Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


หากท่านใดคาดหวังว่าการมาเรียนต่อยังประเทศสหราชอาณาจักรจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก และมีเพื่อนชาวตะวันตกแล้วละก็ อาจจะพบกับความผิดหวังเอาได้ง่ายๆ เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนในประเทศสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วยคนจากภูมิภาคเอเชียที่อพยพเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเป็นเวลานาน หรือนักเรียนต่างชาติที่มาจากกลุ่มประเทศในเอเชียจำนวนมหาศาล

นักเรียนชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากที่สุด โดยบางสาขาวิชาอาจมีมากกว่านักเรียนชาวอังกฤษเสียอีก เช่น โรงเรียนสอนธุรกิจ นอกจากนี้ เป็นชาวจีนไต้หวัน จีนฮ่องกง จีนสิงคโปร์ จีนมาเลย์ รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งสะท้อนสัดส่วนจำนวนประชากรเชื้อสายจีนในโลกได้ไม่น้อย

ส่วนที่มีมากอีกกลุ่มคือนักเรียนเชื้อสายอินเดีย (รวมไปถึงอาจารย์ชาวอินเดีย) ซึ่งก็เข้าใจได้ง่ายในแง่ประวัติศาสตร์อาณานิคมของสองประเทศ  เช่นเดียวกับกลุ่มชาวอาหรับที่มีจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะในคณะวิชาสายวิทยาศาสตร์  ส่วนที่เหลือก็จะเป็นนักเรียนจากอัฟริกา  แต่ที่น่าสนใจ คือ นักเรียนแลกเปลี่ยนชาวยุโรปที่สามารถชิงทุนเพื่อมาเรียนในกลุ่มประเทศยุโรปได้

ประเด็นสำคัญและเป็นข้อถกเถียงทางสังคมอังกฤษ คือ รัฐบาล และประชาชนเจ้าบ้านรู้สึกอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้ รวมถึงการเข้ามาทำงานของกลุ่มผู้อพยพที่มาจากต่างประเทศ และการกำหนดนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดออกเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ และมีพรรคซึ่งมีนโยบายกีดกันผู้อพยพ ขึ้นมาขายแผนการทวงคืนเอกราชและงานคืนจากแรงงานต่างด้าว แต่เอาเข้าจริงๆ คนที่ทำงานคลุกคลีกับนักเรียนต่างชาติหรือเป็นนายจ้างของแรงงานต่างด้าวก็รู้อยู่แก่ใจว่าพลังของคนต่างด้าวเหล่านี้คือแรงผลักดันเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริง

การจัดการศึกษาของสหราชอาณาจักรเมื่อปอกเปลือกดูกันอย่างจริงจังว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อประเทศเขา เราจะพบว่าเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดให้คนมาใช้ชีวิตในช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งต้องกิน ดื่ม อยู่อาศัย ท่องเที่ยว จับจ่ายซื้อของต่างๆ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ที่หลากหลายและต่อเนื่องมาก เพราะอย่างน้อยๆ ก็ต้องใช้เวลากันเป็นรอบปี ตัวอย่างคือ การซื้อเครื่องแต่งกายในประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวเปียกแปรปรวน รวมถึงมีความชันความลาดมากนี้ ต้องหาเครื่องแต่งกายรวมไปถึงอุปกรณ์ห่อหุ้มร่างกายให้เหมาะกับสถานการณ์ ต้องซื้อกันแทบจะเปลี่ยนตามแฟชั่นเลยทีเดียว เสื้อซูเปอร์ดราย และรองเท้าดอคเตอร์มาร์ติน มีประโยชน์อย่างไรก็มารู้กันตอนนี้  และเป็นการซึมซับวัฒนธรรมบริโภคนิยมด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจบริการต่อเนื่องจากภาคการศึกษา เช่น การจัดการหอพัก อาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง โทรคมนาคม ฯลฯ ก็มารองรับแรงงานที่ต้องสูญเสียงานจากการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่อุตสาหกรรมหนักต้องปิดตัวลง  โดยมีภาคบริการมารองรับแทนโดยอาจจะเป็นแรงงานกลุ่มเดียวกัน หรือที่เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงมากกว่าคือ สตรี และเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านงานบริการหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือภาษาต่างชาติ จะมีโอกาสได้งานมากขึ้น  ซึ่งก็เป็นที่มาของนโยบายพรรคการเมืองที่จะไม่ให้สวัสดิการแบบกินเปล่าอีก แต่จะให้คนรุ่นใหม่มาทำสัญญาว่าจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพื่อหางานทำ จึงจะได้งาน เพราะแต่เดิมมีกรณีการพยายามหาคู่และตั้งครรภ์มีบุตรเพื่อจะได้รับสวัสดิการต่างๆ รวมถึงที่อยู่อาศัย โดยไม่ต้องทำงาน

ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงต้องพยายามทุกวิถีทางในการดึงดูดคนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของตนให้ได้  ภาพลักษณ์ที่จะดึงดูดผู้คนที่ไม่เคยมาทดลองเรียนดูก่อน ก็คือ การเน้นสร้างอันดับและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยโดยการผลิตผลงานวิชาการรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ หนังสือ ตำรา บทความ วิจัย ฯลฯ เพื่อยึดพื้นที่แผงหนังสือ ห้องสมุด และไต่อันดับมหาวิทยาลัยโลก  ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจัดระบบการทำงานภายในให้อาจารย์และนักวิจัยผลิตผลงานวิชาการ มากกว่าการสอน  (ภาระชั่วโมงสอนที่น้อยมาก และเวลาที่ให้นักศึกษาปรึกษาก็จำกัดอีกด้วย)

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยยังมีอีกสถานะเมื่อมองจากมุมยุทธศาสตร์การแข่งขันระดับโลก เนื่องจากเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในฐานะสายลับ ที่สะสมข้อมูล และดึงดูดคนเก่งได้เป็นจำนวนมาก  กล่าวคือ มหาวิทยาลัยสามารถส่งอาจารย์ นักวิจัย ไปทำดำเนินโครงการวิจัยในต่างแดนหรือกับคนต่างชาติเพื่อให้ได้ข้อมูลมาในนามของการวิจัย และรวมรวมข้อมูลต่างๆ กลับมา  นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนหรือการรับนักศึกษา นักวิจัยแลกเปลี่ยนเข้ามาผลิตผลงานวิชาการหรือคลุกคลีกันจนสามารถดูดข้อมูลมารวมไว้ในฐานข้อมูลทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

ปัจจุบันนักศึกษาทั่วสหราชอาณาจักรต้องส่งงานเขียนใดๆ ก็แล้วแต่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบว่าลอกเลียนแบบมาหรือไม่ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือการส่งข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปรวมศูนย์ไว้ในฐานข้อมูล เช่น วิทยานิพนธ์ที่เขียนเกี่ยวกับประเทศของนักศึกษา เป็นต้น  หากนักศึกษา นักวิจัยคนใดโดดเด่น ก็ให้ทุนหรือจ้างเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการและใช้ข้อสัญญาผูกมัดให้ทำงาน มอบผลงาน และปิดปากไม่ให้เปิดเผยความลับได้อีก

จึงไม่แปลกอะไรที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีการแข่งขันและการจ้างงานแบบทุนนิยมเข้มข้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่มีผลงานดีจนอันดับขึ้นก็จะได้งบประมาณเพิ่มจากรัฐและการรับนักศึกษาที่สนใจได้เพิ่มเติม  ดังนั้นอาจารย์จึงอาจย้ายที่ทำงานบ่อยครั้งตามแรงจูงใจที่ได้รับการเสนอจากที่อื่นๆ โดยไม่สนใจเด็กในที่ปรึกษาว่าหากท่านลาออกไปแล้ว ชีวิตที่เหลือของเขาจะเป็นอย่างไร หรือบางรายลาออกไปเขียนหนังสือหรือทำวิจัยอย่างเดียว เพราะผลงานสามารถผลิตรายได้มากกว่าการสอน
 
เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยในที่นี้จึงไม่ใช่สถานศึกษาอย่างในความคิดของคนโลกตะวันออก  แต่มันคืออุตสาหกรรมการศึกษา ที่เน้นการสร้างภาพลักษณ์ว่ามี อาจารย์เจ๋ง วิจัยดี หนังสือออกมามากมาย ได้อันดับโลก แต่ถามจริงๆ ครับ อาจารย์เขาเอาเวลาที่ไหนไปนั่งทำ และมหาวิทยาลัยเอางบที่ไหนมาจ้าง ดังนั้นนักศึกษา (รัฐบาล/ผู้ให้ทุน) ที่มาเสียเงินค่าเทอมจ้างอาจารย์นั่งเขียนหนังสือคือผู้มีพระคุณตัวจริง อาจารย์และมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรเลยมีผลงานมาทำแต้มติดอันดับสูงๆ ได้  ส่วนเวลาที่มีให้นักศึกษานั้นหรือก็น้อยนิด ยิ่งพวกมาเรียนกฎหมายนั้น เหมือนอาจารย์ให้รายชื่อเอกสารมาอ่านเองแล้วมาคุยกันจบปีได้สัมมนารวมไม่ถึง 80 ชั่วโมง หมายความว่าถ้าสืบว่าเขาอ่านอะไรและไปอ่านเองก็รู้เท่าเขาได้

ส่วนพวกอาจารย์นักวิชาการขั้นเทพนั้นจะได้อภิสิทธิ์ ภาระการสอนน้อย เพราะฉะนั้นถ้าอยากเจออยากได้เขามาเป็นที่ปรึกษา จึงต้องมาเรียนหลักสูตรที่ทำวิจัยเท่านั้น และนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรพิจารณาคนไม่ยากเท่าประเทศอื่น เพราะนี่คือผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการที่จ่ายเงินให้เขาระยะยาว และลงทุนน้อย อาจารย์ก็โล่งมีคนมาอยู่ในสังกัด เป็นทั้งผู้ช่วยวิจัย และคนจ่ายเงินค่าจ้างไปในตัว

อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรมีระบบควบคุมคุณภาพโดยใช้ระบบ External Examiner มีผู้ตรวจ/สอบซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมาตรวจ/สอบอีกชั้นหนึ่ง  ทำให้มหาวิทยาลัยต้องคงอัตราความเข้มข้นในการตรวจข้อสอบ เรียงความ วิทยานิพนธ์ ภาคนิพนธ์อย่างไม่ธรรมดา เพราะเขากลัวเสียหน้ากัน แต่คำถามคือ การเอาจริงตอนวัดผล แต่ตอนที่ควรจะสอน อาจารย์อยู่ ณ ที่ใด

ด้วยเหตุที่อาจารย์ไม่ต้องสอนมาก แต่เขียนหนังสือ ทำวิจัย ผลิตผลงาน ส่วนการสอนก็เน้นไปที่ระดับปริญญาเอก เพราะถ้าหากสามารถคุมนักศึกษาปริญญาเอก ก็สามารถคุมคลังสมองของรัฐอื่น ซึ่งยังส่งผลดีต่อการสร้างเครือข่ายทางวิชาการและบริหารด้วย

การศึกษาในระดับปริญญาโท จึงต้องคำครหาเสมอมาว่ามหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรเน้นหากินกับนักเรียน โดยสร้างความลำบากให้เด็กสักหนึ่งปี เพื่อเอาไปเล่าต่อปากต่อปาก ให้ดูโหดขลัง (นักศึกษาได้ความรู้จากการอ่านเองเขียนเอง) แต่ในความเป็นจริงเมื่อครั้งใช้ชีวิตอยู่ก็ก็กินเที่ยวกันสนุกสนานไม่น้อย

กล่าวโดยสรุป มหาวิทยาลัยจึงสร้าง “ภาพลักษณ์” (Image) ชื่อเสียงอันดับ (Reputation) มาก่อนคุณภาพและการทุ่มเทในการสอน (Quality)  เพราะมั่นใจว่า นักศึกษาจะไม่เปิดโปงความจริงในที่สว่าง เพราะหากบอกไปตรงๆ ว่าคุณภาพไม่ดีตนก็จะเสียภาพลักษณ์ที่สั่งสมมาจากการลงทุนไปเรียนเมืองนอกมาด้วย เรื่องนี้จึงเป็นทางเลือกที่เป็นข้อขัดแย้งซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยมาก

ข้อได้เปรียบอีกประการ คือ การเป็นผู้มีอำนาจในการจัดอันดับ สร้างเกณฑ์ ในการวัดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ในโลกจะอยู่ในอันดับใด เพราะกฎย่อมสะท้อนเป้าหมายและผลประโยชน์ของผู้ออกเสมอ ดังนั้นสหราชอาณาจักรที่เป็นเจ้าของสำนักจัดอันดับชื่อดังก็คือ ผู้คุมเกม และสามารถปรับเกณฑ์กติกาเพื่อฉีกหนีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในโลก ให้เหมาะกับเงื่อนไขของตนได้เสมอ 

โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ห้องทดลอง คือ พื้นที่จริง สถานที่จริง  ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม คือ สาระสำคัญ ซึ่งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่ ประเทศพัฒนาแล้วที่มั่นคง สงบ น่าเบื่อ?  ย่อมไม่อาจผลิตผลงานวิชาการระดับพื้นที่ได้เหนือกว่ามหาวิทยาลัยในสนามวิจัยเป็นแน่ แต่อาศัยการผลิตผลงานในโลกภาษาอังกฤษที่มีเข้าเกณฑ์ตัวชี้วัด และบังคับอ้อมๆ ให้งานในประเทศกำลังพัฒนาต้องแปลงมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อตีพิมพ์ให้ได้คะแนนและอันดับ ยิ่งมีบทความตีพิมพ์วารสารยิ่งน่าเชื่อถือคนก็ยิ่งส่งมาตีพิมพ์วนไปเป็นวงจรเรื่อยๆ

มหาวิทยาลัยชายขอบโลกทุนนิยมทั่วโลกที่กำลังแข่งขันกันไต่เต้าการจัดอันดับโลก จึงกลายเป็นผู้ตาม โดยที่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยรู้ตัวหรือไม่ว่าอยู่ในการแข่งขันที่ไม่อาจมีวันชนะได้อย่างง่ายดายด้วยพื้นฐานของเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน และตนก็ไม่ใช่ผู้ออกกฎ หรือผู้คุมกฎ

คำถามจึงอยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบภาษาอังกฤษ (สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา) จะทำอย่างไร  จะเดินตาม หรือจะฉีกไปสร้างแนวทางและจุดเด่น จุดขายของตนเอง  เพราะตามทฤษฎีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ผู้แข่งขันควรหาจุดเด่นจุดต่างที่ตนมีแต่ผู้อื่นไม่มีมาเป็นจุดขาย เพราะไม่มีใครสู้ได้และตนก็จะครองชัยชนะ

หากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยสามารถสร้างระบบการตรวจสอบคุณภาพและนำเสนอผลงานสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้เอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งการเอาชื่อไปแปะอยู่ในอันดับเกินร้อย (ซึ่งก็ไม่มีใครสนใจจะดูเมื่อเกิน 100 มามากอยู่แล้ว) การโฆษณาประชาสัมพันธ์เอง เพื่อดึงดูดนักศึกษาในเชิงรุกด้วยตนเองก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องคิดและสร้างขึ้นมาอย่างจริงจังมากขึ้น ดังมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรทำสำเร็จ (ผ่านตัวแทนรูปแบบต่างๆ และการให้ผลประโยชน์ตอบแทน)  แต่ในปัจจุบันก็ยังติดปัญหาการทำให้คุณวุฒิเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยต่างๆ (Harmonization and Certification) เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากกับนักศึกษา และมีการตรวจสอบรับรองคุณภาพได้มาตรฐาน  ก็อาจต้องใช้เวลา

เมื่อลองสำรวจความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทย (ผู้เขียนทำงานสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5 ปี และเคยศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 ปี) จะพบว่า ข้อเด่น/ด้อย ดังนี้


จุดเด่น

  • สถานที่ บรรยากาศ สภาพแวดล้อม น่าอยู่กว่าโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด
  • ค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนถูกกว่า รวมถึงงบประมาณในการลงพื้นที่วิจัยต่างๆก็ไม่แพงนัก
  • ประเด็นที่สำคัญมากสำหรับสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ คือ มีสนามจริงให้เลือกทำวิจัยหลากหลายประเด็นมาก ทั้ง ชนบท/เมือง, เกษตร/อุตสาหกรรม, ภาวะเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม รวมไปถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ ชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ท้องถิ่น เพสภาวะ ฯลฯ
     

จุดอ่อน

  • นักวิชาการภาระงานสอนเยอะมาก เนื่องจากการพึ่งพิงหลักสูตรการสอนในการหารายได้ มากกว่าการทำวิจัย (ประเทศไทยมีอัตราส่วนการวิจัยพัฒนาต่อ GDP ต่ำมาก)
  • ผลิตผลงานวิชาการน้อยและไม่มีแรงจูงใจในการผลิตผลงานหนังสือ (ภาษีหนังสือ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรที่สูงมากทำให้คนส่วนใหญ่ซื้อหนังสือไม่ได้)
  • นักวิชาการ(อาจารย์ และนักวิจัย) มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับตำแหน่งบริหารจัดการอำนวยการ
  • การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ ข้อมูล และการเจาะกลุ่มลูกค้าทางตรง (ในอนาคตอันใกล้นักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน) ยังไม่มีประสิทธิผล  เนื่องจากยังติดกับดักไปอิงกับระบบภาษาอังกฤษ ทั้งที่ควรจะเฉพาะเจาะจงไปที่วัฒนธรรมของกลุ่มที่ต้องการจะปฏิสัมพันธ์โดยตรง  ซึ่งจะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคภาษาอังกฤษไปได้ เพราะถ้าใครได้ภาษาอังกฤษจริงๆ คงไปเรียนในโลกภาษาอังกฤษ ไม่มุ่งมาเรียนในมหาวิทยาลัยชายขอบทุนนิยมอย่างไทยอยู่แล้ว


ข้อเสนอแนะ

  • เพิ่มจำนวนนักวิชาการทั้งอาจารย์และนักวิจัยประจำ หรือจัดจ้างพิเศษ หรือแลกเปลี่ยน
  • ลดภาระงานสอน โดยสร้างที่มารายได้อย่างอื่นให้สามารถดำรงชีพได้จริง เช่น งบวิจัย
  • เพิ่มเวลาและแรงจูงใจในการผลิตผลงานวิชาการ โดยเฉพาะให้ความยืดหยุ่นกับการวิจัยพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากจะเป็นตัวสร้างจุดต่าง จุดเด่นให้กับมหาวิทยาลัยท้องถิ่น
  • การทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เฉพาะเจาะจงและสอดคล้องกับวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย และสร้างหลักสูตรที่เปิดกว้างให้กับภาษา และวัฒนธรรม ที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะภาษาที่ไม่ใช่อังกฤษ เช่น บาฮาซา พม่า ขแมร์ เวียต เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net