องแรกของเขา Things Fall Apart ซึ่งในชื่อไทยคือ 'ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ' แปลโดย 'ลำน้ำ' จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คบไฟ

สำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษกล่าวว่าวรรณกรรมเรื่องก่อนรัตติกาลจะดับสูญไม่เพียงเป็นการท้าทายมุมมองการเล่าเรื่อง (narratives) ของชาวยุโรปที่มีต่อชาวแอฟริกันเท่านั้น แต่ยังเป็นการท้าทายฐานคติเรื่องรูปแบบและบทบาทของนิยายอีกด้วย โดยนิยายของอาเชเบได้ผสมผสานลักษณะการเล่าในเชิงมุขปาฐะ (การเล่าปากต่อปาก) และในเชิงการประพันธ์ (literary) ไว้ด้วยกัน ทั้งยังมีการปรับแต่งภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการนำเสนอแนวความคิดของชาวอีโบซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งของไนจีเรีย ทำให้เกิดแม่แบบและแรงบันดาลใจแก่นักประพันธ์นิยายคนอื่นๆ ทั่วทวีปแอฟริกา

ชินัว เกิดและเติบโตในหมู่บ้านของชาวอีโบ ในเมือง โอกิดี ทางตะวันออกของไนจีเรีย 40 ปี หลังจากที่คณะมิชชันนารีเข้ามาในพื้นที่ ชินัวเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เป็นชาวคริสต์ ตัวเขาเองรับศาสนาจากการที่พ่อแม่ของเขาถูกเปลี่ยนเป็นชาวคริสต์ ชินัวเคยบอกว่ามันทำให้เขาก้าวห่างออกมาจากวัฒนธรรมอื่นๆ แต่เป็นการก้าวถอยหลังเพื่อมองให้เห็นภาพกว้างๆ

ทั้งเรื่องศาสนาและการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมแอฟริกันดั้งเดิมในช่วงก่อนและหลังยุคอานานิคม ล้วงมีอิทธิพลต่อนิยายของชินัว ขณะที่เขาเรียนอยู่ที่โรงเรียนของมิชชันนารีในท้องถิ่น เด็กๆ ในโรงเรียนถูกห้ามพูดภาษาอีโบ และมีการส่งเสริมให้ละทิ้งประเพณีดั้งเดิมซึ่งถูกหาว่าเป็นลัทธินอกศาสนา (pagan) อย่างไรก็ตามชินัวก็ได้ซึมซับนิทานพื้นบ้านที่แม่และพี่สาวเขาเล่าให้ฟัง เขาพูดถึงนิทานเหล่านั้นว่า "มีความเก่าแก่ล้ำค่าแบบเดียวกับท้องฟ้า, ผืนป่า และแม่น้ำ"

ทีแรกชินัวเป็นนักเรียนที่ได้ทุนไปเรียนสาขาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันมีขื่อว่ามหาวิทยาลัยอิบาดาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ต่อมาเขาก็ค้นพบว่าเขาชอบงานประพันธ์มากกว่าจึงหันไปเรียนวรรณกรรมอังกฤษ, ศาสนศาสตร์ และประวัติศาสตร์ โดยในมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรคล้ายกับที่อังกฤษ อาจารย์ได้นำเสนอวรรณกรรมเกี่ยวกับไนจีเรียของจอยซ์ แครี่ นักเขียนไอริช กับเรื่อง Heart of Darkness ของโจเซฟ คอนราด นักเขียนสัญชาติอังกฤษ (เรื่อง Heart of Darkness หรือ "หัวใจแห่งอนธกาล" กล่าวถึงทวีปแอฟริกาด้วยภาพโหดร้ายและล้าหลัง) ซึ่งงานวรรณกรรมเหล่านี้ขัดแย้งกับแนวความคิดของขบวนการต่อต้านการล่าอาณานิคมที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ผลงานของชินัวในช่วงปี 1948 ถึง 1952 เป็นผลงานบทความลงในนิตยสารนักศึกษาที่มีท่าทีแบบชาตินิยม อย่างไรก็ตาม The Guardian บอกว่าแม้ในผลงานยุคแรกๆ ชินัวก็แสดงคุณภาพและคุณลักษณะเฉพาะของตนออกมา เช่นการมองปัญญาชนชั้นนำแบบตลกๆ การจัดวางโครงสร้างที่ขัดแย้งได้อย่างสมดุล การล้อเลียนเสียดสีท่วงท่าของวาทกรรมต่างๆ ความสนใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นไนจีเรียและปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมอีโบ และขณะเดียวกันก็ยืนยันนำเสนอสิ่งที่เขามองว่าเป็นความอดกลั้นของชาวอีโบ

แน่นอนว่าผลงานที่นำเสนอภาพของทวีปแอฟริกาในวรรณกรรมตะวันตกที่ชินัวได้เรียนมาทำให้เขารู้สึกไม่เห็นด้วย และหลังเขาเรียนจบในปี 1952 มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนงานเล่าเรื่องราวชาวแอฟริกันและประสบการณ์อาณานิคมจากมุมมองของชาวแอฟริกันเอง

"ถ้าคุณไม่ชอบเรื่องราวของใครสักคน คุณก็เขียนมันขึ้นมาเอง" ชินัวกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ The Paris เมื่อปี 1994 ซึ่งเขาพูดถึงเรื่อง Heart of Darkness ของคอนราด บอกว่าเรื่องของคอนราดนำเสนอภาพของชาวแอฟริกันแบบไม่มีความเป็นมนุษย์

อีกหนึ่งในแรงบันดาลใจคือเรื่องมิสเตอร์ จอห์นสัน ของแครี่ ซึ่งมีฉากเป็นไนจีเรีย แม้ว่านักวิจารณ์อังกฤษจะกล่าวชมเชยเรื่องนี้ไว้มาก แต่สำหรับชินัวแล้วมนนำเสนอภาพของไนจีเรียและตัวละครไนจีเรียได้อย่างผิวเผินมากๆ "ถ้าเรื่องมันดังขนาดนี้ มันก็น่าจะมีใครบางคนลองมองมันจากด้านในดู" ชินัวกล่าว

 

 

ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ

The New York Times กล่าวว่า นิยายเรื่องแรกของเขาคือ 'ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ' ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1958 เป็นร้อยแก้วที่นิ่งสงบและพิถีพิถัน เรื่องนี้ได้นำเสนอภาพสังคมชนเผ่าที่แตกหักภายใต้อำนาจของแนวคิดล่าอาณานิคม นิยายเรื่องนี้ถูกใช้เป็นนิยายสอนในโรงเรียนและวิทยาลัยของสหรัฐฯ มียอดขาย 8 ล้านเล่มทั่วโลก และได้รับการแปล 50 ภาษา

เดิมทีแล้วชินัววางแผนจะเขียนนิยายเรื่องราวเรื่องเดียว ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับช่วงเริ่มต้นยุคอาณานิคมของไนจีเรียและจบลงก่อนได้รับอิสรภาพไม่นาน แต่เขาก็แบ่งออกเแนสองเรื่องคือก่อนรัตติกาลจะดับสูญ ซึ่งเป็นเรื่องช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 19 และเรื่อง No Longer At Ease ซึ่งเป็นเรื่องช่วงก่อนไนจีเรียจะได้รับอิสรภาพ

The Guardian กล่าวว่าก่อนรัตติกาลจะดับสูญ นำเสนอวัฒนธรรมมุขปาฐะและจิตสำนึกที่ฝังรากอยู่ในสังคมแบบเกษตรกรรม แต่ขณะเดียวกันชินัวก็หลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอภาพของแอฟริกาช่วงก่อนอาณานิคมเป็นท้องทุ่งชนบทอันงดงามและปฏิเสธการโหยหาอดีต เช่นที่เขาเคยบอกว่า "คนแอฟริกันไม่ใช่เพิ่งได้ยินเรื่องของอารยธรรมเป็นครั้งแรกจากชาวยุโรป"

ในเรื่องก่อนรัตติกาลจะดับสูญตัวเอกของเรื่องคือ โอกองโกว ดูเหมือนจะเป็นวีรบุรุษแต่ก็มีข้อเสียคือกลัวว่าตนจะดูอ่อนแอ ทำให้เขาแสดงการกดขี่ข่มเหงภรรยากับลูกของตนเอง และเข้าร่วมการบูชายัญเชลยจากอีกหมู่บ้าน การวางตัวละครและฉากหมู่บ้านชนบทในแบบวงปิดทำให้เรื่องนี้ถูกเปรียบเทียบกับ The Mayor of Casterbridge ของโทมัส ฮาร์ดี นักเขียนนิยายที่อาเชเบชื่นชอบ

เรื่องต่อมาคือ No Longer at Ease ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1960 เล่าเรื่องราวของไนจีเรียในช่วง 1950s โดยเล่าผ่านสายตาตัวละครรุ่นหลานของโอกองโกว คนหนุ่มผู้มีอุดมคติที่เรียนจบจากอังกฤษแล้วกลับมาเป็นข้าราชการของไนจีเรีย แต่ก็รู้สึกว่าเงินเดือนของเขาไม่มากพอที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์อย่างที่เขาคาดหวังไว้ได้ เลยทำการรับสินบน

ในช่วงนั้นเองชินัวได้เดินทางไปหลายที่ ถูกส่งไปเรียนรู้การทำงานกับ BBC ในฐานะหัวหน้าฝ่ายรายการเชิงอภิปรายของสถานีโทรทัศน์ไนจีเรีย (NBS) เขาได้ผลิตรายการเชิงอภิปรายและเรื่องสั้นสำหรับ NBS โดยได้เรียนรู้วิธีการสนทนาแลกเปลี่ยนที่ดีไปด้วย

ผู้สนับสนุนขบวนการไบอาฟรา

ในขณะที่เขาทำรายการเกี่ยวกับความเห็นโต้ตอบของขาวไนจีเรียในช่วงแรกๆ ที่ตกเป็นอาณานิคม ชินัวได้สิบสวนเรื่องราวของนักบวชชาวอีโบที่ถูกจับขังคุกเพราะปฏิเสธจะร่วมมือกับอังกฤษ และรู้สึกชื่นชอบบุคลิกภาคภูมิใจในตนเองของนักบวชผู้นี้จนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนิยายเล่มที่สามของเขาคือเรื่อง Arrow of God (1964) ซึ่งนักวิจารณ์บางคนยกย่องให้เป็นผลงานชั้นยอดจากโครงเรื่องและการวางตัวละครที่สลับซับซ้อน และการสำรวจความขัดแย้งระหว่างความปรารถณาส่วนตัวกับพลังอำนาจภายนอกที่มีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์

นิยายเรื่องต่อมาของชินัว ได้นำประเด็นความรับผิดชอบของผู้นำมาขยายให้กลายเป็นเรื่องแนวเสียดสีที่กล่าวถึงประเด็นนี้จริงจังมากขึ้นใน A Man of the People (1966) ซึ่งพูดถึงนักการเมืองที่ทุจริตและไร้ความรับผิดชอบจนทำให้เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพตามมา ซึ่งในปี 1966 หลังได้รับเอกราชไนจีเรียก็เกิดการรัฐประหาร ทำให้เกิดการพยายามแบ่งแยกดินแดนรัฐไบอาฟรา (Biafra) ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของไนจีเรียซึ่งมีชาวอีโบอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีผู้เสียชีวิตนับล้านในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น

มีการสังหารหมู่ชาวอีโบเกิดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศหลังจากการรัฐประหาร ลูกพี่ลูกน้องของชินัวเป็นหนึ่งในผู้นำทางทหารที่ถูกลอบสังหารก็ได้รับคำเตือนว่าเขาอาจตกอยู่ในอันตรายจึงพาครอบครัวอพยพไปยังภาคตะวันออกของไนจีเรีย จากนั้นชินัวก็กลายเป็นตัวตั้งตัวตีสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของไบอาฟรา ในปี 1968 เขาประกาศว่า "ไบอาฟราคือการยืนยันเอกราชที่แท้จริงในแอฟริกา หลังจาก 400 ปีที่ถูกข่มเหงจากการร่วมมือกับยุโรป ... ผมเชื่อว่าเหตุผลของพวกเราถูกต้องและเป็นธรรม และนี่เป็นสิ่งที่วรรณกรรมในทุกวันนี้ควรจะมีคือความถูกต้องและเป็นธรรม"

ในช่วงบั้นปลายของชีวิตในปี 2012 ชินัวยังได้เขียนหนังสือบทความเรื่อง There Was A Country: A Personal History of Biafra ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวช่วงสงครามกลางเมืองจากสายตาของเขาเอง

แม้ว่าขบวนการไบอาฟราจะพ่ายแพ้ แต่ชินัวก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่า มุมมองและตัวตนของชาวอีโบควรดำรงอยู่ต่อไปในประเทศไนจีเรีย เขาได้เขียนประสบการณ์ช่วงสงครามไว้ในรวมบทกวี Beware Soul Brother (1971) และรวมเรื่องสั้น Girls at War and Other Stories (1972) เขายังได้ร่วมกับนักวิชาการไนจีเรียก่อตั้งวารสาร Okike ซึ่งเป็นวารสารเกี่ยวกับการวิจารณ์และการเขียนเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงเขียนหนังสือเด็กไว้หลายเล่มด้วย

ในประเทศหนึ่งๆ ไม่ได้มีเรื่องเล่าเรื่องเดียว

The Guardian กล่าวว่า แม้ผลงานของชินัวจะไม่ได้เป็นนิยายรูปแบบใหม่ แต่ดูเหมือนนิยายแต่ละเรื่องของเขาจะทำการถกเถียงอภิปรายกับนิยายเรื่องก่อนหน้า ทั้งทางด้านรูปแบบกลวิธี ทางด้านตัวละคร และทางด้านสภาวะทางสังคม กระบวนการนี้มาบรรจบที่นิยายเรื่องที่ 5 ของเขาคือ Anthills of the Savannah (1987) ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบและธีมเรื่องของตัวเขาเองทั้งหมดรวมถึงนักเขียนแอฟริกันคนอื่นๆ ด้วย

"นิยายเรื่องนี้ยืนยันว่าในประเทศหนึ่งๆ จะไม่ได้มีเรื่องเล่าเรื่องเดียว แต่ประกอบด้วยเรื่องเล่าจากหลายส่วน ที่เชื่อมร้อยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ทั้งจากวัฒนธรรมประเพณีของอีโบและอังกฤษ" The Guardian กล่าว

ทั้งปรัชญา โครงสร้าง และสุนทรียศาสตร์จากนิยายเรื่อง Anthills of the Savannah และเรื่องอื่นๆ ของของชินัว ได้รับการสรุปความอยู่ที่ประโยคสุดท้ายของบทความ 'ความจริงจากเรื่องแต่ง' หรือ The Truth of Fiction ของเขาเอง ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "วรรณกรรมที่มีจินตนาการ...จะไม่ทำให้คนเป็นทาส แต่จะปลดปล่อยจิตใจคน ความจริงของนิยายจะไม่ใช่สิงที่เหมือนกับหลักการดั้งเดิมหรืออะไรที่ไม่มีเหตุผลที่มาจากอคติและความงมงาย มันจะเริ่มต้นด้วยการผจญภัยเพื่อค้นพบตัวเอง และจบลงด้วยคติสอนใจและสำนึกในเชิงมนุษยธรรม"

แต่ก็ไม่ได้มีแต่เสียงชื่นชมอย่างเดียว งานวรรณกรรมของชินัวก็มักจะถูกวิจารณ์เรื่องแสดงให้เห็นถึงแนวคิดชายเป็นใหญ่เนื่องจากตัวละครชายหลายคนมีฉากทุบภรรยา หรือตัวละครอย่างโอกองโกแสดงความเกลียดชังสิ่งที่มี 'ความเป็นหญิง' แม้กระทั่งความคิดของตัวเอง และผู้หญิงในงานวรรณกรรมของเขาก็มักจะเป็นผู้หญิงที่เงียบๆ ว่านอนสอนง่าย และไม่มีตำแหน่งอำนาจ ตรงข้ามกับธรรมเนียมของอิโบที่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตามมีบางคนเห็นว่าผลงานของชินัวแค่เป็นการสะท้อนให้เห็นตัวละครที่มีความรู้เรื่องเพศสภาพไม่มาก และในผลงานชิ้นหลังๆ ชินัวก็พยายามแสดงให้เห็นอันตรายของการขับผู้หญิงออกจากสังคม ทั้งนี้ในนิยายเรื่อง Anthills of the Savannah ชินัวก็ได้นำเสนอตัวละครหญิงเป็นตัวเอกครั้งแรกชื่อ เบียทริกซ์ นวานยีบุยเฟ ซึ่งเป็นผู้หญิงอิสระในเมืองที่พยายามหาสมดุลในตัวเอง

และแม้ว่าเขาจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งไว้มาก แต่เขาก็ไม่ได้คิดว่าควรจะมีอะไรตายตัว เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1972 ว่า "ผมจะไม่เลือกข้างว่าสิ่งเก่าควรจะชนะหรือว่าสิ่งใหม่ควรจะชนะ ประเด็นคือผมไม่พอใจที่จะให้มีความจริงตายตัว และนี่ก็เป็นสิง่ที่พบในมุมมองของชาวอิโบ ไม่มีคนๆ ใดที่ถูกไปเสียทุกครั้ง ไม่มีแนวคิดใดถูกต้องไปทั้งหมด" และในปี 1996 เขาก็ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่เชื่อในลัทธิสุดโต่งนิยมหรือลัทธิแบบดั้งเดิมเนื่องจากมันเป็นการมองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผินเกินไป

คำสดุดีจากเนลสัน แมนเดลา

อุบัติเหตุรถยนต์ในปี 1990 ทำให้ชินัวเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงล่างลงไป ต่อมาเขาให้สัมภาษณ์กับแบรดฟอร์ด มอร์โรว์ แห่งนิตยสาร Conjunctions โดยกล่าวถึงการเป็นอัมพาตของตนด้วยท่าทีนิ่งสงบว่า เด็กบางคนพิการมาตั้งแต่กำเนิดทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ตัวเขาเองถือว่าโชคดีมากที่เดินได้ตั้ง 60 ปี แค่เดินไม่ได้ในช่วงบั้นปลายของชีวิตจะเป็นไรไป ในเมื่อบางคนไม่สามารถเดินได้มาทั้งชีวิต

ขณะอยู่บนรถเข็น ชินัวยังคงเดินทางไปสอนหนังสือในหลายๆ ที่ จนกระทั่งในปี 2009 เขาก็ย้ายไปอยู่ที่โรดไอส์แลนด์ ประเทศสหรัฐฯ หลังได้รับตำแหน่งเป็นศาตราจารย์ด้านแอฟริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยบราวน์ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มี.ค. จากอาการป่วยขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในบอสตัน

ชินัวยังเคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์อีกว่าอุบัติเหตุรถยนต์ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือการที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

The Guardian กล่าวว่าแม้ชินัวจะได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย แต่สิ่งที่ชีนัวให้ความสำคัญมากที่สุดคือคำกล่าวยกย่องจากเนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษของแอฟริกาใต้ ที่กล่าวไว้ในงานครบรอบ 70 ปีของชินัว โดยยกย่องให้เขาเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพ

เรียบเรียงจาก

Chinua Achebe obituary, The Guardian, 22-03-2013

Novelist Chinua Achebe dies, aged 82, The Guardian, 22-03-2013

Bearing Witness, With Words, The New York Times, 22-03-2013

Chinua Achebe, The Art of Fiction No. 139, The Paris Review

http://en.wikipedia.org/wiki/Chinua_Achebe

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท