Skip to main content
sharethis

บอร์ด กสท.เคาะช่องรายการทีวีสาธารณะ ช่อง 5-11 ได้คนละช่อง ไทยพีบีเอสคว้า 2 ช่องแลกยุติอนาล็อกเร็วขึ้นเป็นภายใน 3 ปี-คืนคลื่นความถี่ให้ กสทช.นำไปจัดสรรใหม่ คาดออกใบอนุญาตใน มิ.ย.นี้

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2556 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท. อนุมัติกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ประเภทสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง แบ่งเป็น 1-3 จะเป็นสิทธิของผู้ประกอบการรายเดิมคือ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส โดยทุกช่องจะคงผังรายการเดิม และอายุการอนุญาตขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของช่อง 5 และ 11 ส่วนช่อง 4 ไทยพีบีเอส ที่จะต้องเน้นรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งในส่วนไทยพีบีเอสนั้นที่ได้สิทธิ 2 ช่อง เนื่องจากได้ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนมายัง กสท.โดยจะยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกและเปลี่ยนเป็นดิจิตอลภายใน 3 ปี, คืนความถี่ UHF ทั้งหมดให้ กสทช.เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ เพราะทำให้มีช่องรายการแบบความคมชัดสูง (HD) เพิ่มมากขึ้น

ส่วนช่อง 5-12 จะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ โดยช่อง 5 จะเน้นรายการให้ความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ช่อง 6 เน้นรายการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ช่อง 7 เน้นรายการสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่อง 8 เพื่อความมั่นคงของรัฐ ช่อง 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ช่อง 10 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาขน ช่อง 11 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาเกี่ยวกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ช่อง 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงเด็กและเยาวชนหรือความสนใจกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ

พ.อ.นที กล่าวต่อว่า สำหรับระยะเวลาการอนุญาตนั้น ช่อง 4-12 จะมีอายุการอนุญาต 4 ปี หลังจากนั้น กสทช.จะพิจารณาการออกใบอนุญาตให้อีกครั้งว่าจะอนุญาตให้ 15 ปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประกอบกิจการในช่วง 4 ปีที่ได้รับอนุญาตว่าเป็นไปตามคำนิยามการประกอบกิจการสาธารณะหรือไม่ ส่วนการหารายได้จากการโฆษณานั้น ช่อง 8 และ 9 สามารถหาโฆษณาเชิงธุรกิจได้ แต่ต้องเพียงพอและจำเป็นต่อการประกอบกิจการเท่านั้น ซึ่ง กสทช.จะกำหนดกฎเกณฑ์อีกครั้ง ส่วน 5, 6, 7, 10 ,11 ,12 สามารถโฆษณาได้ในเชิงภาพลักษณ์องค์กร (ซีเอสอาร์) ได้ในระยะเวลา 12 นาทีต่อชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบนิยามประเภทช่องรายการทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง โดยช่องรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 ช่อง หมายถึงช่องรายการที่เน้นการนำเสนอรายการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา ต้องมีเนื้อหาเหมาะสมกับเด็ก ไม่แสดงออกรุนแรง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ใช้คำหยาบคาย คำนึงถึงความเท่าเทียมและโอกาสของเด็กทุกสังคม ช่องรายการข่าวสารและสาระ 7 ช่อง หมายถึง ช่องรายการข่าว ข้อเท็จจริง วิเคราะห์ และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยเสนออย่างเที่ยงตรงรอบด้าน อิสระและเป็นกลาง เสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 75%

ช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดปกติ SD จำนวน 7 ช่อง และช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดสูง HD จำนวน 7 ช่อง หมายถึง ช่องรายการที่นำเสนอรายการตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด และผังรายการ เนื้อหารายการ ตามที่ กสทช.กำหนด และไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

“กำหนดช่องรายการทีวีดิจิตอลสาธารณะ 12 ช่อง และคำนิยามทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่องนั้น จะเป็นกรอบการทำงานและกรอบการเชิญชวนผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องเข้าประมูลทีวีดิจิตอล โดยทีวีสาธารณะกฎเกณฑ์ต่างๆ จะเริ่มชัดเจนภายในเดือน เม.ย.นี้ และออกใบอนุญาตในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้”


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net