Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2475 ตามระบบปฏิทินเก่าซึ่งขึ้นปีใหม่เมื่อวันที่ 1 เมษายน ดังนั้น เมื่อถืงเดือนมีนาคม ปีนี้ จึงเป็นปีอายุ 80 ปีพอดี และได้มีการจัดปาฐกถาเพื่อเป็นเกียรติเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา โดย คุณสุลักษณ์ปาฐกถาในเรื่อง “สังคมสยามตามทัศนะของปัญญาชนไทยหมายเลข 10” แต่ในบทความนี้ จะลอง”สามัคคีวิจารณ์”บทบาทของ ส.ศิวลักษณ์ ในสังคมไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า ส.ศิวลักษ์นั้นเป็น”ปัญญาชนสยาม” ที่มีความโดดเด่นมาก เป็นนักคิด นักเขียน นักพูด และนักวิชาการ มีผลงานที่เป็นงานเขียนมากกว่า 200 เล่ม และที่ไม่ค่อยทราบกัน คือ มีงานเขียนที่เป็นวิชาการจริง เช่น ประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาการเมืองฝรั่ง นโยบายสหรัฐอเมริกาในเอเชียอาคเนย์ เรื่องพระเจ้าอโศก ฯลฯ ซึ่งถือเป็นงานวิชาการที่มีคุณภาพ แต่ผลงานจำนวนที่มากกว่า มาจากการแสดงข้อคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ ศาสนา การเมือง และสังคมไทย

ส.ศิวรักษ์ได้เล่าประวัติของตัวเองช่วงแรกในหนังสือเล่มหนา ชื่อ ช่วงแห่งชีวิต เล่าว่า จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญและได้ผ่านการบวชเป็นสามเณรที่วัดทองนพคุณในช่วงสงครามเอเชียบูรพา ทำให้มีความสนใจอย่างลึกซึ้งมากในเรื่องศาสนา ต่อมา หลัง พ.ศ.2495 ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดีมหาวิทยาลัยเซนต์เดวิด ที่เมืองแลมปีเตอร์ในแคว้นเวลส์ จากนั้น ก็กลับมาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2504 .ในระหว่างนี้ได้เริมมีผลงานทางวิชาการแล้ว จากเรื่องแรกที่มีหลักฐานคือ “เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาในยุโรป” (2501)

พ.ศ.2505 ส.ศิวลักษณ์ ได้เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการคนแรกของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารนี้จะมีส่วนสำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ความคิดที่จะปูทางมาสู่กรณี 14 ตุลาคม ส.ศิวรักษ์เองก็เริ่มแสดงบทบาทในฐานะปัญญาชนคนสำคัญที่ต่อต้านระบบทหาร แต่ข้อที่น่าสังเกตคือ การต่อต้านเผด็จการของ ส.ศิวลักษณ์ มาจากจุดยืนอนุรักษ์นิยม ส.ศิวลักษณ์แสดงบทบาทชัดเจนในฐานะผู้ชื่นชมชนชั้นเจ้า-ขุนนาง ชื่นชมแบบแผนเก่า ประเพณีเก่า และนุ่งผ้าม่วง รวมถึงการต่อต้านปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เพราะเชื่อมโยงคณะราษฎรเข้ากับเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นกระแสความคิดในขณะนั้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า กระแสประชาธิปไตย 14 ตุลาด้านหนึ่งมาจากกระแสอนุรักษ์นิยม

ในอีกด้านหนึ่ง ผลงานของส.ศิวรักษ์ยังชี้ให้เห็นถึงความสนใจในด้านศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ พ.ศ.2507 เขาน่าจะเป็นคนแรกที่เขียนเรื่อง ทะไลลามะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการแสดงความสนใจในพุทธศาสนาแบบอื่น แต่ก็ทำให้ ส.ศิวลักษณ์ มีแนวคิดที่ต่อต้านจีนและต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยนั้นเช่นกัน

หลังกรณี 14 ตุลาคม ปรากฏว่า ส.ศิวรักษ์ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของขบวนการนักศึกษา ซึ่งมาจากหลายเหตุผล เช่น ส.ศิวรักษ์ ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อกระแสสังคมนิยมที่เป็นกระแสสำคัญของขบวนการนักศึกษา ยังแสดงท่าทีแบบอนุรักษ์นิยมนุ่งผ้าม่วง และผลักดันกระแสอหิงสา ซึ่งไม่ตรงกับกระแสชนบทล้อมเมือง และยังมีข้อมูลว่า ขบวนการนักศึกษาไม่ค่อยไว้ใจ ส.ศิวลักษณ์ ว่าอาจจะติดต่อกับซีไอเอ. และมีเป้าหมายทำลายขบวนการประชาชน

กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญทีสุดของ ส.ศิวรักษ์ จะเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนความคิดในเรื่อง ปรีดี พนมยงค์ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดต่อคณะราษฎร และขบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด โดย ส.ศิวรักษ์ยอมรับว่า การประเมินปรีดี พนมยงค์ในอดีตนั้นเป็นเรื่องผิดพลาด ปรีดี พยมยงค์ เป็นคนดี และทำเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ในบทความชื่อ “ปรีดี พนมยงค์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” (2526) ส.ศิวรักษ์วิพากษ์ความคิดตัวเองอย่างเป็นระบบ วิจารณ์รากฐานความคิดอนุรักษ์นิยม และเปลี่ยนมาสนับสนุนประชาธิปไตยและการต่อสู้ของชนชั้นล่าง ซึ่งต้องถือว่าเป็นกระบวนการอันยิ่งใหญ่มาก การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลอันสำคัญที่พอสรุปได้คือ

