Skip to main content
sharethis

 

คสรท.ประณามสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ ปชช.

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดแถลงข่าว "ประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง" เนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมลงชื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวถึง 14,264 คน 
             
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า คสรท.ขอประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักประชาธิปไตยทางตรง เพราะการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนนั้น สะท้อนว่าถ้ากฎหมายฉบับใดที่ประชาชนร่างขึ้นมาแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็จะไม่ถูกพิจารณาในรัฐสภา ถือเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายที่ใกล้เคียงกับความต้องการของ ตนมากกว่าความต้องการของประชาชน และ ส.ส.จำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงต่อสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ฉบับนี้ จึงไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า ขอปฏิเสธการเข้าเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ...ในวาระที่ 2 เพราะในเมื่อร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเป็น กมธ.วิสามัญ และขอเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนเลือกผู้แทนที่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 3 เมษายน เวลา 09.00 น. คสรท.ร่วมกับผู้ใช้แรงงานประมาณ 1,000-2,000 คน จะไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับประชาชน ที่หน้ารัฐสภา โดย คสรท.จะเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกระบวนการของรัฐสภาที่ไม่ใส่ใจถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน

(มติชนออนไลน์, 26-3-2556)

 

ดึง 1.3 ล.แรงงานนอกระบบ "ออมเงิน" กับประกันสังคม

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลังร่วมกันบูรณการกองทุนการออม แห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคม เพื่อทำให้ระบบการออมชราภาพของประเทศเป็นเอกภาพ โดยนำมาเป็นทางเลือกที่ 3 ของโครงการประกันสังคม มาตรา 40 ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 200 บาท แบ่งเป็น ผู้ประกันตนคนละ 100 บาท รัฐบาลจ่ายสมทบให้คนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพเมื่ออายุครบ 60 ปี และแจ้งออกจากการเป็นผู้ประกันตน

"กระทรวงแรงงานจะเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 2 เมษายนนี้ หาก ครม.พิจารณาเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการทันที ตั้งเป้าส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคม มาตรา 40 จำนวน 1 ล้านคน ส่วนการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ของรัฐบาลนั้น ขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร" นายเผดิมชัยกล่าว

ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว

"ขณะนี้มีผู้ประกันตน มาตรา 40 มีทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ประกันตนที่เลือกจ่ายเงินสมทบทางเลือกที่ 1 หรือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ส่วนผู้ประกันตนที่เลือกจ่ายเงินสมทบทางเลือกที่ 2 หรือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนเหล่านี้สามารถสมัครทางเลือกที่ 3 เพิ่มเติมจากทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ได้ตามความสมัครใจและยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 1 หรือ 2 เช่นเดิม" นพ.สมเกียรติกล่าว และว่า สปส.จะเร่งจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการ จ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทนของระบบประกันสังคมมาตรา 40 พ.ศ.2554 เพื่อเสนอ ครม.ในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าเดือนมิถุนายนนี้เริ่มเปิดรับสมัครผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ได้

(ประชาชาติธุรกิจ, 27-3-2556)

 

โพลล์ระบุพนง.มหาวิทยาลัยกว่า 80%ไม่พึงพอใจในสถานภาพ,จี้รบ.แก้ปัญหาเงินเดือน สวัสดิการ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยโดย ผู้ตอบแบบสอบถามคือพนักงานมหาวิทยาลัย

โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 485 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2556 ซึ่งการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ใช้การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจออนไลน์

นายสิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การในฐานะประธานคณะ กรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยผู้ตอบ แบบสอบถามคือพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจาก “พนักงานมหาวิทยาลัย” มีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนใน มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบัน คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน

แต่ในความเป็นจริงพนักงานมหาวิทยาลัย ได้รับเงินเดือนไม่เต็ม 1.5-1.7 เท่าตามมติคณะรัฐมนตรีปีพ.ศ. 2542   ไม่มีสวัสดิการแบบระบบราชการ มีการใช้สัญญาจ้างที่สั้น 1-3, 1-5 ปี ไม่มีระยะยาวถึงอายุ 60 ปี ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ไม่มีสวัสดิการ ทั้งๆที่ ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า 100,000 คน สิ่งที่แปลกใจมากกว่านั้นพนักงานมหาวิทยาลัย ในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีอัตราเงินเดือน สัญญาจ้าง และสวัสดิการที่แตกต่างกัน ทั้งๆที่ได้รับงบประมาณจากรัฐเหมือนกัน

ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 5% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 กลุ่มตัวอย่าง
   
เมื่อถามว่า  ท่านทราบหรือไม่ว่าพนักงานมหาวิทยาลัยมีอัตราเงินเดือนไม่เท่ากันในแต่ละ มหาวิทยาลัย    ร้อยละ 93 ทราบ , ร้อยละ 4 ไม่ทราบ

ขณะที่ ร้อยละ 95 ทราบว่าพนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลเหมือนกับข้า ราชการ มีเพียง ร้อยละ 3 ที่ไม่ทราบ ขณะที่ร้อยละ 83 ทราบว่าพนักงานมหาวิทยาลัยมีสัญญาจ้างที่ไม่เหมือนกันในแต่ละมหาวิทยาลัย

เมื่อถามว่า ท่านพึงพอใจในความมั่นคงของการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบันหรือไม่ มีเพียงร้อยละ6 ที่ตอบว่าพึงพอใจ ขณะที่ร้อยละ 88 บอกไม่พึงพอใจ

และเมื่อถามว่า ท่านคิดว่าท่านพึงพอใจในอัตราเงินเดือนของการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยใน ปัจจุบันหรือไม่    ร้อยละ 8 เท่านั้นที่ตอบว่าพึงพอใจ ส่วนอีกร้อยละ 88 บอกไม่พึงพอใจ   

ถามต่อว่า ท่านคิดว่าท่านพึงพอใจในสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลของการเป็นพนักงาน มหาวิทยาลัยในปัจจุบันหรือไม่ ร้อยละ2 บอกพึงพอใจ แต่ร้อยละ 94 บอกไม่พึงพอใจ

ถามว่า ท่านคิดว่าท่านพึงพอใจในสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบันหรือไม่    ร้อยละ 8พึงพอใจ    8, ร้อยละ 87 ไม่พึงพอใจ

เมื่อถามว่า ท่านคิดว่ารัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วนหรือไม่    ร้อยละ95 ตอบว่าใช่

(ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์, 30-3-2556)

 

เตรียมแผนอพยพคนงานไทยในเกาหลีใต้

31 มี.ค. 56 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอพยพคนไทยในเกาหลีใต้หลังจากประเทศเกาหลีเหนือ ประกาศภาวะสงครามอย่างเป็นทางการกับเกาหลีใต้ ว่า ได้สั่งการให้ทูตแรงงานไปสำรวจจำนวนแรงงานรวมถึงคนไทยที่อยู่ทางตอนเหนือของ ประเทศเกาหลีใต้ ที่ติดกับประเทศเกาหลีเหนือว่ามีจำนวนเท่าใด พร้อมทั้งชี้แจงแผนการซักซ้อมการอพยพที่กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงการต่าง ประเทศให้กับคนไทย ที่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมด ทั้งแรงงานที่เดินทางไปทำงานโดยผ่านกระทรวงแรงงาน แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานกับญาติ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวเกาหลีใต้ ที่มีประมาณ 44,000 คน โดยเบื้องต้นได้กำหนดจุดอพยพไว้ 4 จุด เช่นเมืองปูซาน รวมถึงการเตรียมความพร้อมเครื่องบินเช่าเหมาลำ และการเตรียมเรืออพยพไปที่ประเทศญี่ปุ่นในกรณีที่มีเหตุการณ์รุนแรง โดยให้รายงานความคืบหน้าในการซักซ้อมแผนอพยพกลับมาที่ตนด้วย

ขณะที่นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่ายังไม่อยากให้เกิดความตระหนกตกใจ ซึ่งกระทรวงก็ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงโซล และพื้นที่ต่างๆในเกาหลีก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ โดยขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานและติดตามข่าวสาร จากสถานทูตในโซล สถานทูตไทยในปักกิ่ง สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดีซี และ สถานทูตไทยนิวยอร์ก อย่างไรก็ตามเราได้มีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ และมีแผนอพยพที่ใช้ในการดูแลคนไทยทั่วโลก โดยจะนำมาปรับใช้ให้เข้าสถานการณ์ และคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ในเกาหลีใต้มีคนไทยประมาณ 40,000 คน และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ในเกาหลีเหนือมีคนไทย 10 คน เป็นพนักงานที่ทำงานในบริษัทเอกชน

นายมนัสวีกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงได้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ส่วนที่ยังไม่ประกาศแผนอพยพช่วงนี้เนื่องจากจะเกิดความวิตกกังวล นอกจากนี้หากประกาศออกไปจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ทางกาหลีเหนือ ทั้งนี้อยากให้เกาหลีเหนือจะใช้ความยับยั้งชั่งใจในการดำเนินการและปฏิบัติ ตามมติคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ เพื่อคำนึงถึงสันติภาพและความสงบสุขของภูมิภาค

(เนชั่นทันข่าว, 31-3-2556)

 

คนอุดรฯ แห่สมัครงานไปเกาหลีใต้ ไม่หวั่นปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุดรธานีรายงานว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี มีคนหางานจำนวนมากเดินทางมาสมัครงานเพื่อไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ในตำแหน่งประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต กิจการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ กิจการก่อสร้าง
      
นางพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานร่วมกับสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี ได้เปิดรับสมัครสอบความสามารถพิเศษ (EPS - TOPIK) เพื่อจัดส่งไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ตามระบบจ้างแรงงานต่างชาติ(EPS) ในวันที่ 1-4 เมษายน 2556
      
ทั้งนี้ มีตำแหน่งงานประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 2,000 คน กิจการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ จำนวน 1,600 คน และกิจการก่อสร้างจำนวน 2,700 คน โดยเสียค่าสมัครสอบภาษาเกาหลี 790 บาท ซึ่งล่าสุดมียอดผู้มาสมัครงานแล้วในวันแรกกว่า 1,400 คน
      
ผู้ที่มีสิทธิ์สอบจะมีการประกาศสถานที่และเวลาสอบในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 และจะทำการสอบในวันที่ 2 มิถุนายน 2556 และประกาศผลในวันที่ 14 มิถุนายน 2556หรือติดตามข่าวสารได้ที่ทางเว็บไซต์ www.epsthailand.wordpress.com www.doe.go.th และ http://epstopik.hrdkorea.or.kr และที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2245-9429, 0-2245-6716, 0-2245-1186
      
นายมานิตย์ บุญสิทธิ์ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 11 ต.พังงู อ.หนองหาร จ.อุดรธานี กล่าวว่า สาเหตุที่ตนอยากไปทำงานที่ประเทศเกาหลีนั้น ก็เพราะมีค่าตอบแทน มีสวัสดิการ มากกว่าประเทศไทย ในส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศกับเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็ ไม่น่าห่วงอะไร เพราะตนเคยไปทำงานที่เกาหลีแล้วเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว
      
ด้านน.ส.จามจุรี วงศ์ษาบุตร อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 2 บ้านหัวสวย อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี บอกว่า ตนเองไม่เคยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีมาก่อน เห็นคนอื่นไปทำงานแล้วมีเงินส่งกลับมาบ้าน ตนเองจึงอยากไปทำงานบ้าง ซึ่งงานที่ตนเองมองไว้คือ กิจการอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเปิดรับสมัครถึง 2,000 ตำแหน่ง
      
สำหรับเหตุการณ์ขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ก็ไม่วิตกกังวล เพราะหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงจริง รัฐบาลคงจะประกาศแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้เข้าประเทศ คงจะไม่เปิดรับสมัครคนงานเข้าไปทำงาน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-4-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net