สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ปัญหาแบ่งแยกดินแดนภาคใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวันที่ 28 มีนาคม นี้ จะมีการเปิดเจรจาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับตัวแทนของฝ่ายบีอาร์เอ็น.เพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งแม้ว่า โอกาสที่สถานการณ์ในภาคใต้คืนสู่ความสงบสันติจะยังไม่ง่ายนัก เพราะปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อมาเป็นเวลาช้านาน แต่การเจรจานี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าการใช้วิธีการปราบปรามทางการทหารแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแก้อะไรไม่ได้ และสร้างปัญหามานานแล้ว

บีอาร์เอ็น คือชื่อย่อของ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 และทำการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานีมาเป็นเวลานาน และเคยเป็นองค์กรนำในการตั้งกองกำลังอาวุธต่อสู้เพื่อแยกดินแดนในระยะหลัง พ.ศ.2510 แม้ว่าต่อมา จะเกิดความแตกแยกภายในองค์กร และอิทธิพลในการต่อสู้ลดลงมาก แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยังเห็นว่า บีอาร์เอ็นยังเป็นองค์กรสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์

การเจรจานี้เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมาเลเซียมีส่วนช่วยประสานงานให้เกิดการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทยนั้นมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นตัวแทน ส่วนฝ่ายขบวนการปาตานี มี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวแทน และบรรลุข้อตกลงที่จะเปิดพื้นที่แห่งการเจรจาให้มีการ”พบกันครึ่งทาง”เพื่อแสวงหาแนวทางสู่สันติภาพ ดังนั้น การดำเนินการนี้ จึงได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพราะเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและยืดเยื้อมานานกว่า 9 ปี สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก แม้กระทั่งองค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี. ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของประเทศอิสลาม 57 ประเทศ ก็ยังแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจาครั้งนี้

แต่กระนั้น ความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยและคัดค้านจากภายในประเทศ โดยข้อโจมตีก็มีตั้งแต่รัฐบาลไปเปิดเจรจากับโจรซึ่งไม่ถูกต้อง หรือโจมตีว่า บีอาร์เอ็นไม่ใช่ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายในสามจังหวัด เพราะกลุ่มที่มีส่วนก่อการมีอย่างน้อย 9 กลุ่ม การเปิดเจรจากับกลุ่มเดียวจึงไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ แต่ที่สำคัญที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ได้คัดค้านการเจรจา โดยอ้างว่า การเจรจาจะเป็นการรับรององค์การก่อการร้าย และจะปูทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เช่นเดียวกับไอร์แลนด์แยกตัวจากอังกฤษ และปาเลสไตน์แยกตัวจากอิสราเอล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยในเชิงหลักการในการแสวงหาสันติในภาคใต้ แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ คือ “ยึดหลักความเป็นธรรม หลักนิติรัฐ และหลักรัฐธรรมนูญ เป็นตัวตั้ง” นอกจากนี้ ยังห่วงเรื่องร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชน ท้องถิ่น และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งซ้ำซ้อนกับการทำงานของ ศอ.บต. ทำให้เกิดการเบิกเงินซ้ำซ้อน ผิดประเภท ขาดวินัย และอาจเกิดช่องว่างให้มีการทุจริต เพราะตรวจสอบยาก ออกนอกกรอบงบประมาณ ซึ่งทำให้มีการใช้เงินผิดประเภท หรือไปใช้หาเสียงเกินขอบเขต จึงอยากฝากข้อเสนอเหล่านี้ไปยังรัฐบาลให้ทบทวน

นอกเหนือจากนี้ ก็คือ นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ก็อธิบายว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น เป็นการดำเนินการกันเอง โดยไม่เคยรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการความยุติธรรม การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาปากท้อง มากยิ่งกว่า และอธิบายว่า บีอาร์เอ็น.นั้นต้องการที่จะแยกสามจังหวัดเป็นนครรัฐปัตตานี แต่สำหรับประชาชนสามจังหวัด เรื่องการปกครองตัวเองมีความสำคัญในอันดับท้าย เพราะประชาชนไม่เข้าใจว่าจะเป็นในรูปแบบใด การจะจัดรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม จึงต้องมีพื้นที่ให้กับชาวไทยพุทธด้วย

ความจริงแล้ว ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้มีที่มาจากทั้งรากฐานทางประวัติศาสตร์ และปัญหาปัจจุบัน ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะส่วนหนึ่งมาจากอคติหรือความโน้มเอียงทางการเมืองที่ถูกสร้างกันมาเป็นเวลานานว่า คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เป็นพวกที่ไว้ใจไม่ได้ ต่อต้านการปกครองของไทย สนับสนุนการก่อการร้าย และยังมีผู้ที่ไร้เดียงสาถึงขนาดเสนอว่า ถ้าชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้ ไม่รักชาติไม่อยากเป็นคนไทย ก็ให้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่น แทนที่จะมาก่อการร้ายกันแบบนี้ ด้วยอคติเช่นนี้ จึงมีคนอีกไม่น้อยที่เห็นว่า ภารกิจของทหารไทยที่เข้าไปปฏิบัติการในสามจังหวัดภาคใต้ คือ การช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนให้ใช้การกำลังในการปราบปราม”โจรใต้”ให้ราบคาบ

แต่ที่เราไม่ทราบกัน ก็คือปัญหาข้อเท็จจริงจริงในทางประวัติศาสตร์ว่า ปาตานีนั้นเป็นอาณาจักรอิสระ มีสุลต่านของตนเองปกครองมานาน เป็นอาณาจักรอิสลามที่มีภาษาของตนเอง ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไทย และไม่เคยใช้ภาษาไทย อาณาจักรนี้เพิ่งจะถูกโจมตีบังคับเข้าเป็นรัฐบรรณาการของสยามในสมัยรัชกาลที่ 1 นี้เอง

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง ก็ได้ยกเลิกสถานะของสุลต่านหัวเมืองเหล่านี้ และเมื่อสุลต่านปัตตานีมีท่าทีคัดค้าน พระองค์ก็ได้ใช้นโยบายเรือปืนปิดอ่าวปัตตานี แล้วจับกุมตัวสุลต่านนำไปขังที่พิษณุโลก แล้วผนวกดินแดนปัตตานีทั้งหมดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม จนในที่สุด อดีตสุลต่านที่ได้รับการปล่อยตัว ก็ต้องไปลี้ภัยตลอดชีวิตที่มลายา

ในสมัยต่อมา รัฐบาลกลางของประเทศไทยยังได้ใช้มาตรการบังคับอีกหลายประการที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เช่น ส่งข้าราชการจากส่วนกลางที่ไม่รู้เรื่องมลายูมุสลิมไปปกครอง เอาการศึกษาแบบตะวันตกที่แอบแฝงการสอนศาสนาพุทธไปเผยแพร่ และต่อมา หลัง พ.ศ.2490 ก็เริ่มใช้ความรุนแรงในการจัดการสังหารผู้นำท้องถิ่นที่มีความคิดแตกต่างจากส่วนกลาง สถานการณ์เหล่านี้ทำให้การต่อต้านส่วนกลางขยายตัว รัฐบาลกลางก็แก้ปัญหาโดยการเพิ่มการติดตั้งทหารตำรวจเข้าไปปราบปราม ซึ่งยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจกันเพิ่มทวีมากขึ้น

ในช่วงหลัง พ.ศ.2520 ความขัดแย้งผ่อนคลายลงชั่วขณะ เพราะรัฐบาลสมัยนั้น พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการเมือง ผ่อนปรนต่อสถานการณ์ และใช้มาตรการนิรโทษกรรมให้ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลมาใช้ชีวิตแบบปกติได้ สถานการณ์ค่อนข้างราบรื่นมาจนถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 ที่เกิดกรณีปล้นปืนที่ค่ายปีเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ซึ่งในขณะนี้ ก็ยังไม่มีคำอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ชัดเจน แต่กรณีนี้กลายเป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งครั้งใหม่ หลังจากการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีการสังหารประชาชน เช่น เหตุการณ์มัสยิดกรือเซาะ 28 เมษายน พ.ศ.2547 และตามมาด้วยกรณีตากใบ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ความผิดพลาดเหล่านี้กลายเป็นร้อยร้าวที่ยากจะประสาน และทำให้ความรุนแรงขยายตัว รัฐบาลกลางก็แก้ปัญหาโดยการนำกำลังทหารและตำรวจติดตั้งในพื้นที่เพิ่มเติม และประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยากมากขึ้น

ตั้งแต่แรกที่เกิดความขัดแย้ง ก็มีนักคิดและนักวิชาการที่เสนอทางเลือกอื่นในการแก้ไขปัญหา เช่น การใช้แนวทางสันติวิธี แทนที่จะเพิ่มทหารก็ให้มีการถอนทหารจากพื้นที่ และให้สิทธิอัตวินิจฉัยตนเองแก่สามจังหวัดภาคใต้ และอาจจะเป็นจุดเริ่มของการให้สิทธิปกครองตนเองแก่จังหวัดอื่นทั่วประเทศ ตลอดจนข้อเสนอที่จะให้ปัตตานีเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐไทยมีกรอบความคิดอันแข็งตัวมากเกินกว่าที่จะรับข้อเสนอเหล่านี้ สถานการณ์จึงลุกลามและสลับซับซ้อนจนแก้ไขได้ยาก

ดังนั้น การเปิดเจรจาครั้งนี้ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีแห่งความหวังที่จะนำมาซึ่งสันติภาพในระยะยาว ในที่นี้จะขอจบด้วยการโฆษณาว่า หนังสือเล่มหนึ่งที่จะช่วยทำความเข้าใจกับความเป็นมาของปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ได้ดี คือเรื่อง “ความเป็นมาของทฤษฏีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย”(2549) โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งอยากชวนให้อ่านเพื่อเพิ่มมุมมองสำหรับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ให้ชัดเจนขึ้น

 

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 405  วันที่ 30 มีนาคม 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท