อวัตถุศึกษากับอธิป: ไพเรตเบย์ ขึ้นอันดับ 1 เว็บแชร์ไฟล์ยอดนิยมของโลก

ประมวลข่าวลิขสิทธิ์กับอธิป จิตตฤกษ์: ศาลอุทธรณ์เยอรมันตัดสินว่า ISP ไม่มีภาระเก็บข้อมูลผู้ใช้ - ร่าง กม.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ของสภาคองเกรสเลวร้ายกว่าเดิม – เกาหลีใต้พิจารณาปรับกฎหมายลิขสิทธิ์ให้อ่อนลง – กอง บก. Journal of Library Administration ออกยกแผง เพราะเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์ของ สนพ. Taylor & Francis ไม่เป็นธรรม

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

27-03-13

ศาลอุทธรณ์เยอรมันตัดสินว่า ISP ไม่ได้มีภาระหน้าที่ในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้

หลังจากกลุ่มต่อต้านลิขสิทธิ์เยอรมันและผู้ผลิตหนังโป๊เยอรมันฟ้อง Vodafone ที่เป็น ISP ซึ่งบอกว่าตนไม่เคยเก็บข้อมูลผู้ใช้ใว้เลยและชนะในศาลชั้นต้น พอคดีมาถึงศาลอุทธรณ์ก็ปรากฏว่าศาลพลิกคำตัดสินศาลชั้นต้นและตัดสินว่า ISP ไม่ได้มีภาระหน้าที่ในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้

ทั้งนี้ การร้องขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จาก ISP เป็นกระบวนการสำคัญของการฟ้องร้องเจ้าของ IP Address ที่ใช้ในการ "โหลดบิต" หรือ ดาวน์โหลด/อัปโหลดไฟล์อันมีลิขสิทธิ์ผ่านโปรแกรมบิตทอร์เรนต์ และการที่ ISP ไม่ให้ความร่วมมือนั้นก็ทำให้กระบวนการดำเนินคดีแบบนี้เป็นไปไม่ได้และจะทำให้ในทางเทคนิคการ "โหลตบิต" นั้นอาจเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาดำเนินคดีได้

News Source: http://torrentfreak.com/isps-cannot-be-forced-to-store-data-on-file-sharers-court-rules-130326/

 

สหภาพยุโรปอนุมัติการรวมบริษัทของ Penguin กับ Random House

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทางสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็ได้ยอมรับไปแล้วหลังจากที่ทั้งสองบริษัทประกาศเจตจำนงที่จะรวมตัวกันในเดือนตุลาคม 2012 ที่ผ่านมา

และนี่จะทำให้ Penguin Random House ที่จะเกิดขึ้นใหม่กลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

News Source: http://paidcontent.org/2013/03/27/european-union-will-reportedly-approve-random-house-penguin-merger/

 

28-03-13

กองบรรณาธิการของ Journal of Library Administration ลาออกยกแผงเนื่องจากเห็นว่าเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์ของงานในวารสารที่สำนักพิมพ์ Taylor & Francis กำหนดไว้ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ทางกองบรรณาธิการก็ได้รู้สึกเกิดความขัดแย้งทางมโนธรรมหลังจากความตายของ Aaron Swartz และพยายามต่อรองกับ Taylor & Francis ให้เปลี่ยนเงื่อนไขลิขสิทธิ์ของงานในวารสารให้สาธารณชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และสิ่งที่ Taylor & Francis เสนอกลับมาคือการเปิดกว้างขึ้นแต่ทำให้ผู้เขียนบทความต้องจ่ายเงินถึง 3,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 90,000 บาท) เพื่อตีพิมพ์บทความแต่ละชิ้น

ทางกองบรรณาธิการไม่พอใจกับเงื่อนไขนี้เลยลาออกพร้อมกันยกแผงเพื่อประท้วง และตอนนี้ทาง Taylor & Francis ก็ยังไม่ออกมาแถลงอะไรทั้งสิ้น

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130326/16151422466/awesome-entire-editorial-board-journal-library-administration-resigns-support-open-access.shtml

 

ร่างใหม่ของกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ของสภาคองเกรสนั้นเลวร้ายกว่าเดิม

ทั้งๆ ที่มีการต่อต้านให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ของอเมริกาอย่าง Computer Fraud and Abuse Act (CFAA) ภายหลังการล่วงลับไปของนักกิจกรรมหนุ่มอย่าง Aaron Swartz แต่สภาคองเกรสกลับเสนอร่างของกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ใหม่ที่เพิ่มโทษให้หนักขึ้น

ในระดับที่ถ้า Aaron Swarz โดนความผิดภายใต้กฎหมายนี้เขาอาจติดคุกตลอดชีวิตด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ร่างใหม่ยังยกระดับการสมคบคิดการ "ก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์" ให้มีโทษระดับเดียวกับการก่ออาชญากรรม ไปจนถึงเพิ่มความผิดฐาน "การเข้าใช้งานระบบอย่างผิดวัตถุประสงค์" อีก (ในตอนแรกความผิดอยู่แค่ "การเข้าใช้งานอย่างไม่ได้รับอนุญาต")

กฎหมายนี้จะมีการพิจารณากันในเดือนเมษายน 2013 และก็น่าจะคาดหวังได้พอสมควรเลยว่าจะมีการต่อต้านกันอย่างแพร่หลาย

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/03/congress-new-cfaa-draft-could-have-put-aaron-swartz-jail-decades-longer-he-was

 

Fox อ้างลิขสิทธิ์ภาพจากกองถ่ายซีรีส์ Arrested Development ทำให้ผู้ทำสารคดีเกี่ยวกับซีรีส์เรื่องนี้ต้องระดมทุนผ่านทาง Kickstarter เพิ่มอีกกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 600,000 บาท) เพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าทาง Fox มีสถานะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพของพวกนั้นจริงหรือไม่ เพราะโดยหลักทั่วไปเจ้าของภาพถ่ายนั้นเป็นเจ้าของภาพและทางผู้กำกับก็ได้ขอลิขสิทธิ์จากทางเจ้าของภาพไปหมดแล้ว แต่ปรากฏว่าทาง Fox ก็ยังอ้าง "ลิขสิทธิ์" เหนือกองถ่ายอยู่ดี ราวกับว่าตัวกองถ่ายเองเป็นงานทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นหนึ่งที่คุ้มครองด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์

ทั้งนี้แรงขับดันในการเรียกร้องนี้ของ Fox ก็คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่ซีรีส์เรื่องนี้เลิกออกอากาศทาง Fox แล้วแต่ไปออกอากาศทางเว็บสตรีมวิดีโอชื่อดังอย่าง Netflix นั่นเอง

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130324/00142322432/arrested-development-documentary-has-to-hit-up-kickstarter-because-photos-set-are-covered-copyright.shtml

 

วงดนตรี Ghost Beach รณรงค์ให้คนแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการทำสำเนาเถื่อน (Piracy) ผ่านป้ายโฆษณากลางนครนิวยอร์ก

ทั้งนี้ป้ายโฆษณาก็บอกให้คนเข้าไปแสดงจุดยืนในเว็บไซต์ http://www.artistsvsartists.com/ และผ่านการใช้ Hashtag ใน Twittter ว่า #artistsagainstpiracy ในกรณีที่จะแสดงจุดยืนต่อต้านการทำสำเนาเถื่อน และใช้ Hashtag ว่า #artistsforpiracy ในกรณีที่จะแสดงจุดยืนสนับสนุนการทำสำเนาเถื่อน

นี่นับเป็นการรณรงค์ครั้งแรกๆ ที่กระตุ้นให้สาธารณชนอเมริกาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการทำสำเนาเถื่อนออกมา

ทั้งนี้ขณะนี้มีผู้ใช้ Hashtag ว่า #artistsforpiracy มากกว่า #artistsagainstpiracy ราว 15 เท่าแล้ว และนี่ก็คงจะไม่น่าเป็นที่พอใจของบรรดาผู้คนจากอุตสาหกรรมบันทึกเสียงเป็นแน่

News Source: http://torrentfreak.com/piracy-is-progress-billboard-on-times-square-divides-artists-130327/

 

30-03-13

ฉากเกม Counter-Strike ที่ทำเองสร้างกระแสความไม่พอใจอีกครั้งเมื่อมันมาจากโรงเรียนจริงๆ ในสหรัฐ

อย่างไรก็ดีกระแสตอบรับก็แตกต่างกันไปเพราะก็มีบรรดาเกมเมอร์ที่บอกว่ามันสมจริงมาก ไปพร้อมๆ กับคนที่ออกมาโวยวายที่คนเอาฉากโรงเรียนจริงๆ ไปใส่ในเกมที่มีแต่การยิงกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่การยิงกราดในโรงเรียนกลายมาเป็นเหตุสะเทือนขวัญบ่อยๆ)

ดูคลิปจากฉากนี้ได้ที่: http://www.youtube.com/watch?v=Kk5jZCLGOmg

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้การสร้างฉากจากสถานที่จริงก็สร้างความไม่พอใจมาแล้วในแคนาดาเมื่อมีคนสร้างฉากจากสถานีรถไฟใต้ดินจริงๆ ซึ่งทางรัฐก็กล่าวว่ามันอาจเป็นที่ฝึกการก่อการร้ายชั้นดีได้เลย

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130326/05410822461/counter-strike-map-school-causes-outrage.shtml

 

เกาหลีใต้เริ่มพิจารณาการปรับกฎหมายลิขสิทธิ์อันดุร้ายของตนให้อ่อนลง

ทั้งนี้รายงานของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัลก็มีการกล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องชัดเจนขึ้นเพื่อให้ไม่โดนคุกคามโดยการฟ้องร้องกฎหมายลิขสิทธิ์ การใช้อย่างชอบธรรมที่กว้างขึ้น สิทธิในการเข้าถึงและใช้งานวิจัยอันเกิดจากงบประมาณสาธารณะ และพูดถึงสมดุลโดยรวมๆ ระหว่างทรัพย์สินทางปัญญากับสิทธิในการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร

นอกจากนี้บรรดานักการเมืองก็ยังพยายามละเลิกระบบการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตและตัดอินเทอร์เน็ตโดยรัฐ โดยพวกเขาก็กล่าวว่านี่เป็นมาตรการที่นอกจากจะมีต้นทุนสูงและรุนแรงเกินไปแล้ว กระบวนการแบบนี้ยังเป็นกระบวนการที่ละเมิดกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายด้วยเพราะเป็นการลงโทษเลยโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ

ทั้งนี้เกาหลีใต้เริ่มใช้ระบบนี้มาเป็นประเทศแรกตั้งแต่กลางปี 2009 ซึ่งก็ทำให้หลายๆ ฝ่ายอ้างว่านโยบายแบบนี้ทำให้อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมของเกาหลีเฟื่องฟู อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่มีข้ออ้างที่มีหลักฐานที่จับต้องได้มาสนับสนุนแต่อย่างใด

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130328/10104222493/moves-south-korea-to-ease-harsh-copyright-laws-may-have-knock-on-benefits.shtml, https://www.eff.org/deeplinks/2013/03/korea-stands-against-three-strikes

 

Wal-Mart กำลังพิจารณาแผนให้ลูกค้าในร้านเป็นผู้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าออนไลน์

ทั้งนี้ Wal-Mart ก็จะตอบแทนลูกค้าผู้ส่งสินค้าด้วยส่วนลดต่างๆ

อย่างไรก็ดีมาตรการแบบนี้ก็ดูจะสร้างความเสี่ยงภัยกับผู้บริโภคมากขึ้นเพราะมันทำให้คนส่งของของทางร้านไม่มีเครื่องแบบและบัตรประจำตัวอีกต่อไป

News Source: http://www.techdirt.com/blog/innovation/articles/20130328/16172422503/wal-mart-wants-store-customers-to-deliver-packages-to-online-shoppers.shtml

 

31-03-13

ผลการสำรวจชี้ The Pirate Bay ขึ้นอันดับ 1 ของเว็บแชร์ไฟล์ยอดนิยมของโลกเรียบร้อยแล้ว

จากการสำรวจของเว็บ TorrentFreak พบว่าภายหลังการปิดเว็บ Megaupload มา 1 ปีเศษๆ อันดับเว็บแชร์ไฟล์ยอดนิยม (ในแง่มีผู้เข้าชมมากที่สุด) ได้เปลี่ยนไปมากโดยเว็บ The Pirate Bay ได้กลายมาเป็นเว็บแชร์ไฟล์ที่คนเข้าชมเป็นอันดับ 1 หลังจากที่เดิมอยู่แค่อันดับ 6 และเว็บ Mediafire ก็ขึ้นจากอันดับ 4 มาเป็นอันดับ 2

อันดับ 3 ที่เข้ามาใหม่คือเว็บ KickassTorrents ที่ล่าโดนคำสั่งศาลให้บรรดา ISP แบนไปแล้วในอังกฤษ อันดับ 4 คือ 4Shared ที่ตกออกมาจากอันดับ 1 ในครั้งที่แล้ว

เว็บที่ยังติดอันดับ Top 10 อยู่จากนอกจาก The Pirate Bay, Mediafire และ 4Shared คือ Torrentz.eu ที่ขึ้นมาจากอันดับ 9 เป็นอันดับ 6

นอกนั้นอีก 6 เว็บในลำดับเป็นเว็บที่ได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้นในช่วงเวลาหลังจากปิด Megaupload ทั้งสิ้น โดยในนี้ก็มีตั้งแต่เว็บทอร์เรนต์อายุกว่า 10 ปี (เก่ากว่า The Pirate Bay ราวครึ่งปีเศษ) สัญชาติแคนาดาที่มีคดีความอยู่ในอเมริกาอย่าง Isohunt และเว็บฝากไฟล์หน้าใหม่ที่ได้รับความนิยมล้นหลามหลังการปิดตัว Megaupload อย่าง Rapid Gator อยู่ด้วย

ป.ล. ทั้งนี้การสำรวจทั้งสองครั้งของ TorrentFreak ก็ใช้ฐานข้อมูลที่ต่างกันโดยครั้งแรกใช้การจัดลำดับของ Google ส่วนครั้งนี้ใช้การสำรวจไขว้กันของการจัดลำดับของ Alexa, Compete และ Quantcast

News Source: http://torrentfreak.com/the-pirate-bay-becomes-1-file-sharing-site-cyberlockers-collapse-130330/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท