แอมเนสตี้ ชี้ อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย ไม่ร่วมมือควบคุมการค้าอาวุธ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยจากที่ประชุมองค์การสหประชาชาติว่า อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียมีเจตนาร้ายในการสกัดกั้นสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่ช่วยชีวิตคนได้

 
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 56 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยจากที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ว่า การที่อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียได้พยายามขัดขวางการรับรองสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ถือเป็นเจตนาที่เลวร้ายในการยุติการส่งมอบอาวุธสงครามแบบทั่วไประหว่างประเทศ กรณีที่ประเทศผู้ส่งออกทราบว่าจะมีการนำอาวุธเหล่านั้นไปใช้เพื่อทำหรือสนับสนุนการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรืออาชญากรรมสงคราม
 
ประเทศทั้งสามต่างตกเป็นเป้าหมายของมาตรการแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามซื้อขายอาวุธ และต่างมีสถิติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้าย เป็นประเทศที่เคยใช้อาวุธยิงประชาชนของตนเอง เคยก่อความทารุณโหดร้ายซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามร่างสนธิสัญญาฉบับนี้
 
ไบรอัน วูด (Brian Wood) ผู้จัดการแผนกควบคุมอาวุธและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าในระหว่างที่ประธานฝ่ายการทูตของการประชุมจะนำร่างสนธิสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เพื่อให้มีการรับรองในสมัยประชุมนี้ อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียตัดสินใจของที่จะขัดขวางไม่ให้มีการลงมติรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อร่างฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไร้คุณธรรม
 
“รัฐต่าง ๆ ต้องพยายามหาทางให้มีการรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้โดยเร็วสุด มติอันเป็นเหตุให้มีการประชุมด้านการทูตครั้งนี้ระบุว่า ถ้ารัฐภาคีต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ ทางที่ประชุมสมัชชาใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินใจ และเคนยาซึ่งกล่าวในนามรัฐภาคีหลัก 11 แห่งได้แสดงท่าทีสนับสนุนต่อการกระทำเช่นนี้”
 
ร่างสนธิสัญญากำหนดให้รัฐบาลทุกประเทศประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะส่งมอบอาวุธ ยุทธภัณฑ์หรืออุปกรณ์ใด ๆ ให้กับประเทศอื่น โดยพิจารณาว่ามีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้เพื่อก่อการหรือสนับสนุนการละเมิดที่ร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่ กรณีที่คาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมากและไม่อาจบรรเทาได้ รัฐเหล่านั้นจะต้องยุติการส่งมอบอาวุธ
 
วิดนีย์ บราวน์ (Widney Brown) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกฎหมายแหละนโยบายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “การที่อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียลงมติขัดขวางการรับรองเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับนี้ สะท้อนถึงปัญหาท้าทายที่ภาคประชาสังคมและรัฐบาลที่สนับสนุนร่างสนธิสัญญาต้องเผชิญในระหว่างการเจรจา ในระหว่างการรณรงค์สนับสนุนสนธิสัญญาฉบับนี้ เราต่างเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ช่วยกันรักษาชีวิต และลดความทุกข์ยากของมนุษย์ และโชคดีที่รัฐบาลส่วนใหญ่รับฟังข้อเรียกร้องนี้”
 
คาดว่าที่ประชุมสมัชชาใหญ่จะรับรองร่างสนธิสัญญาในสมัยประชุมปัจจุบัน แต่การที่อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียสามารถขัดขวางไม่ให้เกิดเสียงที่เป็นฉันทามติได้ แสดงให้เห็นความเปราะบางของความตกลงเหล่านี้
 
แม้จะมีแรงสนับสนุนมากมายต่อสนธิสัญญาฉบับนี้ แต่รัฐบางแห่งยังคงอ้างผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมหาศาล การใช้อำนาจทางการเมืองของตน หรือแม้แต่การอ้างเรื่องอธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่น่ารังเกียจอย่างชัดเจน อย่างเช่น การพุ่งเป้าสังหารประชาชนของตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท