Skip to main content
sharethis

นสพ.พม่าตีข่าว "ออง ซาน ซูจี" ร่วมชมพิธีสวนสนามวันกองทัพ ด้าน ผบ.กองทัพพม่ายันจะอยู่ปกป้องรัฐบาลและชาติจากเหตุขัดแย้งทางเชื้อชาติ-การเมือง เพื่อสันติภาพและความสงบ ขณะที่กองทัพพม่าและทหารคะฉิ่นยังมีการปะทะแม้ประกาศหยุดยิงแล้ว

ภาพการสวนสนามของทหารพม่า ในวันกองทัพพม่าปีที่ 68 เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เนปิดอว์ นอกจากการสวนสนามแล้วยังมีการแสดงปืนใหญ่แบบอัตตาจร และจรวดต่อสู้อากาศยานชนิด  S-125 Neva ผลิตในรัสเซียด้วย  (ที่มา: New Light of Myanmar, 28 March 2013)

ออง ซาน ซูจี ส.ส.ฝ่ายค้านและประธานพรรคเอ็นแอลดี และบุตรสาวของนายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า ได้รับเชิญให้ร่วมงานพิธีเป็นปีแรกด้วย (ที่มา: New Light of Myanmar, 28 March 2013)

ข่าววันกองทัพพม่าปีที่ 68 จากสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือดีวีบี

 

เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า มีพิธีสวนสนามเนื่องในวันก่อตั้งกองทัพพม่า หรือ 'ตั๊ดมาดอว์' ปีที่ 68 โดยมีนายทหารพม่าเข้าร่วมงาน รวมทั้งมีการเชิญนางออง ซาน ซูจี ส.ส.ฝ่ายค้าน และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี บุตรสาวของนายพลออง ซาน เข้าร่วมพิธีด้วย นับเป็นครั้งแรกที่เชิญนางออง ซาน ซูจีเข้าร่วม

แม้จะได้รับอิสรภาพหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2553 และได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านี้ นาง ออง ซาน ซูจี ถูกวิจารณ์ต่อบทบาทที่ไม่แข็งขันในกรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกัน ระหว่างชาวยะไข่ และชาวโรฮิงยา รวมทั้งความขัดแย้งที่รัฐคะฉิ่น และก่อนหน้านี้ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีได้กล่าวผ่านรายการวิทยุของบีบีซีว่า ยังคงรักในกองทัพพม่า แม้จะเคยกักบริเวณเธอยาวนานถึง 15 ปี และกล่าวว่าขณะที่กองทัพพม่าได้ทำสิ่งเลวร้ายในพม่า ก็หวังว่ากองทัพควรที่จะกู้คืนชื่อเสียงของตน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับวันกองทัพพม่า ตรงกับวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี โดยเป็นวันที่นายพลออง ซาน บิดาของนางออง ซาน ซูจี เปลี่ยนข้างมาต่อต้านทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2488 โดยถือเป็นการรำลึกครบรอบปีที่ 68

ทั้งนี้ในหนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า ฉบับวันนี้ (28 มี.ค.) รายงานคำกล่าวสุนทรพจน์ของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่าว่า กองทัพพม่าจะป้องกันประเทศ และปกป้องประเทศจากเหตุขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมือง นี่คือนโยบายแห่งชาติของกองทัพพม่า

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่ามุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติภาพและความสงบ เพื่อการพัฒนาของชาติ “ชาติจะพัฒนาได้ก่อต่อเมื่อเกิดสันติภาพ เสถียรภาพ เอกภาพ และความเป็นระเบียบวินัยได้รับการก่อร่าง" โดยเขายังเรียกร้องให้มีความจริงใจ ความไว้วางใจ และความปรารถนาดีอย่างแท้จริงจากประชาชนเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ

ทั้งนี้ ผบ.กองทัพพม่ากล่าวด้วยว่า ทหารพม่าจะไม่สร้างความโหดเหี้ยมของสงครามใดๆ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของกองทัพพม่า และย้ำชัดว่า "การปฏิบัติภารกิจที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อการเมืองแห่งชาติของเชื้อชาติ แต่เป็นการใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อต่อต้านผู้ที่หวังโค่นล้มรัฐบาล"

ผบ.กองทัพพม่ายังเรียกร้องให้สร้างกองทัพพม่าที่เข้มแข็ง มีพละอำนาจ ทันสมัย และรักชาติ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้อย่างอิสระ แข็งขัน ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นกลาง และยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพและสันติภาพ

โดยการสวนสนามซึ่งเริ่มแต่เช้าตรู่ของวันที่ 27 มีนาคม โดยมีการสวนสนามโดยทหาร 6 กอง ได้แก่ ออง ซาน, อโนรธา, ญาณสิทธา, บายินนอง (บุเรงนอง), อองเซยะ และเซงพิวเซง (มังระ) และมีการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เช่น เฮลิคอปเตอร์แบบติดปืนกลรุ่น Mi-8/17 ผลิตในรัสเซีย ปืนกล EMER K-3 รุ่น MA-3 ซึ่งกองทัพพม่าผลิตได้เอง และมีการโชว์จรวดต่อสู้อากาศยาน S-125 Neva ซึ่งผลิตในรัสเซีย

ทั้งนี้ในหนังสือ "Building the Tatmadaw: Myanmar Armed Force Since 1948" เขียนโดย Maung Aung Myoe ตีพิมพ์ในปี 2552 ระบุว่าในปี 2546 กองทัพพม่าได้ติดต่อกับเกาหลีเหนือเพื่อซื้อขีปนาวุธ "ฮวาซอง" ซึ่งพัฒนามาจากขีปนาวุธสกั๊ด และในปี 2547 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวหาว่าเกาหลีเหนือจัดหาขีปนาวุธแบบพื้นสู่พื้นให้กับพม่า และนักวิเคราะห์เชื่อว่ากองทัพพม่าน่าจะได้การจัดหาขีปนาวุธจากยูเครนแล้ว

ในพิธีสวนสนามดังกล่าว ผบ.กองทัพพม่า ได้รับความเคารพจากกองกำลังในพิธีสวนสนาม รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบด้วย โดยพิธีฉลองวันกองทัพพม่าสิ้นสุดเวลา 8.30 น.

ทั้งนี้กองทัพพม่ามีกำลังพลประจำการราว 400,000 นายโดยภายใต้รัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 กำหนดให้กองทัพพม่ามีเขตอำนาจศาลของตัวเองและเป็นอิสระจากศาลพลเรือน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดโควตาให้กองทัพพม่าแต่งตั้งคนในกองทัพเข้าไปนั่งในสภาแห่งชาติ และสภาท้องถิ่น ได้ร้อยละ 25 จากจำนวนทั้งหมด มีผลทำให้กองทัพมีอำนาจในการใช้สิทธิวีโต้ หรือลงมติยับยั้งในญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งต้องการมติเห็นชอบมากกว่าร้อยละ 75

โดยการตัดสินใจทางนโยบายทั้งหมดของรัฐบาล เชื่อว่ามาจากการกำหนดโดยสมาชิก 11 คนในสภาความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (National Defense and Security Council) ซึ่งนับเป็นองค์คณะที่มีอำนาจสูงสุด โดยในสภาดังกล่าวมีผู้บัญชาการกองทัพพม่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และนายทหารอาวุโสอีก 3 นายรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ สำนักข่าวอิระวดี ยังรายงานด้วยว่า มีการปะทะระหว่างกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพพม่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานติดต่อกับรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองพลน้อยที่ 4 กองทัพ KIA โดยโฆษกกองทัพคะฉิ่น KIA กล่าวว่าการปะทะระลอกล่าสุดนี้จะไม่มีผลกระทบกับการเจรจาระหว่างคณะทำงานเสริมสร้างสันติภาพของรัฐบาลพม่า ซึ่งจะมีขึ้นก่อนวันที่ 10 เม.ย. นี้

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Tatmadaw’s national politics is to safeguard country, the New Light of Myanmar, March 28, 2013

Govt Troops, KIA Engage in Fresh Clashes, By KYAW KHA/ THE IRRAWADDY, March 27, 2013

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net