Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 
“คนทำงาน” หลายคนตื่นเช้ามาทำงาน พักเที่ยงและกลับบ้านในตอนเย็น, หาอาหารอร่อยๆ ทาน อาบน้ำ ดูละคร แล้วเข้านอนในตอนดึก เพื่อจะตื่นขึ้นมาทำงานในเช้าวันใหม่ แลกกับ “เสรีภาพ” ที่จะมีที่พัก อาหารและการเดินทางท่องเที่ยวบ้างจากค่าตอบแทนที่เรียกว่า “เงินเดือน”
 
ย้อนกลับไปในวันนักเรียนและนักศึกษา เราไม่มีภาระผูกพันเหมือนคนในวัยทำงาน ที่จะต้องหารายได้มาหล่อเลี้ยงจุนเจือ “ครอบครัว” ดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เพื่อจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ในเมืองใหญ่, เราตื่นเช้าไปโรงเรียน กลับมาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ทำการบ้าน อ่านหนังสือและเข้านอนในตอนดึก เพื่อที่จะตื่นขึ้นไปเรียนในเช้าวันใหม่ ชีวิตไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นจริงๆ แม้กระทั่งการจะหาคำตอบว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร?
 
คนเรานอนพักผ่อน 6-8 ชั่วโมง ทำงาน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน แล้วเวลาที่เหลือของเราถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง? การเดินทางบนรถสาธารณะ 3 ชม. หรือบนทางด่วน 1 ชม.? และทานข้าวอีก 2 ชม.? และมันหมดไปไม่นานเมื่อคิดได้ว่า เราน่าจะมีเวลาได้ทำอะไรสักอย่างที่เราอยากทำ เหตุใดเราไม่มีเวลาเหล่านั้น เราทำเวลา (Time) หล่นหายไปไหน หรือใครแย่งชิงเอาเวลาของเราไป? เราฝากไว้ที่ธนาคารไว้มากพอหรือไม่?
 
ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง In Time ที่จำลองโลกในยุคสมัยใหม่ในอันไกลโพ้น ในยุคที่เราต้องทำงานแลกกับ “เวลา” เป็นค่าตอบแทนที่จะมีชีวิตอยู่ เวลาที่จะพักผ่อนและมีอาหารกินอย่างเพียงพอ ใครที่ร่ำรวยมากหน่อยก็จะฝากเวลาไว้ที่ธนาคารจำนวนมาก เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขและมีเวลามากพอ, แต่สำหรับคนจนแล้ว ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำเพื่อแลกกับเวลาที่จะมีชีวิตต่อในวันพรุ่งนี้แบบวันต่อวัน และหากวันไหนไม่ได้ทำงาน ก็คงจะไม่มีเวลาเหลือพอที่จะมีชีวิตอยู่ในวันพรุ่งนี้อีกต่อไป
 
วิถีชีวิตผู้คนในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ซึ่งส่งเสริมการบริโภคนิยมเป็นว่าเล่นในปัจจุบันนี้ ก็อาจจะไม่แตกต่างอะไรกันนัก หากเราเปรียบเทียบ “เงินเดือน” เป็น “เวลา” ที่จะถูกใช้เพื่อให้มีชีวิตที่มีความสุข คนทำงานในโรงงาน หรือเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็น เงินเดือน/เวลาน้อยหน่อยในขณะที่คนที่มีฐานะดีจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า และเราก็ฝากชีวิตไว้กับเงินเดือน/เวลา ที่เราดิ้นรนหาได้มาในแต่ละวัน ระบบทุนนิยมเสรีบอกเราว่า “ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ก็คงจะจริง, เพราะทุกวันนี้ หากเราจะฝากสุขภาพไว้กับโรงพยาบาล ก็ต้องมีเงินฝากในธนาคารมากพอด้วย.
 
“นับจากยุคเครื่องปั่นด้าย Arkwright’s Spinning Jenny มาจนถึงยุค Bill Gates’ web browser Explorer พวกเราก็ต่างทราบดีว่า เทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่คิดขึ้นมานั้น ก็เพื่อไล่ตามความก้าวหน้า สิ่งประดิษฐ์หลายอย่างตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า การทำอะไรหลายอย่างมากขึ้นและด้วยเวลาที่เร็วกว่านั้น ดีกว่าการทำอะไรได้น้อยอย่างและด้วยเวลาที่นานกว่า” (Wolfgang Sachs)
 
ความสามารถในการประหยัดเวลาของมนุษยชาติที่ถูกพัฒนาขึ้น เริ่มต้นก็เพื่อเสริมส่งเจตนารมณ์สำคัญของ “คุณค่า” มนุษย์ที่มีชีวิตเกิดมาเพื่อ “เสรีภาพ” เพื่อเข้าถึง “เวลา” ที่จะทำงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ หรืออ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้ของตนเอง หรือจะเป็นการสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรม เพื่อพัฒนาอารยะธรรมของมนุษย์ต่อไป สมัยหนึ่งเราจึงมีการเรียกร้อง “สิทธิแรงงาน” ให้คนทำงานเพียง 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และมีเวลาสร้างสรรค์เหล่านั้นอีก 8 ชั่วโมง หรือระบบสามแปด, ซึ่งน่าจะเหมาะสม เพราะในสมัยก่อน โดยเฉพาะหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราทำงานกันหนักมาก ถูกบังคับให้ใช้แรงงานมากกว่าวันละ 16 ชั่วโมงเพื่อแลกกับขนมปังและเศษอาหาร เราทำงานเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าของแรงงาน ไม่ใช่จักรกลในโรงงานเสียเมื่อไหร่  แต่ระหว่างทางไปล่ะ? เราพัฒนาระบบทุนนิยมมามากกว่า 200 ปี ความคิดในอดีตที่ว่าความเร็วจะนำมาซึ่งการมีเวลามากขึ้น ได้ล่าสัตว์ ได้ตกปลา ได้สนใจในศิลปวัฒนธรรมนั้น มาถึงทุกวันนี้ เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่? 
 
เราปั่นด้ายได้เร็วขึ้นและปั่นมันต่อเรื่อยไปเพื่อผลผลิตที่มากขึ้นและเวลาจึงเหลือน้อยลงเหมือนเดิม, เราสามารถเดินทางได้เร็วขึ้น แต่เราก็เหมือนจะอยากเดินทางไปต่อ เช่นเดียวกับเราเดินทางมาถึงนครราชสีมาได้เร็วขึ้น แต่เราก็มีเส้นทางที่จะไปต่อถึงหนองคาย “เวลา” ที่เหลือปลายทางจึงไม่ได้มากขึ้นแต่อย่างใด, เมื่อเราเดินทางได้เร็วขึ้น เราก็อาจใช้เวลาไปกับการเดินทางมากขึ้นตามลำดับ เช่นในเยอรมัน ทุกวันนี้ทุกคนเดินทางถัวเฉลี่ยมากกว่า 15,000 กิโลเมตรต่อปี แต่ 50 ปีก่อนพวกเขาเดินทางโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 กิโลเมตรต่อปีเท่านั้น การพัฒนาความเร็ว เพียงทำให้เราทำอะไรหลายอย่างได้มาก แต่เราก็ต้องสูญเสียบางอย่างไปเช่นกัน ก็คงไม่ต่างอะไรที่เราพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ใช้งานได้เร็วมากขึ้น แต่ไม่ได้เพื่อให้เล่นเกมหรือทำงานเสร็จเร็วขึ้นเพื่อมีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะเราก็ได้ใช้เวลากับมันมากขึ้นเช่นเดียวกัน ท่ามกลางโลกที่พัฒนาเทคโนโลยีได้รวดเร็วทันสมัยมากขึ้นนั้น เราสามารถทำอะไรได้เร็วขึ้นก็จริง แต่เรากลับมีเวลาให้ตนเองน้อยลง ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง? ซึ่งมันนำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วเวลา (Time) ของเราสูญหายไปไหน? ทำไมเราไม่มีเวลาทำอะไรมากขึ้นในขณะที่โลกง่ายขึ้นเช่นนี้
 
นับจากยุคปฏิทินโบราณ, เลขฐานหกสิบของชาวสุเมเรียน มาจนถึงยุคนาฬิกาแดดและนาฬิกาอะตอมในปัจจุบัน วันที่โลกค้นพบว่า “วินาที” มีค่าเท่ากับระยะเวลาที่เกิดการแผ่รังสีกลับไปมาระหว่างอะตอม 2 อะตอม(ซีเซียม-133) จำนวน 9,192,631,770 ครั้ง แต่ดูเหมือนว่า 1 วันมี 24 ชั่วโมง เราได้อยู่ใช้เวลากับมันจริงๆ ไม่กี่นาที หลายคนต้องตื่นเช้ามาทำงาน พักเที่ยงและกลับบ้านในตอนเย็น หาอาหารอร่อยๆ ทาน อาบน้ำ ดูละคร แล้วเข้านอนในตอนดึก เพื่อจะตื่นขึ้นมาทำงานในเช้าวันใหม่, เราทำงานวันละ 8-9 ชั่วโมง +โอที 2-3 ชั่วโมง เดินทางอีก 2-3 ชั่วโมง กว่าจะถึงบ้านและได้พักผ่อน
 
“เวลา” ที่เราอาจมีเหลือบ้างก็ยังอาจหมดไปกับเทคโนโลยีทันสมัยหลายชนิด บางคนอาจจะใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับ Facebook หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ Social Network อื่นๆ บนโทรศัพท์ดีๆ สักเครื่อง จนเราอาจสงสัยไปเองว่า ทุนนิยมบังคับซื้อเวลาของเราไปทำงาน หรือเราตั้งใจขายเวลาของเราให้กับเขากันแน่ และถ้าเงินเดือนคืออย่างเดียวที่จะได้รับในแต่ละเดือนสำหรับคนทำงาน (Worker) ไม่แปลกเลยที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะสนับสนุน “รัฐสวัสดิการ” ที่มั่นคงแก่ประชาชนของตนเอง และกำหนด “เวลา” ที่เหมาะสมที่พวกเขาควรทำงานในกลไกตลาด
 
เวลาของเราหายไปไหน? เราใช้เวลาหมดไปกับชีวิตแบบใด คือคำถามที่ทุกคนควรหาคำตอบให้ตนเอง ผมนึกถึงนิทานก่อนนอนริมทะเลเรื่องหนึ่ง, ที่เล่าโดยนักเขียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า Heinrich Boll เขาเล่าว่า
 
นักท่องเที่ยวคนหนึ่งกำลังเพ่งมองด้วยความสนใจไปที่ภาพฉากภูมิประเทศชายหาดอันงดงาม, มันเป็นภาพของชายคนหนึ่ง ที่อยู่ในชุดเสื้อผ้าที่แสนจะธรรมดา กำลังโงกไปโงกมาในเรือตกปลาที่ถูกโยกคลอนด้วยกระแสคลื่นที่ม้วนกลิ้งเข้ามายังหาดทราย. เขากดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปของเขาดังคลิ๊ก! พลันคนตกปลาผู้นั้นก็ตื่นขึ้นมาทันที. นักท่องเที่ยวยื่นบุหรี่ให้คนตกปลามวนหนึ่ง และเริ่มต้นพูดคุย
 
“วันนี้อากาศดีนะ มีปลาชุมไปหมดเลย ทำไมคุณถึงยังอยู่ตรงนี้ล่ะ แทนที่จะออกไปจับปลาให้มากกว่านี้ ?” คนตกปลาตอบว่า  “ก็เพราะผมจับมาพอแล้วเช้านี้”
 
“แต่นั่นคุณคิดเอาเอง” นักท่องเที่ยวกล่าว “คุณน่าจะออกไปวันละ 3-4 เที่ยว แล้วก็เอาปลากลับไปที่บ้านถ้ามันมีมากเกินไป! คุณก็รู้ดีว่าถ้าทำเช่นนี้ทุกๆวัน อะไรจะเกิดขึ้น ?” คนตกปลาสั่นหัว.
 
นักท่องเที่ยวพูดต่อไปว่า “หลังจากนั้นเพียงแค่ปีเดียว คุณก็จะสามารถซื้อเรือยนต์ได้ลำหนึ่ง และหลังจากนั้นสองปีคุณก็ซื้อเรือยนต์เป็นลำที่สองได้ และหลังจากนั้นสามปีคุณก็สามารถมีเรือประมงลำหนึ่งหรือสองลำได้. คิดเข้าซิ! สักวันหนึ่งคุณอาจสามารถมีห้องเย็นสำหรับแช่ปลาขึ้นมา หรือโรงแช่แข็งขนาดใหญ่ และท้ายที่สุด คุณอาจมีเฮลิคอปเตอร์ของคุณเองเพื่อติดตามฝูงปลาและนำทางให้กับกองเรือประมงของคุณเองได้ หรือคุณอาจจะมีรถบรรทุกหลายคันขนส่งปลาไปยังเมืองหลวง, และที่อื่นๆอีกมากมายจิปาถะ…” 
 
“และอะไรต่อไปอีกล่ะ?” คนตกปลาถาม 
 
“และต่อจากนั้น” นักท่องเที่ยวตอบอย่างอิ่มอกอิ่มใจ, “คุณก็สามารถจะนั่งเล่นที่ชายหาดด้วยความรู้สึกสบายอกสบายใจ, พักผ่อนอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็ม่อยหลับหรือสัปหงกไปตามเรื่องตามราวภายใต้แสงอาทิตย์อันอบอุ่น และมองไปยังท้องทะเลอันงดงามไงล่ะ!”
 
คนตกปลาจ้องมองไปที่นักท่องเที่ยวคนนั้น 
 
“แต่นั่นมันไม่ใช่สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ก่อนที่คุณมาถึงที่นี่หรอกหรือ?
 
เผยแพร่ครั้งแรก: วารสารเบิกฟ้า มูลนิธิดำรงชัยธรรม  ฉบับเดือนเมษายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net