ประการแรก การเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชน เพราะ ศ.ศิวลักษณ์จะกลายเป็นเอ็นจีโอ หรือ ผู้สนับสนุนเอ็นจีโอที่ชัดเจน ดังนั้น ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2525 ส.ศิวลักษณ์ต่อสู้ร่วมกับเอ็นจีโอทั้งหลายในแทบกรณี เช่น สนับสนุนตั้งแต่เรื่อง ต่อต้านเขื่อนนำโจน สนับสนุนชาวบ้านบ่อนอกหินกูด สนับสนุนสมัชชาคนจนในเรื่องปากมูล และปัญหาอื่น ต่อมา ได้กลายเป็นผู้นำต่อต้านกรณีท่อแก้สเมืองกาญจนบุรี การสนับสนุนเอ็นจีโอ.นำมาผลสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือการรังเกียจนักการเมือง เห็นว่านักการเมืองทั้งหลายจะต้องทุจริต ทำลายบ้านเมืองอยู่เสมอ

ประการต่อมา คือ การเปลี่ยนท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส.ศิวรักษ์จะเริ่มมีท่าทีในเชิงวิพากษ์มากขึ้น และทำให้ ส.ศิวรักษ์ เริ่มถูกจับดำเนินคดีตามมาตรา 112 เริ่มจากการเขียนหนังสือเรื่อง “ลอกคราบสังคมไทย”  ทำให้ถูกดำเนินคดีครั้งแรก ต่อมา หลังกรณีรัฐประหาร พ.ศ.2534 ได้ปาฐกถาเรื่อง “วิพากษ์ รสช.และลอกคราบนายอานันท์ ปัณยารชุน” ก็ได้ถูก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานาภาพ จนต้องลี้ภัยต่างประเทศระยะหนึ่ง จนหลังกรณีพฤษภา 2535 จึงได้กลับประเทศ

ในระยะนี้ ส.ศิวรักษ์ก็ยังแสดงตนเป็นนักคิด และนักวิพากษ์สังคมอย่างสม่ำเสมอ แนวคิดที่น่าสนใจ เช่น การโจมตีการคลานเขาและหมอบกราบ การปฏิเสธ บทบาทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ วิพากษ์ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 การโจมตีความไม่เสมอภาคทางชนชั้นและยกย่องประชาชนระดับล่าง โดยเฉพาะการวิพากษ์ศักดินา ศ.ศิวลักษณ์ มีข้อมูล และคำสัมภาษ์จำนวนมาก ที่สะท้อนถึงแนวคิดและพฤติกรรมอันเลวร้ายของชนชั้นสูงอย่างชัดเจนมาก ที่ยากจะหาผู้อื่นมาทำลักษณะเดียวกันได้  เช่นเรื่อง “ลอกคราบเสด็จพ่อ ร.5” ก็เป็นหนังสือดี ที่เสนอภาพของรัชกาลที่ 5 ในแง่มุมที่ไม่เคยปรากฏในหนังสืออื่นมาก่อน

ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เอ็นจีโอทั้งหลายก็เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส.ศิวรักษ์ เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มขบวนการ โดยปาฐกถาเรื่อง “ขจัดทักษิณ : ธนาธิปไตย” แสดงทัศนะนี้ได้ดี ในระยะแรก เขาเสนอภาพในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวิตร นั้นเป็นศัตรูของประชาธิปไตย จึงเสนอคำขวัญว่า “เอาทักษิณคืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา”

ต่อมา เมื่อกระแสการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณรุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การต่อต้านรัฐประหาร ส.ศิวรักษ์ ก็ยังคงสนับสนุนการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เช่น ทักษิณเป็นเครื่องมือของโลกาภิวัตน์ รับใช้ต่างชาติ ทักษิณทำลายพุทธศาสนา และในขั้นสุดท้าย ก็คือ โจมตีว่า ทักษิณเป็นศัตรู และต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเกลียดชังที่มีต่อผีทักษิณ กลายเป็นการเกลียดฝังใจ และกลายเป็นที่มาของสองมาตรฐานแบบของ ส.ศิวรักษ์ในขณะนี้ จนถึงล่าสุด ที่ ส.ศิวรักษ์ ออกมาสนับสนุนให้เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากเหตุผลว่า “ทักษิณเลวกว่าประชาธิปัตย์” ก็เพียงพอโดยไม่ต้องพิจารณาในเรื่องอื่น เช่น นโยบายที่ดีกว่า และความเหมาะสมของบุคคลของฝ่ายพรรคเพื่อไทย หรือ ความล้มเหลวในการบริหารของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ในอดีต

กล่าวโดยสรุปแล้ว เห็นได้ว่า ในระยะที่ผ่านมา บทบาทของ ส.ศิวรักษ์ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการวิพากษ์ศักดินา แต่กระนั้น อคติที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้การพัฒนาความคิดหยุดชะงัก ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณจะกระทำมิได้ แต่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยหลักฐานและข้อมูล แต่การใช้อคติ ใส่ร้ายป้ายสี วาดภาพเกินจริง ย่อมไม่ถูกต้อง และยิ่งใช้ข้อหา”ล้มเจ้า”ไปโจมตี ยิ่งไม่ถูกต้อง

นี่เป็นการสามัคคีวิจารณ์อย่างเป็นจริง

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 404  วันที่ 23 มีนาคม 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net