Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน-เครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงาน ร่วมเสวนาถกปัญหาก๊าซพม่า-วิกฤตไฟฟ้า มีนักวิชาการร่วมคุย ก่อนได้ผลสรุปร่วมยื่นหนังสือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพรุ่งนี้ จี้สร้างความชัดเจนต่อสาธารณะ

 
28 มี.ค.56 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) โครงการจับตาพลังงาน ร่วมเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้าโขง (MEE Net) จัดเสวนาหัวข้อ “ก๊าซพม่า&วิกฤตไฟฟ้า: วิกฤตพลังงานหรือวิกฤตธรรมาภิบาล” เพื่อหารือ กรณีการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติของพม่า ระหว่างวันที่ 5 -14 เม.ย.56 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงานจากทั่วประเทศ 16 องค์กร และนักวิชาการนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วม
 
ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านการวางแผนระบบไฟฟ้า และนโยบายพลังงาน ภาควิชา วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงความมั่นคงทางพลังงานว่า รัฐควรสร้างนโยบายที่ทำให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างดี ไม่ใช้พลังงานฟอสซิล และจะอ้างว่าต้นทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงไม่ได้ เพราะถ้าทำในปริมาณมาก ต้นทุนก็ย่อมจะลดต่ำลงเป็นเรื่องปกติ
 
อีกทางหนึ่ง รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปพร้อมๆ กัน เช่นลดหย่อนภาษีให้ ในเมื่อเรื่องอื่นๆ เช่น นโยบายรถครันแรกยังทำได้ เรื่องพลังงานก็ย่อมจะทำได้ แทนที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าก็มาสร้างแผงโซลาเซลบนหลังคาบ้านใช้ในบ้านตัวเอง หากไม่พอจึงใช้ไฟของการไฟฟ้า เช่นนี้แล้ว นอกจากไม่ต้องใช้พลังงานสิ้นเปลืองก็ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการเผาผลาญเชื้อเพลิงมีน้อยลง
 
ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) ได้ร่วมเสนอมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อพูดถึงความมั่นคงของไฟฟ้า จะมีการพูดถึงไฟฟ้าสำรอง การพูดถึงว่าไฟฟ้าสำรองจะมีพอหรือไม่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การวัดปริมาณเพราะไฟฟ้ามีมิเตอร์วัดเป็นตัวเลขได้อยู่แล้ว หากว่าจะมีปัญหาก็อยู่ที่การให้ข้อมูลที่บิดเบือนหรือจงใจให้ตีความไปอย่างไร
 
ในความจริงซึ่งก็มีการทำวิจัยกันไปมากแล้ว ได้ระบุว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ผลิตมีความต้องการลงทุนสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูง จึงต้องสร้างความต้องการให้เกินความเป็นจริง ด้วยการบอกว่ามีปริมาณไฟฟ้าสำรองไม่พอ จึงต้องสร้างเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีดั้งกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ข่าวการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติของพม่าย่อมส่งผลให้คนเชื่อว่า ไฟฟ้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เปิดโอกาสให้การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทำได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน 
 
การประชุมนี้ได้ข้อสรุปว่า ในเวลา 10.00 น.วันที่ 29 มี.ค.56 เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงานที่เข้าร่วมประชุมจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ที่ชั้น 19 ตึกจามจุรีสแควร์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
 
เพื่อให้ตอบคำถามว่า ข่าวการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติของพม่า ที่จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการผลิตต่างไปจากปกติจะถูกผลักให้เป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (FT) หรือไม่ และจะมีรายระเอียดอย่างไรบ้าง เพราะในฐานะผู้บริโภคย่อมจะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะด้วย
 
ทั้งนี้ องค์กรที่เชิญเข้าร่วมประชุม อาทิ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้าบางปะกง กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด อ.กันตัง จ.ตรัง เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.นครศรีธรรมราช (หัวไทร, ท่าศาลา)
 
เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายปะทิวรักษ์ถิ่น อ.ปะทิว จ.ชุมพร เครือข่ายรักษ์ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร เครือข่ายราชบุรี เครือข่ายประจวบคีรีขันธ์ (บ่อนอก บ้านกรูด ทับสะแก) กลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี เครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด และเครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net