Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
แปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานทำได้ทันที คุ้มค่า มีความเป็นไปได้ทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาไม่ดำเนินการ คงเป็นเพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินน้อย มีโอกาสรั่วไหลไม่มาก
 
การส่งเสริมการใช้จักรยานทำได้จริงเพียงการทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลายเพื่อการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง เช่น เขตบางรัก พญาไท ยานนาวา สาทร ปทุมวัน วัฒนา คลองเตย และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้
 
หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใดๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น
 
ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ 17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน
 
หากพิจารณาถึงผลดีที่ได้ด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก และแนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย
 
โดยนัยนี้ เราต้องรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ใช้รถจักรยานเช่าเสียก่อน ถ้าคนจำนวนมากขี่จักรยาน เลนจักรยานก็ไม่ต้องมี แต่ระยะแรกต้องมีอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก ระวังอุบัติเหตุบนถนนในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังสามารถจัดทำอาคารจอดรถเพื่อการพักรถก่อนเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานครโดยรถจักรยาน ตลอดจนการสร้างหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ สร้างห้องอาบน้ำสาธารณะ หรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น
 
กรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา (แต่ต้องปรับเรื่องท่อและความเรียบ) บางคนนึกอิจฉาที่ชาวตะวันตกใส่สูทขี่จักรยานไปทำงานเพราะเมืองไทยร้อน แต่ในหน้าหนาวพวกเขาก็ทำเท่ไม่ได้ ถ้าเราจะขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เราก็ควรต้องมีชุดที่ปกคลุมร่างกายให้ดี แล้วค่อยไปเปลี่ยนชุดที่ทำงาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง (ที่แท้) เช่นชาวตะวันตก คนเมืองควรทำเมืองให้สะอาดปลอดมลพิษด้วยสองมือของเรา
 
ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ ทำไมที่ผ่านมาส่วนราชการฝ่ายการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการโดยเร็ว แต่มารณรงค์กันในช่วงเลือกตั้งนี้ ผมเชื่อว่าคงเป็นเพราะโครงการนี้มีมูลค่าไม่มากนัก จึงอาจไม่จูงใจให้ดำเนินการเท่าโครงการที่มีมูลค่าสูงอื่นๆ
 
อนึ่งในภาพนี้ผมขี่จักรยานเช่าในกรุงวอชิงตันดีซี เมื่อเดือนกันยายน 2555 ซึ่งผมได้รับเชิญไปประชุมในฐานะที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งสภาคองเกรสให้เป็นผู้ออกมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สิน และบรรยากาศการขี่จักรยานในยุโรป ซึ่งผมได้รับเชิญไปประชุมต่างๆ เป็นระยะๆ รวมทั้งเคยศึกษา ณ นครลูแวง ประเทศเบลเยียม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529
 
 
หมายเหตุ: AREA แถลง ฉบับที่ 31/2556: วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2556
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net